×

The Kingmaker (2019) พิษสงนางพญา หนังสารคดีว่าด้วยการทวงคืนบัลลังก์ของอดีตสตรีหมายเลขหนึ่งแห่งฟิลิปปินส์

07.07.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • เป็นเรื่องน่ายินดีที่หนังสารคดีของลอเรน กรีนฟิลด์ ไม่ได้กลายสภาพเป็นสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ตัวอิเมลดา และพร้อมๆ กับที่ The Kingmaker เล่าเรื่องของอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ผู้สร้างก็ทำอีกอย่างควบคู่ไปด้วย นั่นคือการสอบสวนข้อเท็จจริงที่ออกมาจากคำบอกเล่าของเจ้าตัว
  • สิ่งละอันพันละน้อยในหนังสารคดีของกรีนฟิลด์ชวนให้สรุปได้อย่างน้อยสามอย่างด้วยกัน หนึ่ง เธอกร้าวแกร่งและ ‘ทนแดดทนฝน’ กว่าที่ใครคาดคะเน สอง เธอเป็นนักเล่นแร่แปรธาตุตัวยง และดูเหมือนว่าทรัพย์สมบัติที่ตระกูลมาร์กอสฉ้อโกงไปจากประชาชนนับหมื่นล้านดอลลาร์ ยังถูกซุกเอาไว้อีกจำนวนมาก
  • หนังตั้งสมมติฐานทำนองว่าเธอเป็นคนค้ำจุนบัลลังก์ของประธานาธิบดีมาร์กอส และสถานการณ์ล่าสุด เธอกำลังผลักดันให้ลูกๆ หลานๆ ทวงคืนความยิ่งใหญ่เมื่อครั้งกระนั้นกลับคืน

 

 

หนังสารคดีเรื่อง The Kingmaker (2019) ของลอเรน กรีนฟิลด์ บอกเล่าเรื่องราวของอิเมลดา มาร์กอส อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงทศวรรษ 2010 ที่เธอหวนคืนสู่เวทีการเมือง และนั่นรวมถึงการพยายามผลักดันให้ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนเพียงคนเดียวที่ชื่อบองบอง เจริญรอยตามผู้เป็นพ่อ อดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส ผู้ล่วงลับ

 

ความพิเศษประการหนึ่งของหนังสารคดีเรื่อง The Kingmaker หนีไม่พ้นการที่คนทำหนังได้รับโอกาสสัมภาษณ์นางมาร์กอสในต่างกรรมต่างวาระ อีกทั้งยังได้รับอนุญาตให้ติดตาม ‘แม่ของแผ่นดิน’ ผู้นี้ไปพบปะกับบรรดาพสกนิกรของเธอในฉากเปิดเรื่องซึ่งล้วนแล้วเป็นคนยากไร้ และวิธีการที่เธอสื่อสารกับคนเหล่านั้นจากที่ผู้สร้างเก็บภาพฟุตเทจมาฝากผู้ชม ก็ด้วยการแจกเงินที่เจ้าตัวพกมาเป็นฟ่อนๆ ในกระเป๋าแบรนด์เนมใหม่เอี่ยมของเธอ และผู้ชมไม่ต้องใช้ความสังเกตสังกามากมายก็มองเห็นได้ถึงสีหน้าที่เศร้าสร้อยหม่นหมองของเจ้าตัว ประโยคที่ผู้ชมได้ยินในระหว่างนี้ก็คือ ในยุคสมัยที่เธอเรืองอำนาจ ฟิลิปปินส์ไม่มีขอทาน

 

ว่าไปแล้ว สิ่งที่นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งยวดสำหรับคนทำหนังสารคดีชีวประวัติคนดัง ก็คือการต้องระแวดระวังไม่ให้หนังของเธอหรือเขากลายเป็นเครื่องมือเสริมสร้างภาพลักษณ์ให้กับใครคนนั้นโดยไม่เจตนา และความยุ่งยากเพิ่มขึ้นเป็นสองหรือสามเท่าเมื่อใครคนนั้นต้องรับมือกับอิเมลดา มาร์กอส ผู้ซึ่งเป็นทั้งตัวบุคคลที่อยู่ในความขัดแย้งทางการเมือง และเหนืออื่นใด เป็น ‘นักแสดง’ ที่สุดแสนเป็นธรรมชาติ หรือแม้กระทั่งตีบทแตกกระจุย ไม่มีใครบอกได้ว่าตรงไหนเป็นความรู้สึกที่แท้จริง และตรงไหนเป็นจริตและมารยาของเธอ และไม่ว่าใครจะรักและเทิดทูนบูชาหรือเกลียดเข้ากระดูกดำ อิเมลดาเป็นคาแรกเตอร์ที่ทั้งดึงดูดและฉูดฉาดบาดตา

