ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ว่า ธปท. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาส 3 ปี 2564 และมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในระยะข้างหน้า
โดยปัจจัยสนับสนุนสำคัญคือการฟื้นตัวของอุปสงค์ที่เลื่อนมาจากช่วงก่อนหน้า (Pent Up Demand) ในช่วงที่เหลือของปี 2564 จากพัฒนาการด้านวัคซีนที่ปรับดีขึ้นและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดที่เร็วกว่าคาด ซึ่งส่งผลให้ประมาณการเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัว 0.7% ในปี 2564 และ 3.9% ในปี 2565
อย่างไรก็ดี แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงมีความไม่แน่นอนสูง โดยในระยะต่อไปจะขึ้นอยู่กับ
- พัฒนาการของมาตรการควบคุมการระบาดในประเทศ
- ความต่อเนื่องของแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ
- ปัจจัยด้านต่างประเทศ
ทั้งนี้ ธปท. ประเมินว่า ในระยะต่อไปจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่อาจมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นหลังผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด แต่ความคืบหน้าของการกระจายวัคซีนจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยวิกฤต และแรงกดดันที่มีต่อศักยภาพระบบสาธารณสุขจะช่วยลดความจำเป็นของการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด
“จากประสบการณ์ในต่างประเทศ เมื่อมีสัดส่วนประชากรที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มถึง 40% อัตราการเจ็บป่วยรุนแรงจะลดลง ซึ่งในกรณีของไทยคาดว่าจะทำได้มากกว่า 40% ภายในปีนี้ ทำให้ Capacity ของระบบสาธารณสุขของไทยสามารถดูแลครอบคลุมผู้ป่วยรุนแรงได้ โดยมองว่ามีโอกาสที่มาตรการควบคุมทางเศรษฐกิจจะถูกยกเลิกภายในไตรมาสแรกของปีหน้า แต่ก็ยังมีความเสี่ยงในเรื่องของการกลายพันธุ์อยู่” ปิติระบุ
ปิติกล่าวอีกว่า การดำเนินมาตรการสาธารณสุขเพื่อควบคุมการระบาดที่เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่องคือโจทย์สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทย ณ ปัจจุบัน โดยการกระจายวัคซีนที่มีความคืบหน้าจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยวิกฤตและความจำเป็นของการใช้มาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด รวมทั้งรักษาขีดความสามารถ (Policy Space) ของนโยบายการเงินการคลังเพื่อดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินหากมีปัจจัยลบอื่นเพิ่มเติมในอนาคต
สำหรับมาตรการการคลังมองว่า ควรเร่งเยียวยาและพยุงเศรษฐกิจ รวมทั้งเตรียมมาตรการเพื่อฟื้นฟูและยกระดับเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อาจปรับเพิ่มขึ้น แต่จะไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการคลังอย่างมีนัยสำคัญหากเม็ดเงินดังกล่าวถูกนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และใช้เพื่อยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทย ซึ่งจะเอื้อให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในระยะยาวปรับลดลงได้
ขณะที่ประมาณการเงินเฟ้อคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2564 จะลดลงมาอยู่ใกล้ขอบล่างของกรอบเป้าหมายที่ 1.0% จากปัจจัยด้านอุปทานส่วนเกินของสินค้าหมวดอาหารสดเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 1.4% จากปัญหาอุปทานส่วนเกินที่คาดว่าจะคลี่คลายและฐานที่ต่ำลง
สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. ระบุว่า เศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวล้าหลังจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วพอสมควร ทำให้นโยบายการเงินจะต้องผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจต่อไป แม้ว่าในบริบทโลกแรงกดดันเงินเฟ้อจะทำให้ประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ชิลีและบราซิล ปรับขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว
อย่างไรก็ดี หากมองจากบริบทของไทยที่เงินเฟ้อยังไม่รุนแรง ทำให้ไทยจะยังมีความสามารถในการควบคุมนโยบายการเงินของตัวเองให้สอดคล้องกับบริบทการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้
ขณะที่ประเด็นความกังวลเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ หรือ EM Financial Crisis มองว่า ปัจจุบันดุลบัญชีเดินสะพัดและเงินสำรองของกลุ่มประเทศ EM อยู่ในสถานะที่ดีกว่าในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งก่อนๆ ขณะที่นโยบายการเงินของประเทศเหล่านี้ก็ยังผ่อนคลาย ดังนั้นความเสี่ยงหลักน่าจะอยู่ที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศเองมากกว่าว่าจะควบคุมการระบาดและฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เร็วแค่ไหน
ส่วนกรณีความเสี่ยงเรื่อง Global Stagflation หรือภาวะที่เงินเฟ้อสูงขณะที่เศรษฐกิจชะลอ ยังมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับกลุ่มประเทศ DM ในขณะนี้ ไม่ใช่ Stagflation แต่เป็นภาวะที่เรียกว่า Reflation หรือภาวะที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงฟื้นตัว เพราะแม้เงินเฟ้อในกลุ่มประเทศนี้จะสูงแต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็ยังขยายตัว
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงเรื่อง Stagflation น่าจะอยู่ที่กลุ่มประเทศ EM มากกว่า เพราะอาจเผชิญกับแรงกดดันให้ต้องใช้นโยบายการเงินเข้ามาดูแลในยามที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว
“มุมมองของ ธปท. ในเรื่องราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นเร็วจากปัญหาด้านอุปทาน เรายังคาดว่าน่าจะจบได้ภายในไตรมาส 4 และจะดีขึ้นในปีหน้า เนื่องจากกลุ่มโอเปกพลัสมีแนวโน้มจะขยายการผลิตเพิ่ม ถ้ายังไม่พอ สหรัฐฯ ก็น่าจะเพิ่มกำลังการผลิต ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อที่มาจากราคาพลังงานน่าจะคลี่คลายได้ในต้นปีหน้า” สักกะภพกล่าว
สักกะภพยังกล่าวถึงปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนหรือ China Hard Landing ว่า เชื่อว่าโอกาสที่เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวรุนแรงยังมีไม่มาก เพราะปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจจีนยังดี การเติบโตที่ลดลงส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากทางการจีนต้องการปรับการเติบโตจากเชิงปริมาณมาเป็นเชิงคุณภาพ
“แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจจีนแผ่วลงจริงในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้แย่กว่าที่หลายฝ่ายประเมินไว้ โดย ธปท. ยังมองว่า GDP จีนในช่วง 5 ปีจากนี้จะยังขยายตัวได้ที่ 5-6% สำหรับผลกระทบต่อไทยจะมีทั้งบวกและลบ ขึ้นอยู่กับเซกเตอร์ เช่นในช่วงที่ผ่านมา การส่งออกหลายประเภทสินค้าของไทยก็เพิ่มขึ้นเนื่องจากจีนลดกำลังผลิตลง” สักกะภพกล่าว