×

ผู้ว่าแบงก์ชาติเตือน รับมือโลกการเงินที่กำลังเปลี่ยนไป ผู้เล่นใหม่จะเข้ามามากขึ้น แม้แต่ ธปท. ยังต้องปรับตัว

13.09.2021
  • LOADING...

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา ‘50 ปี เครือเนชั่น’ หัวข้อ ‘The Future of Financial System อนาคตโลกการเงิน’ ว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บริการทางการเงินถือว่ามีอัตราการเติบโตที่สูงมาก โดยเฉพาะช่องทางผ่านดิจิทัลแบงกิ้ง ที่ผู้คนหันมาใช้บริการจำนวนมาก จนเติบโตแบบก้าวกระโดด สะท้อนจากยอดการใช้บริการ e-Payment ที่เพิ่มขึ้นถึง 15 เท่าจากเมื่อ 10 ปีก่อน หรือการโอนเงินผ่านระบบอินเทอร์เน็ตซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 100 เท่าจากเมื่อ 10 ปีก่อน

 

ในระยะข้างหน้ามีความเป็นไปได้สูงที่จะมีผู้ให้บริการใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มเติม โดยเฉพาะผู้ให้บริการที่อยู่นอกเหนือจากธนาคารพาณิชย์หรือกองทุน ซึ่งอาจจะเป็นผู้ให้บริการจากต่างชาติที่ข้าม Channel มาสู่บริการใหม่ๆ และอาจจะเห็นการให้บริการแบบที่ไม่มีตัวกลางเข้ามาแข่งขันกันมากขึ้นด้วย 

 

เศรษฐพุฒิกล่าวว่า บริการดิจิทัลผ่านเทคโนโลยีทางการเงินจะช่วยให้คนเข้าถึงธุรกรรมการเงินได้สะดวกขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Anywhere Anytime หรือ Any Devices ซึ่งเป็นเทรนด์ที่น่าจะเห็นเร็วขึ้นในระยะข้างหน้า 

 

นอกจากนี้อีกเทรนด์ที่น่าจะมา ซึ่งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและต่อระบบการเงินไทยเราคือ รายงานการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (Climate Change) ที่ต่อไปจะส่งผลต่อการดำเนินนโยบายการค้า เช่น ในสหภาพยุโรป ที่การค้าระหว่างประเทศ (Cossborder Econism) เริ่มนำเรื่อง Climate Change มาเกี่ยวข้อง ดังนั้นทางข้างหน้าจากนี้ไป นอกจากเราจะเจอกับกระแสเทคโนโลยี แล้วยังเจอกระแส Green ด้วย  

 

สำหรับ Pain Point ของระบบการเงินไทยในปัจจุบันนั้น ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า คงเป็นเรื่องการเข้าถึงสินเชื่อหรือสภาพคล่องของรายย่อยและ SMEs ไทย ที่ยังเข้าถึงได้ค่อนข้างยาก แต่ในอนาคตอาจจะเห็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามาให้บริการและแก้ Pain Point เหล่านี้ และการโอนเงินข้ามประเทศที่ค่าโอนยังค่อนข้างสูง จึงคิดว่าในอนาคตน่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ 

 

อย่างไรก็ตาม Landscape ที่เปลี่ยนไป ธปท. ได้เตรียมมาตรการรองรับ คือ

1. ทำให้เกิดการใช้ข้อมูล (Data) ให้มีประสิทธิภาพและมีการใช้มากขึ้น เพื่อช่วยให้คนเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น การใช้สินเชื่อข้ามแพลตฟอร์มอื่นคือ ทำให้ใช้ข้อมูลได้สะดวกขึ้น ซึ่งน่าจะเริ่มได้ในระบบแบงก์ก่อน เช่น ในเรื่องสเตทเมนต์ (e-Statement) ที่จะให้ใช้ข้ามธนาคารได้ ขอข้อมูลได้มากพอ ให้ขอสินเชื่อได้สะดวกขึ้น

 

2.Open Competition หรือทำให้การแข่งขันที่เปิดกว้างขึ้น และเปิดให้ธุรกิจแบงก์ปรับตัวและแข่งขันได้ในอนาคต

 

3. Open Infrastructure สร้างโครงสร้างพื้นฐานให้ผู้เล่นเก่าและผู้เล่นหน้าใหม่สามารถเข้ามาต่อยอดนวัตกรรมและให้เกิดการแข่งขันได้ เช่น การเอาข้อมูล Invoice มาใช้ในการเข้าถึงสินเชื่อ ทั้งในแบงก์และนอนแบงก์ ที่เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ Pain Point ของไทย

 

4. Digital Currency เป็นสิ่งที่จะเตรียมเพื่อขยายความของเทรนด์ไปในอนาคตอีก 5-10 ปีข้างหน้า เพื่อให้ประเด็นต่างๆ ที่พูดมาไม่เป็นนามธรรมเกินไป เพราะผู้เล่นรายใหม่มาจากเซกเตอร์อื่นที่ไม่ใช่บริการทางการเงิน ซึ่งจะทำให้เส้นแบ่งของผู้เล่นด้วยกิจกรรมการบริการต่างๆ จะเริ่มเบลอๆ ไม่ชัดเจนจากเทคโนโลยี ที่นำ DeFi ที่เอาเข้ามา เริ่มสร้างความท้าทายให้ผู้กำกับดูแล ทำให้ไม่ชัดเจนว่าใครจะดูแลอะไร ดูแลอย่างไร จาก Digitalization ที่เปลี่ยนไปเร็ว 

 

อย่างไรก็ตาม แม้อนาคต ธปท. จะปรับตัวรับมือบริบทใหม่มากขึ้น แต่ยังคงแนะนำให้ประชาชนใช้ความระมัดระวังที่มากขึ้นหากจะเข้าลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เนื่องจากมีความผันผวนสูง การเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์เหล่านี้จึงควรใช้ความระมัดระวังที่มากขึ้นเป็นพิเศษ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X