 

อย่างน้อยที่สุดในแง่ของรูปลักษณ์ภายนอก ดูเหมือนว่าไม่ว่ากิจกรรมที่เธอไปเกี่ยวข้องคืออะไร เรามักจะได้เห็นเธอสวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ราวกับกำลังออกงานสโมสรสันนิบาตตลอดเวลา อิเมลดาพูดทำนองว่า เธอจำเป็นต้องแต่งตัวสวยทุกครั้งที่ไปเยี่ยมผู้คนในสลัม เพราะคนยากคนจนมักจะมองหา ‘ดวงดาว’ ท่ามกลางค่ำคืนที่มืดมน

 

ไม่มากไม่น้อย นั่นบอกโดยอัตโนมัติว่าอิเมลดาเป็น ‘นักการเมือง’ ที่มีคารมคมคาย สะท้อนไหวพริบปฏิภาณ และดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่ายมากที่ใครจะเคลิบเคลิ้มไปกับถ้อยคำที่พรั่งพรู

 

 

 

อีกแง่มุมหนึ่งที่ควรระบุควบคู่ไปด้วยก็คือการใช้ประโยชน์จากความเป็นผู้หญิงของเธอ และภาพข่าวของอิเมลดากับบุคคลสำคัญระดับโลก ไล่เรียงตั้งแต่ ริชาร์ด นิกสัน, ประธานเหมา, โรนัลด์ เรแกน, ซัดดัม ฮุสเซน หรือแม้กระทั่งโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อครั้งที่เธอทำหน้าที่เสมือนทูตสันถวไมตรีให้กับประธานาธิบดีมาร์กอส ก็บอกโดยอ้อมว่าฐานะที่แท้จริงของเธอไม่ได้เป็นแค่เฟิร์สเลดี้ แต่เป็นเหมือนประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ฝ่ายต่างประเทศ และในขณะที่ใครๆ อาจมองว่า ความรอบรู้เรื่องการเมืองโลกของเธอช่างน่าขันและไร้เดียงสา ผู้ชมถึงกับได้ยินเธอเอ่ยปากชมบรรดาผู้นำจอมเผด็จการทั้งหลายว่า ‘ใจกว้างและเมตตา’ แต่ส่วนที่ดูเหมือนเป็นจุดอ่อนกลับกลายเป็นจุดแข็งสำหรับเธอ โดยเฉพาะการเล่นบทไม่ประสีประสาตามแบบฉบับของผู้หญิง (บางครั้งการที่ผู้คนมองว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องของผู้หญิงกลับเป็นประโยชน์มาก)

 

เป็นเรื่องน่ายินดีที่หนังสารคดีของลอเรน กรีนฟิลด์ไม่ได้กลายสภาพเป็นสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ตัวอิเมลดา และพร้อมๆ กับที่ The Kingmaker เล่าเรื่องของอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ผู้สร้างก็ทำอีกอย่างควบคู่ไปด้วย นั่นคือการสอบสวนข้อเท็จจริงที่ออกมาจากคำบอกเล่าของเจ้าตัว และผู้ชมไม่เพียงได้รับรู้ข้อมูลอีกด้าน หลายครั้งมันสวนทางกับประโยคของอิเมลดาอย่างชนิดขาวกับดำ แม้กระทั่งกับเรื่องที่หาทางพิสูจน์ได้ไม่ยาก จนเป็นเรื่องน่าสงสัยว่าเธอเจตนาโกหกคำโต หรือว่าเธอหลงละเมอเพ้อพก (Delusional) และเชื่อในสิ่งที่ตัวเองพูดจริงๆ

 

 

