×

‘The Home’ และ ‘Room Journal’ นิตยสารแต่งบ้านน้องใหม่จากสองฝั่งโลก ที่เกิดขึ้นในยุคคนติดบ้าน

23.04.2021
  • LOADING...
‘The Home’ และ ‘Room Journal’ นิตยสารแต่งบ้านน้องใหม่จากสองฝั่งโลก ที่เกิดขึ้นในยุคคนติดบ้าน

หลายคนเพิ่งได้กลับมาอยู่ติดบ้านกันยาวๆ ก็เพราะช่วงเวลาที่จำเป็นต้อง Work from Home ช่วงปีที่ผ่านมานี้เอง ที่ทำเอาธุรกิจของใช้ในบ้านและของตกแต่งบ้านกลับมาตื่นตัวกันอีกครั้งหนึ่ง พอได้ใช้งานบ้านตัวเองนานๆ กว่าที่เคยเป็น ก็เริ่มรู้ตัวว่าต้องการสิ่งไหน และรู้ใจว่าอะไรคือสไตล์ของพื้นที่ที่เราอยู่แล้วหย่อนใจมากที่สุด

 

จากความผูกพันกับบ้านที่มีมากขึ้นกว่าเดิม นำมาสู่การเปิดตัวนิตยสารแต่งบ้าน 2 หัว จาก 2 ฟากฝั่งโลก The Home จากเกาหลีใต้ และ Room Journal จากแคนาดา ถึงที่มาที่ไปและหน้าตาของทั้งสองเล่มจะแตกต่างกัน แต่เกิดขึ้นจากจุดประสงค์เดียวกันคือ การออกค้นหาความหมายของพื้นที่ในบ้าน ที่สะท้อนถึงตัวตนและความเป็นอยู่ของผู้อาศัยให้ได้มากที่สุด

 

 

The Home นิตยสารน้องใหม่ในเครือ B

 

 

นักอ่านหลายคนน่าจะคุ้นหน้าคุ้นตากับ B นิตยสารจากเกาหลีใต้ ที่พาเราไปสำรวจล้วงลึกถึงแบรนดิ้ง และเมืองต่างๆ ทั่วโลก (รวมทั้งกรุงเทพฯ​ เองก็เคยเป็นหนึ่งในนั้นด้วย) วันนี้ B เปิดตัวนิตยสารเล่มใหม่ภายใต้ชื่อเรียบง่ายที่ว่า ‘The Home’ สื่อความหมายแบบตรงมาตรงไปที่ต้องการเสนอความสัมพันธ์ระหว่างบ้านกับผู้คน เพราะเชื่อว่ารากฐานของชีวิตเริ่มต้นขึ้นที่บ้าน และบ้านเองก็แสดงทัศนคติและบุคลิกของผู้อยู่ได้ชัดเจนที่สุด

 

บรรณาธิการของ The Home กล่าวว่า แรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้นิตยสารเล่มนี้ เกิดขึ้นมาจากความเป็นธรรมชาติของนิตยสารที่จำเป็นจะต้องออกเป็นประจำทุกเดือนไม่ว่าจะเจอกับสถานการณ์ใด ประกอบกับช่วงโควิด-19 นี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่ B เองจะต้องพักการทำนิตยสารลง จึงเปิดตัว The Home ขึ้นเป็นสักขีพยานของเหตุการณ์ และสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างบ้านและเจ้าของบ้านที่ยังมีอยู่ทุกยุคสมัย

 

 

การเปลี่ยนภาคการทำงานจากการที่ต้องลงไปค้นหาแก่นแท้ของแบรนด์หนึ่งแบรนด์ใดหรือเมืองหนึ่งเมืองใด มาสู่การกระจายตัวออกไปตามหาบ้านที่เป็นตัวแทนของแต่ละคน นับเป็นการทำงานอีกแบบที่ท้าทายทีมงานเป็นอย่างยิ่ง แต่ทว่าสิ่งที่ทุกคนค้นพบระหว่างการทำงานคือ บทสนทนาที่เปิดเผยความเป็นตัวตนของผู้ถูกสัมภาษณ์แบบหมดเปลือก นั่นก็เพราะบ้านเป็นเหมือนกับพื้นที่ส่วนบุคคล และการที่จะก้าวเข้าไปยังที่แห่งนั้นได้ ก็เหมือนกับการเข้าไปค้นหาแก่นแท้ที่หลอมรวมมาเป็นบุคคลเหล่านั้น ทีมงานจึงเลือกสรรบ้านและห้องของดีไซเนอร์และคนทำงานสายสร้างสรรค์ โดยเล่มแรกนี้มี เบิร์น-ชาญฉลาด กาญจนวงศ์ เจ้าของแบรนด์เครื่องเขียน GREY RAY เป็นหนึ่งในบุคคลเล่มปฐมฤกษ์นี้ด้วย

 

ในส่วนของเนื้อหาเอง The Home แบ่งแยกหมวดหมู่ของเนื้อหาตามไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตในบ้าน อย่าง Home Office – บ้านที่เป็นพื้นที่ทำงานในตัว, Rural Life – บ้านที่ออกไปสัมผัสชนบท หรือ Private Sanctuary – พื้นที่สงวนส่วนตัว ซึ่งทุกคนพร้อมจะมาเปิดความคิดและเปิดบ้านให้ทุกคนรู้จัก ภายใต้รูปลักษณ์ที่เรียบง่าย เข้าใจง่าย ในสไตล์ของ B อย่างที่ทุกคนคุ้นเคย

 

 

Room Journal นิตยสารที่เดินทางหาความหมายของห้อง

 

 

ข้ามฟากมายังประเทศแคนาดา Room Journal เกิดจากการระดมสมองระหว่าง Jeremy Schipper ซึ่งสั่งสมประสบการณ์การศึกษาด้านสถาปัตยกรรม ความชอบกิจกรรมภายในบ้าน และการทำงานร่วมกับนิตยสาร Monocle ร่วมกันกับเพื่อนนักศึกษาอีกสองคน Jérémie Dussault-Lefebvre และ Sébastien Roy โดยได้รับทุนการผลิตจาก School of Architecture and Landscape Architecture, University of British Columbia จนออกมาเป็นนิตยสารรายปี ที่ใช้โจทย์ในแต่ละเล่มเป็นห้องหนึ่งห้องอย่างเอกเทศ ไร้ซึ่งบริบทรอบด้าน เพื่อค้นหาขอบเขตระหว่างห้องที่ปกปิดด้วยวัสดุและห้องเปลือยเปล่าที่ไร้วัสดุ

 

“We’re all born naked and the rest is architecture – พวกเราล้วนเกิดมาเปลือยเปล่า ส่วนที่เหลือก็เป็นเรื่องของสถาปัตยกรรม” เป็นประโยคที่บอกเล่าความเป็นตัวตนและแนวความคิดของนิตยสารเล่มนี้จากคำสัมภาษณ์ของ Schipper ให้กับเว็บไซต์ itsnicethat.com โดยห้องแรกที่เลือกคือ ห้องน้ำ เป็นห้องที่เขาคิดว่าทำให้เห็นภาพนี้ชัดเจน เพราะเป็นห้องที่เรียบง่ายที่สุด แต่สัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้คนในระดับส่วนบุคคลมากที่สุด

 

 

จากห้องน้ำหนึ่งห้อง เป็นโจทย์ให้ผู้คนจากหลากหลายสาขาอาชีพ ทั้งในสายงานสถาปัตยกรรมเอง หรือสายงายอื่นๆ ได้แสดงความคิดและตัวตนผ่านทางห้องน้ำ รวมทั้งเนื้อหาอีกส่วนที่น่าสนใจคือ การรวบรวมและบอกเล่าข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจของห้องน้ำในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ การใช้งาน ยุคสมัย หรือแม้กระทั่งการสัมภาษณ์บรรณาธิการนิตยสาร WET นิตยสารเชิงทดลองที่ใช้ห้องน้ำเป็นตัวเล่าเรื่อง ซึ่งตีพิมพ์มาตั้งแต่ปี 1976 ทำให้เรามองเห็นภาพของห้องน้ำในมุมมองที่มากกว่าห้องสำหรับทำความสะอาดหรือขับถ่ายอย่างที่ชินตา

 

ความพิเศษอีกประการของนิตยสารเล่มนี้คือ การได้ทีมกราฟิกดีไซเนอร์ของ Post Projects สตูดิโอกราฟิกในบริติชโคลัมเบีย มาเป็นผู้รับผิดชอบรูปเล่มทั้งหมด ตั้งแต่การวางอัตลักษณ์ทางภาพ องค์ประกอบศิลป์ จนถึงเลย์เอาต์หน้าหนังสือ การเปิดดูนิตยสารตลอดทั่งเล่มจึงตื่นเต้นหวือหวากับการจัดวางไม่แพ้เนื้อสุดจัดจ้านที่อยู่ด้านใน

 

 

นิตยสาร – The Curator of Content and Photos

 

นิตยสารเกิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่อัปเดตหัวเรื่องที่ผู้คนสนใจเป็นพิเศษเป็นรายสัปดาห์ รายปักษ์ รายเดือน หรือรายปี จนเมื่อยุคของคอนเทนต์ออนไลน์มาถึง นี่จึงเป็นโจทย์ที่เหล่าบรรณาธิการต้องขบคิดและชั่งน้ำหนักในหลายปัจจัยรอบด้าน

 

หากแต่เสน่ห์ของการสัมผัสหนังสือหรือนิตยสารยังคงมนต์ขลังอยู่เสมอ ความสนุกของงานนิตยสาร ทั้งจากมุมมองของคนทำและคนอ่านเอง อยู่ที่การได้เห็นความท้าทายในการจัดสรรพื้นที่หน้ากระดาษหนึ่งคู่ ให้สามารถบรรจุเนื้อหาบทความและรูปภาพได้ตอบโจทย์คาแรกเตอร์ของหัวเล่ม ผ่านการสื่อสารทางการจัดวาง หากเปรียบเทียบก็คงเหมือนกับนิทรรศการหนึ่งห้องที่จะต้องบรรจุงานศิลปะ ที่จำเป็นจะต้องคำนึงถึงระยะห่าง รูปแบบการจัดวาง การมองเห็นของผู้ชม และบรรยากาศโดยรวมภายในห้อง

 

 

ความท้าทายอีกประการของนิตยสารคือ การรักษาอัตลักษณ์ให้ยังคงอยู่ ทั้งจากลีลาวรรณศิลป์ สไตล์ภาพถ่าย รวมทั้งการจัดวางหน้ากระดาษ การที่ต้องทำงานภายใต้กรอบเดิมแต่อยู่บนเนื้อหาสาระที่แตกต่างกันไปทุกเล่ม จึงเป็นเสน่ห์ให้กับคนทำงานนิตยสารเช่นเดียวกัน ยิ่งนิตยสารที่ยืนระยะยาวๆ เราจะได้เห็นพัฒนาการที่ต้องปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ความนิยม และเทรนด์ของงานเชิงศิลป์ 

 

ซึ่งหากจะพูดว่า นิตยสารก็คืองานศิลปะชิ้นหนึ่งที่อยู่ในมือของทุกคนได้ ก็นับว่าไม่ผิดนัก

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising