ภาพกำปั้นของ ฟารุค โคกา ประธานสโมสรฟุตบอลอังคารากูคู ที่เข้าเต็มใบหน้าของ ฮาลิล อูมุต เมเลอร์ ผู้ตัดสินในเกมลูกหนังตุรกี เป็นภาพที่สร้างความตกใจให้แก่ประชากรโลกลูกหนังเป็นอย่างมาก
เพราะการใช้ความรุนแรงกับผู้ตัดสิน โดยเฉพาะในลีกฟุตบอลยุโรปไม่ใช่เรื่องที่พบเจอได้บ่อยนัก (อาจจะยกเว้นสำหรับประเทศไทยที่เราเห็นภาพแบบนี้กันจนชินตา โดยเฉพาะรายการฟุตบอลในลีกระดับรอง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าภูมิใจ…)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เหตุการณ์ดังกล่าวยิ่งทำให้แคมเปญ ‘Respect’ ที่หวังให้ทุกฝ่ายเคารพการตัดสินสั่นคลอนอย่างมากด้วยเช่นกัน
กระนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในตุรกีความจริงแล้วเป็นเรื่องที่มีแนวโน้มจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงในลักษณะนี้มานานแล้ว และปัญหานั้นไม่ได้อยู่ที่ผู้ตัดสิน
มันอยู่ในวัฒนธรรมลูกหนังที่กำลังเป็นพิษในดินแดนที่ทำขนมหวานได้หน้าตาดีที่สุดชาติหนึ่งของโลก
ย้อนกลับไปเหตุการณ์ในเกมเมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา เรื่องนั้นเกิดขึ้นในช่วงหลังผู้ตัดสินเมเลอร์ได้เป่านกหวีดจบการแข่งขันที่อังคารากูคูเสมอกับริเซสปอร์ไป 1-1
ฟารุค โคกา ประธานสโมสรของทีมเจ้าบ้านที่ไม่พอใจการตัดสินของผู้ตัดสินวัย 37 ปี วิ่งรุดเข้าไปในสนามก่อนที่จะประเคนกำปั้นใส่เมเลอร์เต็มๆ จนร่วงลงไปกองกับพื้น ก่อนที่จะมีบาทาของใครสักคนที่ผสมโรงหวดซ้ำผู้ตัดสินที่นอนอยู่ที่พื้นอีกหลายครั้ง
เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความตกตะลึงอย่างมาก ไม่เพียงแต่วงการฟุตบอลตุรกี แต่รวมถึงวงการฟุตบอลทั่วโลกด้วย
เมเลอร์ได้ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษา ซึ่งมีการเปิดเผยว่าได้รับบาดเจ็บถึงขั้นกระดูกบนใบหน้าแตก
ขณะที่โคกา ผู้ยืนยันว่าความจริงตั้งใจแค่จะลงไปด่ากับ ‘ถ่มน้ำลายใส่หน้า’ ของเมเลอร์ (มันทำได้ที่ไหนล่ะ!) ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวทันทีก่อนที่จะประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานสโมสร
จากปากคำของผู้ตัดสินที่กลายเป็นเหยื่อ เมเลอร์บอกแบบนี้ครับ “ฟารุค โคกา ต่อยเข้าที่ใต้ตาซ้ายของผม (ซึ่งปูดบวมอย่างเห็นได้ชัด) ผมล้มลงไปที่พื้น แล้วผมก็โดนคนอื่นเตะที่ใบหน้าและตามร่างกายของผมอีกหลายครั้ง”
เท่านั้นไม่พอ เมเลอร์ยังบอกว่าโคกาไม่ได้แค่ต่อย แต่ข่มขู่ถึงขั้นหมายเอาชีวิต
เรื่องนี้คือเรื่องที่น่ากลัวและน่ากังวล เพราะคนอย่างโคกานั้นไม่ใช่คนธรรมดาที่มาเป็นประธานสโมสรฟุตบอล หากแต่เป็นอดีตนักการเมืองที่เป็นเพื่อนเก่าของ เรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ด้วย และเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของตุรกีในระหว่างปี 2002-2011
นอกจากโคกาจะเคยเช่าบ้านให้เออร์โดกันอยู่อาศัยในอังการา ก็ยังเคยช่วยชีวิตของประธานาธิบดีคนนี้ด้วยเมื่อปี 2006 ในวันที่เออร์โดกันหมดสติอยู่ในรถที่ล็อกจากข้างใน เขาเป็นคนที่ทุบกระจกรถช่วยเพื่อนเอาไว้ได้
เพียงแต่ปกติแล้วโคกาเป็นคนที่เก็บเนื้อเก็บตัวไม่ค่อยเป็นข่าวมากนัก มาเริ่มเป็นที่รู้จักก็หลังจากที่เข้าสู่วงการฟุตบอลนั่นเอง
ความพีคคือ ในเดือนตุลาคมปีกลายเขาเพิ่งได้รับรางวัลแฟร์เพลย์ของซูเปอร์ลีก ตุรกี ด้วย
คนที่เคยบอกว่า “ผมจะพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้สปิริตของแฟร์เพลย์อยู่ต่อไป” ทำไมถึงกระทำการอะไรที่รุนแรงและหุนหันพลันแล่นแบบนี้?
บางทีเราต้องย้อนกลับไปมองในเหตุการณ์ในสนาม
ในเกมที่อังคารากูคูพบกับริเซสปอร์นั้น มีเหตุการณ์ที่ผู้ตัดสินทำหน้าที่ได้ ‘ค้านความรู้สึก’ ของทีมเจ้าบ้านอยู่
เริ่มตั้งแต่การปฏิเสธประตูในช่วงต้นเกมของอังคารากูคู และมาแจก 2 ใบเหลืองให้กับ อาลี โซเว ซึ่งหนึ่งในใบเหลืองนั้นเป็นจังหวะการผลักกันที่ไม่ได้ดูรุนแรงอะไรมาก เรียกว่าค่อนข้างเบาเลยทีเดียว
ตรงนี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้โคกาฟิวส์ขาด บันดาลโทสะใส่เมเลอร์แบบนั้น
แต่ถามว่าเมเลอร์ ซึ่งเป็นผู้ตัดสินในระดับ Elite ของ UEFA ทำหน้าที่ผิดพลาดขนาดนั้นไหม? ในวงการฟุตบอลตุรกีเองก็มองกันว่าไม่ ทั้งสองเหตุการณ์เป็นการตัดสินที่ถูกต้อง แม้ว่าในการแจกสองใบเหลืองอาจจะดูเป็นจังหวะที่เบา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นการตัดสินที่ผิดพลาดแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี โทสะของโคกาที่บันดาลใส่เมเลอร์นั้น เป็นสิ่งที่คนในวงการฟุตบอลตุรกีเองก็หวั่นใจมานานแล้วว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น
ความหวั่นใจนั้นมาจากกระแสวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของผู้ตัดสิน โดยเฉพาะ VAR ในเกมลีกตุรกีรุนแรงมากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
มีการจุดประเด็นเรื่อง ‘ทฤษฎีการสมคบคิด’ ไปจนถึง ‘บอลมีงาน’ ในการแข่งหลายนัด นำไปสู่การร้องเรียนการทำหน้าที่ของผู้ตัดสินอย่างมากมาย
ที่แย่คือการที่วัฒนธรรมฟุตบอลตุรกีนั้นไม่ได้หวานเหมือนขนมบักลาวา แต่ร้อนแรงยิ่งกว่าไฟเออร์ เพราะไม่ว่าจะก่อนหรือหลังเกม บรรดาประธานสโมสรจะให้สัมภาษณ์กับสื่อโดยพุ่งประเด็นโจมตีการทำหน้าที่ของผู้ตัดสิน ไม่ว่าจะเป็นผู้ตัดสินในสนาม หรือผู้ตัดสิน VAR ว่ามีส่วนต่อผลการแข่งขันที่ไม่เป็นใจ
โดยที่การออกมาให้สัมภาษณ์ในลักษณะนี้ ในแง่หนึ่งคือเรื่องของความเป็นประเทศตุรกีที่ผู้คนไม่ชอบความพ่ายแพ้โดยสายเลือด
เรียกว่าเป็น ‘ผู้แพ้ที่ไม่ดี’ ก็ได้
มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของซูเปอร์ลีก ตุรกี เปิดเผยกับ The Times สื่อจากอังกฤษ ว่า เมื่อแพ้ใครขึ้นมา แทนที่จะยอมรับหรือโทษว่าเป็นความผิดตัวเอง สิ่งที่คนตุรกีทำคือการโทษคนอื่นเอาไว้ก่อน ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นในเกมฟุตบอล หากทีมแพ้ขึ้นมา คนที่ผิดไม่ใช่ผู้เล่นหรือผู้จัดการทีม แต่เป็นผู้ตัดสินที่กลายเป็นเป้าในการโจมตีแทน
อีกด้านหนึ่งการ ‘ออกโรง’ ของบรรดาประธานสโมสรนั้น ยิ่งมีแอ็กชันมากเท่าไร ก็หมายถึงกระแสความนิยมในตัวที่เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น
ตรงนี้สำคัญ เพราะในวงการฟุตบอลตุรกี สโมสรเป็นระบบสมาชิกและตำแหน่งประธานจะต้องมาจากการเลือกตั้ง การเทคแอ็กชันของประธานสโมสรจึงเป็นการหาคะแนนนิยมในทางอ้อมของพวกเขา โดยอาศัยอารมณ์และความรู้สึกของแฟนบอลเป็นตัวขับเคลื่อน
อย่างไรก็ดี ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บางทีอาจเป็นจุดที่วงการฟุตบอลตุรกีอาจจะต้องทบทวนตัวเองครั้งใหญ่
การสั่งพักการแข่งขันทุกรายการอย่างไม่มีกำหนดถือเป็นท่าทีที่ถูกต้องแล้ว เพราะฝืนให้แข่งต่อไปก็เหมือนการกวนน้ำให้ขุ่น
แต่จะให้ดีก็ควรทบทวนทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่มาตรการรักษาความปลอดภัย เรื่องของการเคารพผู้ตัดสิน และความโปร่งใสของผู้ตัดสิน
ไปจนถึงเรื่องของสปิริตและน้ำใจนักกีฬา
อย่าลืมว่าตุรกีหวังจะได้เป็นเจ้าภาพร่วมฟุตบอลยูโร 2032 ภาพเหตุการณ์ที่ออกไปแบบนี้ไม่ได้ช่วยให้ภาพลักษณ์ของประเทศ ซึ่งมีภาพจำของความรุนแรงมาตลอด (ไม่มีใครลืมแฟนบอลลีดส์ที่ถูกแทงตายในตุรกี) ดูดีขึ้นเลยในสายตาของโลกภายนอก
และเหนือสิ่งอื่นใด ถ้าปล่อยให้ทุกอย่างมันดำเนินต่อไปแบบนี้ สักวันมันอาจจะไม่ได้จบแค่กำปั้น แต่มันอาจหมายถึงชีวิตของใครสักคนที่ดับสูญคาสนามฟุตบอล
วันนั้นจะเป็นวันที่เกมฟุตบอลตุรกีดำดิ่งสู่ความมืดมนอนธการ และไม่มีวันกลับมาเหมือนเดิมได้อีกเลย
อ้างอิง: