×

ย้อนรอยปมขัดแย้ง ‘อิสราเอล-ปาเลสไตน์’ หนึ่งในปัญหาตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ปะทุได้ทุกเมื่อ

12.12.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ความศรัทธาอันแรงกล้าทางศาสนาที่ต่างก็หวังจะครอบครองนครศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ ได้นำไปสู่การทำสงครามศาสนาระหว่างชาวคริสต์และชาวมุสลิม หรือที่รู้จักกันว่าสงครามครูเสด ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในปี 1096 และมีการรบราฆ่าฟันกันอย่างต่อเนื่องในสงครามครูเสดอีกนับสิบครั้ง รวมระยะเวลายาวนานกว่าสองศตวรรษ
  • ต่อมาองค์การสหประชาชาติได้มีมติให้อิสราเอลก่อตั้งรัฐขึ้นได้บนดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยปาเลสไตน์เหลือดินแดนเพียงฉนวนกาซาและเขตเวสต์แบงก์ มติดังกล่าวสร้างความไม่พอใจแก่ชนพื้นเมืองชาวปาเลสไตน์และชาวอาหรับในประเทศใกล้เคียงเป็นอย่างยิ่ง กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์และโลกอาหรับยุคใหม่
  • ประชาคมนานาชาติไม่เคยยอมรับการประกาศอ้างเพียงฝ่ายเดียวของอิสราเอลในเวลานั้น รวมทั้งสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เปลี่ยนจุดยืนของสหรัฐฯ แบบพลิกกลับตาลปัตร และทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางร้อนระอุขึ้นอีกครั้ง
  • ผศ.ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ มองว่า การที่ทรัมป์เลือกเวลานี้ในการประกาศรับรองกรุงเยรูซาเลม อาจเป็นเพราะทรัมป์ต้องการดึงคะแนนนิยมกลับคืนจากฐานเสียงที่เป็นกลุ่มคนอเมริกันเชื้อสายยิวที่เป็นพวกไซออนิสต์ รวมถึงชาวคริสต์อนุรักษนิยมที่เชื่อว่าชาวยิวต้องกลับไปอยู่ในเยรูซาเลม ซึ่งคนกลุ่มนี้มีจำนวนประมาณ 30% ของประเทศ

ไฟแห่งความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ได้โหมกระพือขึ้นอีกครั้ง หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ได้ประกาศรับรองสถานะของ ‘กรุงเยรูซาเลม’ ให้เป็นเมืองหลวงของอิสราเอลอย่างเป็นทางการ สร้างความไม่พอใจแก่ชาวมุสลิมปาเลสไตน์และโลกอาหรับเป็นอย่างมาก

 

อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจเกิดความสงสัยว่า เหตุใดการรับรองสถานะของเยรูซาเลม จึงกลายเป็นเรื่องใหญ่และจุดชนวนความขัดแย้งระหว่างชาวยิวและปาเลสไตน์ขึ้นระลอกใหม่ แล้วเยรูซาเลมมีความสำคัญอย่างไร? รากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งอยู่ตรงไหนและเกิดขึ้นเมื่อใด? THE STANDARD จะพาคุณย้อนกลับไปดูภูมิหลังความร้าวฉานระหว่าง 2 รัฐคู่อรินี้กัน

 

 

รากเหง้าความขัดแย้ง อิสราเอล-ปาเลสไตน์

ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ฝังรากลึกมาช้านาน จากจุดเริ่มต้นในนครเยรูซาเลมบนดินแดนปาเลสไตน์ หรือ ‘คานาอัน’ ในอดีต ซึ่งเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อในคัมภีร์โทราห์ของศาสนายูดาห์ คัมภีร์ไบเบิลของศาสนาคริสต์ และคัมภีร์อัลกุรอานของศาสนาอิสลาม

 

ชาวคริสต์เชื่อว่าพระเยซูถูกตรึงไม้กางเขนที่นครเยรูซาเลม และพระองค์จะทรงเสด็จกลับมายังเมืองนี้อีกครั้งหลังจากที่สิ้นพระชนม์ ส่วนชาวมุสลิมเชื่อว่านบีมูฮัมมัด ศาสดาของศาสนาอิสลามได้เดินทางสู่ฟากฟ้าจากมัสญิดอัล-อักซอในนครเยรูซาเลม ขณะที่ชาวฮิบรูหรือชาวยิวเชื่อว่าดินแดนซึ่งเป็นที่ตั้งของปาเลสไตน์เดิมหรืออิสราเอลในปัจจุบัน เป็นดินแดนแห่งพันธสัญญาที่พระยาห์เวห์ พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานให้แก่ชาวอิสราเอล

 

ความศรัทธาอันแรงกล้าทางศาสนาที่ต่างก็หวังจะครอบครองนครศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ ได้นำไปสู่การทำสงครามศาสนาระหว่างชาวคริสต์และชาวมุสลิม หรือที่รู้จักกันว่าสงครามครูเสด ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในปี 1096 เมื่อพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 1 ผู้นำศาสนจักรคาทอลิกเวลานั้น ได้รวบรวมกองทัพนักรบชาวคริสต์ บุกโจมตีชาวมุสลิมเพื่อแย่งชิงนครเยรูซาเลม จากนั้นชาวคริสต์ได้สร้างชุมชนขึ้นหลายแห่งในปาเลสไตน์

 

อย่างไรก็ตาม ความบาดหมางระหว่างชาวคริสต์และชาวมุสลิมไม่ได้จบสิ้นลงเพียงเท่านั้น เมื่อทั้งสองฝ่ายยังมีการรบราฆ่าฟันกันอย่างต่อเนื่องในสงครามครูเสดอีกนับสิบครั้ง รวมระยะเวลายาวนานกว่าสองศตวรรษ

 

ผลกระทบจากสงครามครูเสดทำให้ชาวยิวในยุโรปและเยรูซาเลมล้มตายเป็นจำนวนมาก ขณะที่บางส่วนซึ่งตั้งชุมชนอยู่ในปาเลสไตน์ต้องพลัดถิ่นฐานและระหกระเหินเร่ร่อนเหมือนเมื่อครั้งที่เผชิญกับการรุกรานของกองทัพแห่งอาณาจักรบาบิโลน จักรวรรดิเปอร์เซีย และจักรวรรดิโรมัน

 

 

การกระจัดกระจายของชาวยิวที่อพยพลี้ภัยไปอยู่ในดินแดนต่างๆ ทั้งในทวีปยุโรป  เอเชีย และอเมริกา ทำให้ลัทธิไซออนิสต์ก่อกำเนิดขึ้นในยุโรปในช่วงระหว่างปี 1857-1900 โดยมีจุดประสงค์เพื่อรวบรวมชาวยิวพลัดถิ่นให้กลับคืนสู่มาตุภูมิในปาเลสไตน์ เพื่อฟื้นฟูความเจริญรุ่งเรืองของชนชาติเหมือนเมื่อครั้งสมัยที่กษัตริย์เดวิดทรงปกครองอาณาจักรคานาอัน โดยขบวนการไซออนิสต์นี้มีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดกระแสต่อต้านชาวยิวขึ้นในยุโรป โดยเฉพาะในเยอรมนี เนื่องจากเกิดความหวาดระแวงว่าชาวยิวอาจอยู่เบื้องหลังการปฏิวัติบอลเชวิกภายใต้การนำของวลาดิเมียร์ เลนิน เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของรัสเซียให้เป็นคอมมิวนิสต์ในปี 1917 นอกจากนี้ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำพรรคนาซีเยอรมัน ยังกล่าวหาชาวยิวด้วยว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้เยอรมนีพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 และได้ชูนโยบายกวาดล้างยิว จนนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

 

ชนชาติยิวมาถึงจุดพลิกผันครั้งสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อชาวยิวจำนวนมากเดินทางกลับมายังดินแดนปาเลสไตน์อีกครั้งภายใต้ความเห็นชอบจากอังกฤษ ซึ่งปกครองดินแดนปาเลสไตน์ในเวลานั้น

 

ต่อมาองค์การสหประชาชาติได้มีมติให้อิสราเอลก่อตั้งรัฐขึ้นได้บนดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยปาเลสไตน์เหลือดินแดนเพียงฉนวนกาซาและเขตเวสต์แบงก์ (ซึ่งรวมพื้นที่เยรูซาเลมตะวันออก) มติดังกล่าวสร้างความไม่พอใจแก่ชนพื้นเมืองชาวปาเลสไตน์และชาวอาหรับในประเทศใกล้เคียงเป็นอย่างยิ่ง จนกระทั่งนายเดวิด เบนกูเรียน นายกรัฐมนตรีคนแรกของอิสราเอลได้ประกาศสถาปนารัฐอิสราเอลขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 14 พฤษภาคม ปี 1948 ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์และโลกอาหรับในยุคสมัยใหม่

 

 

ทรัมป์ ผู้จุดชนวนความขัดแย้งขึ้นอีกครั้ง

หลังอิสราเอลก่อตั้งประเทศขึ้น ก็ได้ประกาศให้เยรูซาเลมฝั่งตะวันตกเป็นเมืองหลวงของประเทศ ต่อมาในปี 1967 อิสราเอลได้ทำ ‘สงคราม 6 วัน’ กับอียิปต์ จอร์แดน และซีเรีย และเป็นฝ่ายมีชัย ซึ่งทำให้อิสราเอลสามารถผนวกดินแดนเยรูซาเลมฝั่งตะวันออกซึ่งเป็นของจอร์แดนในเวลานั้นเข้ากับเยรูซาเลมฝั่งตะวันตก พร้อมกับประกาศสถาปนาดินแดนทั้ง 2 ฝั่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม ประชาคมนานาชาติไม่เคยยอมรับการประกาศอ้างเพียงฝ่ายเดียวของอิสราเอลในเวลานั้น รวมทั้งสหรัฐอเมริกา ชาติพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของอิสราเอลเองด้วย จนกระทั่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เปลี่ยนจุดยืนของสหรัฐฯ แบบพลิกกลับตาลปัตร และทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางร้อนระอุขึ้นอีกครั้ง เพราะความเคลื่อนไหวล่าสุดนี้ส่งผลให้กระบวนการเจรจาสันติภาพระหว่าง 2 รัฐคู่อริคู่นี้ต้องหยุดชะงักลงพร้อมความหวังอันริบหรี่

 

สถานการณ์บานปลาย

ในขณะที่ชาวมุสลิมในหลายประเทศทั่วโลกออกมาชุมนุมเดินขบวนประท้วงการตัดสินใจของทรัมป์ครั้งนี้ ทางกลุ่มฮามาส ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองสุดโต่งของปาเลสไตน์ก็ได้ถือโอกาสนี้ปลุกระดมมวลชนให้ลุกฮือขึ้นประท้วงและก่อความไม่สงบในฉนวนกาซา เวสต์แบงก์ และเยรูซาเลมตะวันออก จนนำไปสู่การปะทะกับทหารและตำรวจของอิสราเอล และทำให้สถานการณ์ส่อเค้าบานปลายขึ้นทุกขณะ

 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ตะวันออกกลางจะลุกเป็นไฟในเวลานี้ แต่ทรัมป์ยังคงยืนกรานในจุดยืนของตนเอง ซ้ำยังประกาศอ้างผลงานผ่านทางทวิตเตอร์ด้วยว่า เขาได้ทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งด้วยการรับรองเยรูซาเลมในฐานะเมืองหลวงอิสราเอล และเดินหน้าแผนย้ายสถานทูตสหรัฐฯ ประจำอิสราเอลจากกรุงเทลอาวีฟไปยังกรุงเยรูซาเลมแทน ขณะที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนก่อนๆ อย่างบารัก โอบามา และบิล คลินตัน จากพรรคเดโมแครต หรือแม้กระทั่งจอร์จ ดับเบิลยู. บุช จากรีพับลิกัน ต่างก็ไม่สามารถทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ได้

 

 

ทางออกของปัญหาขัดแย้ง

หากนับเฉพาะความขัดแย้งในยุคสมัยใหม่ อิสราเอลและปาเลสไตน์มีปัญหาพิพาทเรื่องดินแดนยืดเยื้อมานานกว่า 6 ทศวรรษ หลังจากที่อิสราเอลได้ก่อตั้งประเทศขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 1948 โดยที่ผ่านมานานาชาติมีความพยายามผลักดันการเจรจาสันติภาพระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์หลายต่อหลายครั้ง รวมทั้งสหรัฐฯ ที่คอยดำเนินบทบาทเป็นคนกลางช่วยไกล่เกลี่ยมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนท่าทีของทรัมป์ชนิดช็อกโลกครั้งนี้ ทำให้สถานการณ์มีความยุ่งยากซับซ้อนยิ่งขึ้น และทำให้การเจรจาครั้งก่อนๆ ต้องสูญเปล่า

 

ผศ.ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ อาจารย์ประจำสาขาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ทัศนะกับ THE STANDARD ไว้อย่างน่าสนใจว่า สหรัฐฯ คือตัวแปรสำคัญในกระบวนการเจรจาสันติภาพในตะวันออกกลางตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นจุดยืนของวอชิงตันต่อประเด็นปัญหานี้จึงมีความสำคัญมาก และการเจรจาสันติภาพจะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯ หลังจากนี้ด้วย

 

ดร.จันจิรา กล่าวว่า การประกาศรับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล เกิดขึ้นในช่วงที่ทรัมป์กำลังเผชิญมรสุมทางการเมือง หลังมีรายงานว่า ไมเคิล ฟลินน์ อดีตที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ เตรียมที่จะให้การในฐานะพยาน กรณีความสัมพันธ์ที่ไม่ชอบมาพากลระหว่างทีมหาเสียงของทรัมป์กับรัฐบาลรัสเซียในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปลายปีที่แล้ว

 

ดังนั้น การที่ทรัมป์เลือกเวลานี้ในการประกาศรับรองกรุงเยรูซาเลมนั้น จึงเป็นช่วงเวลาที่ประจวบเหมาะ โดย ดร.จันจิรา เห็นว่า ทรัมป์อาจต้องการดึงคะแนนนิยมกลับคืนจากฐานเสียงที่เป็นกลุ่มคนอเมริกันเชื้อสายยิวที่เป็นพวกไซออนิสต์ รวมถึงชาวคริสต์อนุรักษนิยมที่เชื่อว่าชาวยิวต้องกลับไปอยู่ในเยรูซาเลม ซึ่งคนกลุ่มนี้มีจำนวนประมาณ 30% ของประเทศ

 

War President กับภัยก่อการร้ายระลอกใหม่ที่อาจเกิดขึ้น

อุปสรรคสำคัญของการเจรจาสันติภาพนำโดยสหรัฐฯ นั้น มาจากนโยบายต่างประเทศของทรัมป์ที่ถือเป็นด้านกลับของนโยบายรัฐบาลชุดก่อนๆ โดยที่ผ่านมา นโยบายสหรัฐฯ จะยึดโยงอยู่กับสถาบันความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติ (UN) หรือกฎหมายและกติการะหว่างประเทศ แต่ปัจจุบัน สหรัฐฯ ดำเนินนโยบายในลักษณะที่โดดเดี่ยวตัวเองมากขึ้น และหันหลังให้กับความร่วมมือระดับพหุภาคีในหลายเวที

 

ดร.จันจิรา กล่าวว่า นโยบายต่อเยรูซาเลมถือเป็นไพ่เด็ดที่ทรัมป์อาจเก็บไว้เพื่อพลิกเกม ขณะที่ทรัมป์พยายามนำเสนอตัวเองในฐานะ ‘War President’ หรือ ‘ประธานาธิบดีในช่วงสงคราม’ เพื่อบอกกับชาวอเมริกันว่า เขาเป็นประธานาธิบดีที่จะช่วยปกป้องประชาชนจากภยันตรายต่างๆ ดังจะเห็นได้จากช่วงที่เกิดวิกฤตความตึงเครียดในเกาหลีเหนือ ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างความชอบธรรมในอำนาจและรักษาฐานเสียงจากประชาชนที่อยู่ในความหวาดกลัว

 

อย่างไรก็ตาม ดร.จันจิรา เตือนว่า ความเคลื่อนไหวของทรัมป์ครั้งนี้อาจเป็นการยั่วยุกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ ให้ลุกขึ้นจับอาวุธต่อสู้กับสหรัฐฯ อีกครั้ง ถึงแม้ว่ากองทัพสหรัฐฯ จะสามารถกวาดล้างนักรบรัฐอิสลาม (IS) จนถอยร่นออกจากฐานที่มั่นหลายแห่งในซีเรียและอิรักในช่วงที่ผ่านมาก็ตาม แต่การประกาศรับรองเยรูซาเลมของทรัมป์ อาจทำให้ชาวมุสลิมที่เคยตั้งคำถามและไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงของกลุ่ม IS อาจเปลี่ยนใจหันกลับมาสนับสนุน IS ก็เป็นได้

 

ดร.จันจิรา มองว่า นอกจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรหลักของอิสราเอลแล้ว การเปลี่ยนแปลงภายในของรัฐบาลอิสราเอลก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะบ่งชี้ทิศทางการเจรจาสันติภาพกับปาเลสไตน์ในอนาคต แต่หากนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ยังคงอยู่ในอำนาจต่อไป ก็ยากที่จะได้เห็นการเจรจาสันติภาพเดินหน้าต่อไปได้ เนื่องจากเนทันยาฮูเองก็ต้องการให้สถานการณ์ภายในประเทศเป็นเช่นนี้ต่อไป เพื่อรักษาฐานเสียงจากประชาชนที่ต้องการความมั่นคงจากรัฐ

 

Photo: AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X