×

เลือกหุ้นอย่างไรในวิกฤตโควิด-19

31.03.2020
  • LOADING...

วิกฤตตลาดหุ้นนั้นเป็นทั้ง ‘วิกฤต’ และ ‘โอกาส’ สำหรับนักลงทุนที่จะเข้าไปลงทุนซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ 

 

เป็นความจริงที่ว่าโอกาสนั้นมีมาก และหลายๆ คนก็เคยลงทุนและร่ำรวยมาจากการลงทุนในยามวิกฤตที่ราคาหุ้นตกต่ำลงมาก โดยซื้อหุ้นและถือยาวจนกระทั่งตลาดฟื้นและราคาหุ้นขึ้นไปมากมายจนทำให้คนถือกลายเป็นเศรษฐี 

 

แต่ก็มีไม่น้อยที่ลงทุนซื้อหุ้นในยามวิกฤตแล้วก็ ‘เจ๊ง’ ไปอย่างเงียบๆ เพราะหุ้นที่ซื้อนั้นล้มละลาย หรือกิจการถูกลดทุนและถูกควบรวมกลายเป็นของเจ้าหนี้หรือคนอื่นที่ไม่ใช่เจ้าของเดิม 

 

ดังนั้นการลงทุนหุ้นในยามวิกฤตจึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาข้อมูลและวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง ถ้าซื้อหุ้นผิดตัว อันตรายก็มหาศาลจนอาจเป็นหายนะ ซื้อหุ้นถูกตัวและไม่รีบขายแบบเก็งกำไร โอกาสร่ำรวยแบบ ‘เปลี่ยนชีวิต’ ก็เป็นไปได้

 

วิธีเลือกหุ้นในยามเกิดวิกฤต โดยเฉพาะในรอบนี้ที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ซึ่งทำให้ผู้คนต้องหยุดหรือเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันอย่างมากในระยะเวลาอันสั้นนั้น ผมคิดว่าเราควรจะแบ่งหุ้นทั้งตลาดออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ที่ถูกไวรัสกระทบ และดูว่าเมื่อทุกอย่างสงบลงแล้วมันจะเป็นอย่างไร 

 

ประเด็นสำคัญที่ผมอยากจะเน้นมากก็คือ วิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้มีความแตกต่างจากวิกฤตครั้งก่อนๆ ที่มักจะเป็นเรื่องของการเงินอย่างมีนัยสำคัญก็คือ มันเปลี่ยนพฤติกรรมของคนไปในทิศทางที่บางทีมันก็เปลี่ยนอยู่แล้ว เพราะการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดยเฉพาะทางดิจิทัล แต่วิกฤตทำให้กระบวนการเปลี่ยนแปลงนั้นเร็วขึ้นมากเพียงแค่ชั่ว ‘ข้ามคืน’ แทนที่จะใช้เวลาเป็นปีๆ หรือสิบๆ ปี หรือพูดง่ายๆ คือ Disruption หรือการทำลายล้างธุรกิจนั้นเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คิดมาก ซึ่งนั่นหมายความว่าความตกต่ำของธุรกิจบางอย่างในช่วงเวลานี้เนื่องจากผลของวิกฤตโควิด-19 นั้น เมื่อวิกฤตผ่านพ้นไป ธุรกิจอาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป รายได้และกำไรหลังวิกฤตอาจจะไม่กลับมาเท่าเดิมก่อนวิกฤต ทุกอย่างอาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และนั่นก็หมายความว่าหุ้นตัวนั้นก็จะไม่ดีเหมือนเดิม

 

หุ้นกลุ่มแรก ที่ผมคิดว่าน่าสนใจ และถ้าราคาหุ้นลดลงมากจากราคาก่อนวิกฤตก็คือหุ้นที่เป็น ‘Survivor’ หรือ ‘ผู้อยู่รอด’ ที่มีความแข็งแกร่ง เป็นผู้นำ และปรับตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในช่วงวิกฤตนี้ได้ หลังจากวิกฤตผ่านไป กิจการจะแข็งแรงเหมือนเดิมหรือแข็งแรงขึ้น พวกเขาจะเติบโตขึ้น โดยอานิสงส์ส่วนหนึ่งจากการล้มหายตายจาก หรือพิการจากผลของโควิด-19 ของคู่แข่ง การซื้อหุ้นเหล่านี้ในยามที่หุ้นตกลงมาแรงมากแล้วถือไว้ต่อไปยาวนานจะทำให้ได้ผลตอบแทนที่ดีต่อเนื่องยาวนานเป็นซูเปอร์สต๊อกได้

 

หุ้นในกลุ่มนี้โดยธรรมชาติไม่ควรเป็นหุ้นที่อยู่ในกลุ่มที่จะถูก Disrupt อย่างง่ายๆ เนื่องจากเหตุผลที่ว่าผลิตภัณฑ์หลักๆ ของมันเป็นสิ่งที่จำเป็นและเทคโนโลยีไม่สามารถทดแทนได้ มันควรจะเป็นผู้ผลิตหรือให้บริการที่มีต้นทุนต่ำที่สุดเนื่องจากมีขนาดที่ใหญ่มากเทียบกับคู่แข่ง นอกจากนั้นมันจะต้องมีความสามารถและศักยภาพที่จะกระจายสินค้าและบริการด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับราคาของสินค้า หรือพูดง่ายๆ มันไม่ถูก Disrupt ในแง่ของสินค้าและในด้านของช่องทางการค้าโดยเฉพาะอีคอมเมิร์ซ เพราะมันสามารถปรับตัวเองให้สามารถค้าขายผ่านอินเทอร์เน็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพในยามที่ทุกคนต่างก็จำเป็นต้องเข้าสู่ระบบนี้อย่างไม่มีทางเลือกในช่วงไวรัสระบาด 

 

เหตุผลก็เพราะ เมื่อทุกคนเริ่มคุ้นเคยกับระบบนี้เพราะความจำเป็นแล้ว เขาก็อาจจะไม่อยากกลับไปสู่ระบบเดิมที่มีประสิทธิภาพต่ำกว่า สำหรับผมแล้ว ผมจะมองดูว่าบริษัทหรือหุ้นตัวไหนสามารถปรับตัวได้ดี เพราะนี่จะเป็นหุ้นที่จะกลับมา ‘ดีเหมือนเดิมหรือดียิ่งขึ้นไปอีกหลังวิกฤต’

 

หุ้นกลุ่มที่สอง ก็คือหุ้นที่ยังเอาตัวรอดได้หลังวิกฤต แต่จะไม่กลับมาดีเหมือนเดิมหรือแข็งแกร่งเหมือนเดิม เหตุผลก็คือ มันอาจจะเป็นกิจการที่แข็งแกร่ง แต่เนื่องจากภาระหนี้ที่สูงเกินไป ซึ่งทำให้มันอ่อนแอเกินกว่าที่จะสามารถปรับตัวในยามที่ยากลำบากและเกิดการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของลูกค้าหรือผู้คนที่ทำให้กิจการหรือผลประกอบการถดถอยอย่างรุนแรง 

 

ผลก็คือในยามที่คนหยุดหรือเลิกหรือลดการใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการของบริษัทในช่วงวิกฤต เขาอาจจะหันไปหาสิ่งทดแทนที่มีประสิทธิภาพเหนือกว่า และเมื่อเหตุการณ์เรื่องไวรัสผ่านไป เขาก็ติดกับพฤติกรรมนั้นและไม่กลับมาใช้ของเดิมอีกต่อไปหรือใช้น้อยลง ผลก็คือยอดขายและกำไรของกิจการลดน้อยลงอย่างถาวรเมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤต 

 

ตัวอย่างที่ผมคิดก็คือเรื่องของร้านค้าปลีกและห้างสรรพสินค้าทั้งหลายที่อาจจะต้องเหนื่อยหนักถ้าคนที่หันไปใช้บริการอีคอมเมิร์ซกันมากมายที่อาจจะไม่กลับมาซื้อของที่ห้างเหมือนเดิมเมื่อวิกฤตผ่านไป เป็นต้น

 

สุดท้ายก็คือหุ้นที่ ‘ไม่รอด’ จากวิกฤต มันอาจจะไม่ล้มละลายก็ได้ แต่ความสามารถในการดำเนินธุรกิจภายหลังวิกฤตจะถดถอยลงไปมาก ธุรกิจถูก Disrupt ท่ามกลางภาวะวิกฤต ในที่สุดธุรกิจก็จะค่อยๆ ตายหรือแทบจะหมดค่ากลายเป็น ‘ตะวันตกดิน’ ในที่สุด 

 

วิธีที่จะมองหุ้นในกลุ่มนี้นั้น นอกจากดูว่ามันถูกกระทบมากน้อยแค่ไหน ถ้ามากสุดๆ เช่น อยู่ในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางท่องเที่ยวและมีการแข่งขันหนักมากในธุรกิจ เช่น การบิน และอาจจะรวมถึงโรงแรม แบบนี้ก็ต้องถือว่ามีโอกาสที่จะ ‘ไม่รอด’ 

 

ถ้าบริษัทมีหนี้สินมหาศาลและเป็นหนี้ที่จะต้องใช้คืนในเวลาอันสั้น ในกรณีแบบนี้ ถ้าเราซื้อหุ้นแล้วเรื่องของโควิด-19 ไม่จบลงรวดเร็วก็จะเป็นอันตรายมาก นอกจากนั้น ถึงแม้ว่าวิกฤตจะผ่านไปและบริษัทยังอยู่รอดได้ แต่ก็เป็นไปได้ว่าธุรกิจอาจจะไม่กลับมาเหมือนเดิมอีกต่อไป เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนที่อาจจะลดการเดินทางหรือใช้บริการที่ Disrupt บริการเดิม เช่น ใช้ Airbnb หรือใช้วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ผ่านอินเทอร์เน็ตแทนการประชุม เป็นต้น

