วันนี้ (13 ตุลาคม) จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าการตรวจสอบบริษัท The iCon Group ธุรกิจออนไลน์และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพ โดยระบุว่า ขณะนี้มียอดผู้มาร้องทุกข์ 504 ราย ความเสียหาย 118 ล้านบาท ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินคดี
โดยเมื่อวานนี้ (12 ตุลาคม) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ร่วมสอบสวนด้วยการสอบถามข้อเท็จจริงให้เร็วที่สุด วันเสาร์-อาทิตย์ไม่ได้หยุดทำงาน เมื่อวานนี้ก็มีการสอบสวนถึง 23.00 น. และมีผู้เสียหายเข้ามาร้องทุกข์อย่างต่อเนื่องจนถึงเช้าวันนี้
ส่วนจะเข้าเกณฑ์ให้ดำเนินการเป็นคดีพิเศษหรือไม่นั้น จิราพรระบุว่า ขณะนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เข้ามาร่วมทำคดีนี้อยู่แล้วเพื่อร่วมกันตรวจสอบข้อมูล เมื่อมีผู้เสียหาย 300 คนขึ้นไป และมูลค่าความเสียหายเกิน 100 ล้านบาท ก็เข้าเกณฑ์ที่จะเป็นคดีพิเศษ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับ DSI ว่าจะพิจารณารับเป็นคดีพิเศษหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ DSI เข้ามาพูดคุยกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ซึ่งทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการรับเรื่องร้องทุกข์และสอบสวนข้อเท็จจริง
จิราพรระบุด้วยว่า ผู้เสียหายในพื้นที่ต่างจังหวัดสามารถไปร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจในพื้นที่ได้เลย ไม่ต้องเดินทางมาที่กรุงเทพฯ หรือโทร 1599 และสามารถยื่นร้องทุกข์ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้
ส่วนที่ สคบ. ถูกพาดพิงเรื่องเทวดา สคบ. รับสินบน เรื่องนี้มีกรอบเวลาในการตรวจสอบหรือไม่ จิราพรกล่าวว่า ตอนนี้อยู่ระหว่างประสานตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะต้องการให้มีคนนอกเข้ามาร่วมสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อความโปร่งใส คาดว่าจะสามารถลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้ได้ในวันอังคารที่ 15 ตุลาคมนี้
“ธุรกิจประเภทนี้มีความเสียหายมาแล้วในอดีต ซึ่งจะมีการอัปเกรดตามความเปลี่ยนแปลง หน่วยงานราชการเองก็ต้องมีการอัปเดตข้อมูลตลอดเวลา สคบ. ก็จะดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวเองเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และในระยะยาวก็จะต้องมาพูดคุยกันเพื่อทำงานอย่างบูรณาการ และต้องกลับไปดูกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องว่าล้าสมัยหรือไม่” จิราพรกล่าว
ส่วนกรณีที่ดารานักแสดงปฏิเสธว่าไม่ได้มีส่วนกับการบริหารธุรกิจ The iCon Group และการโฆษณาก็เป็นการพูดตามสคริปต์ที่บริษัทจัดให้เท่านั้น ส่งผลให้พ้นผิดได้หรือไม่ จิราพรกล่าวว่า เป็นสิทธิที่จะชี้แจงกับประชาชน แต่ทุกคนก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งตำรวจอยู่ระหว่างการสอบสวนข้อเท็จจริง หากพบข้อหาที่ชัดเจนก็จะมีการขยายผล
จิราพรกล่าวด้วยว่า ส่วนตัวได้หารือกับ สคบ. ว่า ถ้ามีการอนุญาตธุรกิจประเภทนี้จะต้องมีการมอนิเตอร์อยู่ตลอด เนื่องจากที่ผ่านมาเป็นลักษณะให้บริษัทเป็นผู้แจ้งงบการเงินเข้ามาทุกปี ไม่มีระบบเข้าไปตรวจในเชิงรุก จึงเป็นประเด็นสำคัญที่อยากให้เข้าไปแก้ไข เพื่อให้การตรวจสอบมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำหรับการมอบโล่รางวัลของ สคบ. นั้น จิราพรชี้แจงว่า การมอบโล่รางวัลให้กับบริษัท The iCon Group เมื่อปี 2563 เนื่องจากบริษัทดังกล่าวเข้ามามอบยาและหน้ากากอนามัยรวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ในช่วงโควิด ซึ่งมีการสัมมนาของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร สคบ. ส่งคนเข้าไปเป็นวิทยากรร่วม จึงมีการส่งชื่อบริษัทดังกล่าวเข้ามารับรางวัลในฐานะผู้ทำสาธารณประโยชน์ ไม่ใช่รางวัลเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ
“สั่งการให้ สคบ. กลับไปดูข้อเท็จจริง และตรวจสอบว่าบริษัทดังกล่าวนำรางวัลไปใช้ในทางผิดวัตถุประสงค์หรือไม่ เช่น ไปทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าบริษัทประกอบธุรกิจได้ดีจึงได้รับรางวัล หากเข้าข่ายความผิดก็จะเรียกรางวัลคืน” จิราพรระบุ