จากกรณีที่มีภาพข่าวผ่านสื่อและมีผู้เสียหายเปิดเผยการเข้าร่วมธุรกิจกับดิไอคอนกรุ๊ปในช่วงหลายวันที่ผ่านมา
วันนี้ (10 ตุลาคม) จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่าน X ระบุว่า
“ขณะนี้ดิฉันประชุม OECD อยู่ต่างประเทศ ทันทีที่ได้รับแจ้งกรณีปัญหา บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ได้สั่งการ สคบ. ตรวจสอบและรายงานในส่วนที่เกี่ยวข้องค่ะ
“1. กรณีที่ สคบ. เคยมอบโล่รางวัลให้กับบริษัทดังกล่าว ในงานวันคุ้มครองผู้บริโภคปี 2565 ได้รับรายงานว่าช่วงโควิดปี 2563 บริษัทดังกล่าวได้บริจาคแอลกอฮอล์และหน้ากากในงานสัมมนาของ กมธ. ซึ่ง สคบ. ได้ร่วมเป็นวิทยากร ในปี 2564 จึงได้รับการเสนอชื่อและได้รับรางวัลจาก สคบ. ในฐานะผู้ทำสาธารณประโยชน์ แต่เป็นช่วงโควิดเลยได้มารับรางวัลในปี 2565 ทั้งนี้ หากต่อมาพบว่าบริษัทดังกล่าวมีการกระทำความผิด สคบ. จะเพิกถอนโล่รางวัลดังกล่าวต่อไป
“2. วันนี้ดิฉันมอบหมายให้ สคบ. รับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหาย และสั่งการให้ สคบ. ใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบอย่างรัดกุม เช่น พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น รวมถึงตรวจสอบย้อนกลับไปถึงการร้องเรียนในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งผู้เสียหายมาร้องเรียนบริษัทดังกล่าวที่ สคบ.
“3. ดิฉันติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และเมื่อถึงไทยจะได้หารือแนวทางการตรวจสอบกรณีดังกล่าวร่วมกับ DSI, ปปง. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในโอกาสแรกค่ะ”
ทั้งนี้ จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนจากประเทศไทย อยู่ระหว่างเข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีของคณะกรรมการนโยบายผู้บริโภคภายใต้องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Ministerial-Level Meeting of the OECD Committee on Consumer Policy) ณ สำนักงาน OECD กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส วันที่ 8-9 ตุลาคม 2567
โดยจิราพรได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็น ‘ผู้บริโภคเป็นศูนย์กลางการเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัลและการรักษาสิ่งแวดล้อม’ (Consumer at the Center of the Digital and Green Transitions) นำเสนอบทบาทของผู้บริโภคในการเปลี่ยนผ่านด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งพบว่าผู้บริโภคประสบปัญหาขาดข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบริการที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม
รวมถึงการให้ความสำคัญการบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของสินค้า ลดปัญหาการฟอกเขียว (Greenwashing) พัฒนาสินค้าให้มีความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมในราคาสมเหตุสมผล และสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจในปัญหาสิ่งแวดล้อมแก่เด็กและเยาวชน
จิราพรกล่าวว่า ประเทศไทยได้ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงในการเข้าเป็นสมาชิก OECD เมื่อเดือนเมษายน ปี 2567 และเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คณะมนตรี OECD ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิกทั้งหมด มีมติเอกฉันท์เห็นชอบเปิดการหารือกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก (Accession Discussion) กับไทย ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญที่ไทยจะมีบทบาทในเวทีโลกและยกระดับประเทศสู่มาตรฐานสากลในทุกมิติ โดยการประชุมครั้งนี้ถือเป็นการจัดประชุมคณะกรรมการนโยบายผู้บริโภคระดับรัฐมนตรีครั้งแรก
และเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้รับเชิญเข้าร่วม จึงถือเป็นโอกาสดีของไทยที่ได้แสดงให้ทั่วโลกได้เห็นถึงศักยภาพการทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และแสดงความมุ่งมั่น ตั้งใจ ในการเข้าเป็นสมาชิก OECD โดยนำเอาประสบการณ์และแนวทางจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างองค์กรภาครัฐ ภาคธุรกิจ และกลุ่มผู้บริโภค จากนานาประเทศ มาปรับใช้กับการกำหนดแนวทางการยกระดับคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยต่อไป