×

เปิดตำนาน The Hunger Games จากนิยายยอดฮิต สู่ภาพยนตร์ชุดที่ผู้ชมทั่วโลกหลงรัก

13.11.2023
  • LOADING...
The Hunger Games

The Hunger Games ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากนิยายเยาวชน-ดิสโทเปียยอดฮิตในชื่อเดียวกันของ Suzanne Collins เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งภาพยนตร์ชุดที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ด้วยเรื่องราวการเอาชีวิตรอดสุดเข้มข้นของเหล่าเครื่องบรรณาการจากทั้ง 12 เขต คาแรกเตอร์ของตัวละคร Katniss Everdeen ที่ Jennifer Lawrence ถ่ายทอดออกมาได้อย่างโดดเด่น จนส่งให้ ‘หญิงสาวผู้มากับไฟ’ คนนี้กลายเป็นอีกหนึ่งตัวละครจากโลกภาพยนตร์ที่ผู้ชมต่างหลงรัก 

 

และในปีนี้แฟนๆ ของภาพยนตร์ชุด The Hunger Games ก็กำลังจะได้เดินทางกลับสู่พาเน็มกันอีกครั้งใน The Hunger Games: The Ballad of Songbirds & Snakes ที่จะพาผู้ชมย้อนเวลากลับไปสำรวจ ‘ปฐมบท’ ของเกมล่าชีวิต ผ่านสายตาของ Coriolanus Snow (Tom Blyth) ในวัยหนุ่ม ซึ่งมีกำหนดเข้าฉายวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้ ในโรงภาพยนตร์ 

 

เพื่อเป็นการต้อนรับการกลับมาของเกมล่าชีวิต THE STANDARD POP ขอชวนทุกคนมาย้อนชมจุดเริ่มต้นของนิยายและภาพยนตร์ชุด The Hunger Games กันอีกครั้ง

 

Suzanne Collins 

ภาพ: Jason Merritt / Getty Images 

 

Suzanne Collins จากนักเขียนบทซีรีส์สำหรับเด็ก สู่เจ้าของผลงานนิยายยอดฮิต 

 

Suzanne Collins เกิดและเติบโตขึ้นในครอบครัวที่มีพ่อทำงานอยู่ในกองทัพอากาศสหรัฐฯ รวมถึงเคยเข้าร่วมสงครามเวียดนามขณะที่เธอยังเล็ก เธอจึงมักจะได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และความโหดร้ายของสงครามจากพ่อมาตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งประสบการณ์ที่เธอได้รับมาเหล่านี้จะกลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในงานเขียนของเธอในเวลาต่อมา 

 

ส่วนเส้นทางนักเขียนของ Suzanne Collins เริ่มต้นขึ้นในปี 1990 ด้วยการเป็นหนึ่งในทีมเขียนบทซิตคอมทางโทรทัศน์ให้กับช่อง Nickelodeon ในเรื่อง Hi Honey, I’m Home! (1991) ก่อนที่จะมีผลงานการเขียนบทซีรีส์สำหรับเด็กตามมาอีกหลายเรื่อง เช่น Clarissa Explains It All (1991), The Mystery Files of Shelby Woo (1996), Clifford’s Puppy Days (2003) ฯลฯ

 

Gregor the Overlander

ภาพ: Amazon

 

หลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการเป็นนักเขียนบทซีรีส์ทางโทรทัศน์มานานหลายปี ในที่สุด Suzanne Collins ก็ได้ออกตีพิมพ์นิยายเล่มแรกของเธอในชื่อ Gregor the Overlander ในปี 2003 โดยได้รับแรงบันดาลใจจากนิยายสุดคลาสสิกเรื่อง Alice in Wonderland ว่าด้วยเรื่องราวของ Gregor เด็กชายวัย 11 ปีที่เผลอตกลงไปในท่อระบายน้ำกลางกรุงนิวยอร์ก จนได้มาพบกับเมืองใต้ดินที่มีเหล่าสัตว์ยักษ์อาศัยอยู่ 

 

และด้วยความโดดเด่นของนิยายที่ผสมผสานเรื่องราวการผจญภัยเข้ากับประเด็นอันหนักหน่วงอย่างสงคราม ความเกลียดชัง และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ จึงส่งให้นิยายเรื่องนี้ได้รับความนิยมจากผู้อ่านอย่างล้นหลาม และได้ออกตีพิมพ์นิยายภาคต่อตามมาอีก 4 เล่ม ที่รู้จักกันในชื่อนิยายชุด The Underland Chronicles  

 

จากความสำเร็จของนิยายชุด The Underland Chronicles ก็ใกล้ถึงเวลาที่ ‘หญิงสาวผู้มากับไฟ’ จะได้ก้าวออกมาแนะนำตัวให้ทุกคนรู้จักกันแล้ว 

 

The Hunger Games 

ภาพ: Amazon

 

รายการเรียลลิตี้ สงคราม ตำนานเทพเจ้ากรีก กลาดิเอเตอร์ ส่วนผสมที่ประกอบรวมกันเป็น The Hunger Games 

 

จุดเริ่มต้นของนิยายชุด The Hunger Games เริ่มต้นหลังจาก Suzanne Collins เขียนหนังสือเล่มสุดท้ายของนิยายชุด The Underland Chronicles ได้ไม่นานนัก ในคืนวันธรรมดาวันหนึ่งเธอกำลังนั่งดูรายการเรียลลิตี้ทางโทรทัศน์ที่มีคนหนุ่มสาวอยู่ในรายการ สลับกับข่าวที่กำลังฉายภาพของหนุ่มสาวที่อยู่ท่ามกลางสงครามอิรัก ซึ่งภาพความจริงที่แตกต่างกันเหล่านี้ส่งผลต่อความรู้สึกของเธออย่างมาก 

 

ขณะเดียวกันในช่วงเวลานั้น Suzanne Collins มีความตั้งใจที่อยากจะเขียนนิยายเรื่องใหม่ที่พาผู้อ่านเข้าไปสำรวจเรื่องราวของทฤษฎีสงครามที่เป็นธรรม (Just War Theory) หรือการสร้างความชอบธรรมในการก่อสงคราม จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้เธอเริ่มเขียนนิยายเรื่องใหม่ 

 

โดย Suzanne Collins ได้หยิบความชื่นชอบในวัยเด็กของตัวเอง ได้แก่ ตำนานเทพเจ้ากรีกของ Theseus และ Minotaur ที่เล่าเรื่องราวของชายหนุ่ม 7 คน และหญิงสาว 7 คน ที่ถูกส่งตัวไปยังเขาวงกตในเกาะครีต เพื่อเป็นเหยื่อให้กับ Minotaur และนำความสนใจเกี่ยวกับเรื่องราวของกลาดิเอเตอร์มาเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการสร้างสรรค์เรื่องราว 

 

จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ The Hunger Games นิยายเยาวชน-ดิสโทเปียที่เล่าเรื่องราวของประเทศสมมติชื่อ พาเน็ม ที่พื้นที่อาศัยของผู้คนถูกแบ่งออกเป็น 12 เขต และอยู่ภายใต้การปกครองของ แคปิตอล โดยในแต่ละปีทั้ง 12 เขตจะต้องส่งเด็กหญิง 1 คน และเด็กชาย 1 คน มาเป็นเครื่องบรรณาการเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันเกมล่าชีวิต เพื่อค้นหาผู้รอดชีวิตเพียงคนเดียว โดยบอกเล่าผ่านสายตาของ Katniss Everdeen (Jennifer Lawrence) หญิงสาวจากเขต 12 ที่ขออาสาเป็นเครื่องบรรณาการแทนน้องสาว เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันเกมล่าชีวิต ครั้งที่ 74  

 

The Hunger Games (2012)

ภาพ: IMDb 

 

นอกเหนือจากแรงบันดาลใจสำคัญที่ Suzanne Collins หยิบมาใช้สร้างสรรค์โลกของ The Hunger Games แล้ว ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมายที่ Suzanne Collins ใส่ลงไปในเรื่องราวเพื่อให้ผลงานเรื่องนี้สมบูรณ์แบบมากขึ้น

 

เช่น ชื่อของประเทศสมมติอย่าง พาเน็ม (Panem) มีที่มาจากวลี Panem et Circenses หรือ Bread and Circuses (ขนมปังและละครสัตว์) ที่หมายถึงแนวคิดของรัฐที่พยายามควบคุมประชาชนด้วยการมอบอาหารและความบันเทิง เพื่อให้พวกเขารู้สึกพึงพอใจจนไม่หันมาสนใจหรือตั้งคำถามต่อผู้ปกครอง 

 

หรือจะเป็นสถานที่ตั้งของพาเน็มที่ถูกวางให้อยู่ในบริเวณอเมริกาเหนือ หนึ่งในนั้นคือพื้นที่จากเขต 12 ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภูมิภาคแอปพาเลเชียที่ห้อมล้อมด้วยป่าเขาและเคยมีการทำเหมืองถ่านหิน รวมถึงในเขต 11 ที่ทำเกษตรกรรมเป็นหลักและผู้คนต่างอยู่อย่างอดอยาก ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นภาพแทนของแรงงานทาสในอเมริกาที่ถูกกดขี่ ไปจนถึงที่มาของการชูสามนิ้วของ Katniss Everdeen ที่เป็นสัญลักษณ์ของการแสดงความเคารพและการต่อต้านแคปิตอล ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากท่าการแสดงความเคารพของกลาดิเอเตอร์และทหารโรมัน 

 

ซึ่งรายละเอียดมากมายเหล่านี้เองที่พิสูจน์ให้เราเห็นว่า Suzanne Collins เป็นอีกหนึ่งนักเขียนนิยายที่ให้ความสำคัญกับทุกรายละเอียดบนหน้ากระดาษจริงๆ 

 

The Hunger Games: Mockingjay – Part 1 (2014)

ภาพ: IMDb

 

สู่ภาพยนตร์ชุดที่ผู้ชมทั่วโลกหลงรัก 

 

The Hunger Games เริ่มออกตีพิมพ์สู่สายตาผู้อ่านครั้งแรกในปี 2008 และได้รับการตีพิมพ์นิยายภาคต่อตามมาอีก 2 เล่ม ได้แก่ Catching Fire ในปี 2009 และ Mockingjay ในปี 2010 (รวมถึงนิยายภาคต้นอย่าง The Hunger Games: The Ballad of Songbirds & Snakes ในปี 2020) โดยนิยายชุด The Hunger Games ได้รับการตีพิมพ์ทั่วโลกไปแล้วมากกว่า 100 ล้านเล่ม ติดอันดับหนังสือขายดีบน The New York Times ยาวนานกว่า 260 สัปดาห์ และยังส่งให้ชื่อของ Suzanne Collins ติดอยู่ในลิสต์ TIME100 ของนิตยสาร TIME ในปี 2010 

 

จนในที่สุด The Hunger Games ก็ถูกนำมาดัดแปลงเป็นฉบับภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ในปี 2012 ซึ่งกวาดรายได้รวมทั่วโลกสูงถึง 695 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่จะมีภาพยนตร์ภาคต่อตามมาอีก 3 ภาค ได้แก่ The Hunger Games: Catching Fire (2013), The Hunger Games: Mockingjay – Part 1 (2014) และ The Hunger Games: Mockingjay – Part 2 (2015) โดยภาพยนตร์ทั้ง 4 ภาคสามารถกวาดรายได้รวมทั่วโลกสูงถึง 2,968 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

 

นอกเหนือจากความสำเร็จทั้งด้านรายได้และคำวิจารณ์แล้ว The Hunger Games ยังได้สร้างปรากฏการณ์ตามมาอีกมากมาย ทั้งการที่แฟนๆ ของนิยายและภาพยนตร์เริ่มแต่งตัวคอสเพลย์ตามตัวละคร และการจุดประกายให้กลุ่มวัยรุ่นเริ่มหันมาสนใจในกีฬายิงธนูเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการชูสามนิ้วในเรื่องที่ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองในประเทศไทย

 

อีกหนึ่งหัวใจสำคัญที่ส่งให้ The Hunger Games กลายเป็นนิยายเยาวชนที่ครองใจผู้อ่านได้อย่างอยู่หมัด นั่นคือความสมจริงของเรื่องราวที่ฉายภาพการกดขี่ข่มเหงจากรัฐเผด็จการอย่างแคปิตอล การใช้ความรุนแรงเพื่อปราบปรามผู้คนที่คิดก่อกบฏ การใช้สื่อและโฆษณาชวนเชื่อเพื่อชักจูงความคิดของผู้คน การพาผู้ชมไปสำรวจบาดแผลภายในจิตใจของเหล่าเครื่องบรรณาการหลังเผชิญกับเหตุการณ์อันเลวร้ายอย่างลึกซึ้ง รวมไปถึงคาแรกเตอร์อันโดดเด่นของ Katniss Everdeen ตัวละครนำหญิงที่ฉีกกรอบเดิมๆ ของตัวละครหลักในนิยายเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นความแข็งแกร่งทางจิตใจ ความดื้อรั้น และความกล้าหาญ

 

ทั้งหมดนี้จึงส่งให้ The Hunger Games กลายเป็นหนึ่งในนิยายเยาวชนและภาพยนตร์ชุดที่ประสบความสำเร็จ และเอาชนะใจผู้อ่านและผู้ชมทั่วโลกมาได้จนถึงปัจจุบัน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X