นอกจากเราจะต้องขอบคุณ โทมัส อัลวา เอดิสัน ที่ประดิษฐ์หลอดไฟให้เราได้ใช้งาน จนสิ่งมหัศจรรย์กลายเป็นสิ่งสามัญธรรมดาแล้ว เราก็ต้องขอบคุณ แฮร์ริสัน ดี. แม็กแฟดดิน ผู้ออกแบบโคมไฟสีเขียว ที่ไม่ได้เป็นเพียงพร็อพตกแต่งเท่านั้น แต่ยังเป็นประจักษ์พยานที่ว่า ‘งานดีไซน์ร่วมสมัยมีอยู่จริง’
เรามั่นใจว่าทุกคนจะต้องเคยเห็นโคมไฟสีเขียวตัวนี้แน่นอน โคมไฟที่มักเห็นในฉากของห้องผู้บริหารหรือบรรดาบ้านหรูหราไฮโซ จนเป็นเหมือนสัญลักษณ์กลายๆ เพื่อบอกว่าเจ้าของห้องนี้ไม่ใช่บุคคลธรรมดา เราเห็นโคมไฟตัวนี้ในห้องทำงานของผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชรื่นรมย์ในซีรีส์ดัง It’s Okay to Not Be Okay มาจนถึงฉากสำคัญในละคร ฉลาดเกมส์โกง แม้โคมไฟตัวนี้จะถูกผลิตมาตั้งแต่ปี 1909 แต่เหตุผลอะไรที่ทำให้ถึงปี 2020 แล้ว เจ้าโคมไฟตัวนี้ก็ยังเป็นที่นิยมไม่เสื่อมคลาย เราอยากชวนคุณมารู้จักงานดีไซน์ชิ้นนี้ไปพร้อมๆ กัน
Photo: It’s Okay to Not Be Okay, 2020
เจ้าโคมไฟเขียวตัวนี้มีชื่อเล่นภาษาอังกฤษว่า Banker’s Lamp หรือโคมไฟของนายธนาคาร ส่วนชื่อจริงก็คือ Emeralite Lamp ที่มาจากสีเขียวเหมือนมรกตของส่วนโคม ซึ่งเป็นจุดสะดุดตาที่สุด ไล่เรียงลงมาถึงก้านของโคมสีทองเหลือง ทำพื้นผิวเซาะร่องคล้ายกับเสาโรมัน ความโค้งมนไล่เรียงตั้งแต่ส่วนบนลงมาจนถึงฐานล่างที่บานออกเหมือนกลีบดอกไม้ ซึ่งแม้จะเป็นงานผลิตโคมไฟในระบบอุตสาหกรรม แต่ก็ยังคงความคลาสสิกในรูปแบบของงานศิลปะ
ก่อนอื่นจะต้องเท้าความไปถึงแนวคิดของงานออกแบบในช่วงนั้นกันก่อน หลังจากการไหลบ่าของยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ผู้คนเน้นฟังก์ชันการใช้สอยมากกว่าการตกแต่งด้วยลวดลายประดับแบบแต่ก่อน หากแต่ยังมีผู้คนที่โหยหาความประณีตงดงามจากงานฝีมือในยุคก่อนหน้า จนเกิดเป็นยุคที่งานศิลปะของเส้นสายและลวดลายกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งในยุค Art Nouveau ซึ่งในยุคนี้เองเกิดความพยายามในการผสมผสานความงดงามในทางศิลปะเข้ากับเทคนิคและกระบวนการผลิตแบบสมัยใหม่ จนเกิดเป็นงานดีไซน์ที่ถูกผสานผ่านชิ้นงานเล็กน้อยและของใช้ในชีวิตประจำวัน งานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ รวมทั้งโคมไฟ จึงบูมขึ้นในยุคนี้ ยุคที่ดีไซน์ให้ของใช้ในบ้านเป็นเหมือนงานศิลปะอีกชิ้นหนึ่ง
Photo: se7en, 1995
