×

เจาะลึก ‘THE LINE’ ความทะเยอทะยานของ ‘ซาอุดีอาระเบีย’ ในการสร้างโลกมนุษย์แห่งอนาคต

02.12.2022
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 MIN READ
  • NEOM คือชื่อของโปรเจกต์ยักษ์และเป็นหัวใจของ ‘Vision 2030’ ยุทธศาสตร์แห่งชาติระยะยาว ซึ่งมีการเปิดตัวเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2016 โดยมีพันธกิจในการทำให้ซาอุดีอาระเบียไม่เป็นชาติที่พึ่งพาแต่น้ำมันอีกต่อไป
  • THE LINE คือสิ่งที่ทำให้คนทั้งโลกตั้งคำถามกับเมืองในจินตนาการที่เหมือนหลุดออกมาจากนิยายไซไฟมากกว่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง กับเมืองแนวตั้งที่มีความกว้าง 200 เมตร ความยาว 170 กิโลเมตร ความสูง 500 เมตรโดยมีกระจกทำหน้าที่เป็นกำแพงตลอดระยะทาง 
  • THE LINE ดูจะเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันสำหรับ NEOM ที่ดูมีแววจะเป็นจริงมากที่สุด โดยขณะนี้มีภาพถ่ายจากโดรนที่แสดงให้เห็นว่า ตอนนี้โครงการได้เริ่มต้นการก่อสร้างแล้ว และคาดการณ์กันว่าโครงการนี้จะเสร็จสิ้นภายในปี 2030 หรืออีก 8 ปีข้างหน้า

กล่าวกันว่าสิ่งที่จะนำทางมนุษยชาติได้คือ ‘จินตนาการ’ ว่าพวกเขาคิดจะไปไกลแค่ไหน

 

เหมือนที่เราเฝ้ามองนกโผบินบนผืนฟ้า และอยากรู้ความรู้สึกของมันว่าจะเป็นอย่างไรกันนะ แล้ววันหนึ่งพี่น้องตระกูลไรต์ก็สร้างเครื่องบินที่ทำให้เราอยู่กลางอากาศได้เหมือนกัน หรือครั้งหนึ่งที่มนุษย์เคยเฝ้ามองดวงจันทร์และคิดว่ามีกระต่ายอยู่บนนั้นแล้ววันหนึ่ง นีล อาร์มสตรอง ก็กลายเป็นมนุษย์คนแรกที่ย่างเท้าก้าวลงบนสิ่งที่เราเคยได้แต่เฝ้ามองในยามค่ำคืนมาตลอด

 

จินตนาการจึงเป็นเหมือนเครื่องมือนำทางที่สำคัญที่สุด โดยที่มันยังเป็นกระจกสะท้อนความทะเยอทะยานข้างในจิตใจของแต่ละคนได้อย่างชัดเจน

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

เช่นนั้นเองที่มนุษย์คนหนึ่งผู้ซึ่งเกิดมาเพียบพร้อมไปเสียทุกอย่าง ทั้งอำนาจและเงินทองที่อาจกองได้สูงเทียมฟ้า คุณเขาจะจินตนาการถึงอะไร?

 

‘โลกอนาคต’ คือสิ่งที่อยู่ในความคิดของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย

 

 

ที่สำคัญคือเจ้าชายแห่งซาอุดีอาระเบียเชื่อว่าเขามี ‘พลัง’ มากพอที่จะสร้างมันให้เป็นความจริงได้ และมันได้เริ่มต้นขึ้นแล้วกับ Giga project โครงการโคตรยักษ์มหายักษ์ในการเนรมิตเมืองใหม่ที่เหมือนออกมาจากนิยายไซไฟมากกว่าที่จะคิดว่าเป็นความจริง

 

เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยได้ยินชื่อของ ‘THE LINE’ มาบ้างแล้ว แต่วันนี้เชื่อว่าจะได้รู้จักมันดียิ่งขึ้นไปอีก

 

NEOM โลกแห่งอนาคต

แต่ก่อนที่จะไปถึง THE LINE เราควรรู้จัก NEOM ก่อน

 

NEOM คือชื่อของโปรเจกต์ยักษ์ และเป็นหัวใจของ ‘Vision 2030’ ยุทธศาสตร์แห่งชาติระยะยาว ซึ่งมีการเปิดตัวเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2016 โดยมีพันธกิจในการทำให้ซาอุดีอาระเบียไม่เป็นชาติที่พึ่งพาแต่น้ำมันอีกต่อไป เพราะ ‘ทองคำดำ’ ที่อยู่ใต้ผืนดินนั้นมีวันหมด และถ้ามันหมดผืนดินของพวกเขาจะไม่เหลืออะไรอีกนอกจากเม็ดทรายจำนวนมหาศาล

 

ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการสร้างแผ่นดินใหม่ หรือความจริงควรจะบอกว่าเป็นนิยามของโลกสมัยใหม่ในอนาคตที่ชาวซาอุดีอาระเบีย รวมถึงชาวโลกจะสามารถอยู่อาศัยในนั้นได้อย่างยั่งยืน และอยู่อย่างสุขสบายไปอีกหลายชั่วยุคสมัย

 

โดยในคำว่ายั่งยืนนั้นเป็นเพราะหัวใจของ NEOM คือการใช้พลังงานสะอาดหมุนเวียน 100% ทำให้ไม่เกิดมลพิษ โดยหนึ่งในกำลังสำคัญคือ โรงงานผลิตไฮโดรเจนที่จะเป็นอุตสาหกรรมใหม่ในการสร้างพลังงานสะอาด เพื่อเป็นรายได้ใหม่ของประเทศแทนที่น้ำมัน

 

และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมโครงการนี้จึงชื่อว่า NEOM เพราะมันเป็นการผสมผสานระหว่างคำว่า Neo ซึ่งแปลว่า ‘ใหม่’ ในภาษากรีก และ Mustaqbal ซึ่งแปลว่า​ ‘อนาคต’ ในภาษาอารบิก

 

พื้นที่ของโครงการนั้นตั้งอยู่ที่แคว้นตะบูก (Tabuk) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของซาอุดีอาระเบียซึ่งติดกับทะเลแดง และมีภูเขามีเดียนซึ่งมีหิมะปกคลุมบนยอดเขา ซึ่งเป็นที่ที่ซาอุดีอาระเบียเตรียมใช้งบประมาณเหนือจินตนาการถึง 5 แสนล้านดอลลาร์ หรือกว่า 18 ล้านล้านบาท เพื่อเปลี่ยนผืนดินที่แห้งแล้งให้เป็นโลกใหม่

 

โดยใน NEOM เองมีมหาโปรเจกต์ที่กำลังเริ่มต้นอย่างจริงจังทั้งหมด 3 โครงการด้วยกัน ประกอบไปด้วย

 

  1. Oxagon เมืองอุตสาหกรรมและท่าริมชายฝั่งกลางน้ำ
  2. Trojena สวรรค์ที่มนุษย์สรรค์สร้างขึ้นมาเอง เมืองรีสอร์ตที่แฝงตัวลึกอยู่ในหุบเขาที่จะไม่ทำให้ใครอยากไปไหนอีก
  3. THE LINE เมืองที่อยู่อาศัยแห่งอนาคตที่อยู่เหนือจินตนาการของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน

 

และข้อ 3 ที่เราจะมาทำความรู้จักมักจี่กันเป็นพิเศษในวันนี้

 

 

THE LINE เมืองเส้นตรงแนวตั้งที่ถูกขีดขึ้นจากความฝัน

ในขณะที่ Oxagon เมืองอุตสาหกรรมและเมืองท่าที่จะถูกสร้างขึ้นมาใหม่บนผืนน้ำ ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเป็นแหล่งกำเนิดพลังชีวิตของ NEOM ทั้งโครงการและเพื่อเป็นเมืองท่าค้าขายกับชาวโลก (เพราะตั้งอยู่ใกล้กับคลองสุเอซ ซึ่งเรือบรรทุกสินค้าสามารถจอดแวะเพื่อหยุดพักและค้าขายได้) และ Trojena เมืองตากอากาศในหุบเขาที่จะมีการสร้างทะเลสาบจำลองขนาดใหญ่ รวมถึงการเนรมิตหิมะขึ้นบนหุบเขากลางทะเลทรายยังไม่ถึงกับเป็นไอเดียที่หลุดโลกมากนัก

