×

พบผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียล ที่อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก หลังไม่มีรายงานการพบนานกว่า 10 ปี

โดย THE STANDARD TEAM
09.04.2022
  • LOADING...
ผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียล

วันนี้ (9 เมษายน) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับรายงานจาก นงพงา ปาเฉย นักกีฏวิทยาชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานวิจัยกีฏวิทยาและจุลชีววิทยาป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช แจ้งว่า เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2565 ได้พบผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียล Teinopalpus imperialis Hope แมลงคุ้มครองภายใต้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ และเป็นแมลงที่อยู่ในบัญชีที่ 2 แห่งอนุสัญญาไซเตส (CITES) ซึ่งไม่มีรายงานการพบผีเสื้อชนิดนี้มานานมากกว่า 10 ปีในประเทศไทย

 

ดร.แก้วภวิกา รัตนจันทร์ หัวหน้างานกีฏวิทยาป่าไม้ กล่าวว่า การพบผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียลครั้งนี้เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งสำหรับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เนื่องจากเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่า ธรรมชาติและระบบนิเวศในพื้นที่ได้กลับมาอุดมสมบูรณ์ เหมาะสมกับการดำรงชีวิตและขยายเผ่าพันธุ์สิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่นอีกครั้ง 

 

ดร.รุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงได้สั่งการให้ทีมนักวิจัยของสำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช เร่งดำเนินการเก็บข้อมูลทางชีววิทยาและนิเวศวิทยาที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม พร้อมทั้งหาแนวทางอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียลดังกล่าว และทางอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปกจึงมีความจำเป็นที่จะต้องสั่งปิดพื้นที่บริเวณที่พบผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียลเป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันการรบกวนระบบนิเวศและพฤติกรรมของผีเสื้อชนิดนี้ เนื่องจากคาดว่าในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน เป็นฤดูผสมพันธุ์และการวางไข่ของผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียล ทั้งนี้การดำเนินงานดังกล่าวจะอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของ จิระพงษ์ คูหากาญจน์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช อย่างใกล้ชิด

 

สำหรับผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียล (Teinopalpus imperialis Hope) ลักษณะทั่วไป ผีเสื้อเพศผู้และเพศเมีย มีสีสันและลวดลายที่ต่างกัน โดยเพศผู้มีขนาดเล็กกว่า และโคนปีกสีเขียวเข้มสะท้อนแสง ที่ปีกคู่หลังมีแถบสีเหลืองปรากฏที่กลางปีก รวมทั้งมีติ่งแหลมที่ปลายปีกคู่หลัง 1 ติ่ง ปลายติ่งสีเหลือง ส่วนเพศเมียโคนปีกสีเข้มเข้มเช่นกัน ส่วนปลายปีกสีเทาที่ปีกคู่หลังมีติ่งหางยาว 2 ติ่ง โดยติ่งที่ยาวที่สุดมีสีเหลืองที่ปลายติ่ง เป็นผีเสื้อที่บินเร็วและปราดเปรียว มักจะเกาะบนต้นไม้สูง และจะพบบินในช่วงเวลาเช้า 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น มีเขตการแพร่กระจายที่เนปาล ภูฏาน จนถึงภาคตะวันออกของเทือกเขาหิมาลายาในประเทศอินเดีย (West Bengal, Meghalaya, Assam, Sikkim and Manipur) ตลอดจนภาคเหนือของประเทศเมียนมา และมณฑลเสฉวนในจีน ซึ่งทั้งหมดพบในระดับความสูงมากกว่า 6,000 ฟุต (ประมาณ 1,800 เมตร) ประเทศไทย สปป.ลาว และเวียดนาม ในประเทศไทยมีรายงานการพบเพียง 3 แห่งเท่านั้น ทั้งหมดกระจายอยู่ในภาคเหนือ และมียอดเขาสูงมากกว่า 1,800 เมตร คือ อุทยานแห่งชาติฟ้าห่มปก อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ และอุทยานแห่งชาติดอยภูคา จังหวัดน่าน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X