การหลบออกจากความจริงในปัจจุบันเพื่อหนีไปยังโลกของจินตนาการ (Escapism) เป็นกระบวนการทางจิตวิทยาที่มนุษย์ผลิตขึ้นเพื่อป้องกันตนเองจากการไม่อยากเผชิญหน้ากับปัญหาและความผิดหวังที่เกิดรอบตัว สภาวะของความเบื่อหน่ายและอยากเอาชีวิตรอดจากความจริงอันโหดร้ายเช่นนี้สอดคล้องกับวิธีการในความเคลื่อนไหวทางศิลปะและวัฒนธรรมช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยศิลปินกลุ่มโรแมนติก (Romanticism) ผู้ไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่รัฐพยายามใช้นโยบายทางเศรษฐกิจเข้ามาอ้างถึงความเจริญก้าวหน้า แต่กลับส่งผลให้เกิดการหลั่งไหลของผู้คนจำนวนมากมาสู่เมืองใหญ่ จนกลายเป็นต้นตอความเหลื่อมล้ำของชนชั้น เกิดเป็นปัญหามลภาวะและโรคระบาด ศิลปินเหล่านั้นเหนื่อยล้ากับสิ่งที่ต้องเผชิญในชีวิต จนถึงขั้นถอยห่างจากการคุกคามของรัฐ พร้อมกับละทิ้งความเชื่อที่ว่าด้วยเหตุและผล แล้วหลีกลี้หนีปัญหาด้วยการพาตัวเองเข้าไปสู่กระบวนการทางศิลปะที่สร้างสรรค์ขึ้นผ่านเรื่องเล่าของวัยเยาว์อันบริสุทธิ์ ความสวยงามของธรรมชาติ และจินตนาการอันปราศจากขอบเขต
สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตนั้นแทบไม่ต่างจากสภาวการณ์ปัจจุบัน ที่ผู้คนต้องทุกข์ทรมานจากการรุมเร้าของปัญหาเศรษฐกิจ การขยายตัวของโรคระบาด รวมทั้งการขาดแคลนวัคซีน ที่ก่อตัวจนกลายเป็นความผิดหวังกับการบริหารงานของรัฐ จนถึงขั้นที่บางคนหมดสิ้นความเชื่อมั่นกับอนาคตของประเทศ ภายใต้กระแสทางตันของปัจจุบันอันโหดร้ายนี้เอง ที่การปรากฏขึ้นของภาพยนตร์ 5 เรื่อง ซึ่งได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขาการออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยมปีนี้ กำลังทำหน้าที่เฉกเช่นเดียวกับศิลปินโรแมนติกในอดีต ผ่านการใช้ศิลปะเครื่องแต่งกาย สีแดง และสัญลักษณ์ที่ว่าด้วยเลือดกับชีวิต เป็นดั่งวัคซีนในการเยียวยาผู้ชมด้วยการหลีกหนีไปยังจินตนาการให้ไกลเสียจากความสิ้นหวัง
การลอง ‘อ่าน’ วิธีการและสัญลักษณ์ที่นักออกแบบเครื่องแต่งกายเลือกใช้เพื่อสำรวจแง่มุมต่างๆ ของชีวิต ผ่านประเด็นที่ว่าด้วยความเท่าเทียมกันทางเพศ สีผิว และในหลายๆ มิติของความเป็นมนุษย์ จึงน่าจะช่วยทำให้เราได้เข้มแข็งและมีพลังกลับมาดำเนินชีวิตในโลกปัจจุบันได้
Pinocchio (2019)
กำกับการแสดงโดย Matteo Garrone
ออกแบบเครื่องแต่งกายโดย Massimo Cantini Parrini
หลีกหนีจากปัจจุบันเพื่อหลบไปยังอดีตอันงดงามของวัยเยาว์ ด้วยการที่ผู้กำกับ Matteo Garonne หยิบนิทานเด็กจากคริสต์ศตวรรษที่ 19 ของ Carlo Collodi ซึ่งฝังอยู่ในใจของเขาตั้งแต่อายุ 6 ขวบมาเล่าใหม่ ผ่านการย้อนกลับไปยังต้นกำเนิดที่มืดมนและโหดร้ายราวกับ Dark Fairy Tales ของเรื่องเล่าต้นฉบับ Pinocchio เวอร์ชันล่าสุดยังเพิ่มความน่าสนใจด้วยการชักชวนผู้ชมตั้งคำถามเพื่อเทียบเคียงเรื่องเล่าอันมหัศจรรย์เข้ากับประสบการณ์ชีวิตที่ต่างคนล้วนเคยเดินทางออกห่างจากผู้ให้กำเนิด แล้วสูญเสียตัวตนไปด้วยความโง่เขลาเพื่อจะได้หวนกลับมาเข้าใจความเป็นมนุษย์
Massimo Cantini Parrini นักออกแบบเครื่องแต่งกายไฮไลต์แรงขับและปรารถนาที่จะได้เป็นมนุษย์ของ พินอคคิโอ ด้วยการแทนค่าสัญลักษณ์กับสีแดงในคอสตูมของหุ่นกระบอก ที่ช่างไม้ เจปเปตโต ตัดเย็บให้จากผ้าคลุมเตียงผืนเก่า สีแดงที่นอกจากจะให้ความหมายถึงเลือดเนื้อและชีวิตอันเป็นตัวแทนของความเป็นมนุษย์แล้ว ยังสะท้อนไปถึงความรู้สึกรัก โลภ โกรธ หลงแบบมนุษย์ที่หุ่นกระบอกไม้ไม่รู้จัก และโหยหาจนกลายเป็นกับดักให้เขาต้องถูกล่อลวงครั้งแล้วครั้งเล่า
นอกจากนั้น Parrini ยังพยายามขับเน้นสภาวะของการค่อยๆ สูญเสียความเป็นมนุษย์ภายใต้การสร้างภาพวิชวลอันแปลกประหลาดของคอสตูมตัวละครต่างๆ ที่เกิดขึ้นผ่านการมองเห็นและการออกเดินทางของพินอคคิโอ พร้อมกับที่จะเลือกสร้างเครื่องแต่งกายเหล่านั้นขึ้นมาด้วยกระบวนการผสมเสื้อผ้าเก่ามือสองที่เคยถูกใช้แล้วจริงๆ ผสานเข้ากับการสร้างตัวละครตามจินตนาการด้วยการแต่งหน้าเอฟเฟกต์ด้วยมือทีละส่วนบนร่างกายของนักแสดงแทนการใช้เทคนิคพิเศษ ก่อนที่ในท้ายเรื่องทุกสิ่งทุกอย่างจะคลี่คลายเข้าสู่ธรรมชาติและความสมจริง เมื่อพินอคคิโอเรียนรู้และยอมรับความผิดพลาดก่อนที่จะได้กลายเป็นเด็กชายตามที่ปรารถนา
Mulan (2020)
กำกับการแสดงโดย Niki Caro
ออกแบบเครื่องแต่งกายโดย Bina Daigeler
พาเราหลีกหนีไปจากปัจจุบันด้วยการย้อนไปหยิบตำนานพื้นบ้านของจีน ที่เล่าถึงวีรกรรมของ มู่หลาน นักรบหญิงที่ปลอมตัวเป็นชายแล้วหนีออกจากบ้านเพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรีของพ่อและวงศ์ตระกูล ซึ่งนอกจาก Bina Daigeler นักออกแบบเครื่องแต่งกายจะเลือกใช้โครงสร้างสีสันที่สดใสเป็นพิเศษเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงภาพยนตร์เวอร์ชันการ์ตูนที่ได้รับความนิยมมาก่อนหน้าแล้ว เธอยังทำงานกับการให้ความหมายของสีตามความเชื่อของจีนโบราณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้สีแดงที่ปรากฏในคอสตูมของมู่หลานที่นอกจากจะเชื่อมโยงไปถึงเลือดเนื้อและจิตวิญญาณแห่งความเป็นมนุษย์แล้ว ยังถูกขยายความสำคัญไปสู่การเป็นตัวแทนของความแข็งแกร่ง กล้าหาญไปพร้อมๆ กับการนำเสนออิมเมจของความเป็นผู้หญิงที่ซ่อนอยู่ภายใต้ชุดเกราะของนักรบเพศชาย
นอกจากนั้นสภาวะการพยายามหลีกหนีและปลดแอกจากความหมายที่ผูกติดมากับวัฒนธรรมเรื่องเพศ รวมถึงความเป็นผู้หญิงที่ภาพยนตร์ต้องการนำเสนอเป็นประเด็นสำคัญ ยังถูกขับเน้นผ่านโครงสร้างของการใช้เสื้อเกราะเป็นคอสตูมชิ้นหลักที่ปรากฏราวกับภาพสะท้อนระหว่างสองตัวละครสำคัญ อันได้แก่ มู่หลานและแม่มด (แสดงโดยกงลี่) เพราะในขณะที่ทั้งคู่ต่างพยายามกลบเกลื่อนความเป็นหญิงของตนเอง ด้วยการสวมความแข็งแกร่งแบบผู้ชายเพื่อให้เป็นที่ยอมรับภายใต้สังคมแบบชายเป็นใหญ่ผ่านเสื้อเกราะนักรบของมู่หลาน และคอสตูมของแม่มดที่ผสมผสานด้วยองค์ประกอบต่างๆ จากนกเยี่ยวร่างแปลงของเธอมาประกอบสร้างเป็นเครื่องกำบัง แต่สุดท้ายแล้วก็กลับมีเพียงมู่หลานเท่านั้นที่สามารถเลือกจะหยุดวิ่งหนีแล้วหันกลับมาเผชิญหน้ากับความเป็นจริงเพื่อปลดพันธนาการ และเผยอิสระของความเป็นหญิงในพื้นที่ของผู้ชายได้อย่างกล้าหาญ ขณะที่แม่มดต้องพบกับจุดจบเพียงเพราะยึดติดอยู่กับกรอบของเกราะกำบังที่ผูกรั้งเธอเอาไว้อย่างแน่นหนา
Emma (2020)
กำกับการแสดงโดย Autumn de Wilde
ออกแบบเครื่องแต่งกายโดย Alexandra Byrne
ประสบความสำเร็จอย่างงดงามด้วยการพาผู้ชมหนีไปจากความจริงของปัจจุบันผ่านการสร้างความโมเดิร์นของโลกอดีตให้เกิดขึ้น ผ่านการใช้องค์ประกอบศิลป์ในด้านต่างๆ ไปจนถึงการเลือกไฮไลต์ประเด็นเนื้อหาจากวรรณกรรมคลาสสิกของ Jane Austen ที่เล่าเรื่องของ เอ็มม่า หญิงสาวผู้ใช้เวลาว่างไปกับการเล่นสนุกในเกมจับคู่ จนสุดท้ายต้องหัดเรียนรู้ที่จะเริ่มรู้จักหัวใจของตนเองมาสร้างขึ้นใหม่อีกครั้ง
Alexandra Byrne นักออกแบบเครื่องแต่งกายเลือกใช้แรงบันดาลใจจากสีสันและความสวยงามของภาพพิมพ์แฟชั่นโบราณยุครีเจนซีช่วงต้นคริสต์สตวรรษที่ 19 พร้อมกับพาผู้ชมออกไปสัมผัสความสวยงามและความสงบของธรรมชาติในชนบทเพื่อให้ลืมความจริงของปัจจุบันได้อย่างชาญฉลาด
นอกจากนั้นเธอยังหยิบเอาแสงสีของวันและเวลาที่แปรเปลี่ยนไปตามฤดูกาลมาเทียบเคียงเข้ากับความรู้สึกและการเรียนรู้ชีวิตของเอ็มม่า ผ่านกระบวนการสร้างโจทย์ให้เครื่องแต่งกายของเอ็มม่าทั้งเรื่องนั้นมีจำนวนเพียงจำกัด แต่จะถูกหยิบขึ้นมาผสมผสานและเลือกใช้อย่างผูกโยงเข้ากับพัฒนาการของตัวละครภายในระยะเวลา 1 ปี
เริ่มจากเสื้อผ้าสีสันตัดกันฉูดฉาดภายใต้รูปทรงกระบอกที่ซ้อนทับกันหลายชั้น และเครื่องประดับรูปทรงแปลกตาตอนต้นเรื่องเพื่อนำเสนอถึงความหยิบโหย่งฉาบฉวยของเอ็มม่าที่ยังสนุกกับความผยองปลอมๆ ของตนเองในการแนะนำจับคู่ใหักับคนอื่นอย่างผู้รู้ ก่อนจะเคลื่อนเข้าสู่กระบวนการค่อยๆ ลดทอนรูปแบบ ลดทอนสีสัน และลดการประดับประดาของเครื่องแต่งกาย จนเข้าสู่สภาวะของความเรียบง่ายตามธรรมชาติแห่งฤดูใบไม้ผลิ เมื่อเอ็มม่ายอมรับกับความผิดพลาด เรียนรู้ถึงความรัก และความรู้สึกอันแท้จริงของตนเอง
โดยเฉพาะที่ปรากฏอย่างชัดเจนในฉากเกือบท้ายเรื่อง เมื่อ มิสเตอร์ไนต์ลีย์ ชายหนุ่มข้างบ้านสารภาพรักก่อนจะขอแต่งงานกับเธอใต้ต้นเกาลัดใหญ่ที่กำลังออกดอกเต็มต้น จนถึงขั้นทำให้เธอตกใจและเลือดกำเดาออก คอสตูมผ้ามัสลินสีครีมปักด้วยลายดอกไม้เล็กๆ สีเขียวอ่อนตัดกับหยดเลือดกำเดาบนผ้าเช็ดหน้าในมือของเธอนั้น จึงทำหน้าที่ไม่ต่างจากการปอกเปลือกของตัวละครเพื่อเผยให้เห็นภาวะของธรรมชาติในความเป็นมนุษย์ ที่สีแดงของหยดเลือดซึ่งไหลออกมาจากจมูกและเปื้อนบนผ้ากลายเป็นตัวแทนของสภาวะการยอมรับตัวตนที่ไหลหลั่งจากภายในได้เป็นธรรมดา
Ma Rainey’s Black Bottom (2020)
กำกับการแสดงโดย George C. Wolfe
ออกแบบเครื่องแต่งกายโดย Ann Roth
พาผู้ชมหลีกหนีไปยังอดีตก่อนจะกระตุกให้คิดย้อนกลับถึงปัจจุบัน ด้วยการนำเสนอช่วงรุ่งเรืองของดนตรีแจ๊สและบลูส์ในปลายทศวรรษที่ 1920 กับเรื่องที่ดัดแปลงมาจากละครเวทีชื่อเดียวกันของ August Wilson ที่เล่าถึงบรรยากาศความวุ่นวายในเวลา 1 วันของกระบวนการอัดเพลงลงแผ่นเสียงของ Gertrude Ma Rainey นักร้องผิวสีผู้โด่งดังและมีชีวิตอยู่จริงในอดีต
ทั้งนี้นอกจากเนื้อเรื่องจะสร้างสภาวะคู่ขนานของประเด็นความขัดแย้งและความรุนแรงเรื่องสีผิวที่ยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่องมาจนถึงในเวลานี้แล้ว ภาพยนตร์ยังจงใจเล่นกับสภาวะการติดกับของตัวละคร ที่แม้จะมีความสามารถขนาดไหนก็ไม่อาจปลดตนเองออกจากพันธนาการทางสีผิวเพื่อจะได้มีพื้นที่อันเท่าเทียมกันในโลกที่คนขาวเป็นใหญ่ได้อย่างอิสระ โดยสภาวะของความพยายามในการหลีกหนีไปเสียจากความจริงนี้ เห็นได้ชัดเจนผ่านการผลิตสร้างสัญลักษณ์ในเครื่องแต่งกายด้วยโทนสีเหลืองทองที่ชวนให้นึกถึงเครื่องดนตรีทองเหลืองอันเป็นเอกลักษณ์สำคัญในดนตรีแจ๊ส ไม่ว่าจะเป็นชุดสไลต์ 1920 สีน้ำตาลทอง และฟันทองของ มา เรนีย์ ที่ทำให้เธอดูมีเสน่ห์อย่างประหลาด รวมทั้งยังเต็มไปด้วยอำนาจในทุกท่วงท่าเยื้องย่างของการพูด การร้องเพลง และการแสดงออก ไปจนถึงรองเท้า Wingtips สีเหลืองของตัวละคร Levee นักทรัมเป็ต (ที่ Chadwick Boseman แสดงเอาไว้เป็นเรื่องสุดท้าย) ซึ่งกลายสภาพเป็นวัตถุปรารถนา (Object of Desire) ที่เขาเลือกซื้อมาด้วยความหวังและปรารถนาอันแรงกล้าว่ามันจะสามารถพาไปยังชื่อเสียงและความสำเร็จทางการดนตรีอย่างที่ใฝ่ฝันได้
ทว่าสุดท้ายรองเท้าคู่นั้นก็ไม่ต่างจากประตูในห้องซ้อมดนตรีใต้ดิน ที่มีเขาเพียงผู้เดียวที่พยายามจะเปิดเพื่อพบว่าสุดท้ายแล้วประตูบานนั้นกลับพาไปสู่ทางตันที่ปิดตาย รอยสกปรกบนรองเท้าสีเหลืองที่เกิดขึ้นแล้วกลายเป็นหยดเลือดที่ไหลเปื้อนในตอนท้าย จึงเท่ากับการขีดฆ่าอนาคตทางดนตรีของเขาให้ดับวูบ ไม่ต่างจากการที่รองเท้าสีทับทิมของโดโรธีถูกสวมด้วยความหวัง ก่อนจะออกเดินทางไปตามถนนอิฐสีเหลืองยังเมืองมรกต เพื่อท้ายที่สุดจะได้พบกับความจอมปลอมของพ่อมดออซที่ไม่สามารถจะช่วยเหลืออะไรใครได้เลยในความเป็นจริง
Mank (2020)
กำกับการแสดงโดย David Fincher
ออกแบบเครื่องแต่งกายโดย Trish Summerville
ความทรงพลังของภาพยนตร์เรื่องนี้คือการดึงเอาความเจิดจรัสในยุคทองของฮอลลีวูดในช่วงทศวรรษที่ 1940 และเหตุการณ์เบื้องหลังก่อนการเกิดขึ้นของ Citizen Kane ภาพยนตร์ที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งของโลก ภายใต้การกำกับการแสดงของออร์สัน เวลส์ มานำเสนอต่อสายตาของผู้ชมในปัจจุบันด้วยการผลิตขึ้นตามแนวทางของภาพยนตร์ขาวดำอย่างสมบูรณ์แบบ ที่ในทุกรายละเอียดชวนให้เราย้อนกลับไปนึกถึงภาพยนตร์ขาวดำอย่างที่เคยปรากฏในอดีต
สภาวะย้อนแย้งสวนทางกลับไปกลับมาเช่นนี้เกิดขึ้นในลักษณะที่ไม่ต่างไปจากความซับซ้อนของกระบวนการถ่ายทำจริงของภาพยนตร์ Citizen Kane โดยที่ Trish Summerville นักออกแบบเครื่องแต่งกายสามารถสร้างความมหัศจรรย์ทางด้านภาพให้เกิดขึ้นด้วยกระบวนการออกแบบเครื่องแต่งกายที่วนหมุนสลับขั้นตอนทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้น เธอค้นคว้าหาข้อมูลด้านการแต่งกายของตัวละครในภาพยนตร์ที่ทุกคนล้วนมีตัวตนอยู่ในชีวิตจริงจากภาพถ่ายเก่าสีขาวดำ เพื่อนำมาใช้เป็นพื้นฐานของการออกแบบ จากนั้นจึงดีไซน์คอสตูมทุกชุดผ่านกระบวนการสร้างสรรค์ให้เป็นสี แล้วใช้แอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือถ่ายภาพแล้วย้อนกระบวนการทั้งหมดให้กลับกลายเป็นสีขาวดำอีกครั้ง ก่อนจะเลือกจำแนกแยกเอฟเฟกต์และคอนทราสต์ระหว่างสีของคอสตูมที่ทำปฏิกิริยากับความสว่างของแสงแบบขาวจัด ดำจัด ตามแบบภาพยนตร์โบราณ
กระบวนการสร้างสรรค์ที่หมุนวนเป็นวงกลมในภาพยนตร์เรื่องนี้จึงกลายเป็นความมหัศจรรย์ทางสายตาที่ชวนให้ผู้ชมได้หลบหลีกจากสีสันในชีวิตเพื่อเพลิดเพลินไปกับเรื่องราวของเหตุการณ์ในเรื่องอย่างใจจดใจจ่อ และแม้ว่าสีแดงรวมไปจนถึงเลือดเนื้อที่เป็นดังสัญลักษณ์ตัวแทนของความเป็นมนุษย์เช่นที่เราพบในภาพยนตร์ทุกเรื่องข้างต้นจะไม่สามารถปรากฏเป็นสีขึ้นมาได้อย่างชัดเจน แต่มันก็ยังคงแสดงตัวตนอย่างเด่นชัดในทุกอณูผ่านคาแรกเตอร์ของ Herman J. Mankiewicz หรือ Mank นักเขียนบท รวมไปจนถึงบทสนทนาเชือดเฉือนระหว่างเขาและตัวละครอื่นๆ โดยเฉพาะในฉากงานเลี้ยงชุดแฟนซีละครสัตว์ หลังเหตุการณ์การฆ่าตัวตายของเพื่อนนักเขียน ที่การปรากฏตัวขึ้นด้วยความแปลกแยกในชุดสูทเพียงคนเดียวของเขากลายเป็นความจริงใจอย่างที่สุดที่ทำให้เขาตัดสินใจใช้เรื่องราวในชีวิตจริง ที่ผสมผสานไปด้วยความหลอกลวงในวงการมายาเป็นดังต้นธารของงานเขียนบท ที่ในที่สุดจะได้กลายเป็นภาพยนตร์เรื่อง Citizen Kane
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- McGovern, Joe. (2021). ‘Emma.’ Costume Designer Explains How She Spun Clothes With the ‘Power of Sugared Macarons’. Retrieved from https://www.thewrap.com/emma-costume-designer-explains-how-she-spun-clothes-with-the-power-of-sugared-macarons/
- Potter, Courtney. (2020). Inside Mulan’s costume design with Bina Daigeler. Retrieved from https://d23.com/mulan-costume-designer-interview/
- Soo Hoo, Fawnia. (2021). ‘Pinocchio’ Costume Designer Mined His Own Collection of Vintage Clothes for the Film. Retrieved from https://www.hollywoodreporter.com/news/pinocchio-costume-designer-mined-his-own-collection-of-vintage-clothes-for-the-film
- Tangcay, Jazz. (2020). Costume Designer Trish Summerville Breaks Down the Looks of ‘Mank’. Retrieved from https://variety.com/2020/artisans/news/mank-trish-summerville-costumes-1234845396/