 

THE LINE คือสิ่งที่ทำให้คนทั้งโลกตั้งคำถามกับเมืองในจินตนาการที่เหมือนหลุดออกมาจากนิยายไซไฟมากกว่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง

 

เมืองแนวตั้งที่มีความกว้าง 200 เมตร ความยาว 170 กิโลเมตร ความสูง 500 เมตรโดยมีกระจกทำหน้าที่เป็นกำแพงตลอดระยะทาง ใช้พลังงานสะอาดหมุนเวียน ไม่มีมลพิษ เพราะไม่มีถนน และที่ไม่มีถนนเพราะไม่ต้องใช้รถ แถมยังมีพื้นที่สีเขียวปกคลุมตลอดทั้งเมืองให้เหมาะสมกับการอยู่อาศัย

 

เรียกได้ว่าแนวคิดของ THE LINE นั้นไม่ใช่แค่การออกแบบสิ่งก่อสร้างธรรมดา แต่เป็นการสร้างโลกใบใหม่ และออกแบบการใช้ชีวิตใหม่ของมนุษย์แห่งอนาคตเลยทีเดียว

 

ความจริงแล้วเมืองแนวขวางที่เหมือนการขีดเส้นแบบนี้ไม่ถึงกับเป็นของใหม่เสียทีเดียว ในอดีต อาร์ตูโร โซเรีย อี มาตา (Arturo Soria y Mata) นักออกแบบผังเมืองเคยคิด ‘เมืองแนวขวาง’ แบบนี้มาแล้วในปี 1882 โดยเบื้องหลังแนวคิดในครั้งนั้นเป็นการทำเพื่อให้โครงสร้างพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นน้ำประปา ไฟฟ้า พลังงาน หรือการขนส่งเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

 

สำหรับ THE LINE คือการต่อเติมจินตนาการจากอดีตให้เป็นความจริงด้วยเทคโนโลยีจากโลกอนาคต ซึ่งด้วยแนวคิดดังกล่าวทำให้การใช้พื้นที่ทั้งหมด 34 ตารางกิโลเมตรจะสามารถรองรับพลเมืองได้ถึง 9 ล้านคน เทียบเท่ากับเมืองใหญ่อย่างลอนดอน (มีเนื้อที่ 1,600 ตารางกิโลเมตร) โดยใช้เนื้อที่น้อยกว่ามากมายหลายเท่า 

 

ซึ่งการใช้เนื้อที่น้อยกว่าเกิดจากการเปลี่ยนวิธีคิดจากการสร้างเมืองแนวราบ (Horizontal) เป็นเมืองแนวตั้ง (Vertical) ในแบบ 3 Dimensions (ขึ้น,ลง, ขวาง) อย่างแท้จริง และเรียกแนวคิดนี้ว่า ‘Zero Gravity Urbanism’

 

ชุมชนของ THE LINE ถูกออกแบบให้เป็น ‘บล็อก’ โดยในแต่ละบล็อกจะมีทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในนั้นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอาคารที่อยู่อาศัย โรงเรียน โรงพยาบาล ที่ทำงาน สนามกีฬา ไปจนถึงสวนสาธารณะ เรียกว่า Hyper-Mixed-Use ที่มีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้อย่างหลากหลาย ไม่ต่างอะไรจากเมืองหนึ่งที่มีโน่นมีนี่เต็มไปหมด

 

และมีสิ่งอำนวยความสะดวกในแบบ ‘อัตโนมัติ’ คอยตอบสนองการใช้ชีวิตมากมาย เช่น หุ่นยนต์ผู้ช่วย หรือระบบแท็กซี่ลอยฟ้า (ใช่! ลอยฟ้า!!) ไปจนถึงการเดินทางด้วยระบบขนส่งสุดล้ำสมัย ที่จะทำให้การเดินทางจากด้านซ้ายสุดไปขวาสุดใช้เวลาไม่เกิน 20 นาที หรือเดินทางขึ้นหรือลง

 

 

นั่นทำให้สังคมใน THE LINE จะมีความใกล้ชิดอย่างมาก (Hyper-Proximity) เป็นพิเศษ ซึ่งถ้าเปรียบให้เห็นภาพ หากเมืองแมนฮัตตันนั้นเราสามารถเข้าถึงผู้คนได้ 25,000 ภายในการเดิน 5 นาที ที่ THE LINE เราสามารถเข้าถึงผู้คนได้ 80,000 คนภายในระยะเวลาเดียวกันด้วยความสะดวกสบายเท่ากัน

 

ที่สำคัญคือผู้คนไม่ว่าจะอยู่ ‘ชั้นบน’ หรือ ‘ชั้นล่าง’ ชีวิตก็จะเหมือนกัน ทุกอย่างเท่าเทียมกัน เพราะที่ THE LINE จะไม่มีการ ‘จัดลำดับชนชั้น’ ทุกคนสามารถอยู่ที่ไหนก็ได้ เพราะ Ecosystem นั้นเอื้อต่อการดำรงชีวิตได้อย่างสะดวกสบายและมีความสุข

 

ฟังดูเป็นโลกในอุดมคติใช่ไหม?

 

หัวใจ 4 ห้องของ THE LINE

หัวใจของ THE LINE ที่บอกเล่าผ่านนิทรรศการ THE LINE ในกรุงเจดดาห์ แห่งซาอุดีอาระเบีย มีอยู่ 4 อย่างด้วยกัน

 

1. การเข้าถึงธรรมชาติและคุณภาพชีวิตระดับสูง

นอกจากรูปแบบของอาคารสิ่งปลูกสร้างที่ดูล้ำสมัยแล้ว อีกสิ่งที่ช่วยทำให้ THE LINE ดูดีคือภาพวาดสามมิติที่จะมองเห็นสีเขียวของต้นไม้ และสีสันของดอกไม้นานาพรรณที่อยู่ในนั้น

 

THE LINE ต้องการให้ทุกคนเข้าถึงธรรมชาติได้อย่างง่ายดายและมากที่สุด เพราะเชื่อว่าการเข้าถึงธรรมชาตินั้นคือสิ่งสำคัญของมนุษย์ ดังนั้นไม่เพียงแต่จะมีต้นไม้สีเขียวปกคลุมตลอดชนิดที่จะอยู่ใต้เงาไม้ทุก 2 นาทีแล้วชาว THE LINE ยังสามารถเดินทางไปชายฝั่ง ทะเล ภูเขา หรือแม้แต่ทะเลสาบได้อย่างง่ายดาย

 

เรียกได้ว่านึกจะไปตอนนี้ก็สามารถไปถึงได้เลยภายในระยะเวลาไม่กี่นาที และยังมีระบบเมืองอัจฉริยะที่จะมี AI คอยประมวลข้อมูลทุกอย่าง และหาทางทำให้คุณภาพชีวิตของชาวเมืองในวันนั้นๆ ดีขึ้น

 

2. อากาศบริสุทธิ์

เมืองแห่งนี้เป็นเมืองปลอดคาร์บอน (Zero-Carbon) โดยสิ้นเชิง สิ่งสำคัญคือการที่เมืองแห่งนี้ไม่มีถนน ไม่มีรถยนต์ การเดินทางนั้นเน้นการ ‘เดิน’ ของผู้คนเป็นหลัก สามารถเข้าถึงสถานที่ต่างๆ ได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็วแค่ 5 นาที และอย่างที่บอก การเดินทางตลอด ‘เส้น’ ของ THE LINE ใช้เวลาแค่ 20 นาที

 

 

พลังงานที่ใช้ในเมืองแห่งนี้ยังเป็นพลังงานบริสุทธิ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่สามารถนำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ได้ ไม่ว่าจะในระบบสาธารณูปโภคหรือในระบบโรงงานอุตสาหกรรม ไม่มีอะไรที่สูญเปล่า

 

เพราะไม่สร้างมลพิษเลยและเป็นเมืองที่เปิดโล่ง ทำให้คุณภาพอากาศของ THE LINE จึงบริสุทธิ์ สามารถสูดหายใจได้โดยไม่ต้องกลัวอะไร

 

3. ความสะดวกสบายแค่ปลายเท้า

ชาวเมือง THE LINE น่าจะเป็นคนที่มีสุขภาพดีพอสมควร เพราะในชีวิตประจำวันแล้วจะใช้การ ‘เดิน’ เป็นหลัก

 

ทุกอย่างที่ต้องการในชีวิตจะอยู่ในรัศมีการเดินระยะเวลาแค่ 5 นาทีเท่านั้น ไม่ว่าจะเดินจากบ้านไปร้านอาหาร ไปโรงพยาบาลหรืออะไรก็ตาม โดยสิ่งที่ซ่อนอยู่ในแนวคิดคือเรื่องของการสานสัมพันธ์ในสังคมที่เคยเป็นจุดยึดโยงของมนุษย์ในอดีตก่อนจะเริ่มหายไปในปัจจุบัน

 

ด้วยความชิดใกล้ของผู้คนที่อาศัยใน THE LINE จะทำให้สังคมที่ใกล้ชิดกันกลับมาอีกครั้ง

 

4. อากาศดีตลอดปีและตลอดไป

หนึ่งในสิ่งที่ทำให้มนุษย์มีความสุขได้อย่างง่ายๆ คือ สภาพอากาศที่ดีและสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่ ซึ่งด้วยการเน้นความสำคัญของธรรมชาติที่ไม่ใช่เพียงแค่การมีพื้นที่สีเขียวจำนวนมาก ยังรวมถึงการคำนวณเรื่องของแสงอาทิตย์ ร่มเงา การระบายอากาศ

 

ภูมิอากาศที่ดีและสภาพแวดล้อมที่สวยงามร่มรื่นใน THE LINE จะทำให้ที่นี่เป็นเมืองที่ดีต่อการใช้ชีวิต การทำงาน หรือแม้แต่การมาเยี่ยมเยือนเพื่อเปิดจินตนาการสักครั้ง

 

โดยเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ผู้เป็นประธานของ NEOM ได้กล่าวถึงเมืองแห่งอนาคตว่า “THE LINE จะต่อสู้กับความท้าทายของมนุษยชาติในการใช้ชีวิตในเมืองทุกวันนี้ และจะฉายให้เห็นวิถีชีวิตในอีกรูปแบบ เราไม่อาจมองข้ามวิกฤตเรื่องของการอยู่อาศัย และสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ของโลก และ NEOM คือคนที่จะอยู่แนวหน้าที่จะเสนอทางออกใหม่ และจินตนาการสำหรับการค้นหาคำตอบในเรื่องนี้”

 

เรียกได้ว่าเป็นคำประกาศที่ท้าทายต่ออนาคตของมนุษยชาติอย่างมาก เพราะหาก THE LINE ประสบความสำเร็จ นั่นอาจหมายถึงโอกาสที่เราจะได้เห็นเมืองแห่งอนาคตในแบบใกล้เคียงกันเกิดขึ้นอีก

 

อาจจะไม่สามารถทุ่มงบเพื่อทำได้ขนาดนี้ แต่อย่างน้อยแนวคิดของเมืองแนวตั้ง การใช้ประโยชน์ของพื้นที่ และการเป็นเมืองแห่งความยั่งยืนที่แท้จริงก็เป็นแนวทางที่ดีใช่ไหม?

 

 

THE LINE จะกลายเป็นความจริงได้ไหม?

คำถามต่อมาคือคำถามที่ตอบได้ยากที่สุด ไอเดียบรรเจิดขนาดนี้ THE LINE จะเป็นความจริงได้ใช่ไหม?

 

เรื่องนี้เป็นสิ่งที่มีการตั้งคำถามกันมาก เพราะโครงการแม่อย่าง NEOM เองก็ประสบปัญหามากมายในการทำงาน เพราะถึงจะมีการทุ่มซื้อบุคลากรระดับแถวหน้าของโลกในวงการต่างๆ ตั้งแต่นักออกแบบ วิศวกร ไปจนถึงทีมงานฮอลลีวูด (เพื่อสร้างสิ่งที่อยู่เหนือจินตนาการ) แต่ทุกอย่างมันฟุ้งฝันเหมือนติดอยู่กลางพายุทะเลทรายยากจะมองเห็นภาพได้ชัดเจน

 

คนที่ถูกซื้อตัวมาทำงานส่วนมากจะทำงานกับ NEOM ได้ไม่นานแล้วจากไป (พร้อมเงินก้อนโต) ก่อนมีคนใหม่เข้ามาทำงานต่อซึ่งก็ไม่ได้ทำให้มีความคืบหน้ามากนัก และบางโปรเจกต์ก็ไปไม่ถึงฝัน เช่น Silver Beach ชายหาดสีเงินที่จะปูด้วยหินอ่อนซึ่งสุดท้ายก็ถูกพับไป

 

ไม่นับเรื่องของปัญหาการก่อสร้างที่เกิดคำถามว่า กว่าจะสร้างโครงการยักษ์ขนาดนี้จะเกิดมลพิษมากขนาดไหน? ซึ่งมีการประเมินว่าจะทำให้เกิดคาร์บอนฟุตพรินต์ถึง 1.8 กิกะตัน แล้วจะมีประโยชน์อะไรที่จะชูเรื่องของความยั่งยืนในเมื่อตัวโครงการคือตัวทำลายสิ่งแวดล้อมเสียเอง?

 

 

ไปจนถึงปัญหาใหญ่อย่างเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะเป็นการบุกรุกพื้นที่ของชนเผ่า Huwaitat ที่อยู่อาศัยในพื้นที่มานาน มีคนที่ถูกจับเพราะประท้วงและถูกลงโทษประหารชีวิต

 

อย่างไรก็ดีสำหรับ THE LINE ดูจะเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันสำหรับ NEOM ที่ดูมีแววจะเป็นจริงมากที่สุด โดยขณะนี้มีภาพถ่ายจากโดรนที่แสดงให้เห็นว่า ตอนนี้โครงการได้เริ่มต้นการก่อสร้างแล้ว และเป็นการเริ่มต้นจากผืนดินที่แห้งแล้งอย่างแท้จริง

 

คาดการณ์กันว่าโครงการนี้จะเสร็จสิ้นภายในปี 2030 หรืออีก 8 ปีข้างหน้า แต่มีการประเมินกันว่าไม่น่าเป็นไปได้ และอาจต้องใช้เวลาถึงปี 2050 กว่าจะเสร็จสิ้น

 

ดังนั้น คำถามต่างๆ ที่คาใจตั้งแต่เรื่องใหญ่อย่างการก่อสร้างจะสำเร็จหรือไม่ สร้างแล้วจะสวยงามเหมือนภาพ CG หรือเปล่า ไปจนถึงเรื่องพื้นฐานอย่างการโดยสารขึ้นลงระหว่าง ‘ชั้น’ ของบล็อกนั้นจะใช้เวลาแค่ไหน ต้องต่อคิวกันหรือเปล่า และปัญหาสังคมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นขอให้ทดในใจเอาไว้ก่อน

 

จับตาดู THE LINE (ไปจนถึง NEOM) ไปด้วยกันอย่างเงียบๆ เวลาจะให้คำตอบเราเองว่ามันจะเป็นความจริงหรือไม่

 

แต่ก็อย่างที่บอกในบรรทัดแรก สิ่งเดียวที่จะตัดสินว่ามนุษย์จะสามารถเดินทางไปได้ไกลแค่ไหนคือจินตนาการนั่นเอง

 

ภาพ: NEOM

 

อ้างอิง: 

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X