×

อัยการคดีพิเศษสั่งฟ้อง ‘บอสพอล-บอสกันต์’ กับพวก 5 ข้อหาหนัก คดีดิไอคอนกรุ๊ป สั่งไม่ฟ้องบอสแซม-บอสมิน เหตุพยานหลักฐานไม่พอ

โดย THE STANDARD TEAM
08.01.2025
  • LOADING...
ดิไอคอนกรุ๊ป

วันนี้ (8 มกราคม) ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ศักดิ์เกษม นิไทรโยค ผู้ตรวจการอัยการ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมด้วย ชาญชัย ชลานนท์นิวัฒน์ อัยการอาวุโสสำนักงานคดีอาญา ในฐานะที่ปรึกษาโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมแถลงข่าวความคืบหน้าคดีดิไอคอนกรุ๊ป

 

ศักดิ์เกษมเปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้รับสำนวนจากพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2567 คดีระหว่าง ณัฏฐ์ ธนาพิพัฒน์ดลภัค กับพวก ผู้กล่าวหาบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด โดย วรัตน์พล วรัทย์วรกุล ผู้ต้องหาที่ 1 กับพวกรวม 19 คน 

 

ข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน, ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรง ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ดำเนินกิจการในลักษณะที่เป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจ โดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าว ซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้นโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย, ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรงโดยไม่ได้รับอนุญาต

 

เหตุเกิดระหว่างวันที่ 12 สิงหาคม 2563 – 31 สิงหาคม 2567 ในท้องที่แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพฯ และหลายท้องที่ทั่วราชอาณาจักรต่อเนื่องกัน คิดเป็นค่าเสียหายรวมประมาณ 649,912,290 บาท 

 

เนื่องจากคดีนี้มีผู้เสียหายจำนวนมาก และเป็นคดีที่ประชาชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจ ถือเป็นคดีสำคัญตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด จึงมีคำสั่งตั้งคณะทำงานร่วมกันพิจารณา บัดนี้สำนักงานคดีพิเศษพิจารณาสำนวนดังกล่าวแล้วมีความเห็นและคำสั่ง ดังนี้

 

สั่งฟ้องบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด โดย วรัตน์พล วรัทย์วรกุล กรรมการผู้มีอำนาจ ผู้ต้องหาที่ 1, วรัตน์พล วรัทย์วรกุล หรือ บอสพอล ผู้ต้องหาที่ 2, จิระวัฒน์ แสงภักดี หรือ บอสแล็ป ผู้ต้องหาที่ 3, กลด เศรษฐนันท์ หรือ บอสปีเตอร์ ผู้ต้องหาที่ 4, ปัญจรัศม์ กนกรักษ์ธนพร หรือ บอสปัน ผู้ต้องหาที่ 5, ฐานานนท์ หิรัญไชยวรรณ หรือ บอสหมอเอก ผู้ต้องหาที่ 6, นัฐปสรณ์ ฉัตรธนสรณ์ หรือ บอสสวย ผู้ต้องหาที่ 7, ญาสิกัญจน์ เอกชิสนุพงศ์ หรือ บอสโซดา ผู้ต้องหาที่ 8, นันท์ธรัฐ เชาวนปรีชา หรือ บอสโอม ผู้ต้องหาที่ 9, ธวิณทร์ภัส ภูพัฒนรินทร์ หรือ บอสวิน ผู้ต้องหาที่ 10, กนกธร ปูรณะสุคนธ์ หรือ บอสแม่หญิง ผู้ต้องหาที่ 11, เสาวภา วงษ์สาขา หรือ บอสอูมมี่ ผู้ต้องหาที่ 12, เชษฐ์ณภัฏ อภิพัฒนกานต์ หรือ บอสทอมมี่ ผู้ต้องหาที่ 13, หัสยานนท์ เอกชิสนุพงศ์ หรือ บอสป๊อป ผู้ต้องหาที่ 14, วิไลลักษณ์ ยาวิชัย หรือ บอสจอย ผู้ต้องหาที่ 15, ธนะโรจน์ ธิติจริยาวัชร์ หรือ บอสอ๊อฟ ผู้ต้องหาที่ 16 และ กันต์ กันตถาวร หรือ บอสกันต์ ผู้ต้องหาที่ 19 

 

ตามข้อหาฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน, ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรง ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ดำเนินกิจการในลักษณะที่เป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจ โดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าว ซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้นโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย, ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรงโดยไม่ได้รับอนุญาต

 

ตาม พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 มาตรา 3, 19, 20, 38, 46, 47, 54 พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 มาตรา 3, 6, 18, 23 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 341, 343 พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560 มาตรา 4 พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 3, 4, 5, 9, 11/1, 12, 15 พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2534 มาตรา 3 พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 มาตรา 3, 4, 5 พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความรับผิดในทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคล พ.ศ. 2560 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 8 ตามความเห็นพนักงานสอบสวน

 

สั่งไม่ฟ้อง ยุรนันท์ ภมรมนตรี หรือ บอสแซม ผู้ต้องหาที่ 17 และ พีชญา วัฒนามนตรี หรือ บอสมิน ผู้ต้องหาที่ 18 แย้งความเห็นพนักงานสอบสวน

 