 

เมื่อแบ่งกลุ่มได้แล้วว่าบริษัทน่าจะอยู่กลุ่มไหนใน 3 กลุ่ม สิ่งที่จะต้องพิจารณาต่อมาก็คือ ราคาหุ้นที่จะสะท้อนคุณภาพของกิจการ 

 

โดยราคาหุ้นนั้นนอกจากจะดูโดยเปรียบเทียบกับราคาที่เป็นก่อนวิกฤตแล้ว ควรจะดูด้วยว่ามันถูกหรือแพงเมื่อเทียบกับคุณสมบัติของหุ้นที่จะเป็นหลังจากวิกฤตด้วย 

 

แน่นอนว่าถ้าหุ้นตกลงมามาก โอกาสที่จะซื้อหุ้นถูกก็มีมากขึ้น โอกาสที่จะขาดทุนก็มีน้อยลง และสำหรับคนที่ชอบเล่นเก็งกำไรก็อาจจะทำกำไรได้มากขึ้นในระยะเวลาอันสั้น 

 

อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นนั้นถ้าตกลงมามากแต่คิดค่า PE หรือตัวเลขอื่นๆ ก็ยังสูงหรือแพงมาก แบบนี้ก็มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะถ้ามันไม่ใช่หุ้นในกลุ่มที่หนึ่งที่เมื่อวิกฤตผ่านไปมันก็จะกลับมาเหมือนเดิมหรือดีขึ้นไปอีก 

 

อย่าลืมว่าหุ้นที่ PE สูงมากนั้น บ่อยครั้งอาจเกิดจากภาวะตลาดหุ้นที่ร้อนแรง ซึ่งมักทำให้ ‘หุ้นเก็งกำไร’ มี PE ที่สูงกว่าที่ควรจะเป็น แต่เมื่อวิกฤตผ่านไป หุ้นก็มักจะเหงาและหุ้นเกือบทั้งตลาดก็มักจะถูก Rerated หรือปรับค่า PE ลงมาสู่ค่าปกติที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับพื้นฐานของกิจการ

 

มองในแง่ของการลงทุนระยะยาวและเป็นแบบ VI (Value Investor) แล้ว ผมคิดว่าการลงทุนในภาวะวิกฤตนั้น ผมจะเลือกลงทุนเฉพาะในหุ้นกลุ่มหนึ่งเท่านั้น นั่นคือ มันจะต้องเป็นหุ้นที่ปลอดภัยในแง่ของสถานะทางการเงินที่จะต้อง ‘ไม่เจ๊ง’ ก่อนที่วิกฤตจะจบ ธุรกิจจะต้องกลับมาได้เท่าเดิมหรือดีกว่าเดิมหลังวิกฤต ซึ่งมันก็มักจะเป็นกิจการที่แข็งแรงและโดดเด่นก่อนวิกฤตและมีผู้บริหารที่มีฝีมือ และถ้าเคยผ่านวิกฤตมาได้หลายครั้งก็ยิ่งดี นอกจากนั้นมันก็ไม่ควรจะเจ็บหนักเกินไป เช่น ‘อยู่ในศูนย์กลางของพายุ’ ซึ่งอาจจะทำให้ ‘ตาย’ ได้ ไม่ว่าจะแน่แค่ไหน นี่ก็เพราะผมเคยอยู่ในธุรกิจเงินทุนสมัยวิกฤตต้มยำกุ้งที่บริษัทเงินทุนต้องเจ๊งกันเกือบหมดไม่ว่าจะดีเด่นแค่ไหนก็ตาม

 

สุดท้ายแล้วผมก็ยังคิดว่าการลงทุนไม่ว่าในสถานการณ์ไหน ทุกอย่างก็ต้องมีข้อยกเว้น และก็ต้องเป็นเรื่องของศิลปะที่ต้องมีการประเมินว่าหุ้นตัวไหนคุ้มค่ามี Margin of Safety พอ 

 

การกระจายความเสี่ยงถือหุ้นหลายๆ ตัวเป็นเรื่องจำเป็น เพราะโอกาสผิดพลาดโดยเฉพาะในช่วงภาวะวิกฤตนั้นมีสูงกว่าปกติ หลังจากคิดและวิเคราะห์ทุกอย่างแล้ว สิ่งสุดท้ายที่สำคัญและมักจะแยกแยะระหว่างนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จสูงกับนักลงทุนธรรมดาก็คือ การตัดสินใจที่เด็ดเดี่ยวและมั่นคงในช่วงเวลาที่เหมาะสมและไม่วอกแวกต่อสถานการณ์ที่ตามมาในช่วงสั้นๆ ที่มักจะทำลายการตัดสินใจนั้น

 

หมายเหตุ: บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ 30 มีนาคม 2563 ใน https://portal.settrade.com/blog/nivate/2020/03/30/2295

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising