×

เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ เครื่องหมายแห่งความเป็นพระราชา

โดย THE STANDARD TEAM
03.05.2019
  • LOADING...
เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์

เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์เป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระราชา ซึ่งพราหมณ์ผู้ทำพิธีจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในวันที่ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สำหรับพระราชพิธีครั้งนี้คือวันที่ 4 พฤษภาคม 2562

 

เป็นเครื่องแสดงว่าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินถูกต้องสมบูรณ์แล้ว ประกอบด้วย พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร วาลวิชนี (พัดและแส้) และฉลองพระบาท

 

เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์

 

พระมหาพิชัยมงกุฎ

เป็นพระมหาพิชัยมงกุฎทองคำลงยาราชาวดีประดับเพชร สูง 66 เซนติเมตร น้ำหนัก 7,300 กรัม สร้างขึ้นเป็นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ในรัชกาลที่ 1 ในครั้งนั้นยอดพระมหาพิชัยมงกุฎยังเป็นพุ่มข้าวบิณฑ์ประดับเพชรเม็ดเล็กๆ จนถึงรัชกาลที่ 4 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยไปเลือกสรรหาซื้อเพชรขนาดใหญ่มาจากประเทศอินเดียนำมาประดับยอดมงกุฎแทนพุ่มข้าวบิณฑ์ พระราชทานนามเพชรเม็ดนี้ว่า ‘พระมหาวิเชียรมณี’ เพชรเม็ดนี้มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.6 เซนติเมตร สูงประมาณ 1.4 เซนติเมตร

 

เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์

 

พระแสงขรรค์ชัยศรี

เป็นพระขรรค์โบราณ เชื่อกันว่าเป็นพระราชศาสตราคู่บ้านคู่เมืองเขมรสมัยพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ จมอยู่ในทะเลสาบนครเสียมราฐมาเป็นเวลานานเท่าใดไม่มีใครทราบ ชาวประมงไปทอดแหติดขึ้นมา องค์พระขรรค์ยังดี ไม่มีสนิมผุกร่อน เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (แบน) ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบองและนครเสียมราฐจึงได้มอบให้พระยาพระเขมรเชิญเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเมื่อปี 2327 จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ช่างทำด้ามพระขรรค์หุ้มทองคำลงยาราชาวดีลายเทพนม ทำฝักหุ้มทองคำลงยาราชาวดีประดับมณีขึ้นด้วยฝีมืออันประณีตงดงาม เสร็จแล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญเป็นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อปี 2328

        

พระแสงองค์นี้เฉพาะองค์ยาว 64.5 เซนติเมตร ที่สันตอนใกล้จะถึงด้ามคร่ำด้วยทองคำเป็นลวดลายงดงาม ด้ามพระขรรค์ยาว 25.4 เซนติเมตร สวมฝักแล้วยาว 101 เซนติเมตร หนัก 1,900 กรัม

 

เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์

 

ธารพระกร

เป็นไม้ชัยพฤกษ์ หุ้มทองคำตลอด ปลายสุดของธารพระกรทำเป็นซ่อมสามง่าม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงอธิบายไว้ว่า “ลักษณะก็เหมือนกับไม้เท้าพระภิกษุที่สำหรับใช้ในการชักมหาบังสุกุล”

       

ธารพระกรองค์นี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ตั้งแต่รัชกาลที่ 1

 

เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์

 

วาลวิชนี

ของเดิมที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 1 เป็นพัดใบตาลแบบที่เรียกกันว่าพัชนีฝักมะขาม ที่ใบตาลปิดทอง ขอบขลิบทองคำ ด้ามก็ทำด้วยทองคำ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงพระราชดำริว่าตามพระบาลีที่เรียกว่าวาลวิชนีนั้นไม่ควรจะเป็นพัดใบตาล ควรจะเป็นเครื่องโบกปัดที่ทำด้วยขนจามรี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระแส้จามรีขึ้นเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ภายหลังใช้ขนหางช้างเผือกแทน เรียกว่าพระแส้ขนหางช้างเผือก แต่ก็ไม่อาจที่จะเลิกใช้พัดใบตาลของเดิมได้ จึงโปรดให้ใช้ควบคู่กันโดยเรียกของสองสิ่งรวมกันว่าวาลวิชนี

 

เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์

 

ฉลองพระบาท

เป็นฉลองพระบาทเชิงงอนทำด้วยทองคำยาราชาวดีฝังเพชร มีน้ำหนัก 650 กรัม สร้างเป็นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระมหาราชครูวามหามุนีเป็นผู้สวมถวาย

 

ภาพ: หนังสือประมวลองค์ความรู้ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก กระทรวงวัฒนธรรม

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X