×

หุ้นร่วงระนาว! ‘Dow Jones’ รูดแตะนิวโลว์นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2020 นักลงทุนหวั่นเศรษฐกิจถดถอยฉุดตลาด

24.09.2022
  • LOADING...
Dow Jones

Dow Jones ร่วง 486 จุด ดัชนีหลุดระดับ 30,000 จุดเป็นครั้งแรกนับจากวันที่ 17 มิถุนายน และทำระดับต่ำสุดครั้งใหม่นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 เข้าสู่โซนตลาดหมีเป็นที่เรียบร้อย นักลงทุนกังวลว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะเกิดขึ้นและฉุดรั้งตลาดหุ้นต่อเนื่อง 

 

เมื่อวันศุกร์ที่ 23 กันยายน ดัชนี Dow Jones ตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงหนัก เนื่องจากนักลงทุนยังคงเทขายหุ้นออกมาท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ยืนยันที่จะคุมเข้มนโยบายการเงินต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อ นอกจากนี้ การเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐฯ ที่หดตัวลงเป็นเดือนที่ 3 นั้น ถ่วงตลาดลงด้วย

 

โดยดัชนี Dow Jones Industrial Average ปิดที่ 29,590.41 จุด ร่วงลง 486.27 จุด หรือ -1.62%, ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 3,693.23 จุด ร่วงลง 64.76 จุด หรือ -1.72% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,867.93 จุด ร่วงลง 198.88 จุด หรือ -1.80%

 

ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนี Dow Jones ร่วงลง 4%, ดัชนี S&P 500 ร่วง 4.6% และดัชนี Nasdaq ร่วง 5.1% และหุ้นทั้ง 11 กลุ่มของดัชนี S&P 500 ปิดตลาดในแดนลบ นำโดยกลุ่มพลังงานและกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งร่วงลง 6.75% และ 2.29% ตามลำดับ

 

ดัชนี Dow Jones ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2020 หลังจากในระหว่างวันทรุดตัวลงกว่า 800 จุด และร่วงลงมากกว่า 20% จากระดับปิดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 36,799.65 เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2022 ซึ่งส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะซบเซา หรือตลาดหมีเป็นที่เรียบร้อย 

 

นักลงทุนพากันเทขายหุ้นเพื่อลดความเสี่ยง เนื่องจากมีความวิตกมากขึ้นว่าการคุมเข้มนโยบายการเงินเชิงรุกของ Fed จะทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย หลังจากที่เมื่อวันพุธที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา Fed ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% เป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกันในปีนี้ ซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของ Fed อยู่ในกรอบ 3-3.25% เพื่อพยายามที่จะควบคุมเงินเฟ้อ

 

โดย เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed กล่าวย้ำว่า Fed มุ่งเป้าในการบรรลุเป้าหมายด้านเงินเฟ้อ ซึ่ง Fed คาดว่าจะต้องอาศัยการคุมเข้มนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง และจะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำกว่าแนวโน้ม และการว่างงานสูงขึ้น

 

ส่งผลให้นักลงทุนคาดว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในเดือนพฤศจิกายน และปรับขึ้นอีก 0.50% ในเดือนธันวาคม

 

นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการที่ S&P Global เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 49.3 ในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน จากระดับ 44.6 ในเดือนสิงหาคม 

 

ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรปปิดร่วงลงเช่นกัน โดยดัชนีปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี เนื่องจากถูกกดดันจากหุ้นกลุ่มพลังงาน และกลุ่มวัสดุที่ดิ่งลงเกือบ 6% ขณะที่การเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซาของยูโรโซนบ่งชี้ถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุกของธนาคารกลางต่างๆ

 

โดยดัชนี STOXX 600 ปิดที่ระดับ 390.4 จุด ร่วงลง 9.36 จุด หรือ -2.34% และร่วงลง 4.4% ในรอบสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นสัปดาห์ที่ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่กลางเดือนมิถุยายนที่ผ่านมา

 

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,783.41 จุด ร่วงลง 135.09 จุด หรือ -2.28%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 12,284.19 จุด ร่วงลง 247.44 จุด หรือ -1.97% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,018.60 จุด ร่วงลง 140.92 จุด หรือ -1.97%

 

ขณะที่สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปรับตัวลดลงในวันศุกร์ที่ 23 กันยายนเช่นกัน โดยร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี โดยถูกกดดันจากการที่ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินต่างๆ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตระยะสั้นพุ่งขึ้น ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่า Fed จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และอาจทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย

 

สัญญาทองคำถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ท่ามกลางแนวโน้มที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

 

ทั้งนี้ ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นจะลดความน่าดึงดูดของทอง โดยทำให้สัญญาทองมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น ขณะที่การดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย

 

ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 ปี ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อนโยบายการเงินของ Fed พุ่งขึ้นเหนือระดับ 4.2% ในวันศุกร์ และอยู่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี และ 30 ปี

 

การที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นดีดตัวสูงกว่าระยะยาว ส่งผลให้ตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ เกิดภาวะ Inverted Yield Curve ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณเศรษฐกิจถดถอย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X