ในปี 1910 เสียงเพรียกหา ‘The Great White Hope’ ดังกระหึ่มทั่วแผ่นดินอเมริกา
“ใครก็ได้ช่วยเอากำปั้นมายัดใส่ปากไอ้มืดนี่ที” คือสิ่งที่เหล่าแฟนมวยคนขาวบนแผ่นดินที่พวกเขาเชื่อว่าเต็มไปด้วยเสรีภาพต้องการเห็น ด้วยความรู้สึกชิงชังต่อแชมป์โลกคนดำอย่าง แจ็ค จอห์นสัน คนที่ทำให้พวกเขารู้สึกอดสูต่อการใช้ชีวิต
จอห์นสัน เป็นนักมวยรุ่นเฮฟวีเวตเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกันคนแรกที่ได้ครองเข็มขัดแชมป์โลก หลังจากที่เอาชนะ ทอมมี เบิร์นส์ โคตรมวยคนขาวชาวแคนาดาได้ในการชกที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย แม้ว่าจะเป็นการชกที่ไม่ครบยกก็ตาม
โดยในการชกครั้งนั้น เบิร์นส์ผู้ซึ่งปฏิเสธจะรับคำท้าของแจ็คสันมาตลอด แต่สุดท้ายยอมรับคำท้า (ท่ามกลางข่าวว่าเขาได้เงินถึง 30,000 ดอลลาร์สหรัฐในข้อเสนอให้ขึ้นชกกับผู้ท้าชิงคนดำ) ก่อนจะมีการชกเกิดขึ้นในวันที่ 26 ธันวาคม 1908 – 6 ปีเต็มหลังจากที่ โจ แกนส์ นักมวยรุ่นไลต์เวตที่เก่งที่สุดตลอดกาลกลายเป็นนักชกเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกันคนแรกที่คว้าแชมป์โลกมาครองได้
เหตุผลที่เบิร์นส์ปฏิเสธการชกมาโดยตลอดนั้นเป็นเพราะในยุคสมัยนั้นคนขาวและคนดำไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเสมอภาค แม้กระทั่งในเกมกีฬาอย่างมวย เข็มขัดแชมป์ก็แยกออกเป็นเข็มขัดของคนขาวและเข็มขัดของคนดำ (World Colored Championship) ไม่ให้ใช้ร่วมกัน
แต่แจ็คสันนั้นพยายามอย่างยิ่งที่จะพิชิตเข็มขัดแชมป์ของคนขาวให้ได้ และทุกครั้งที่เขาร้องขอโอกาสก็จะถูกปฏิเสธทุกครั้ง
ไฟต์กับเบิร์นส์จึงเป็นครั้งแรกที่แจ็คสันได้โอกาสในการท้าชิงแชมป์จากคนขาว และเขาก็พิชิตแชมป์โลกชาวแคนาดาได้ แม้ว่าจะมีปมค้างคาในเรื่องของการยุติการชกที่ไม่ใช่กรรมการบนเวที แต่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่บุกมาสั่งห้ามทำการแข่งขัน
การชกถูกระงับในยกที่ 14 ก่อนที่กรรมการ ฮิวจ์ แม็คอินทอช จะตัดสินมอบเข็มขัดแชมป์โลกให้แก่จอห์นสันได้กลายเป็นคนดำคนแรกที่ครองตำแหน่งแชมป์โลกรุ่นเฮฟวีเวต
ชัยชนะครั้งนี้ยิ่งเป็นการกรีดรอยแผลในใจระหว่างคนสองผิวสีให้ลึกลงไปอีกถึงเนื้อในสุด
นั่นคือที่มาของเสียงเพรียกหา The Great White Hope หรือคนขาวผู้เป็นความหวังที่ยิ่งใหญ่ที่จะมาทวงศักดิ์ศรีของพวกเขาคืน
บทความใน The New York Times บรรยายถึงเรื่องนี้ว่าทุกครั้งที่คนดำชนะ พี่น้องนับพันนับหมื่นของพวกเขาที่ถูกละเลยก็จะตีความแบบผิดๆ ว่าชัยชนะมันได้ทำให้พวกเขากลับมามีความเสมอภาคกับเพื่อนบ้านที่เป็นคนขาว
The Great White Hope กลายเป็นมหกรรมสำหรับผู้จัดการชกมวยที่หานักชกมาเพื่อล้มแชมป์โลกคนดำที่ถูกจดจำว่า ‘The Unforgiveable Blackness’ หรือคนดำที่ไม่สามารถให้อภัยได้
แต่ไม่ว่าจะกี่คนที่ดาหน้าขึ้นเวทีมาก็เสร็จพลังหมัดของแจ็คสันหมด
มวยฝีมือดีและใจกว้างอย่าง โทนี รอสส์, อัล คอฟแมน โดนสอยร่วงไม่มีปัญหา และแม้แต่ สแตนลีย์ เคตเชล แชมป์รุ่นมิดเดิลเวตในขณะนั้นที่ขอข้ามรุ่นขึ้นมาชกด้วยหัวจิตหัวใจที่ห้าวหาญก็ต้องกลับบ้านไปแบบฟันไม่ครบซี่
ที่บอกว่าฟันไม่ครบซี่เพราะในตอนแรกหมัดขวาของเคตเชลส่งจอห์นสันร่วงลงไปกองได้แล้ว แต่มันเหมือนเป็นการกระตุกหนวดเสือ หลังตั้งหลักยืนได้ แชมป์เฮฟวีเวตรีบปรี่เข้าไปหาเคตเชลทันทีก่อนจะซัดหมัดเดียวจอด
จอห์นสันใช้หมัดอัปเปอร์คัตอันเป็นไม้ตายของเขาสอยเข้าเต็มคางของเคตเชลจนทำให้ฟันหน้าหลุดออกมาติดที่นวม ก่อนที่แชมป์จะต้องแคะเอาฟันที่ติดออกมาทิ้งไป
ยิ่งจอห์นสันชนะคนขาวมากขึ้นเท่าไร คนก็เรียกหา The Great White Hope มากขึ้นเท่านั้น
จนกระทั่งนักชกในตำนานอย่าง เจมส์ เจ. เจฟฟรีส์ ผู้ซึ่งเคยปฏิเสธคำท้าของจอห์นสันมาหลายต่อหลายครั้งในช่วงที่ยังครองเข็มขัดแชมป์โลกอยู่ และตัดสินใจแขวนนวมไปเมื่อปี 1906 ตกปากรับคำที่จะนำความหวังของคนขาวทั่วแผ่นดินอเมริกามาตะบันใส่หน้าของจอห์นสันและทวงเข็มขัดแชมป์โลกกลับคืนมาให้ได้
ในความรู้สึกของแฟนมวยแล้ว เจฟฟรีส์คือนักมวยรุ่นเฮฟวีเวตที่เก่งกาจที่สุด แม้กระทั่งเบิร์นส์เองก็เคยกล่าวหลังความพ่ายแพ้ต่อจอห์นสันว่านักชกผิวดำคนนี้คือนักมวยที่เก่งที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ตลอดกาลรองจากเจฟฟรีส์ และเป็นคนเดียวที่แฟนมวยคนขาวเชื่อว่าจะเป็นคนที่ทวงทั้งเข็มขัดและศักดิ์ศรีกลับคืนมาจากคนดำได้
เหตุผลเพราะก่อนจะแขวนนวมไป สถิติของเจฟฟรีส์ เจ้าของสมญา ‘The Boliermaker’ ไม่เคยแพ้ใครบนสังเวียนผืนผ้าใบ และถ้าจะมีใครสักคนที่จะเป็นความหวังที่ยิ่งใหญ่ของคนขาวได้ก็ควรจะต้องเป็นเขา
ศึกครั้งนั้นจึงถูกเรียกขานกันว่า’The Fight of the Century’ หรือศึกมวยแห่งศตวรรษ
คอกำปั้นทุกคนไม่ว่าจะผิวสีอะไรก็ตามต่างเดินทางมาดูการชกครั้งนี้อย่างหนาตา เพราะมันคือ ‘วาระแห่งชาติพันธุ์’
เจฟฟรีส์ซึ่งถูกตามตื๊ออยู่หลายเดือนกว่าจะยอมกลับมาขึ้นชก เพราะได้รับเงินค่าตัวถึง 120,000 ดอลลาร์สหรัฐ (และการันตีอีก 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ) ประกาศเมื่อครั้งรับข้อเสนอว่า “ผมจะขึ้นชกครั้งนี้ด้วยเป้าหมายเดียวคือการพิสูจน์ให้เห็นว่าคนขาวนั้นดีกว่าพวกนิโกร”
ก่อนจะกล่าวครั้งสุดท้ายก่อนขึ้นชกว่า “นี่เป็นความตั้งใจของผมที่จะบุกเข้าใส่คู่ต่อสู้ของผม และจัดการซัดเขาให้ร่วงให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”
ขณะที่จอห์นสันกล่าวแค่ “ขอให้คนที่เก่งที่สุดเป็นผู้ชนะ”
สังเวียนถูกจัดขึ้นที่เมืองเรโน รัฐเนวาดา ในวันที่ 4 กรกฎาคม หรือวันชาติสหรัฐอเมริกา ท่ามกลางผู้ชมที่มากันมืดฟ้ามัวดินกว่า 20,000 คน โดยที่ตั๋วริงไซด์นั้นราคาสูงถึง 50 ดอลลาร์สหรัฐ และมีการปั่นราคาสำหรับพ่อค้าตั๋วผีไปถึง 125 ดอลลาร์สหรัฐ ไม่นับผู้ชมที่ไม่สามารถจะหาตั๋วเข้าชมได้อีกนับพันที่ต้องพยายามหากำแพงที่ใกล้ที่สุดเพื่อจะปีนชมการชก
ด้วยอุณหภูมิที่ร้อนจัดจากแสงแดดที่แผดเผาในวันนั้นซึ่งสูงถึง 110 องศาฟาเรนไฮต์ ด้วยจำนวนผู้ชมล้นทะลักและด้วยกระแสความขัดแย้งอย่างรุนแรงก่อนการชก ทำให้ผู้จัดต้องสั่งห้ามไม่ให้ใครพกปืนเข้ามา รวมถึงงดการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย แม้กระทั่งแอปเปิ้ลเองก็ถูกห้ามจำหน่าย เพราะอาจจะใช้เป็นอาวุธขว้างปาใส่กันได้
ในสายตาสื่อมวลชน เจฟฟรีส์เป็นต่ออยู่ โดยอัตราต่อรองสำหรับเซียนพนันก่อนไฟต์นั้นอยู่ที่ 10-7 โดยที่การชกนั้นกำหนดยกละ 3 นาที และมีเวลารวมในการชกทั้งหมด 45 นาที
แต่ในการชกจริงแล้วมันไม่ได้ถึงกับตื่นเต้นสมการรอคอยเลยแม้แต่น้อย
The Fight of the Century กลายเป็นการชกที่ดูไม่สมศักดิ์ศรีอย่างยิ่ง เพราะแม้เจฟฟรีส์จะเคยเป็นโคตรมวย แต่การเรื้อสังเวียนไปเป็นชาวไร่นานถึง 6 ปี และวัยที่เพิ่มพูนไปถึง 35 ปี ทำให้เขาแทบไม่เหลือสภาพแม้แต่จะสร้างความบอบช้ำให้แก่จอห์นสันที่ร่างกายและพละกำลังยังสดเหมือนกระทิงถึก แถมฝีมือก็ถูกลับมาจนเฉียบคมราวกับใบมีดจากฝีมือของช่างตีมีดชั้นเอก
สิ่งที่ดีที่สุดที่เจฟฟรีส์ทำได้คือการยื้อการชกไปถึงยกที่ 15 ก่อนที่ฝ่ายของเขาจะตัดสินใจโยนผ้าเพื่อขอยอมแพ้ ซึ่งเป็นการพ่ายแพ้ครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตของเขา
สำหรับจอห์นสัน เขารู้อยู่แล้วว่าไฟต์นี้อยู่ในมือเขาตั้งแต่ยกที่ 4 ที่หมัดอัปเปอร์คัตทีเด็ดของเขาเข้าที่ปลายคางของโคตรมวยที่เคยบ่ายเบี่ยงจะขึ้นเวทีกับเขามาโดยตลอด “ผมรู้ทันทีว่าเรือเก่าลำนี้กำลังรั่วแล้ว”
อย่างไรก็ดี จอห์นสันไม่ได้มีความตั้งใจจะห้ำหั่นด้วยความโกรธเกลียด ในบันทึกของ จอห์น แอล. ซัลลิแวน โปรโมเตอร์ที่ดูแลแชมป์โลกคนดำมาตลอดเล่าว่าเขาสู้เหมือนที่เคยสู้มาโดยตลอด คือการสู้อย่างลูกผู้ชาย สู้อย่างยุติธรรม และมีน้ำใจนักกีฬา ซึ่งเป็นสไตล์ของนักชกล่ารางวัลที่ผู้คนมอบหัวใจให้
ขณะที่นักชกในตำนานผู้ปราชัยเองก็ยอมรับในความพ่ายแพ้โดยดุษณี
“ต่อให้เป็นช่วงที่ผมร่างกายดีที่สุด ผมก็คงเอาชนะเขาไม่ได้ ผมต่อยเขาไม่ได้เลย ต่อให้ผมต่อยอีกเป็นพันปี ผมก็ไล่ตามเขาไม่ได้”
แต่แม้บนสังเวียนจะจบลงอย่างนักกีฬา ด้านล่างเวทีกลับเกิดสังเวียนใหม่ขึ้นมา
จากเท็กซัสและโคโลราโด ไปจนถึงนิวยอร์กและวอชิงตัน เหล่าคนขาวที่ผิดหวังในความปราชัยของเจฟฟรีส์ได้เปิดฉากตะลุมบอนใส่เหล่าคนดำที่ภูมิใจกับชัยชนะของจอห์นสันและเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ จนกลายเป็นการจลาจลไปทั่วอเมริกากว่า 50 เมืองใน 25 รัฐ
มีผู้คนอย่างน้อย 20 คนที่เสียชีวิตจากการจลาจลหลังศึกแห่งศตวรรษในวันนั้น
และเป็นเรื่องน่าเศร้าที่แม้เวลาจะผ่านมา 110 ปี สงครามชาติพันธุ์ของคนสองผิวสีบนแผ่นดินแห่งเสรีภาพก็ยังคงดำเนินต่อไปเหมือนเก่า
ไม่มีอะไรเปลี่ยน
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- https://en.wikipedia.org/wiki/Jack_Johnson_(boxer)
- https://www.npr.org/templates/story/story.php?storyId=128245468
- https://able2know.org/topic/196794-1
- https://www.npr.org/templates/story/story.php?storyId=4284222
- https://www.npr.org/sections/thetwo-way/2018/05/24/614114966/legendary-boxer-jack-johnson-gets-pardon-105-years-after-baseless-conviction
- เจฟฟรีส์ต้องลดน้ำหนักลงมากกว่า 100 ปอนด์เพื่อจะกลับมาชกกับจอห์นสัน โดยก่อนการขึ้นชก เขาเก็บตัวเงียบมาโดยตลอด และเพิ่งจะเปิดเผยตัวก่อนไฟต์แค่วันเดียวเท่านั้น
- สภาพของเจฟฟรีส์นั้น ทางด้าน จอห์น แอล. ซัลลิแวน สุดยอดโปรโมเตอร์มวยยุคนั้นถึงกับบอกว่า “จอห์นสันจะเอาชนะไม่ได้ก็ต่อเมื่อเขาเกิดไม่เป็นมวยขึ้นมาบนสังเวียนเท่านั้น”
- ทีมงานของเจฟฟรีส์ตัดสินใจโยนผ้ายอมแพ้ เพราะไม่ต้องการให้เขาต้องมีสถิติถูกน็อกเอาต์ หลังจากที่โดนต่อยร่วงลงไปถึง 2 ครั้งในการชกเป็นครั้งแรกในชีวิต
- จอห์นสันได้รับค่าตัวเพียง 65,000 ดอลลาร์สหรัฐ แต่สิ่งที่เขาได้มากกว่าคือการอุดปากนักวิจารณ์ที่บอกว่าชัยชนะของเขาเหนือ ทอมมี เบิร์นส์ นั้นไม่มีความหมาย โดยนักวิจารณ์มองว่าเบิร์นส์ไม่ใช่แชมป์ตัวจริง เพราะตัวจริงของวงการคือเจฟฟรีส์ที่แขวนนวมไปก่อน
- แม้ว่าจอห์นสันจะเป็นแชมป์โลก แต่ก็ไม่มีนักชกผิวดำคนไหนที่ได้ท้าชิงตำแหน่งอีก ไม่ใช่เพราะมีการกีดกันจากคนขาว แต่เป็นเพราะจอห์นสันเองก็เชื่อว่าเขาจะทำเงินได้มากกว่าหากขึ้นชกกับคนขาว ทำให้เขาถูกวิจารณ์ว่าลืมพวกพ้องของตัวเอง
- แจ็ค จอห์นสัน ขึ้นเวทีป้องกันตำแหน่งแชมป์โลกของตัวเองในปี 1913 กับ จิม จอห์นสัน ที่ปารีส ในศึกที่เรียกว่า Johnson v. Johnson โดยผลจบลงด้วยการเสมอ และแจ็คยังรักษาเข็มขัดเอาไว้ได้
- จอห์นสันซึ่งประสบปัญหาในเรื่องที่เขาแต่งงานกับภรรยาที่เป็นคนขาวจนสุดท้ายต้องอพยพไปอยู่ยุโรป เพิ่งจะได้รับการขอโทษจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดย โดนัล ทรัมป์ เป็นผู้ที่ล้างมลทินให้แก่เขาเมื่อปี 2018 หรือ 105 ปีหลังจากที่เขาถูกตัดสินว่ากระทำผิด