×

เจาะลึกผลกระทบของเทคโนโลยี 5G ที่มีต่อ 5 อุตสาหกรรม

16.03.2021
  • LOADING...
5G

‘เทคโนโลยี 5G’ กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจและสังคม ด้วยขีดความสามารถที่ดีกว่าระบบ 4G ทั้งในแง่ความเร็วของการอัปโหลดและดาวน์โหลดข้อมูล อีกทั้งศักยภาพและประสิทธิภาพในการทำงานทั้งภาพและเสียงที่มีความรวดเร็วกว่าเดิมหลายเท่าตัว 

 

นอกจากนี้ยังสามารถรองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ไร้สายจำนวนมาก และเมื่อใช้ร่วมงานกับการลงทุนในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT) จะยิ่งช่วยต่อยอดให้ธุรกิจและบริการมีความรวดเร็วและสร้างสะดวกสบายให้กับผู้บริโภคในโลกยุคดิจิทัลได้อย่างมหาศาล

 

ข้อมูลจากรายงาน The global economic impact of 5G: Powering Your Tomorrow ของ PwC ที่ได้ทำการศึกษาผลกระทบของเทคโนโลยี 5G ที่มีต่อ 5 อุตสาหกรรมทั่วโลก ประกอบด้วย อุตสาหกรรมดูแลสุขภาพ  อุตสาหกรรมสาธารณูปโภคอัจฉริยะ อุตสาหกรรมผู้บริโภคและการใช้สื่อ อุตสาหกรรมการผลิต และอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน คาดการณ์ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวจะสามารถหนุนมูลค่า GDP โลกให้เติบโตสูงถึง 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2573 โดยมากกว่า 80% ของมูลค่า GDP ที่เพิ่มขึ้น หรือราว 5.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จะมาจากการปฏิรูปอุตสาหกรรมด้านสุขภาพในอีก 10 ปีข้างหน้า

 


ตัวเลขคาดการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสของผู้ประกอบการในการพลิกโฉมรูปแบบการดำเนินธุรกิจ อีกทั้งขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางด้านทักษะ สินค้าและบริการ และนวัตกรรมใหม่ๆ ผ่านการใช้งาน 5G ที่จะกลายมาเป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการส่งเสริม และพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน นำไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของทุกประเทศทั่วโลกต่อไป ซึ่งสำหรับวันนี้ผมขอนำข้อมูลผลกระทบของ 5G ที่มีต่อ 5 อุตสาหกรรมชั้นนำที่ว่านี้มาแลกเปลี่ยนกับคุณผู้อ่าน ดังนี้

 

1. อุตสาหกรรมดูแลสุขภาพ

ปัจจุบันการใช้งาน 5G มีส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เพราะมีประสิทธิภาพในการเชื่อมต่อเครือข่ายและคุณภาพของการเข้าถึงข้อมูลแบบเรียลไทม์ ทำให้การผ่าตัดทางไกล การวินิจฉัยโรค และการสื่อสารระหว่างแพทย์และผู้ป่วยสามารถตอบสนองได้ทันท่วงที

 

นอกจากนี้การใช้งาน 5G ร่วมกับการใช้หุ่นยนต์ผ่าตัด เทคโนโลยี IoT และ AI จะช่วยให้เกิดระบบนิเวศทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีการเชื่อมต่อบนพื้นฐานของระบบสุขภาพ ‘4P Medicine’ ประกอบไปด้วย การคาดการณ์ (Predictive) การป้องกัน (Preventative) การแพทย์ส่วนบุคคล (Personalised) และการมีส่วนร่วมในการรักษาของผู้ป่วย (Participatory) ซึ่งการเชื่อมต่อเหล่านี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและการประเมินความเสี่ยงจากการเกิดโรค การมอนิเตอร์อาการผู้ป่วย รวมถึงการขนส่งยาและเวชภัณฑ์ด้วยการใช้โดรน เป็นต้น

 

 

2. อุตสาหกรรมสาธารณูปโภคอัจฉริยะ 

เทคโนโลยี 5G ได้ถูกนำมาใช้ในการจัดการระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่สําคัญ เช่น การพัฒนามิเตอร์อัจฉริยะ (Smart Metre) และระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) โดยช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการวางแผนการผลิตและจำหน่ายไฟให้สอดคล้องกับความต้องการในแต่ละช่วงเวลา ทำให้การคิดคํานวณค่าบริการไฟฟ้าทำได้รวดเร็วและถูกต้องแม่นยําขึ้น นอกจากนี้ 5G ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ผ่านการติดตามการรั่วไหลของน้ำแบบเรียลไทม์ และช่วยมอนิเตอร์การทิ้งขยะเพื่อให้รัฐฯ จัดเก็บภาษีขยะจากปริมาณและประเภทที่ทิ้ง (Pay as you throw) และสนับสนุนเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมในการลดปริมาณคาร์บอนและของเสียอย่างยั่งยืน แถมช่วยลดปริมาณขยะมูลฝอยต่อประชากรได้ถึง 10-20% 

 

3. อุตสาหกรรมผู้บริโภคและการใช้สื่อ 

ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 เป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ทำให้ธุรกิจต้องปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ใหม่ของผู้บริโภคในโลกดิจิทัล โดยการใช้เทคโนโลยี 5G ในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้าแบบเรียลไทม์ จะทำให้แบรนด์สามารถนำเสนอบริการและเนื้อหาที่ตอบโจทย์มากขึ้น ไม่ว่าลูกค้าจะอยู่ที่ไหน เช่น ห้างสรรพสินค้าอาจใช้ 5G ร่วมกับ AI และการตลาดอัตโนมัติในการส่งโฆษณาสินค้าให้กับลูกค้าใหม่ ที่มีข้อความแตกต่างจากลูกค้าประจำ ตลอดจนสร้างประสบการณ์ที่ทำให้ลูกค้าได้มีส่วนร่วม เช่น ในธุรกิจแฟชั่นที่ใช้ 5G ร่วมกับเทคโนโลยีความเป็นจริงเสริม (Augmented Reality: AR) ทำให้ลูกค้าสามารถลองเสื้อผ้าแบบเสมือนจริงได้โดยไม่ต้องไปที่ร้าน หรือในธุรกิจผู้ให้บริการเกมที่ใช้เทคโนโลยีความจริงเสมือน (Virtual Reality: VR) ทำให้ผู้เล่นมีความรู้สึกเหมือนหลุดเข้าไปอยู่ในเกมนั้นจริงๆ  

 

 

4. อุตสาหกรรมการผลิต 

สำหรับภาคการผลิตและอุตสาหกรรมหนัก โรงงานผลิตแบบเดิมที่ใช้แรงงานมนุษย์เป็นหลักจะยิ่งถูกพัฒนาให้กลายเป็นโรงงานอัจฉริยะที่ผสมผสานเทคโนโลยี 5G ในการควบคุมการผลิต ด้วยศักยภาพของ 5G ที่มีความเร็วสูงและความหน่วงเวลาต่ำ (Low Latency) ทำให้การวางแผนการผลิตทำได้อย่างแม่นยำ นอกจากนี้ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับหุ่นยนต์อัตโนมัติและรถยนต์ไร้คนขับในการขนย้ายสินค้า ช่วยลดต้นทุนด้านแรงงานมนุษย์ รวมทั้งลดความเสี่ยงหรืออุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น

 

5. อุตสาหกรรมบริการทางการเงิน

ในช่วงที่ผ่านมา ผู้ประกอบการธุรกิจบริการทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถาบันการเงิน และธนาคารพาณิชย์ ได้ปรับกลยุทธ์การบริหารและดูแลลูกค้าเพื่อส่งมอบประสบการณ์ออนไลน์ เช่น นำ AI และหุ่นยนต์ที่ปรึกษาอัตโนมัติ (Robo-advice) มาใช้ควบคู่กับเทคโนโลยี 5G และใช้ระบบจดจำใบหน้า (Facial Recognition) เมื่อลูกค้าทำธุรกรรมทางการเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม หรือผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือเพื่อป้องกันการทุจริต เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ธุรกิจประกันภัย ก็ใช้ประโยชน์จากความแม่นยำและรวดเร็วของเทคโนโลยี 5G ในการตรวจสอบจุดเกิดเหตุแบบเรียลไทม์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดปัญหาการเรียกร้องค่าเสียหายเกินจริงด้วย

 

จะเห็นได้ว่าการเข้ามาของเทคโนโลยี 5G เป็นกุญแจสำคัญที่สำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นดิจิทัล และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน หลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ซึ่งในเวลานี้ประเทศไทยถือว่ามีความพร้อมต่อเทคโนโลยี 5G ในระดับหนึ่ง โดยเราเป็นประเทศแรกๆ ในภูมิภาคอาเซียนที่มีบริการ 5G เชิงพาณิชย์ ในระยะถัดไปรัฐบาลควรมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G กับธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม สำหรับภาคธุรกิจ ผู้บริหารควรกำหนดกลยุทธ์ในการนำ 5G เข้ามาใช้กับสินค้าและบริการ ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะของบุคลากรด้านดิจิทัล เพื่อสร้างคุณค่าและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างแท้จริง เพราะในยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงรวดเร็วเพียงชั่วพริบตา ผู้ที่เห็นโอกาส หรือเข้าสู่ตลาดเป็นรายแรกก็ย่อมที่จะได้เปรียบในการแข่งขันเหนือผู้เล่นรายอื่น

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X