ศาสตราจารย์โจเซฟ ไนย์ (Joseph Nye) ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่าเป็นนักวิชาการด้านนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาที่ทรงอิทธิพลที่สุด โดยเฉพาะในหมู่ผู้ที่เชื่อว่า สงครามครั้งใหญ่ระหว่างชาติมหาอำนาจไม่ใช่สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เขาเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในวงสาธารณะจากแนวคิดเรื่อง ‘Soft Power’ หรือ ‘อำนาจโน้มนำ’ (ตามคำแปลของ อ.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ) ซึ่งเขาเป็นผู้บัญญัติคำนี้ขึ้น เพื่ออธิบายรูปแบบของอำนาจที่ไม่ใช่การบีบบังคับด้วยกำลังทหารหรือวิธีทางเศรษฐกิจ แต่เป็นการดึงดูดและชักจูงให้ผู้อื่นคล้อยตาม
แนวคิดเรื่อง ‘การพึ่งพากันที่สลับซับซ้อน’ (Complex Interdependence) ของไนย์ ซึ่งเสนอว่า ประเทศต่างๆ พึ่งพาอาศัยกัน เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและด้านอื่นๆ ได้ก่อให้เกิดกระแสความคิด ‘เสรีนิยมใหม่’ (Neo-liberalism) ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในแนวคิดหลักของทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และยังคงมีความสำคัญในปัจจุบัน โดยเป็นแหล่งความหวังว่ามนุษยชาติอาจหลีกเลี่ยงการใช้อาวุธนิวเคลียร์ได้อีกครั้ง เขาเป็นนักวิชาการผู้ทุ่มเทตลอดชีวิตในการอธิบายบทบาทของอำนาจในระบบระหว่างประเทศ และแสดงให้เห็นว่าผู้นำสามารถใช้พลังเหล่านี้อย่างมีจริยธรรมได้อย่างไร และเขาก็ประสบความสำเร็จอย่างสูงในภารกิจนั้น
สำหรับผม อาจารย์ไนย์เป็นทั้งครูและที่ปรึกษา ผู้ที่ใส่ใจนักศึกษาอย่างแท้จริง ผมได้เรียนวิชากับเขา และเขาก็เป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ปริญญาโทของผมที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผมยังได้เป็นผู้ช่วยสอนในคลาสของเขา 2 วิชา เขาเป็นผู้เขียนจดหมายแนะนำตัวให้ผมสมัครเรียนระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เรายังติดต่อกันอย่างต่อเนื่องหลังจากนั้น และเขาได้พบผมหลายครั้งในระหว่างที่ผมศึกษาระดับปริญญาเอกที่ออกซ์ฟอร์ด
ด้านล่างนี้คือประสบการณ์ของผมจากการได้รู้จัก โจเซฟ ไนย์
ความถ่อมตนทางปัญญา (Intellectual Humility)
แม้ว่า อาจารย์โจเซฟ ไนย์ จะเป็นหนึ่งในนักวิชาการด้านนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่ง แต่เขากลับมีความถ่อมตนอย่างมาก เขาเคยบอกกับผมว่า ไม่เคยสอนวิชาที่เขียนหนังสือเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพราะอยากเรียนรู้จากการถกเถียงกับนักเรียน ถ้าสังเกตในคำนำของหนังสือหลายเล่มของเขา เราจะเห็นว่าเขามักจะแสดงความขอบคุณต่อนักเรียนที่เขาสอน เพราะพวกเขามีส่วนช่วยในการวิจัยและแนวคิดของเขาเอง
ในประสบการณ์ส่วนตัวของผม เหตุการณ์ที่สะท้อนว่าเขารับฟังนักเรียนจริงๆ คือ การสนทนาระหว่างผมกับเขาเกี่ยวกับความแข็งกร้าวที่เพิ่มขึ้นของจีนในทะเลจีนใต้ ซึ่งผมมองว่าเป็นผลจากการที่จีนมองว่าสหรัฐอเมริกาอ่อนแอลงหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 ด้วยความที่ผมมาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผมติดตามความเปลี่ยนแปลงของนโยบายและกิจกรรมของมหาอำนาจในภูมิภาคอย่างใกล้ชิด และได้พูดคุยกับอาจารย์ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของท่าทีจีนหลังปี 2008 ซึ่งต่อมาผมสังเกตว่า เขาได้กล่าวถึงประเด็นนี้ในเวทีต่างๆ และขยายความตามมุมมองของเขาเอง
การรู้ขอบเขตของตนเอง (Knowing Your Own Scope)
อาจารย์ไนย์มักจะระบุขอบเขตของการวิเคราะห์และข้อจำกัดของการตัดสินของตนอย่างชัดเจน ในวิชา Presidential Leadership in the 21st Century (ซึ่งต่อมาได้ตีพิมพ์ในปี 2013) เขาหลีกเลี่ยงการประเมินผลงานของประธานาธิบดี บารัก โอบามา หรือแม้แต่ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช เพราะบอกกับพวกเราว่า ต้องใช้เวลาขั้นต่ำหนึ่งถึงสองทศวรรษ จึงจะสามารถประเมินผลกระทบที่แท้จริงของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้
แต่เขาได้ทำข้อยกเว้นให้กับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในหนังสือ Do Morals Matter? ซึ่งมีการประเมินผู้นำรายนี้ แต่เขาก็ใส่ข้อแม้เสมอว่า เกรดของทรัมป์ยังถือว่า ‘ยังไม่สมบูรณ์’ (Incomplete) ทุกครั้งที่เขากล่าวถึงการเป็นผู้นำของทรัมป์ จุดนี้สะท้อนความสำคัญของการไม่ขยายข้อวิเคราะห์หรือคำตัดสินเกินกว่าที่ข้อมูลจะรองรับ
ความชัดเจนทางความคิด (Clarity of the Mind)
อาจารย์ไนย์มีสูตรการวิจัยของเขาเอง ซึ่งเน้นความชัดเจนของประเด็นและกรอบการวิเคราะห์ เขามักเลือกอธิบายเรื่องซับซ้อนด้วยวิธีง่ายๆ หากมีคำอธิบายหลายแบบที่เป็นไปได้ เขาจะเลือกคำอธิบายที่เรียบง่ายที่สุด หลักการนี้เรียกว่า Occam’s Razor หรือในแวดวงวิชาการเรียกว่า Parsimony (หลักแห่งความเรียบง่าย) ตลอดหลายปีที่ผ่านมา วิธีการเช่นนี้ที่ให้ความสำคัญกับโครงสร้างการวิจัยที่ชัดเจนได้รับการยอมรับในหมู่นักศึกษาสังคมศาสตร์ทั่วโลก
ไนย์มักคิดด้วยกรอบหรือแมทริกซ์ที่มีโครงสร้างชัดเจน เขามักกำหนดเกณฑ์ต่างๆ ขึ้นมาเพื่อใช้ประเมินหรือเปรียบเทียบกรณีศึกษา ในงานวิจัยเรื่องความเป็นผู้นำของเขา เขาได้จำแนกประเภทและคุณภาพของความเป็นผู้นำ และนำมาใช้อธิบายประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในอดีต ความยึดมั่นของเขาต่อกรอบการวิเคราะห์เหล่านี้ ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจแนวคิดและข้อโต้แย้งได้อย่างชัดเจน และทำให้แนวคิดของเขาแพร่หลายสู่สาธารณะได้ง่ายขึ้น
ความทุ่มเทต่อวงวิชาการ (Commitment to the Academy)
ตลอดชีวิตของอาจารย์ไนย์ เขาเขียนหนังสือถึง 20 เล่ม และบทความมากกว่า 1,200 ชิ้น ความทุ่มเทของเขาในการสร้างสรรค์องค์ความรู้ให้กับวงวิชาการและสาธารณชน ทำให้เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในนักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (IR) ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคของเรา
เรื่องนี้เห็นได้ชัดจากบทสนทนาแบบสบายๆ ระหว่างผมกับอาจารย์ไนย์ในปี 2014 ตอนนั้นผมถามเขาว่ามีคำแนะนำอะไรสำหรับนักวิชาการรุ่นใหม่อย่างผมไหม เพราะคำว่า ‘Soft Power’ ที่เขาเป็นคนบัญญัติ ได้กลายเป็นคำที่แพร่หลายและมีอิทธิพลต่อสาธารณชนเกินขอบเขตของวงวิชาการไปแล้ว เขาตอบว่า จริงๆ แล้วเขาเคยบัญญัติคำหลายคำ แต่มีเพียง ‘Soft Power’ เท่านั้นที่ถูกนำไปใช้ในแวดวงสาธารณะ เขาแนะนำให้ผมกลับไปศึกษางานที่เขาทำร่วมกับคีโอฮาน (Keohane) เรื่อง ‘การพึ่งพากันที่สลับซับซ้อน’ (Complex Interdependence) ซึ่งเขาเชื่อว่าอธิบายสภาพโลกได้อย่างดีมาก แต่งานชิ้นนี้กลับไม่ได้ถูกพูดถึงในแวดวงสาธารณะเท่ากับ Soft Power