โคมไฟนายธนาคารเกิดขึ้นในยุคนี้เช่นกัน ออกแบบโดย แฮร์ริสัน ดี. แม็กแฟดดิน นักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ชาวอเมริกัน มีเป้าหมายหลักสำหรับใช้งานในธนาคารเหมือนกับชื่อของมัน หัวใจสำคัญอยู่ที่โคมแก้วสีเขียว เพราะเป็นสีที่สร้างความรู้สึกสบาย สงบ ช่วยเพิ่มสมาธิและความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานให้มากขึ้น จากฟังก์ชันของแก้วที่ช่วยกรองแสงจ้าจากหลอดไฟให้อยู่ระดับสบายตา เหมาะกับการทำงานกับกระดาษ พร้อมกับรูปลักษณ์โค้งมนที่ช่วยสร้างบรรยากาศนุ่มนวลทั้งกับการทำงานและการตกแต่งภายในห้อง ความพิเศษอีกอย่างของโคมแก้วสีเขียวคือ วัสดุแก้วที่ผลิตจากการเป่าแก้วด้วยมือจากโรงงานแก้ว J. Schreiber & Neffen ในสาธารณรัฐเช็ก โดยสเปกให้สีเขียวเฉดนี้ใช้ได้เฉพาะกับโคม Emeralite ตัวนี้เท่านั้น ยิ่งเพิ่มความลิมิเต็ดให้กับโคมไฟตัวนี้ขึ้นไปอีก
ความนิยมโคมไฟตัวนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากเหตุผลที่สีเขียวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ทำให้บริษัทและธนาคารต่างก็ซื้อหาโคมไฟตัวนี้มาให้พนักงานได้ใช้งานกัน จนยอดออร์เดอร์ถล่มทลาย ไม่เพียงแต่พนักงานออฟฟิศเท่านั้นที่ได้ใช้งานโคมไฟตัวนี้ แม้แต่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอย่าง จอห์น เอฟ. เคนเนดี ก็ใช้โคมไฟตัวนี้ในห้องทำงาน Oval Office ที่ทำเนียบขาว เช่นเดียวกัน
Photo: จอห์น เอฟ. เคนเนดี โดย เอลเลียต เออร์วิตต์ ในปี 1962
หลังจากโคมไฟรุ่นแรกถูกผลิตออกไปและได้รับความนิยมอย่างสูง นั่นทำให้โคมไฟไอคอนิกตัวนี้ถูกรีดีไซน์ใหม่ในหลายรูปแบบ โดยยังคงอัตลักษณ์เดิมของโคมเขียวและก้านเสาทองเหลืองเอาไว้ เติมความสนุกของงานดีไซน์ในจุดเล็กจุดน้อย เพิ่มขนาดให้หลากหลายเหมาะกับการใช้งานหลายๆ แบบ รวมทั้งการออกแบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานให้มากขึ้น อย่างในรุ่นหลังๆ ที่สามารถถอดโคมแก้วออกมาทำความสะอาดได้โดยไม่รบกวนงานระบบไฟฟ้าภายในก้านโคม
ผ่านเวลามาจนถึงปัจจุบันก็เกินร้อยปีแล้ว แต่เราก็ยังเห็นโคมไฟตัวนี้ยังถูกใช้งานและแทนค่าความเป็นงานศิลปะร่วมในงานตกแต่งที่หลากหลาย เท่านี้ก็สามารถพิสูจน์คุณค่าของงานออกแบบในตัวเองที่สามารถอยู่ร่วมได้แม้จะผ่านกี่ยุค กี่สมัย กี่สไตล์ สมกับปณิธานของดีไซเนอร์ที่กล่าวไว้ถึงโคมไฟตัวนี้ว่าต้องการให้เป็น ‘A new, original and ornamental design for lamp shades.’
Photo: Rob Pongsajapan
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล