SCB EIC คาดเม็ดเงินลงทุนโครงการภาครัฐเริ่มทยอยไหลเข้าระบบช่วงที่เหลือของปีนี้ จับตางบประมาณปี 2568 คาดออกมาใช้ได้ตามแผนหนุนธุรกิจก่อสร้าง
กัญญารัตน์ กาญจนวิสุทธิ์ นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Morning Wealth ว่า ตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงเดือนเมษายนปีนี้ ยังมีเม็ดเงินลงทุนก่อสร้างของโครงการภาครัฐเข้าสู่ระบบไม่มากนัก เนื่องจากผลกระทบจากการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ที่ล่าช้า ซึ่งปกติภาพรวมโครงการก่อสร้างจะมีเม็ดเงินลงทุนประมาณ 1.41 ล้านบาทต่อปี โดยมีสัดส่วนประมาณ 60% ที่เป็นเม็ดเงินลงทุนที่มาจากภาครัฐ
อย่างไรก็ดี การจัดทำงบประมาณปี 2567 ได้ดำเนินงานเสร็จสิ้น สามารถเริ่มบังคับใช้แล้วและส่งผลหลังจากเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา โดยเริ่มมีเม็ดเงินลงทุนก่อสร้างของภาครัฐทยอยออกมามากขึ้น สะท้อนจากอัตราการเบิกจ่ายที่ปรับตัวสูงขึ้น จากข้อมูลตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา มีอัตราการเบิกจ่ายปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งน่าจะมีความต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 3/67 เนื่องจากเป็นช่วงสุดท้ายของปีงบประมาณรายจ่ายปี 2567 อีกด้วย
ขณะที่ในช่วงไตรมาส 4/67 ต่อเนื่องถึงปี 2568 ยังคงต้องติดตามการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2568 หลังจากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีความผันผวนเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยทางการเมืองในประเทศ เริ่มตั้งแต่การถอดถอน เศรษฐา ทวีสิน ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนมาการแต่งตั้ง แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ทำให้มีความต่อเนื่องในการบริหารงาน ดังนั้นคาดว่าประเด็นดังกล่าวจะมีผลต่อกระทบในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2568 ไม่มาก
ทั้งนี้ หากมีการเลื่อนออกไปก็เชื่อว่าจะล่าช้าไม่มากนัก จึงคาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายงบประมาณปี 2568 ได้ทันตามกรอบเวลา
จับตาโครงการเมกะโปรเจกต์คืบหน้าต่อเนื่อง
นอกจากนี้ยังต้องติดตามโครงการลงทุนเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาล ซึ่งเป็นโครงการที่สำคัญ โดยเริ่มเห็นหลายโครงการมีความคืบหน้าในการทยอยก่อสร้างในต่างจังหวัด เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่หนึ่ง ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา, โครงการลงทุนสร้างรถไฟรางคู่สายเหนือและอีสาน และโครงการลงทุนสร้างทางด่วนหรือมอเตอร์เวย์เส้นทางต่างๆ รวมทั้งในเขตกรุงเทพฯ เริ่มเห็นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่มีความคืบหน้าต่อเนื่อง เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้
หากมองไปในช่วงที่เหลือของปีนี้ และต่อเนื่องในปี 2568 คาดว่าน่าจะมีการเปิดประมูลโครงการลงทุนก่อสร้างใหม่ๆ ออกมาต่อเนื่อง ซึ่งโครงการที่มีความคืบหน้าชัดเจนคือโครงการรถไฟรางคู่ ระยะที่สอง ช่วงขอนแก่น-หนองคาย คาดว่าน่าจะเปิดประมูลได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้
ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่มีข้อพิพาทมายาวนานเริ่มมีความก้าวหน้า คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างช่วงเส้นทางบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ส่งผลให้น่าจะมีเม็ดเงินก่อสร้างของการลงทุนภาครัฐออกมาต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้และต่อเนื่องถึงปีหน้า
คาดงานก่อสร้างเอกชนปี 2568 โตต่ำ
SCB EIC ประเมินว่ามูลค่าการก่อสร้างของภาคเอกชนในปี 2568 จะขยายตัวอยู่ในระดับต่ำประมาณ 1% มีมูลค่ารวมอยู่ที่ประมาณ 6.11 แสนล้านบาท โดยมีปัจจัยหนุนจากโครงการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ ทั้งในส่วนของการลงทุนพัฒนาพื้นที่ค้าปลีกและสำนักงานให้เช่า ซึ่งในกลุ่มดังกล่าวมีการลงทุนเพื่อขยายซัพพลายของผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ใจกลางเมืองทั้งในกลุ่มของโครงการมิกซ์ยูส รวมถึงสำนักงานออฟฟิศให้เช่ากลุ่มเกรดเอ ส่งผลให้มีเม็ดเงินการลงทุนของภาคเอกชนเข้ามาในระบบก่อสร้างเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี ในด้านของแรงกดดันพบว่าโครงการลงทุนก่อสร้างส่วนใหญ่ของภาคเอกชนจะเป็นการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย ซึ่งปัจจุบันตลาดที่อยู่อาศัยยังอยู่ในช่วงภาวะซบเซา รวมถึงมีการฟื้นตัวช้า โดย SCB EIC ประเมินว่าในปี 2568 มูลค่าการก่อสร้างของตลาดที่อยู่อาศัยจะหดตัวลงประมาณ 4%
เนื่องจากผลกระทบของสถานการณ์ปัจจุบันที่ภาคครัวเรือนกำลังประสบปัญหาภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูง โดยเฉพาะในกลุ่มที่อยู่อาศัยที่มีราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท โดยประมาณการว่าในปี 2568 จะมียอดขายที่อาศัยประมาณ 64,000 หน่วย ซึ่งทรงตัวเมื่อเทียบกับปี 2567 ที่มียอดขายราว 65,000 หน่วย
ปี 2567 ตลาดที่อยู่อาศัยหดตัวแรง 23%
หากดูยอดขายจำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยในปี 2567 จะพบว่ามีการหดตัวลงค่อนข้างแรงประมาณ 23% เมื่อเปรียบเทียบจากปี 2566 ที่มียอดขายจำนวน 85,000 หน่วย สะท้อนว่ามีการปรับตัวที่รุนแรงและต่อเนื่องจากปี 2565 ที่มียอดขาย 98,000 หน่วย โดยประเด็นดังกล่าวจะเป็นปัจจัยกดดันให้ผู้พัฒนาโครงการชะลอการลงทุนออกไป
สำหรับในปี 2567 คาดการณ์ว่าผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์จะมีการเปิดโครงการใหม่ลดลงประมาณ 23% และคาดว่าในปี 2568 จะยังไม่เห็นการฟื้นตัวกลับมาได้ เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประเมินว่าภาพของกำลังซื้อยังหดตัวและฟื้นตัวได้ช้า ส่งผลให้มีการชะลอเปิดโครงการที่อยู่อาศัยใหม่
ทั้งนี้ SCB EIC ประเมินว่ายอดเปิดโครงการใหม่ในปี 2568 จะอยู่ที่ประมาณ 71,000 หน่วย หดตัวลงประมาณ 3% เมื่อเปรียบเทียบจากปี 2567 ซึ่งจะส่งผลกระทบไปยังกลุ่มตลาดรับเหมาก่อสร้างที่อยู่อาศัยให้เผชิญกับภาวะการชะลอตัวในการที่จะมีเม็ดเงินก่อสร้างใหม่เข้ามาในระบบ
อย่างไรก็ตาม หากดูแนวโน้มของผู้พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในการเปิดโครงการจะพบว่ากำลังซื้อของกลุ่มที่อยู่อาศัยระดับกลางถึงล่างเริ่มชะลอตัว มีข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อ ดังนั้นผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จึงต้องปรับตัวหันไปเปิดโครงการที่อยู่อาศัยในระดับกลางถึงบนที่มีแนวโน้มมากขึ้น ส่งผลให้มูลค่าของการเปิดโครงการกลุ่มนี้เพิ่มสูงขึ้นจากในอดีต
อีกทั้งราคาที่ดินที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงต้นทุนการก่อสร้างที่มีการปรับเพิ่มขึ้นตามรูปแบบของโครงการที่เป็นโครงการระดับกลางถึงบนขึ้นไป ส่งผลให้มีเม็ดเงินการก่อสร้างมาจากตลาดการพัฒนาที่อยู่อาศัย
แนวโน้มธุรกิจก่อสร้างปิดตัวลดลง
สำหรับความเสี่ยงหรือความท้าทายในช่วงที่เหลือของปีนี้และปี 2568 โดยในปี 2565-2566 จะเห็นว่าผู้ประกอบการธุรกิจก่อสร้างปิดตัวไปเป็นจำนวนมาก ขณะที่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 เริ่มมีแนวโน้มการปิดกิจการที่ลดลง สะท้อนถึงแนวโน้มที่ดีของกลุ่มธุรกิจผู้รับเหมาก่อสร้าง
ขณะที่การอนุมัติงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ของรัฐบาลจะเป็นปัจจัยที่ทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่งานก่อสร้างมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายใหญ่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น และส่งผลต่อเนื่องไปยังผู้ประกอบการรายเล็กในฐานะผู้รับเหมาช่วงของผู้ประกอบการรายใหญ่ ดังนั้นจึงคาดการณ์ว่าสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปี อีกทั้งหากมองข้ามไปในปี 2568 จากการจัดทำงบประมาณปี 2568 มีความราบรื่นเป็นไปตามแผน จะส่งผลให้ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้าง โดยเฉพาะกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการภาครัฐเป็นหลัก จะมีสภาพคล่องที่ดีขึ้นและมีโอกาสที่จะเห็นการทยอยปิดกิจการของผู้รับเหมาก่อสร้างทยอยลดลง