หนึ่งในนั้นได้แก่ชีวิตสมรสกับประธานาธิบดีมาร์กอส ที่เจ้าตัวสรุปว่ามันช่างสวยงาม และไม่มีช่วงเวลาเลวร้ายตกค้างในความทรงจำ ซึ่งหนังของกรีนฟิลด์ก็ตัดแทรกความเห็นของคนใกล้ตัวทำนองว่า ตัวประธานาธิบดีเป็นคนเจ้าชู้ และจริงๆ แล้วอิเมลดาก็จับได้ว่าเขามีอะไรกับหญิงสาวแบบคาหนังคาเขา หรือการที่อิเมลดาอวดอ้างว่าการประกาศกฎอัยการศึกของสามีของเธอในช่วงยุค 70 สร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับฟิลิปปินส์ ทั้งในแง่ของเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน และความยุติธรรม ซึ่งก็ถูกหักล้างอย่างไม่มีชิ้นดีจากนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เป็นผู้เสียหายโดยตรง

 

หรือวิธีการที่คนทำหนังถ่ายทอดภาพลักษณ์ของอิเมลดาก็บอกให้รู้ถึง ‘ความไหวตัวทัน’ ผ่านรายละเอียดปลีกย่อย ตั้งแต่การให้เห็นภาพ (ที่ดูทะแม่งๆ) ของข้าทาสบริวารที่ล้อมหน้าล้อมหลัง และคอยเติมเมกอัพบนใบหน้าให้ดูเข้มและเปล่งปลั่งตลอดเวลา หรือลูกเล่นที่คนทำหนังจับภาพของอิเมลดาที่ไม่ได้โฟกัสตัวบุคคลเพียงลำพัง แต่ภาพลองช็อตเผยให้เห็นห้องหับที่ตกแต่งและประดับประดาไว้ด้วยงานศิลปะและของมีค่าอย่างชนิดล้นเกิน ใครจะเรียกว่าโป๊ะแตกก็คงไม่ผิดความจริงนัก เพราะมันดูเป็นทัศนะอุจาดมากกว่ามีรสนิยม และมันสอดรับกับบุคลิกโอ้อวดตามแบบฉบับคุณนายภูธรของเธอ แต่อะไรก็อาจจะไม่สำคัญเท่ากับข้อที่ชวนกังขาว่า ข้าวของมีค่าเหล่านั้นเกี่ยวพันกับทรัพย์สมบัติที่เธอได้มาโดยมิชอบเมื่อครั้งที่สามีของเธอปกครองประเทศหรือไม่

 

อย่างไรก็ตาม ความหรูหราฟุ้งเฟ้อของอิเมลดาก็เป็นแค่เรื่องจิ๊บๆ (และหนังแทบจะไม่ได้เอ่ยถึงรองเท้านับพันๆ คู่อันอื้อฉาวของเธอ) และหากพูดแบบไม่อ้อมค้อม คนทำหนังพยายามสะกิดให้ผู้ชมมองเห็นพิษสงของอิเมลดา ผู้ซึ่งมองผิวเผิน ดูเหมือนช่วงเวลาของเธอผ่านพ้นไปแล้วแสนนาน

 

แง่มุมหนึ่งที่ชวนครุ่นคิดของหนังก็คือ หากเธอเป็นเพียงแค่ภริยาคนสวยของประธานาธิบดีจอมเผด็จการ และคุณค่าของเธอมีเพียงแค่ประดับบารมีคู่ครอง อิเมลดาก็คงจะตกกระป๋องไปตั้งแต่เมื่อครั้งมาร์กอสถูกโค่นล้มในปี 1986 แต่สิ่งละอันพันละน้อยในหนังสารคดีของกรีนฟิลด์ชวนให้สรุปได้อย่างน้อยสามอย่างด้วยกัน หนึ่ง เธอกร้าวแกร่งและ ‘ทนแดดทนฝน’ กว่าที่ใครคาดคะเน สอง เธอเป็นนักเล่นแร่แปรธาตุตัวยง และดูเหมือนว่าทรัพย์สมบัติที่ตระกูลมาร์กอสฉ้อโกงไปจากประชาชนนับหมื่นล้านดอลลาร์ ยังถูกซุกเอาไว้อีกจำนวนมาก แต่ทั้งหมดนั้นก็อาจจะไม่ใช่เรื่องน่าห่วงกังวลเท่ากับสถานะที่หนังจั่วไว้เป็นชื่อเรื่อง พูดง่ายๆ หนังตั้งสมมติฐานทำนองว่าเธอเป็นคนค้ำจุนบัลลังก์ของประธานาธิบดีมาร์กอส และสถานการณ์ล่าสุด เธอกำลังผลักดันให้ลูกๆ หลานๆ ทวงคืนความยิ่งใหญ่เมื่อครั้งกระนั้นกลับคืน และในขณะที่เป้าหมายยังไม่สัมฤทธิ์ผล ข้อเท็จจริงที่ว่าประธานาธิบดีขวาตกขอบ โรดริโก ดูเตร์เต เป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นกับตระกูลมาร์กอส ก็ทำให้ตอนจบของหนังสารคดีเรื่อง The Kingmaker สิ้นสุดลงอย่างมีความหวังเรืองรองสำหรับอิเมลดาและครอบครัวของเธอ หากทว่าไม่ใช่สำหรับฝ่ายลิเบอรัล และคนที่เคยตกระกำลำบากช่วงมาร์กอสเรืองอำนาจ

