×

The Dropout ซีรีส์จากคดีดังว่าด้วยการหลอกลวงครั้งมโหฬารของอเมริกา

16.03.2022
  • LOADING...
The Dropout

HIGHLIGHTS

  • ซีรีส์เปิดตัวให้ดูกันสามตอนรวด เพื่อปูพื้นฐานความเป็นมาของเอลิซาเบธ และตัวละครที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีผลต่อคดีของเธอในอนาคต โดยค่อยๆ พัฒนาตัวละครเอลิซาเบธจากเด็กสาวที่มุ่งมั่น ก้าวขึ้นสู่ผู้นำบริษัทนวัตกรรมอายุน้อย ซึ่งตามมาด้วยปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ และวุฒิภาวะในการบริหารคน 
  • นอกจากนี้ยังได้เห็นการทำงานของบริษัทสตาร์ทอัพที่ต้องสร้างสิ่งที่ไม่เคยมีอยู่ในโลก มันอยู่กึ่งกลางระหว่างความสำเร็จและความล้มเหลว จนแอบคิดในใจว่าหากเป็นตัวเอง ถ้าเชื่อว่าความสำเร็จใกล้จะมาถึง เราจะเลือกวิธีโกหกแบบที่เอลิซาเบธทำหรือไม่
  • สิ่งนี้สะท้อนไปถึงประโยค Fake it till you make it. แบบเดียวกับที่เคยได้ยินใน Inventing Anna เพียงแต่ว่ากรณีของเอลิซาเบธดูใกล้เคียงความจริง และเข้ารูปเข้ารอยมากกว่า ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลให้เธอตบตาชนชั้นนำในสังคม และสร้างความเสียหายได้มากกว่า

ถ้าเคยติดใจกับกลโกงของไฮโซปลอมใน Inventing Anna ผู้เขียนอยากขอแนะนำ The Dropout ซีรีส์เรื่องใหม่ที่ชมได้ทาง Disney+ Hotstar แม้ว่าจะไม่แซ่บซ่าเท่าแอนนา แต่นี่คือการฉ้อโกงครั้งมโหฬาร ที่มีความเกี่ยวข้องกับคนมีชื่อเสียง สื่อมวลชน และวงการแพทย์ โดยผู้อยู่เบื้องหลังคือผู้หญิงวัย 37 ปี ที่เริ่มต้นเปิดบริษัทสตาร์ทอัพของตัวเองตั้งแต่อายุ 19 ปี ชื่อ เอลิซาเบธ โฮล์มส์

 

 

คดีของ เอลิซาเบธ โฮล์มส์ ได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะเธอได้รับการยกย่องจากสื่อธุรกิจระดับโลกอย่าง Forbes ว่าเป็นเศรษฐีนีอายุน้อยที่สุดในโลก ที่สร้างฐานะด้วยตัวเองจากการสร้างนวัตกรรมเครื่องตรวจเลือดอัจฉริยะชื่อ ‘เอดิสัน’ ซึ่งใช้เลือดเพียงไม่กี่หยดก็สามารถตรวจโรคต่างๆ ได้มากมาย ตั้งแต่คอเลสเตอรอล โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือแม้กระทั่งมะเร็ง ทำให้บริษัทเธรานอส เคยมีมูลค่าสูงสุดถึง 9,000 ล้านดอลลาร์ ก่อนที่ในปี 2015 จะถูกสื่อชื่อดังอย่าง The Wall Street Journal เปิดโปงว่า ‘เอดิสัน ‘ใช้งานไม่ได้จริง และถูกฟ้องร้องถึง 11 ข้อหา โดยเพิ่งได้รับการพิจารณาว่าผิดจริง 4 ข้อหาเมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมานี้เอง ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทเธรานอสยังเชื่อมโยงไปถึงบุคคลมีชื่อเสียงทั้งในแวดวงการเมืองและธุรกิจของอเมริกาอย่างเจ้าพ่อสื่อ รูเพิร์ต เมอร์ด็อก, ซีอีโอบริษัท Oracle แลร์รี เอลลิสัน, เฮนรี คิสซินเจอร์ เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ หรือแม้กระทั่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน โจ ไบเดน ฯลฯ นับว่าคดีนี้เป็นการแหกตาครั้งประวัติศาสตร์ของโลกเลยก็ว่าได้

 

 

เรื่องราวของ เอลิซาเบธ โฮล์มส์ ถูกนำมาสร้างเป็นมินิซีรีส์จำนวน 8 ตอนในชื่อ The Dropout โดยเล่าเรื่องราวตั้งแต่จุดเริ่มต้น และค้นลึกไปถึงตัวตนที่แท้จริงของเอลิซาเบธ ในฐานะเด็กอัจฉริยะที่ไม่ยอมแพ้ต่ออะไรง่ายๆ เธอพกพาความฝันที่จะเปลี่ยนแปลงโลก โดยมี สตีฟ จ็อบส์ เป็นเหมือนศาสดา เอลิซาเบธเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยชื่อดังอย่างสแตนฟอร์ด และได้ทำงานร่วมกับทีมวิจัยระดับปริญญาโทตั้งแต่เรียนอยู่ปี 2 ก่อนจะพบลู่ทางในการทำธุรกิจด้านนวัตกรรม และลาออกจากมหาวิทยาลัยแบบเดียวกับผู้ยิ่งใหญ่ในวงการเทคโนโลยีอย่าง มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก หรือ บิล เกตส์

 

แต่เส้นทางความสำเร็จไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อนวัตกรรมที่เหมือนจะใช้การได้ดีกลับใช้งานไม่ได้ ในขณะที่เงินทุนก็ร่อยหรอลงไปทุกที ทำให้เธอเลือกที่จะโกหกครั้งแรก และต้องโกหกต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งมันค่อยๆ เปลี่ยนนักล่าฝันให้กลายเป็นปีศาจนักต้มตุ๋นที่ต้องยอมละทิ้งทั้งมิตรภาพและจริยธรรม 

 

เราได้เห็นความกลัวการเผชิญหน้าที่มักพบบ่อยๆ ในผู้บริหารองค์กรอายุน้อย หรือการตั้งกฎเกณฑ์กติกาต่างๆ มากมาย เพราะไม่มั่นใจว่าตัวเองจะจัดการปัญหาเรื่องคนได้ด้วยตัวเองหรือเปล่า ทั้งหมดนำมาซึ่งความหวาดระแวง และสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวไปทั่วทั้งบริษัท ซึ่งบอร์ดบริหารเองก็เห็น แต่เอลิซาเบธก็แก้เกมได้ทัน จนจะกลายเป็นมหากาพย์แห่งการหลอกลวงในตอนต่อไป

 

นอกจากนี้ยังได้เห็นการทำงานของบริษัทสตาร์ทอัพที่ต้องสร้างสิ่งที่ไม่เคยมีอยู่ในโลก มันอยู่กึ่งกลางระหว่างความสำเร็จและความล้มเหลว จนแอบคิดในใจว่าหากเป็นตัวเอง ถ้าเชื่อว่าความสำเร็จใกล้จะมาถึง เราจะเลือกวิธีโกหกแบบที่เอลิซาเบธทำหรือไม่ สิ่งนี้สะท้อนไปถึงประโยค Fake it till you make it. แบบเดียวกับที่เคยได้ยินใน Inventing Anna เพียงแต่ว่ากรณีของเอลิซาเบธดูใกล้เคียงความจริง และเข้ารูปเข้ารอยมากกว่า ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลให้เธอตบตาชนชั้นนำในสังคม และสร้างความเสียหายได้มากกว่ากรณีของแอนนา

 

 

อีกจุดหนึ่งที่ต้องชื่นชมคือการแสดงของ อแมนดา ไซย์ฟรีด ผู้รับบทเอลิซาเบธ ทั้งการแสดงออกทางสีหน้า ท่าทาง ชวนให้รู้สึกได้ถึงความซับซ้อนในใจของตัวละคร รวมทั้งการเลียนแบบบุคลิกของเอลิซาเบธ โฮล์มส์ ตัวจริงมาเกือบทั้งหมด ทำให้เราลืมภาพสาวสวยไร้สมองจากเรื่อง Mean Girls ไปเลย

 

 

ในขณะที่ข้อเสียของสามตอนแรกก็คือการเดินเรื่องที่ค่อนข้างเนิบช้า ก็หวังไว้ว่าในตอนต่อไปน่าจะเดินเรื่องรวดเร็ว เพราะมีประเด็นที่น่าสนใจรออยู่อีกมาก ซึ่งคดีของเธรานอสและเอลิซาเบธ โฮล์มส์ มีอีกหลายมุมที่เชื่อมโยงถึงบุคคลที่คนดูก็รู้จัก โดยในพาร์ตแรกนี้เป็นจุดเชื่อมต่อให้เอลิซาเบธสร้างภาพลักษณ์ใหม่ที่เลียนแบบสตีฟ จ็อบส์ภาคผู้หญิง ที่จะกลายเป็นภาพจำของเธอจนกระทั่งวันที่ถูกดำเนินคดี ตอนต่อจากนี้น่าจะทวีความซับซ้อนมากขึ้นไปเรื่อยๆ  

 

มาทำความรู้จัก เอลิซาเบธ โฮล์มส์ และคดีฉ้อโกงกระฉ่อนโลกได้ทุกสัปดาห์ที่  Disney+ Hotstar

 

อ้างอิง:  

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X