คุณเคยได้ยินคำว่า ‘เด็กสมัยนี้’ ไหมครับ
แล้วคุณเคยสงสัยไหมครับว่าทำไมเราจึงได้ยินผู้ใหญ่หลายท่านใช้คำว่า ‘เด็กสมัยนี้’ บ่อยๆ เช่น เด็กสมัยนี้ขี้เกียจบ้าง เด็กสมัยนี้ไม่มีความเคารพผู้ใหญ่บ้าง เด็กสมัยนี้ไม่ชอบอ่านหนังสือบ้าง ไม่ฉลาดและคิดด้วยตัวเองไม่เป็นบ้าง ฯลฯ
วันนี้ผมจะนำงานวิจัยในเรื่องของ ‘เด็กสมัยนี้’ หรือ ‘Kids these days’ ที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Science Advances เมื่อปลายปีที่แล้วมาเขียนเพื่อให้เพื่อนๆ อ่านกันนะครับ
ในงานวิจัยชิ้นนี้ซึ่งทำโดย จอห์น พรอตซ์โก และโจนาธาน สกูเลอร์ นักจิตวิทยาสองคนที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานตา บาร์บารา ทั้งคู่ได้ทำการสำรวจโดยสอบถามคนอเมริกันอายุ 33-51 ปี จำนวน 3,458 คน เกี่ยวกับทัศนคติที่พวกเขามีต่อวัยรุ่นอเมริกันในสมัยนี้
พวกเขาพบว่าผู้ใหญ่อเมริกันเหล่านี้มักจะพูดกันเป็นเสียงเดียวกันว่า “เด็กสมัยนี้มันแย่กว่าสมัยก่อนเยอะ”
แต่สิ่งที่ทั้งพรอตซ์โกและสกูเลอร์ยังพบเจออีกก็คือความรู้สึกที่พวกผู้ใหญ่เหล่านี้มีต่อ ‘เด็กสมัยนี้’ มีความสัมพันธ์กับบุคลิกภาพและทัศนคติที่พวกผู้ใหญ่เหล่านี้มีในปัจจุบัน
ยังไงน่ะเหรอครับ
คือทั้งคู่พบว่า
- ผู้ใหญ่ที่มองว่าเด็กสมัยนี้ไม่มีความเคารพผู้อาวุโสมากที่สุดมักจะเป็นคนที่ทำแบบสอบถามแล้วได้คะแนนในคำถามข้อที่เกี่ยวกับ Authoritarianism หรือความชอบพอในอำนาจเผด็จการสูง
- ผู้ใหญ่ที่มองว่าเด็กสมัยนี้โง่เขลามากที่สุดมักจะเป็นคนที่ทำแบบสอบถามแล้วมีผลออกมาว่าเป็นคนที่มีไอคิวสูง
- ผู้ใหญ่ที่มองว่าเด็กสมัยนี้อ่านหนังสือไม่เป็นมากที่สุดมักจะเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสืออยู่เป็นประจำอยู่แล้ว
ทั้งพรอตซ์โกและสกูเลอร์ได้สรุปผลงานวิจัยของเขาเอาไว้อย่างนี้ว่า สาเหตุที่ผู้ใหญ่มักมองว่าเด็กสมัยนี้ไม่ได้เรื่องนั้นเป็นเพราะความทรงจำ (Memory) ของคนเรามักจะถูกความรู้สึกของเราในปัจจุบัน (ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลาและสิ่งแวดล้อม) เบี่ยงเบน
พูดง่ายๆ ก็คือความรู้สึกของผู้ใหญ่ในปัจจุบันทำให้พวกเขาไม่สามารถมองเด็กสมัยนี้อย่างเป็นกลางได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าผู้ใหญ่ในปัจจุบันไม่สามารถมองผ่านเลนส์ของเด็กในสมัยนี้ได้ แต่สาเหตุใหญ่ที่เขาทำไม่ได้นั้นอาจจะมาจากกระบวนการที่เป็น Subconscious หรือจิตใต้สำนึก มากกว่าเป็น Conscious Choice
เราเรียกอคติทางด้านความคิดนี้ว่า Presentism หรือการที่ความทรงจำและจินตนาการของคนมักจะถูกปัจจุบันควบคุมอยู่ข้างหลังอย่างที่เราไม่รู้ตัวอยู่
แต่มีอีกอย่างหนึ่งที่พรอตซ์โกและสกูเลอร์เจอนั่นก็คือขนาดคนที่ไม่ชอบระบบเผด็จการเลย พวกเขาก็ยังคิดว่าเด็กสมัยนี้ไม่มีความเคารพผู้ใหญ่เท่ากับเด็กสมัยก่อน ถึงแม้ว่าจะไม่แย่เท่าผู้ใหญ่ที่ชอบอำนาจเผด็จการก็ตาม ทั้งนี้ก็เป็นเพราะอคติทางด้านความคิดอีกอย่างหนึ่งนั่นก็คือ End-of-history Bias หรือการที่คนเราในแต่ละรุ่นมักจะคิด (ผิด) ว่าโลกเราเปลี่ยนมาเยอะแล้ว และไม่น่าจะเปลี่ยนอีกในอนาคต และพอเรามองย้อนกลับไปอดีต เราก็มักจะคิดว่าเราได้พัฒนาอะไรต่อมิอะไรมาเยอะในสมัยก่อน แต่ทำไมเด็กสมัยนี้ถึงไม่ได้พัฒนาได้เร็วเหมือนกับที่เราพัฒนา
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ใหญ่สมัยนี้จะมองเห็นแต่สิ่งที่เกี่ยวข้อง (Relevant) กับการพัฒนาของตนเอง และมองข้ามการพัฒนาอย่างอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตนเองไป แต่กลับเกี่ยวข้องกับเด็กสมัยนี้มากกว่าเยอะ เช่น เด็กสมัยนี้มีความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีมากกว่าผู้ใหญ่สมัยนี้เยอะมาก แต่มีโอกาสติดยาน้อยกว่าคนรุ่นก่อนๆ เยอะ
คำอธิบายอีกอย่างหนึ่งของ The kids these days effect ก็คือคนที่มีอายุน้อยมักจะมองโลกอนาคตด้วยสายตาที่มีความหวังมากกว่า (พูดง่ายๆ ก็คือคนอายุน้อยมักจะคิดกันว่าชีวิตของเขาในอนาคตควรจะต้องดีกว่าชีวิตของเขาในปัจจุบัน) ส่วนคนที่มีอายุเยอะมักจะมองว่าชีวิตของเขาในอนาคตมันไม่น่าจะดีกว่าชีวิตของเขาในอดีต ซึ่งก็ไม่น่าเป็นที่แปลกใจเลยว่าทำไมผู้ใหญ่ส่วนใหญ่จึงมองอดีตว่าดีกว่าปัจจุบัน
สรุปก็คือการที่ผู้ใหญ่สมัยนี้มองเด็กสมัยนี้ไม่ได้ต่างจากการที่ผู้ใหญ่สมัยก่อนมองเด็กสมัยก่อนสักเท่าไรนัก และผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า (ซึ่งก็คือเด็กสมัยนี้) ก็คงจะมองเด็กในวันข้างหน้าในสายตาที่คล้ายๆ กันเช่นเดียวกัน เพียงเพราะ Memory Bias ที่เรามีเหมือนกันทุกๆ คน
อ่านเพิ่มเติม
- Protzko, J. and Schooler, J.W., 2019. Kids these days: Why the youth of today seem lacking. Science advances, 5(10), p.eaav5916.
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์