 

 

มีประโยคหนึ่งในหนังของเบ็ธ โรมิวโล ภรรยาม่ายชาวอเมริกันของรัฐมนตรียุคมาร์ กอสที่ฟังผิวเผินเหมือนชื่นชมคนฟิลิปปินส์ แต่หากนึกทบทวนดีๆ อาจไม่ได้หมายความตามนั้นก็ได้ เธอบอกว่าหลังจากพวกมาร์กอสต้องหนีตายไปฮาวาย คนอเมริกันพากันประหลาดใจที่อิเมลดา มาร์กอส สามารถกลับเข้าประเทศและได้รับการต้อนรับอย่างอุ่นหนาฝาคั่งราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น และเท่าที่เธอพอจะทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น “ชาวฟิลิปปินส์ช่างเป็นชนชาติที่ให้อภัยจริงๆ”

 

เป็นไปได้หรือไม่ว่า คำที่ถูกต้องมากกว่า ‘ให้อภัย’ ในที่นี้ก็คือ ‘หลงลืม’ หรือไม่ยอมเรียนรู้จากประวัติศาสตร์และความผิดพลาดในอดีตของตัวเอง และในขณะที่ฝันร้ายจากยุคเผด็จการมาร์กอสไม่เคยลบเลือนจากความทรงจำของผู้คนที่ต้องเผชิญวิบากกรรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยกันหมดแล้ว ฟุตเทจที่น่าปริวิตกราวๆ ครึ่งชั่วโมงสุดท้ายบอกให้รู้ว่า หน้าประวัติศาสตร์ช่วงนั้นกำลังถูกบิดเบือน และเด็กๆ ในห้องเรียนถูกปลูกฝังให้มองว่าฟิลิปปินส์ในยุคเผด็จการมาร์กอสเป็นช่วงเวลาที่บ้านเมืองสงบเรียบร้อยและเจริญรุ่งเรือง และไหนๆ ก็ไหนๆ การที่อิเมลดา มาร์กอส และวงศ์วานว่านเครือของเธอกลับมาชนะเลือกตั้งในระดับต่างๆ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลพวงมาจากการที่คนฟิลิปปินส์ ‘เป็นชนชาติที่ให้อภัย’

 

 

เป็นเรื่องช่วยไม่ได้จริงๆ ที่ใครดูหนังสารคดีเรื่อง The Kingmaker แล้วจะมองเห็นประเทศไทยอยู่ในนั้น ซึ่งก็อย่างที่รู้กันว่าปกครองด้วยระบอบเผด็จการทั้งเต็มรูปแบบและซ่อนรูปแบบมาช้านาน ไม่ต้องเอ่ยถึงการปฏิวัติรัฐประหารนับครั้งไม่ถ้วน ไม่อยากจะพูดอะไรมากไปกว่าตั้งข้อสงสัยว่า หนึ่งในหลายปัจจัยของการล้มลุกคลุกคลานเป็นผลมาจากอะไร      

 

ใช่หรือไม่ว่าพวกเราก็เป็นชนชาติที่ชอบ ‘ให้อภัย’ และใช่หรือไม่ว่าความล้มเหลวในห้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์ส่งผลให้เราเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบกะปริบกะปรอย

 

The Kingmaker (2019)

กำกับ-ลอเรน กรีนฟิลด์ ผู้ให้สัมภาษณ์-อิเมลดา มาร์กอส, บองบอง มาร์กอส, เบนิกโน อากีโนที่สาม, เลนี โรเบรโด

 

ขอบคุณภาพจาก 

https://www.thestoryinstitute.com/the-kingmaker

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising