×

The need to be rich and famous! จำเป็นไหมที่รวยแล้วต้องอวด

12.11.2019
  • LOADING...
เศรษฐา ทวีสิน

บทความในนิตยสาร The Economist ฉบับกลางเดือนมิถุนายนชิ้นหนึ่งที่พาดหัวว่า “The Reticent Rich: Inside the secretive world of Germany’s business barons.” ทำให้ผมสะดุดตาเป็นพิเศษ เพราะปกติแล้วเมื่อเราพูดถึง ‘มหาเศรษฐี’ หรือ Billionaire ภาพที่ผุดขึ้นมาในหัวมักจะเป็นคนสัญชาติอเมริกันเสียส่วนมาก หรือในฟากยุโรปก็น้อยครั้งที่เราจะนึกภาพมหาเศรษฐีที่มาจากเยอรมนี จึงอยากรู้ว่าชีวิตพวกเขาน่าสนใจแตกต่างจาก เจฟฟ์ เบโซส์ แห่ง Amazon หรือเบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ แห่ง LVMH หรือแลร์รี เอลลิสัน แห่ง Oracle อย่างไร

 

เมื่ออ่านดูจึงได้มุมมองที่น่าสนใจในการ ‘แสดงตน’ เป็นมหาเศรษฐีในสายตาสาธารณชนสำหรับชนชาติเยอรมัน ชาติที่มักจะเป็นเจ้าของแบรนด์รถยนต์ เครื่องมืออุตสาหกรรมหนัก ฟาร์มาซีระดับโลกหลายๆ แบรนด์ แต่ทำไมเราจึงไม่ค่อยรู้จักชื่อพวกเขาเหล่านี้หรือเห็นหน้าค่าตาตามสื่อแต่อย่างใด

 

ปัจจัยแรกน่าจะเป็นเพราะประเภทของธุรกิจที่มหาเศรษฐีเยอรมันเป็นเจ้าของมักจะไม่ใช่อุตสาหกรรมที่เป็น Disruptive หรือน่าตื่นเต้นนัก เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมแฟชั่นหรือเทคโนโลยีที่ดูฟู่ฟ่า มีอะไรใหม่ๆ มาพูดเสมอๆ

 

แต่ส่วนใหญ่มักเป็นธุรกิจดั้งเดิม เช่น ห้างสรรพสินค้า ธุรกิจก่อสร้าง และอุตสาหกรรมการผลิตที่เติบโตต่อเนื่องไปเรื่อยๆ อย่างไม่มี New Business Model หรือไม่จำเป็นต้องหาเรื่องใหม่มาพูดกับนักลงทุนแต่อย่างใด การปรากฏตัวเพื่อป่าวประกาศเรื่องใหม่ๆ กับสาธารณชนแทบไม่มีประโยชน์อะไรสำหรับพวกเขา

 

แต่ปัจจัยที่น่าสนใจกว่ามี 2 เรื่องคือ หนึ่ง วัฒนธรรมที่กลัวการเป็นเป้าของสังคมและถูกมองว่าเป็นคนรวยแบบไร้สาระ โดยเฉพาะในสังคมที่มีการแบ่งฝ่ายขวาและซ้ายจัดอย่างในยุโรป และสองคือความเชื่อมโยงของประวัติศาสตร์ธุรกิจกับความโหดร้ายของยุคนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งทั้งสองปัจจัยนี้เป็นสาเหตุให้หลายๆ ตระกูลของเศรษฐีเยอรมันไม่ค่อยเปิดเผยตัวตน และบางตระกูลต้องการยกระดับความเป็นส่วนตัวถึงขนาดให้ทายาทรุ่นที่ 2 รุ่นที่ 3 ลงนามในสัตยาบันตอนบรรลุนิติภาวะว่าจะพยายามหลีกเลี่ยงการปรากฏตัวในที่สาธารณะ จะไม่ให้สัมภาษณ์สื่อ และที่น่าจะโหดร้ายที่สุดสำหรับเด็กรุ่นใหม่ๆ ก็คือถึงขั้นห้ามใช้โซเชียลมีเดียกันเลยทีเดียว

 

เรียกได้ว่าต่างกับบรรดา Socialite ฝั่งอเมริกันและของไทยอย่างสิ้นเชิง ที่หลายคนคงตีอกชกหัวตัวเองหากเจอสถานการณ์แบบนี้

 

พูดถึงเรื่องนี้แล้ว ลองสังเกตดูรอบๆ ตัวเราสิครับ คงไม่มีใครเถียงผมว่าโซเชียลมีเดียกลายเป็นแพลตฟอร์มที่ให้คนยุคนี้ใช้เปิดเผย โอ้อวด และ Claim to Fame กันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นมหาเศรษฐีหรือคนธรรมดา จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม จากที่เมื่อก่อนบรรดาเศรษฐีและ Socialite ไทยอาศัยหน้าสื่อนิตยสารและหนังสือพิมพ์หน้าสังคมในการเปิดตัวและโชว์ตัว แต่ตอนนี้ใครๆ ก็ทำได้

 

อาการ FOMO หรือ Fear of Missing Out ที่เขาว่ากันว่ามีอิทธิพลมากที่สุดกับกลุ่มคนรุ่นมิลเลนเนียล เป็นความกลัวที่จะพลาดการได้รู้ได้เห็นกิจกรรมกิ๊บเก๋ที่คนอื่นๆ กำลังทำ ของเท่ๆ ฮิปๆ ที่คนอื่นใช้ อาหารอร่อยๆ ที่คนอื่นกินกันผ่านหน้าจอมือถือที่กลายเป็นอวัยวะหนึ่งของเราไปเสียแล้ว ส่งผลให้สมองของเราประมวลผลสร้างเป็น ‘ความอยาก’ ไม่รู้จบ ใครทำอะไรที่ไหน เราต้องเห็นและเราต้องเป็นเช่นกัน

 

ทิ้งท้ายไว้ว่ามีรายงานฉบับหนึ่งทำโดยบริษัทการเงินระดับโลกอย่าง Charles Schwab เมื่อต้นปี ที่บอกว่ามากกว่า 1 ใน 3 ของประชากรในสหรัฐอเมริกายอมรับว่าโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลอย่างมากต่อรูปแบบการใช้เงินของพวกเขา และเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้พวกเขาใช้จ่ายเกินตัว อันเนื่องมาจากการเสพบรรดาโพสต์ต่างๆ ที่แวดวงคนรู้จักและคนที่ฟอลโลว์นำเสนอสู่สาธารณชน

 

ผมคิดว่าโลกเราคงมีความพอดีขึ้นอีกเยอะ ถ้าบรรดาโซเชียลมีเดียทั้งหลายพัฒนาเอไอหรืออัลกอริทึมที่ฟิลเตอร์คอนเทนต์ประเภท ‘Claim to Fame’ ออกไปจากฟีดของเรากันได้ครับ

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X