×

เลือกตั้ง 2566 มองอนาคตภาคต่อของการเมืองไทย ‘3 ป.-คนรุ่นใหม่-รัฐบาลใหม่’

22.12.2022
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • อนาคตการเมืองไทยหลังการเลือกตั้งช่วงกลางปีหน้า 2566 โจทย์ตัวเลือกระหว่างนายพลคนพี่หรือนายพลคนน้อง เพื่อบอกว่าประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงแค่ไหน คนไทยจะได้รัฐบาลหน้าใหม่หรือรัฐบาลหน้าเดิม
  • หากผลการเลือกตั้งที่ออกมากระบวนการถูกบิดเบือน มีโอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งและรุนแรงเทียบเท่าการชุมนุมเสื้อสี
  • เมื่อการเมืองเสื่อม ผู้นำไม่ได้รับการยอมรับ โดยเฉพาะปัญหาเชิงโครงสร้างแก้ยากยาวนาน 10 กว่าปี จะเหมือนสภาวะ Slow Burning Death ค่อยๆ ตายเหมือนกบ จะออกจากหม้อก็ทำไม่ได้ ถูกปิดฝาหม้อล็อก 3 ชั้น ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ จึงต้องกล้าทุบรัฐ กระจายอำนาจ
  • สังคมไทยยังระแวง กังวล และยังตั้งคำถามว่า ในปีหน้าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งไหม จะเกิดการรัฐประหารอีกครั้งหรือไม่

การเมืองไทยในช่วงปลายปี 2565 ซึ่งอยู่ในช่วงปลายรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หากไม่มีอุบัติเหตุทางการเมืองยุบสภา สภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันจะหมดวาระอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม 2566

 

ทำให้ในปี 2566 สถานการณ์ทางการเมืองยังต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่าประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรต่อไป ร่วมมองอดีตและทำนายอนาคตประเทศกับ รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ, รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี และ รศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย บทสรุปจากเวที ‘THE POWER GAME การเมืองไทยบนปากเหว’ ในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2022 กับโจทย์ใหญ่หลังการเลือกตั้งปี 2566

 

 

การเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง กับความไม่แน่นอน

 

“ปกติเวลามีการเลือกตั้งมันเป็นช่วงเวลาที่เป็นโอกาสแห่งการเปลี่ยนแปลง เป็นความหวัง แต่คนไทยยังมีความรู้สึกที่ว่าจะเอาอย่างไรกันแน่ จะเกิดอะไรขึ้น มีความไม่แน่นอนสูง แต่ไม่ใช่แค่คนไทยที่กังวล ยังมีนักลงทุนต่างชาติก็กังวลเยอะ โดยเฉพาะก่อนการเลือกตั้งมาขอให้ช่วยประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับการเมืองไทย แต่การเมืองไทยนั้นคาดการณ์ไม่ได้ ซึ่งนักธุรกิจ นักลงทุน นักลงทุนหลายสัญชาติ ทั้งญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา มีความเป็นห่วงกันมาก” รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการเลือกตั้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงกลางปีหน้า 2566

 

รศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันบุคคลเหล่านั้นก็มีความกังวลว่า แม้มีการเลือกตั้งไปแล้วแต่อาจจะไม่มีการเปลี่ยนผ่านอย่างราบรื่น แม้ในช่วงเลือกตั้งไม่ว่าประเทศไหนมักจะมีความไม่แน่นอนอยู่แล้ว แต่ความไม่แน่นอนในการเมืองไทยคือ ‘ใครจะชนะเลือกตั้ง’ โดยเฉพาะในช่วงที่โลกค่อนข้างผันผวนและเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

 

แต่เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาแล้ว หลังจากนั้นความแน่นอนที่จะต้องเกิดขึ้นคือ พรรคที่ชนะเลือกตั้งอันดับหนึ่งจะต้องได้จัดตั้งรัฐบาล แม้ว่าจะไม่เสมอไป แต่ส่วนใหญ่จะต้องได้จัดตั้งรัฐบาลก่อน ยิ่งถ้าชนะชัดเจน

 

หากผลการเลือกตั้งถูกบิดเบือน เตรียมรับแรงกระแทก ขัดแย้งเท่าสมัยเสื้อสี

 

รศ.ดร.ประจักษ์ ยังยกตัวอย่างความไม่แน่นอนของประเทศไทย 2 ประการ คือ

  1. พรรคที่ชนะเลือกตั้งอันดับหนึ่งอาจจะไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล และ
  2. ต่อให้จัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ตั้งไปแล้วอาจจะโดนล้มทีหลังได้อีก นับเป็นความไม่มีระเบียบกฎเกณฑ์ในการเมืองไทย

 

“เรายังต้องมีการพูดกันอยู่ว่าจะมีการรัฐประหารอยู่อีกหรือไม่ เป็นการสะท้อนความล้าหลังของการเมืองไทย” รศ.ดร.ประจักษ์กล่าว และยกตัวอย่างอีกว่า หากผลการเลือกตั้งออกมาชัดเจน แต่ว่ามีกระบวนการบิดผันไม่ให้เสียงของประชาชนถูกสะท้อนออกมา โดยที่เสียงส่วนใหญ่เลือกแบบหนึ่ง แต่รัฐบาลไม่ได้สะท้อนเสียงส่วนใหญ่ตรงนี้ จะมีโอกาสที่จะมีความรุนแรงมากกว่าเดิม

 

รศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวอีกว่า ความรุนแรงมากกว่าเดิมนั้นจะไม่ใช่แค่การชุมนุมของกลุ่มเด็ก เพราะเด็กมีประเด็นที่เขาออกมาประท้วงโดยเฉพาะ แต่ความรุนแรงครั้งนี้จะเทียบเท่ากับความขัดแย้งของประเทศไทยที่มีเรื่องสีเสื้อเช่นในอดีต ซึ่งมีมูลเหตุมาจากการเลือกตั้งไปแล้วแต่ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้อย่างราบรื่น มีกระบวนการใช้อภินิหารทางกฎหมายเข้ามาทำให้ได้รัฐบาลอีกแบบหนึ่งที่ไม่ได้สะท้อนเสียงประชาชนคนที่ใช้สิทธิ์เลือกตั้งไป แต่เสียงของพวกเขาถูกบิดเบือนไป

 

“ล่าสุดผมเพิ่งคุยกับนักธุรกิจญี่ปุ่น เขาถามคำถามซื่อๆ ว่า เท่าที่ทราบล่าสุด นายกฯ คนปัจจุบัน ศาลตัดสินว่าจะอยู่ในอำนาจได้อีกสองปี หากชนะเลือกตั้งกลับมา จะอยู่ในอำนาจได้สองปีใช่หรือไม่ แต่อายุรัฐบาลสี่ปีใช่หรือไม่ แล้วเหตุใดเขาจึงอยากเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ในเมื่อต่างรู้อยู่แล้วว่าอยู่ไม่ครบแบบนี้ ผมเองก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน”

 

 

การรัฐประหารทำประเทศล้าหลัง

 

รศ.ดร.ประจักษ์ อธิบายว่า จึงเป็นความไม่แน่นอนว่าเป็นความไม่เมกเซนส์ ไม่สมเหตุสมผล จนนำไปสู่สูตรนายกฯ คนละครึ่ง พี่น้อง (พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา) แบ่งกันคนละครึ่ง มันจึงกลับไปที่ผลจากการทำรัฐประหาร

 

ซึ่งทำให้เกิดผล 2 อย่าง คือทำไมต้องปฏิรูปรัฐหรือปฏิรูประบบราชการ เพราะภาครัฐของเรามันทั้งเทอะทะ ไร้ประสิทธิภาพ และฉุดรั้งการพัฒนาของประเทศ และเหตุที่ไม่สามารถปฏิรูปภาครัฐได้เพราะเกิดการทำรัฐประหารซ้ำถึง 2 ครั้งภายในระยะเวลาไม่นาน

 

การทำรัฐประหารนั้นได้รื้อฟื้นรัฐราชการรวมศูนย์กลับมา และใช้ระบบราชการเป็นฐานกำลัง ฐานสนับสนุน ในการทำงานและรักษาอำนาจ จึงไม่มีทางที่จะปฏิรูปรัฐได้ และเมื่อมีการทำรัฐประหารแล้ว มันส่งผลให้เราไปดึงพลังส่วนที่ปรับตัวกับโลกได้ช้าที่สุดและน้อยที่สุดมาบริหารประเทศ องค์กรนั้นก็คือ ‘กองทัพ’

 

“การรัฐประหารทำให้เราได้พลังที่ล้าหลังที่สุด ปรับตัวเข้ากับโลกได้ช้าที่สุด เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของโลกได้น้อยที่สุด แต่ขึ้นมากุมอำนาจของประเทศเบ็ดเสร็จ”

 

เมื่อเราไปเอาพลังส่วนนี้ที่ตามไม่ทันโลกมาบริหารประเทศ สิ่งที่ตามมาคือโฟกัสทุกอย่าง Priority การใช้อำนาจมันผิดเพี้ยนไปหมด สุดท้ายการปฏิรูปที่จะทำให้เสียอำนาจ เขาเลือกรักษาอำนาจก่อน ซึ่งถูกกำหนดจากโจทย์นี้ว่าจะรักษาอำนาจอย่างไร ไม่ใช่ทำเพื่อประเทศ

 

 

จะเป็นอย่างไรหากนายกฯ คนปัจจุบันอยากอยู่ต่ออีก

 

ส่วนคำถามที่ว่านายกฯ คนปัจจุบันที่ยังอยู่ต่อเพราะอยากสานต่องานที่ทำ รศ.ดร.ประจักษ์ ย้อนถามกลับว่า ปัจจุบันมีงานอะไรที่นายกฯ คนนี้ยังทำไม่สำเร็จ และตอบประชาชนได้ไหมว่าที่ยังไม่สำเร็จเพราะอะไร และเหตุใดจึงคิดว่าอยู่ต่อไปจะทำสำเร็จได้ดีกว่าเดิม อะไรคือวิสัยทัศน์ ตอบสังคมมา และอะไรคืออุปสรรค เพราะตอนอยู่ห้าปีแรกมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ไม่มีฝ่ายค้าน มีสภาปฏิรูป ล่าสุดมีกรรมการปฏิรูปหลายคนออกมาพูดสารภาพกับประชาชนว่าที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ได้ปฏิรูปอะไรเลย การปฏิรูปต่างๆ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

 

“8 ปีที่ผ่านมา 8 ปีที่ประเทศไทยเสียเวลาในโลกที่ความผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา เวลาเราแค่ยืนเฉยๆ เราก็ถอยหลังแล้ว เพราะทุกคนก้าวไปข้างหน้า จนถึงวันนี้ ในการเลือกตั้งปีหน้าคนไทยต้องเผชิญกับโจทย์เดิม เพราะผู้นำยังอยากรักษาอำนาจอยู่ แต่อยู่ในช่วงกำลังฝืน ด้วยเงื่อนไขจากรัฐธรรมนูญที่จำกัดแต่ก็อยากไปต่อ”

 

รศ.ดร.ประจักษ์ จึงมองว่าโจทย์เลือกตั้งมันล้าหลังมาก ด้วยออปชันที่ให้มาเลือกระหว่างนายพลคนพี่หรือนายพลคนน้อง สังคมไทยวนเวียนอยู่กับความไม่ลงรอยของนายพลสองคนที่สืบทอดอำนาจมาตั้งแต่การทำรัฐประหารเมื่อ 8 ปีที่แล้ว และมาวันนี้ตั้งพรรค ตอนนี้ทะเลาะกัน จึงแยกพรรคแล้วประชาชนผู้เลือกตั้งต้องมาเลือกว่าจะเอาของนายพล ก. หรือนายพล ข. เมื่อในโลกนี้กวาดสายตาไปไม่มีนายพลประเทศไหนมาบริหารประเทศ

 

อีกทั้งควรจะต้องก้าวข้ามอะไรที่พิสดาร ทำการเมืองให้เป็นปกติ มีการเมืองแบบสากลโลกยอมรับ และมีความแน่นอนให้คาดการณ์ได้บ้าง แข่งกันไป ตอนแข่งอาจไม่รู้ว่าใครชนะ แค่พอแข่งจบแล้วให้กติกาที่เป็นสากล ตอนนี้โลกผันผวนอย่างมาก ใครขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็เจอโจทย์ยาก ดังนั้นรัฐบาลที่จะบริหารประเทศได้ในโลกยุคปัจจุบันต้องมี 3 อย่าง

 

  1. มีเสถียรภาพ อยู่ยาว ครบเทอม
  2. มีประสิทธิภาพ ต้องเก่ง มีวิสัยทัศน์
  3. มีความชอบธรรม หากไม่มีไปต่อยาก ต้องเผชิญกับการต่อต้าน ถูกตั้งคำถาม

 

แต่ 3 ข้อข้างต้นนั้นในรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่สามารถให้เราได้ ไม่มีเสถียรภาพและมีประสิทธิภาพ ส่วนความชอบธรรมนั้นต่ำอยู่แล้ว เป็นการสืบเนื่องมาตั้งแต่การทำรัฐประหารและบทบาทของ กกต. และ ส.ว. ถ้ามามีส่วนในการตั้งรัฐบาล รัฐบาลนั้นก็ไม่มีความชอบธรรม ฉะนั้นจึงเป็นโจทย์ยาก ไม่ว่าใครจะได้เป็นรัฐบาล แต่ถ้าได้รัฐบาลที่ทั้งไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีเสถียรภาพ และขาดความชอบธรรมอีก รัฐบาลจะกลายเป็นภาระของประเทศแทนที่จะเป็นพลังที่ขับเคลื่อนและเป็นผู้นำประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า

 

 

Trans of Power โจทย์ใหญ่หลังเลือกตั้ง 2566

 

รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองอนาคตการเมืองไทยในปี 2566 ว่าสิ่งที่อันตรายที่สุดหลังการเลือกตั้งคือความสามารถในการถ่ายโอนอำนาจ Trans of Power ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งวิกฤตที่หนักมาก หากมองย้อนกลับไปในปี 2540 ประเทศไทยยังไม่เคยมีการถ่ายโอนอำนาจที่สมบูรณ์และสำเร็จเลยสักครั้ง

 

ในการเลือกตั้งปี 2544 ถึงการเลือกตั้งปี 2548 มีเพียงพรรคเดียว คือ พรรคไทยรักไทย เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนรัฐบาลให้อยู่ภายใต้พรรคการเมืองเดิม หลังจากนั้นพรรคไทยรักไทยก็ยุติลงจากการทำรัฐประหารในปี 2549

 

ในปี 2550 แม้จะเป็นรัฐบาลภายใต้พรรคพลังประชาชน เปลี่ยนมาเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ก็ยังไม่ถือว่าเป็นการถ่ายโอนที่สำเร็จสมบูรณ์ เนื่องจากมีความวุ่นวายเกิดขึ้นและการรัฐประหารในปี 2557

 

การเลือกตั้งในปี 2566 นับว่าเป็นโจทย์ใหญ่ของสังคมไทยอย่างมาก เนื่องจากในอดีตประเทศไทยแทบจะไม่มีการถ่ายโอนอำนาจที่สำเร็จสมบูรณ์ ที่สงบสันติ เป็นที่ยอมรับและมีความชอบธรรมเป็นระยะเวลานานแล้ว หากการเลือกตั้งครั้งหน้า พล.อ. ประยุทธ์ ยังเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ เท่ากับว่าไม่ต้องถ่ายโอนอำนาจใช่หรือไม่

 

 

ยอมการผูกขาดทางเศรษฐกิจ แต่ไม่ยอมการผูกขาดการเมือง

 

หากมองภายใต้กรอบในช่วงที่ผ่านมาพบว่า ในอดีตการเลือกตั้งในปี 2544 และการเลือกตั้งในปี 2548 จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญเอื้อสำหรับพรรคการเมืองใหญ่ ดังนั้นสิ่งที่เห็นก็คือ ‘รัฐบาลพรรคเดียว’

 

ถือเป็นสิ่งที่ชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมต้องการเปลี่ยนตรงนี้มากที่สุด ที่เห็นในความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 และรัฐธรรมนูญปี 2560 คือการยุติการผูกขาดอำนาจทางการเมืองโดยการสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่ คือไม่ต้องการให้มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวอีกต่อไป

 

“ชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมจะไม่ยอมให้มีการผูกขาดทางการเมือง แต่หากจะผูกขาดทางเศรษฐกิจนั้นยอมได้” รศ.ดร.สิริพรรณกล่าว

 

แต่การไม่ยอมให้มีการผูกขาดอำนาจทางการเมืองนั้นจะสร้างความไม่ชอบระบบเลือกตั้ง ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพอย่างมากต่อกลุ่มชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม คือจะทำให้พรรคการเมืองกระจัดกระจายและนำมาสู่พรรครัฐบาลผสม

 

สิ่งที่ชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมอยากเห็นการเมืองในอนาคตหากยังไม่สามารถเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีได้ คือต้อง Power Sharing ต้องการเห็นการต่อรอง ที่ไม่ต้องการให้พรรคใดพรรคหนึ่งเข้มแข็งจนเกินไปที่จะ Take Credit ทุกอย่าง

 

รศ.ดร.สิริพรรณ มองโจทย์ใหญ่ที่มันจะเกิดขึ้นในครั้งหน้าจะเป็นวิกฤต หากพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ นี่คืออีกโจทย์ใหญ่ของความชอบธรรมทางการเมืองที่จะเกิดขึ้น เช่นเหตุการณ์ในปี 2562 ที่พรรคการเมืองอันดับหนึ่งไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

 

แต่หากการเลือกตั้งครั้งนี้เกิดเหตุการณ์เหล่านั้นขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ไม่แน่ใจว่าการยอมรับจะเกิดขึ้นหรือเปล่า เพราะจากตัวเลขความชอบธรรมทางการเมือง ถ้าจะถูกฝังกลบตรงไปแล้ว หากไม่มีความชอบธรรมทางการเมืองจะทำให้การให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาต่างๆ มันจะเกิดขึ้นได้ยาก

 

ถามว่าในต่างประเทศมีความจำเป็นหรือไม่ที่พรรคอันดับหนึ่งจะต้องจัดตั้งรัฐบาล ก็ไม่จำเป็นเสมอไป เพียงแต่ว่าประเทศไทยไม่ได้มีการสร้างธรรมเนียมปฏิบัติหรือบรรทัดฐานที่ทุกฝ่ายต้องเคารพกติการ่วมกัน

 

สำหรับอีกปรากฏการณ์ที่น่าจับตาและอาจจะเป็นหลุมพรางอีก คือการไม่ยอมรับให้พรรคอันดับหนึ่งจัดตั้งรัฐบาลก่อน โดยการจะแย่งโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาล และก็ทราบว่าชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมมีเครื่องมือ คือ ส.ว. 250 เสียง เป็นการพยายามนำไปสู่การรักษาไว้ซึ่งการสืบทอดอำนาจ

 

รศ.ดร.สิริพรรณ กล่าวอีกว่า ตอนนี้มีความเป็นไปได้สูงที่พรรคฝ่ายค้านขณะนี้จะได้คะแนนเกินครึ่ง แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งต้องใช้คะแนนครึ่งหนึ่งของสภา คือ 375 เสียง ซึ่งมันจะเกิดการช่วงชิงช่วงของการฟอร์มรัฐบาลเหมือนปี 2562 ที่หลังการเลือกตั้งใช้เวลานานมากกว่าที่จะจัดตั้งรัฐบาล มีการเลือกตั้งตั้งแต่เดือนมีนาคม และสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในเดือนมิถุนายน

 

ส่วนการเลือกตั้งที่มีขึ้นในปีหน้านี้ รศ.ดร.สิริพรรณ กล่าวว่า เราจะเห็นการเกิดขึ้นของพรรครวมไทยสร้างชาติ และหากการเลือกตั้งครั้งหน้านี้ใช้เวลานานมากในการจัดตั้งรัฐบาลเหมือนครั้งที่แล้ว คนที่มีประสบการณ์จากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา จะเกิดเรื่องการยอมรับในตรงนี้ได้หรือไม่ 

 

แต่หากมองข้ามตรงนี้ไป อีกหนึ่งช็อตอันตรายที่จะสืบทอดหลังการใช้รัฐธรรมนูญ 2560 คือ 2 อย่าง ซึ่งประกอบไปด้วย

 

1. งบประมาณ ซึ่งมีการตั้งงบประมาณกลางไว้สูงมาก หากมองย้อนกลับไปในปี 2545 งบกลาง 1 แสนล้าน แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 5.9 แสนล้าน ซึ่งสูงขึ้นมาก หมายความว่าฝ่ายบริหารสามารถใช้งบนี้โดยไม่ต้องผ่านการตรวจสอบ

 

การพยายามหลบเลี่ยงกระบวนการทางรัฐสภา กระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้งบประมาณ งบกลางที่เรียกว่างบฉุกเฉินสามารถใช้ได้อย่างรวดเร็ว แม้แต่สำนักงานงบประมาณยังไม่ทราบเลยว่าใช้ได้อย่างไรเพราะเป็นงบฉุกเฉิน ซึ่งเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 18% หากย้อนกลับไปดูในปี 2564 จะพบว่างบประมาณฉุกเฉินสูง แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด แต่ก็เห็นว่างบประมาณก็ยังพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ นี่คือคำถามของการขาดความชอบธรรม 

 

2. การ By Pass การตรวจสอบถ่วงดุล อย่างสุราก้าวหน้า มีความพยายามไม่ใช้กระบวนการทางรัฐสภาในการทำงานตรวจสอบ โดยใช้การประกาศกระทรวง ไม่ว่าจะเป็นร่างกัญชา ร่างสุราก้าวหน้า หรือกรณีอนุญาตให้ต่างชาติสามารถซื้อที่ดินในประเทศไทยได้ ก็ประกาศผ่านกฎกระทรวง โดยประกาศผ่านกฎกระทรวงตัดหน้าพระราชบัญญัติที่จะมีการพิจารณาในรัฐสภาก่อน 1 วัน

 

รศ.ดร.สิริพรรณ กล่าวอีกว่า นี่จึงเป็นปรากฏการณ์ที่อันตรายและเป็นหลุมพรางหลังการเลือกตั้งในอนาคตว่าพฤติกรรมและปรากฏการณ์เหล่านี้ ความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ มันจะกลายเป็นการฉุดเราตกหลุมของการพัฒนาไปอีก

 

 

เศรษฐกิจไทยเหมือนภาวะต้มกบ ถูกปิดทับ 3 ชั้น 

 

รศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมมองอดีตและทำนายอนาคตประเทศหลังการเลือกตั้งใหญ่ว่า เศรษฐศาสตร์ทางการเมือง ของร้อนในปีหน้าทางเศรษฐกิจมันไม่ดีแน่ แต่เนื่องจากประเทศไทยผ่านการตกที่หนักมาแล้ว ทำให้ของเรามันจะพอโตขึ้นไปได้ และเมื่อเทียบชาวโลกก็ถือว่าดีกว่าแล้ว

 

ประเด็นของร้อนที่เป็นโจทย์ทางเศรษฐกิจที่กำลังรอเราอยู่ คือยังไม่มี เพราะแค่ของเดิมๆ ที่เผชิญอยู่ก็น่าเบื่อ และยังไม่ได้รับการแก้ไข ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี เป็นอย่างน้อย ขณะที่กับดักทางการเมืองคือประเด็นหลักที่ทำให้ปัญหาเชิงโครงสร้างไม่ได้รับการจัดการ

 

แต่ที่แย่ไปกว่านั้น คือ ‘รัฐ’ ในฐานะเครื่องมือแห่งการแก้ไขปัญหา ถูกปัญหาทางการเมืองตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้เสื่อมคุณภาพลง เมื่อรัฐเสื่อมลง ทั้งในเชิงองค์กร ระบบราชการจะแย่ลง ทั้งในเรื่องของระเบียบกติกา Rule of Law กระบวนการยุติธรรม ความน่าเชื่อถือ ความชอบธรรมของสถาบันทางการเมืองทั้งหลายก็เสื่อมด้วยเช่นกัน

 

เมื่อการเมืองเสื่อม ผู้นำไม่ได้รับการยอมรับหรือได้รับความยอมรับน้อยมาก มันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาไม่ได้ โดยเฉพาะปัญหาเชิงโครงสร้างที่แก้ยากโดยตัวมันเอง ซึ่งปัญหาเชิงโครงสร้างหลักๆ ที่เราเจอมา ที่เราก็รู้กันมา 10 กว่าปี หรือที่เรียกง่ายๆ ว่าภาวะต้มกบ คือภาวะ Slow Burning Death ที่ไม่ใช่ภาวะวิกฤตที่ระเบิดออกแบบต้มยำกุ้ง แต่เป็นภาวะที่มันค่อยๆ ตายเหมือนกบที่ถูกต้มไปเรื่อยๆ จะออกจากหม้อก็ทำไม่ได้

 

ประเทศไทยเจอภาวะแบบนี้มากว่า 10 ปี โดยไม่ได้รับการแก้ไข แล้วน้ำมันค่อยๆ ร้อน และถึงจุดที่มันกำลังจะเดือด นอกจากนั้นยังมีคนที่เอาฝาหม้อถูกล็อกไว้อีก 3 ชั้น เปรียบเหมือนภาวะสังคมที่เราแก่อย่างรวดเร็วและอายุยืนขึ้นอีกต่างหาก

 

อีกปัญหาคือภาวะเรื่องความเหลื่อมล้ำติดอันดับท็อปของโลก ซึ่งมีผลเสียทางการเมือง โดยการไม่เป็นธรรมเพราะทุนนิยมพวกพ้อง ทำให้คนรุ่นใหม่หนีออกนอกประเทศ แล้วประเทศของเราจะโตต่อไปอย่างไร และยังซ้ำเติมด้วยเมกะเทรนด์ยากๆ ของโลก

 

ขณะเดียวกัน ทุนประกันสังคมในอนาคตพังหมด ล้มละลายหมด ระบบสาธารณสุขของเราจะเอาเงินที่ไหนมารองรับคนแก่ ระบบสาธารณสุขของเราจะล่มสลายหรือไม่ นี่คือปัญหาที่เรากำลังรอเราอยู่ ปัญหามันยากโดยตัวมันเอง แล้วจะทำอย่างไรหากเราโตช้ากว่า 3%

 

โดยที่ 3% นี้เป็นก่อนวิกฤตโควิด เราต้องทำอย่างไรให้โตเร็วกว่า 3% จะทำให้กบมันกระโดดออกมาได้แล้วจะทำอย่างไร และเพราะเหตุใดที่เราโตช้าก็เพราะว่าเราสูญเสียภาวะในการแข่งขัน การที่จะทำให้เรากลับมาแข่งขันได้อีกทีหนึ่ง คือมีคนเคยพูดว่าเศรษฐกิจไทยหายออกไปจากเรดาร์แล้ว

 

การมีความขัดแย้งทางการเมืองก็ยากจะแย่ที่จะทำให้ประเทศไทยกลับมาแข่งขันได้ แต่จะ Identify ห่วงโซ่อุปทานแค่ไหน อย่างไร เราจะผลิตรถอีวีไปสู้กับใคร มันยากโดยตัวมันเองอยู่แล้ว

 

หากยังเจอรัฐบาลที่ขาดความชอบธรรมเข้าไปอีกยิ่งทำให้ยากยิ่งขึ้นไป และยังจะถูกต่อต้านอย่างหนักจากผู้เสียประโยชน์ ซึ่งการจะลดความเหลื่อมล้ำได้ คือต้องการสร้างนวัตกรรม สิ่งแรกที่ต้องทำในทางเศรษฐกิจ คือลดการผูกขาด สร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม เพราะการผูกขาดมันไปบล็อกนวัตกรรม

 

รศ.ดร.อภิชาต กล่าวว่า ใช่ว่าจะเอาเพียงการผูกขาดออกแล้วดี เพราะมันไม่ได้จบแค่นั้น ในทรรศนะผมนั้นต้องจัดงบประมาณใหม่ อาจจะต้องมีการเก็บภาษีมากขึ้น เพื่อให้ To Be Fair แก่ทุกคน เอามารองรับกับสังคมคนแก่ ทั้งชนชั้นมนุษย์ออฟฟิศซึ่งเป็นชนชั้นอาชีพพิเศษที่ต้องสูญเสียภาษีเงินเดือนที่ไม่สามารถหนีภาษีได้ก็จะออกมาต่อต้าน หากสังคมไม่สนับสนุน หมายความว่าแพ้แล้ว แพ้ไม่มีทางที่จะชนะได้ต่อให้มีการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยก็ยังไม่พอ

 

 

ต้องกล้าทุบรัฐ แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง กระจายอำนาจ

 

รศ.ดร.อภิชาต มองว่ารัฐจึงต้องปฏิรูปตัวรัฐเอง เพราะไม่มีทางเลยที่ระบบราชการที่เป็น 40% ของงบประมาณไปใช้กับบุคลากร และต่อให้มีเป้าหมายทางเศรษฐกิจที่สวยหรู คุณจะมองหาเอกลักษณ์โซ่อุปทานตัวไหนหากกลไกขับเคลื่อนไม่มี มันก็จะอยู่บนกระดาษต่อไป

 

สิ่งหนึ่งที่ผมจะนำเสนอเลยคือจะต้อง ‘ทุบรัฐ’ ส่วนกลางให้เล็กลงและกระจายอำนาจครั้งใหญ่ โดยการกระจายอำนาจเอาที่ระดับชั้นของข้าราชการส่วนภูมิภาคทั้งหมดทิ้งไป โดยให้เหลือแค่รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น มีการกระจายคน กระจายเงิน กระจายทรัพยากร ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศ และรัฐบาลส่วนกลางจะได้เล็กลง แล้วเราจะได้มองโฟกัสปัญหาระดับชาติ ให้มันแก้ปัญหาระดับโครงสร้าง

 

“ไม่ว่ารัฐบาลไหน ไม่ว่าใคร ไม่ว่าพรรคไหนที่จะมาเป็นรัฐบาล มันยากทั้งนั้น และยิ่งเป็นรัฐบาลที่ฝีมือไม่ดี ต่อให้เปลี่ยนคนก็ไม่มีประโยชน์หากไม่มีการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง เช่นทำให้รัฐมีประสิทธิผล และหากไม่เปลี่ยนคนผมก็ไปอยู่ต่างประเทศดีกว่า” รศ.ดร.อภิชาตกล่าว

 

ที่สำคัญที่สุด ระบบราชการเองต้องปรับบทบาทให้ลดลง การควบคุมการออกใบอนุญาตต่างๆ ต้องตัดออก ต้องทำตัวเป็น Facilitator ทำตัวเป็น Coordination เพราะปัจจุบันภาคสังคมมันใหญ่ขึ้นมาก ไม่เหมือนยุคในอดีตที่ยังเล็กอยู่ รัฐจึงต้องเป็นตัวนำในการขับเคลื่อนซึ่งปัญหายากๆ ที่ไม่มีทางที่จะทำได้เอง ต้องทำอย่างไร ให้ดึงการร่วมไม้ร่วมมือของสังคม ทั้ง NGO ภาคธุรกิจ ที่จะทำให้มี Agenda ร่วมกันออกไป นับเป็นความท้าทายอย่างมาก

 

 

ทำนายหน้าตาของรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง

 

รศ.ดร.สิริพรรณ แสดงทรรศนะถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า โดยหวังว่าจะเป็นผลผลิตของความพยายามที่จะปลดล็อกหลังการเลือกตั้งปี 2562 ในระบอบประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ โอกาสของการผลัดเปลี่ยนกันเป็นรัฐบาลยังเป็นสิ่งที่จำเป็น ที่จะทำให้ Politics Actor หรือผู้มีบทบาททางการเมืองอยากจะเคารพกติกา และตัวเองมีโอกาสที่จะเข้ามามีบทบาททางการเมือง

 

ดังนั้นมันจึงกลายเป็นโจทย์ใหญ่ ฝั่งอนุรักษ์นิยมพยายามจะเปลี่ยน มันจึงเป็นทางเลือก โดยที่การเลือกตั้งครั้งนี้นับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งแรกที่มีพรรคทหารจำนวน 2 พรรคพร้อมกัน โฉมหน้าของรัฐบาลครั้งหน้าหลังการเลือกตั้งจึงนับเป็นเสน่ห์อย่างยิ่ง

 

แต่อีกมุมหนึ่งมันเป็นระเบิดเวลาของความโกลาหลอลหม่าน เพราะเราจะเลือกระหว่างพรรคนายพลคนพี่หรือนายพลคนน้อง นายพลคนพี่จะเลือกไปจับมือกับพรรคใดก็ได้ ขณะที่นายพลคนน้องโอกาสที่จะจับมือกับพรรคฝ่ายค้านเป็นเรื่องที่ยาก

 

แต่คำถามก็คือว่า ระหว่างคนพี่และคนน้อง ใครคุมเสียง ส.ว. ได้มากกว่ากัน หากเรามองโฉมหน้าของรัฐบาลตอนนี้ เราจะมีความเป็นไปได้ 2 แบบ

 

  1. เพื่อไทยสามารถผนึกกำลังกับพรรคอื่นได้ คิดว่าจะไม่เกิดการแลนด์สไลด์ของพรรคการเมือง แต่จะเป็นการที่พรรคฝ่ายค้านมีโอกาสจะแลนด์สไลด์เป็นกลุ่มรวมกันประมาณ 265 ที่นั่ง
  2. โอกาสที่ พล.อ. ประยุทธ์ จะกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง พรรครวมไทยสร้างชาติต้องได้ 25 ที่นั่ง แต่พรรคนี้หากจะเป็นรัฐบาลโดยไม่ใช้เสียงของ ส.ว. นั้นเป็นไปได้น้อยมาก เลือกนายกรัฐมนตรีก่อนแล้วค่อยดึงพรรคบางส่วนเข้าร่วมรัฐบาล รวมถึงการใช้เทคนิคเดียวกับปี 2562

 

พล.อ. ประยุทธ์จะต้องฝ่าด่านแรงต้านไปให้ได้ และด้วยเงื่อนไขที่อยู่ต่อได้อีก 2 ปีนั้นจะอธิบายตัวเองกับประชาชนระหว่างการหาเสียงอย่างไร หรือจะมีการแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่การเป็นนายกรัฐมนตรีช่วงเวลาที่เหลืออยู่อีก 2 ปีนั้น ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนละครึ่งกับ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือกับ อนุทิน ชาญวีรกูล นั้นไม่สามารถถ่ายโอนกันได้ เพราะ ส.ว. ก็จะหมดอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว จึงทำให้การมีเสถียรภาพในรัฐบาลจะไม่เกิดขึ้น

 

ส่วนในปีหน้า คำถามที่ว่าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งใหญ่แน่นอนหรือไม่หลังรัฐบาลครบวาระในช่วงเดือนมีนาคมนั้น ทุกคนยังพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ตามกรอบกฎหมายต้องมีการเลือกตั้งแน่นอน และยังไม่มีมูลเหตุร้ายแรงที่จะทำให้มีการทำรัฐประหาร เพราะไม่มีการอธิบายที่จะรองรับความชอบธรรม และยังมีต้นทุนที่สูงทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมืองด้วย

 

รศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างมากที่คนในสังคมไทยยังหวาดระแวงและมีการตั้งคำถามเสมอว่าในปีหน้า 2566 ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ แม้ในทางกฎหมายในปีหน้าจะต้องมีการเลือกตั้งแน่นอน แต่หากที่สุดแล้วไม่มีการเลือกตั้งนั้นต้องมีการอธิบาย และต้องมีเหตุการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงจนประเทศไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ ส่วนจะมีการทำรัฐประหารอีกครั้ง หากประเมินตามความเป็นจริงนับว่าเป็นเรื่องที่ยาก

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X