จากบทสนทนานี้ เขาเหมือนจะบอกผมว่า ขอให้ผมทำในสิ่งที่เชื่ออย่างจริงจังและสม่ำเสมอ แล้วผลลัพธ์จะออกมาเอง โดยสรุปก็คือ บางครั้งสิ่งต่างๆ อาจไม่เป็นไปตามที่หวัง และนั่นก็ไม่เป็นไร
ความมีเมตตา (Compassion)
ผมเคยเข้าเรียนในวิชาของอาจารย์ไนย์ 3 ครั้ง (ครั้งหนึ่งในฐานะนักเรียน และอีกสองครั้งในฐานะผู้ช่วยสอน) ในชั้นเรียนที่พูดถึงสงครามนิวเคลียร์ ผมสังเกตเห็นน้ำตาในดวงตาของเขาเมื่อพูดถึงผลกระทบของระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ ความพยายามของเขาที่จะป้องกันไม่ให้มีการใช้ระเบิดนิวเคลียร์อีกครั้งหนึ่งกับประชากรโลก จึงเป็นผลจากความเมตตาต่อชาวญี่ปุ่น และคำถามทางศีลธรรมที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของประธานาธิบดีแฮร์รี เอส. ทรูแมนในการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์
แม้เขาจะเกลียดชังการใช้อาวุธนิวเคลียร์ แต่ไนย์ก็เข้าใจเหตุผลเชิงยุทธศาสตร์ที่ทรูแมนใช้ในการตัดสินใจที่ถกเถียงกันนี้ เขายังยกย่องทรูแมนที่ตัดสินใจไม่ทิ้งระเบิดลูกที่สาม และไม่ใช้ในสงครามเกาหลี ซึ่งเขากล่าวว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘ข้อห้ามทางนิวเคลียร์’ (Nuclear Taboo) ความเมตตาที่เขามีต่อชาวญี่ปุ่นยังเป็นเหตุผลที่เขาสนับสนุนให้สหรัฐฯ รับประกันความมั่นคงแก่ญี่ปุ่น ซึ่งช่วยให้ญี่ปุ่นสามารถฟื้นฟูได้ และไนย์เองก็ยังมีความผูกพันกับญี่ปุ่น โดยเขาเคยดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการขององค์กรญี่ปุ่นหลายแห่ง
ความสำคัญของจริยธรรมในเวทีระหว่างประเทศ (Importance of Ethics in the International Arena)
ตลอดชีวิตของเขา อาจารย์ไนย์ยืนหยัดในหลักการว่า จริยธรรมมีความสำคัญในการที่สหรัฐฯ ใช้อำนาจของตนในระบบระหว่างประเทศ แม้แต่การตัดสินใจว่า “จริยธรรมไม่สำคัญ” ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก็ยังถือเป็นคำตัดสินทางศีลธรรมอย่างหนึ่งในมุมมองของเขา
แนวคิดนี้สร้างอิทธิพลอย่างลึกซึ้งให้กับนักเรียนของเขาหลายคน รวมถึงหนึ่งในอาจารย์ที่ปรึกษาของผมที่ออกซ์ฟอร์ดชื่อ เยวิน ฟุง คอง (Yeun Foong Khong) ซึ่งเคยเป็นลูกศิษย์ของไนย์ในทศวรรษ 1980 และงานวิจัยของเขาก็มักพูดถึงความมั่นคงของมนุษย์ (Human Security) และความล้มเหลวทางศีลธรรมของสหรัฐอเมริกาในหลายกรณี
สำหรับตัวผมเอง ใครที่ติดตามสิ่งที่ผมเคยพูดในเวทีสาธารณะเกี่ยวกับอนาคตของอาเซียนหรือทิศทางนโยบายต่างประเทศของไทย จะเห็นอิทธิพลโดยตรงต่อความจำเป็นที่นโยบายต่างประเทศต้องคำนึงถึงจริยธรรม และไม่ใช่เพียงแค่เป้าหมายหรือแรงจูงใจเท่านั้นที่สำคัญ วิธีการที่เราใช้ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็สำคัญไม่แพ้กัน ถ้าเราจำเป็นต้องเบี่ยงเบนจากอุดมคติในบางสถานการณ์ เราต้องสามารถอธิบายได้ว่าทำไม และต้องรับผิดชอบต่อการกระทำนั้น โดยไม่สูญเสียหลักการที่ยึดถือ
ความซื่อสัตย์ต่ออเมริกาและความเป็นผู้นำแบบไม่กดขี่ (Integrity to America and its Benign Leadership)
อาจารย์เคยบอกกับผมว่า จีนเคยติดต่อเขาเพื่อให้ช่วยให้คำปรึกษารัฐบาลจีนว่าจะสร้าง ‘Soft Power’ อย่างไร แต่เขาปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่า การทำเช่นนั้นเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน และขัดกับความจงรักภักดีต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ
ในขณะที่เจ้าหน้าที่ รัฐบุรุษ หรือนักวิชาการบางคนอาจทรยศต่ออเมริกา ไม่ว่าจะจากผลตอบแทน การถูกบีบบังคับ หรือแรงดึงดูดจากประเทศคู่แข่ง แม้แต่ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ เองก็อาจมีแนวโน้มที่จะดำเนินการขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศ แต่ไนย์ยังคงยึดมั่นในความซื่อสัตย์ของตนเอง ด้วยความพยายามที่จะผลักดันให้สหรัฐฯ เป็นผู้มีส่วนร่วมที่รับผิดชอบ เป็นประเทศที่ได้รับความรักมากกว่าความหวาดกลัวจากประชาคมโลก และรักษาไว้ซึ่งระเบียบโลกเสรีนิยมเพื่อสันติภาพและความมั่นคงของมนุษยชาติทั้งหมด
การรับใช้สังคมนอกเหนือจากวงวิชาการ (Service Beyond the Academy)
อาจารย์เชื่อว่านักวิชาการควรมีบทบาทในสาธารณะ มากกว่าจะจำกัดตัวเองอยู่เพียงในหอคอยงาช้างแห่งวงวิชาการ เขาเป็นผู้วางรากฐานให้กับคณะเคนเนดีแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยยึดถือคำขวัญของประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี ที่ว่า “จงถามตัวเองว่า คุณจะทำอะไรให้ประเทศได้บ้าง”
ตลอดระยะเวลา 6 ทศวรรษในวงวิชาการ อาจารย์ไนย์ได้ฝึกฝนข้าราชการและบุคลากรภาครัฐนับพันคนจากทั่วโลก เขาเองก็เชื่อในแนวคิด ‘ประตูหมุน’ ระหว่างชีวิตนักวิชาการกับการทำงานรับใช้ภาครัฐ
เขาเคยดำรงตำแหน่งในภาครัฐหลายตำแหน่ง เช่น ผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมด้านกิจการความมั่นคงระหว่างประเทศ, ประธานสภาข่าวกรองแห่งชาติ (National Intelligence Council), รวมถึงเป็นกรรมการในคณะนโยบายการต่างประเทศ (Foreign Affairs Policy Board) และคณะนโยบายกลาโหม (Defense Policy Board)
ไนย์เชื่อว่านักวิชาการมีบทบาทสำคัญในพื้นที่สาธารณะ และประสบการณ์จากการทำงานในภาครัฐจะยิ่งช่วยยกระดับงานวิจัย และช่วยให้เข้าใจความเป็นจริงของโลกได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น
แม้ว่าอาจารย์ไนย์จะจากพวกเราไปแล้ว และไม่มีโอกาสได้ร่วมพูดคุยหรือขอคำปรึกษาแบบเป็นกันเองอีก แต่พวกเราทุกคนที่เคยเรียนในชั้นเรียนของเขา เคยฟังการบรรยายของเขา หรือเคยได้ทำงานร่วมกับเขาในรูปแบบใดก็ตาม ต่างก็จะจดจำบทเรียนเหล่านั้นไว้ และพยายามทำหน้าที่ของตนเองอย่างดีที่สุด เพื่อให้โลกยังคงอยู่ในความสงบสุข และสงครามระหว่างมหาอำนาจจะต้องไม่กลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ผ่านการผสมผสานระหว่างอำนาจแกร่งกร้าว (Hard Power) และอำนาจโน้มนำ (Soft Power) เราต้องแสดงให้เห็นว่า ความพึ่งพาอาศัยกันและสถาบันระหว่างประเทศและประชากรโลก สามารถบรรเทาความโหดร้ายของความเป็นจริงในโลกที่ไร้ระเบียบ ซึ่งแต่ละประเทศต้องพึ่งตนเองเพื่อความอยู่รอดได้
จนกว่าเราจะได้พบกันอีกครั้ง ลาก่อน อาจารย์ไนย์
ลาก่อน ระเบียบโลกเสรีนิยม…
แฟ้มภาพ: Rick Friedman / Corbis via Getty Images