×

ปรากฏการณ์ ‘เอลนีโญ’ มาถึงแล้ว องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกเตือนรับมือสภาพอากาศร้อนแล้ง

โดย Mr.Vop
05.07.2023
  • LOADING...
เอลนีโญ

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หรือ WMO เตือนรัฐบาลทุกประเทศเตรียมรับมือสภาพอากาศแบบสุดขั้ว จากอิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนีโญที่เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการแล้วในเวลานี้

 

เอลนีโญ (El Nino) หรือสภาพร้อนแล้ง คือ 1 ใน 3 รูปแบบของสภาพอากาศโลกที่วนเวียนเป็นวัฏจักรมากับอีก 2 รูปแบบ คือนิวทรัล (Neutral) หรือสภาพเป็นกลาง และลานีญา (La Nina) หรือสภาพเย็นชื้น โดยมีจุดเปลี่ยนหลักที่อุณหภูมิผิวน้ำ (SST) ตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิก ที่จะส่งผลให้เกิดการยกตัวของอากาศไม่เท่ากันใน 2 ด้านของมหาสมุทร จนส่งผลต่อภูมิอากาศไปทั่วโลก 

 

ผลการตรวจวัดอุณหภูมิผิวน้ำบริเวณ NINO3.4 (พื้นที่ผิวน้ำทะเลของมหาสมุทร​แปซิฟิก​จากละติจูด 5°N ถึง 5°S และลอง​ติจูด 170°W ถึง 120°W)​ ซึ่งใช้เป็นตัวชี้วัดหลัก เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่า มีอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ย 1.3 องศาเซลเซียส และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะถึง 1.8 องศาเซลเซียสในเดือนสิงหาคม และ 2.0 องศาเซลเซียสในเดือนกันยายน การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณนี้เป็นดัชนีชี้วัดว่า โลกกำลังจะเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญอย่างชัดเจน โดยจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องตลอดครึ่งหลังของปีนี้ และอาจเลยไปถึงกลางปีหน้าด้วย

 

เพตเตอร์รี ตาลาส เลขาธิการ WMO กล่าวถึงปรากฏการณ์เอลนีโญที่กำลังเกิดขึ้นนี้ว่า อาจส่งผลกระตุ้นให้เกิดความร้อนที่สะสมตัวมากขึ้นในหลายส่วนของผิวโลกทั้งที่เป็นแผ่นดินและมหาสมุทร เป็นผลให้มีโอกาสที่เกิดการทำสถิติใหม่ของการอุณหภูมิโลกที่จะเพิ่มสูงขึ้นในปีนี้ ซึ่ง WMO ได้พิจารณาที่จะออกคำเตือนอย่างเป็นทางการไปถึงรัฐบาลในประเทศต่างๆ ให้เตรียมรับมือปรากฏการณ์นี้ เพื่อจำกัดผลกระทบของเอลนีโญครั้งนี้ต่อสุขภาพของประชาชน ตลอดจนถึงระบบนิเวศและเศรษฐกิจที่จะได้รับความเสียหายตามมา

 

อุณหภูมิเฉลี่ยโลกเคยแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ไปแล้วเมื่อปี 2016 จากแรงหนุนของปรากฏการณ์เอลนีโญกับพฤติกรรมของมนุษย์ในการใช้งานเชื้อเพลิงฟอสซิลแบบเกินความพอดี แต่การเกิดเอลนีโญรอบปี 2023 อาจทำสถิติแซงหน้ารอบที่เกิดเมื่อ 7 ปีที่แล้วก็เป็นไปได้ 

 

การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกเป็นคนละเรื่องกับปรากฏการณ์ที่เป็นวงรอบแบบเอลนีโญ แต่ผลของเอลนีโญจะไปเร่งให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งจากไฟป่าและการละลายของเพอร์มาฟรอสต์ หรือชั้นดินเยือกแข็งที่กักเก็บคาร์บอนปริมาณมากเอาไว้ ออกไปสู่ชั้นบรรยากาศ ส่งผลให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าเดิม โลกจะเริ่มเข้าสู่ระบบอากาศแบบสุดขั้ว คือพายุรุนแรง ร้อนแล้งรุนแรง และฝนตกน้ำท่วมรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

 

ที่ผ่านมาในระยะสั้นของแต่ละวงรอบ ผลกระทบหลักๆ ของเอลนีโญคือการ ‘ย้าย’ กลุ่มฝนบริเวณเส้นศูนย์สูตรจากฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกไปสู่ฝั่งตะวันออก ก่อให้เกิดการเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำฝนในพื้นที่บางส่วนของอเมริกาใต้ตั้งแต่ตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาลงไป กระแสอากาศที่เปลี่ยนไปจะเหนี่ยวนำให้เกิดฝนหนักในพื้นที่แอฟริกาตะวันออกเฉียงเหนือหรือคาบสมุทรโซมาลี ไปจนถึงเอเชียกลาง และเมื่อฝนย้ายฝั่งไปก็จะเกิดความแห้งแล้งรุนแรงตลอดจนคลื่นความร้อนและไฟป่าในออสเตรเลีย อินโดนีเซีย บางส่วนของเอเชียใต้ อเมริกากลาง และตอนเหนือของอเมริกาใต้ แน่นอนว่าประเทศไทยเราก็โดนหางเลขไปด้วย จากที่มีที่ตั้งในฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก นั่นคือในเรื่องของปริมาณฝนที่ลดลงอย่างชัดเจน 

 

ในระยะยาวทั้งสองส่วนจะเสริมกันและกัน นั่นคือโลกร้อนจะไปเพิ่มอุณหภูมิของกระแสน้ำอุ่น ผลักดันทั้งปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญาให้ชัดเจนขึ้น ขณะเดียวกันดังที่กล่าวมา การเกิดเอลนีโญก็จะไปเร่งโลกร้อนให้เร็วขึ้นไปอีก ทำให้โลกเดินหน้าไปสู่สภาพที่อยู่อาศัยได้ลำบากในอนาคต 

 

สุดท้ายก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลทุกประเทศที่จะช่วยกันเร่งมือทำในทุกมาตรการที่ตกลงกันไว้จากการประชุมโลกร้อนที่ผ่านมา เพื่อชะลอความเปลี่ยนแปลงของดาวเคราะห์บ้านเกิดให้ยังคงอยู่เป็นที่อาศัยให้กับเรานานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ก่อนจะสายเกินไป

 

ภาพ: Jonathan Wood / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X