ผู้ต้องหาที่พนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ มีคำสั่งฟ้องตามความเห็นของพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ พนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ จะดำเนินการยื่นฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 17 คนต่อศาลอาญาในวันนี้

 

ส่วนผู้ต้องหาที่ 17 และ 18 ซึ่งพนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ มีคำสั่งไม่ฟ้อง พนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ จะดำเนินการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวผู้ต้องหาต่อศาลอาญา และจะดำเนินการส่งสำนวนพร้อมความเห็นและคำสั่งไม่ฟ้องไปยังอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อพิจารณาว่าจะมีความเห็นแย้งในคำสั่งไม่ฟ้องหรือไม่ตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ต่อไป

 

โดยภายหลังยื่นฟ้อง ศาลประทับรับฟ้องเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อทย. 14/2568 พร้อมนัดสอบคำให้การในวันที่ 9 มกราคม 2568 เวลา 09.00 น.

 

เมื่อถามว่า สาเหตุที่อัยการสั่งไม่ฟ้องยุรนันท์และพีชญาให้เหตุผลอะไร ศักดิ์เกษมกล่าวว่า เหตุผลที่อัยการสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 2 คน ในขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะยังมีส่วนของผู้ต้องหาที่ถูกสั่งฟ้อง และคำสั่งไม่ฟ้องยังไม่เด็ดขาด จะต้องเสนอต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อพิจารณาว่าจะเห็นชอบหรือเห็นแย้ง จึงไม่สามารถกล่าวถึงรายละเอียดทั้งหมดได้ กล่าวได้เพียงว่าผู้ต้องหาทั้ง 2 คน มีพยานหลักฐานไม่พอรับฟังได้ว่าทั้งคู่ร่วมกระทำความผิดในข้อหาดังกล่าวกับผู้ต้องหาอื่น

 

เมื่อถามว่า ช่วงเวลาที่พิจารณาคดีทั้งหมด สามารถพิจารณาสำนวนคดีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษส่งมาทั้งหมดได้หรือไม่ เนื่องจากจำนวนของสำนวนคดีค่อนข้างมาก 

 

ศักดิ์เกษมกล่าวว่า คณะทำงานทุกคนในช่วงปีใหม่ไม่มีใครได้หยุดเลย สำนวนคดีนี้มีเอกสารมากกว่า 3 แสนหน้า มีการสอบพยานหลักฐานหลายพันคน ทำให้คณะทำงานต้องทำงานอย่างละเอียด และยังมีผู้ร้องขอความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่ายที่คณะทำงานจะต้องพิจารณาในส่วนนี้อีก และผู้ต้องหาทุกคนจะครบฝากขังในวันนี้ ทำให้คณะทำงานต้องเร่งทำให้เสร็จก่อนครบกำหนดฝากขัง

 

เมื่อถามว่า ในทางปฏิบัติเมื่อมีคำสั่งไม่ฟ้องยุรนันท์และพีชญาในวันนี้จะต้องปล่อยตัวหรือไม่ เพราะครบกำหนดฝากขังครั้งสุดท้ายในวันนี้

 

ศักดิ์เกษมกล่าวอีกว่า ในทางปฏิบัติเมื่ออัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ต้องยื่นคำร้องต่อศาลให้ปล่อยผู้ต้องหาที่สั่งไม่ฟ้อง หลังจากนั้นจะต้องปล่อยตัว ไม่ว่าจะครบกำหนดฝากขังหรือไม่ ส่วนประเด็นการสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาดหรือไม่ ต้องรอเสนออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษอีกครั้ง

 

เมื่อถามว่า เมื่ออัยการคดีพิเศษสั่งไม่ฟ้อง 2 ผู้ต้องหา ขั้นตอนต่อไปจะต้องให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษทำความเห็นแย้งใช่หรือไม่

 

ชาญชัยกล่าวว่า คดีนี้อัยการสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา 2 คน ซึ่งทันทีที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง จะต้องส่งสำนวนคดีไปให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณาว่ามีความเห็นแย้งคำสั่งของอัยการหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ระยะเวลาไม่นาน 

 

ถ้าหากอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษมีความเห็นพ้องกับความเห็นของอัยการคดีพิเศษที่สั่งไม่ฟ้อง กระบวนการสั่งไม่ฟ้องก็จะสิ้นสุด อย่างไรก็ตาม การสั่งไม่ฟ้องนั้น ความหมายก็คือในชั้นนี้ทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษและอัยการยังไม่มีพยานหลักฐานรับฟังได้ว่าผู้ต้องหาที่อัยการสั่งไม่ฟ้องมีพยานหลักฐานที่จะสามารถพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหาได้ แต่ถ้าในอนาคตมีพยานหลักฐานเพิ่มเติมก็สามารถเป็นพยานหลักฐานใหม่ที่จะนำมาพิจารณาต่อไปได้ 

 

ซึ่งในชั้นนี้พยานหลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ต่อศาลว่าผู้ต้องหาทั้ง 2 คนกระทำความผิดตามข้อกล่าวหาเท่านั้น แต่ถ้าอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษโต้แย้งมาให้สั่งฟ้องก็เป็นดุลพินิจของท่าน และขั้นตอนหลังจากนั้นก็จะต้องให้อัยการสูงสุดพิจารณาชี้ขาด

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X