×

The Devil’s Deal แคปซูลกาลเวลาทางการเมืองเกาหลีใต้ กับจุดเปลี่ยนแปลงประเทศครั้งสำคัญที่สุดในปี 1992

24.04.2023
  • LOADING...
The Devil’s Deal

HIGHLIGHTS

  • “มันคือภาพยนตร์ที่แสดงให้เห็นถึงความละโมบของมนุษย์ ที่พร้อมก้าวสู่ด้านมืด เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ตีแผ่ความโสมมของการเมืองเกาหลี” คือคำจำกัดความถึง The Devil’s Deal จาก อีวอนแท ผู้กำกับมากฝีมือ 
  • สิ่งที่น่าสนใจจาก The Devil’s Deal คือฉากหลังของเรื่องที่เกิดขึ้นในปี 1992 ทำไมถึงต้องเป็นปีนี้? คำตอบนั้นเป็นเพราะในปี 1992 คือปีที่มีทั้งการเลือกตั้งใหญ่ระดับประเทศและการเลือกตั้งท้องถิ่นของชาวเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากก่อนหน้านั้นเกาหลีใต้อยู่ใต้การปกครองของทหารมาเป็นระยะยาวนาน

นั่นคือภาพของ ‘ปูซาน’ ในความทรงจำของใครหลายคน รวมถึงผู้เขียนที่มีโอกาสไปเยือนมาในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่ผ่านมา และแน่นอนว่าทุกสิ่งที่พบเห็นล้วนเป็นเรื่องราวดีๆ ที่ควรค่าแก่การเก็บไว้ในกล่องความทรงจำ

 

อย่างไรก็ดี สำหรับชาวปูซาน ในกล่องความทรงจำของพวกเขา โดยเฉพาะในเหล่าผู้ที่อยู่มาเนิ่นนานมากพอที่จะได้รู้เห็นถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว แคปซูลกาลเวลาของพวกเขาอาจไม่ได้สวยงามและน่าจดจำเหมือนภาพของปูซานในปัจจุบัน เพราะปูซานรวมถึงหาดแฮอุนแดนั้นเคยเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์การเมือง ที่ไม่ได้จำกัดแค่เฉพาะกับชาวปูซานเท่านั้น แต่รวมถึงชาวเกาหลีใต้ทุกคน

 

กับเรื่องราวที่กลายเป็นต้นธารของ The Devil’s Deal ดีลนรกคนกินชาติ ภาพยนตร์เรื่องเยี่ยมที่จะพาเราย้อนไปสู่จุดตัดสำคัญในวันประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของเกาหลีใต้

 

 

ดีลนรกและสมรภูมิที่แพ้ไม่ได้

 

“มันคือภาพยนตร์ที่แสดงให้เห็นถึงความละโมบของมนุษย์ ที่พร้อมก้าวสู่ด้านมืด เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ตีแผ่ความโสมมของการเมืองเกาหลี” คือคำจำกัดความถึง The Devil’s Deal จาก อีวอนแท ผู้กำกับมากฝีมือของวงการภาพยนตร์เกาหลีใต้ ที่การันตีผลงานตัวเองได้กับภาพยนตร์สุดเดือดอย่าง The Gangster, The Cop และ The Devil (2019) 

 

ตามเนื้อเรื่องย่อที่มีการเปิดเผย The Devil’s Deal เป็นเรื่องราวของ ‘เกมการเมือง’ ที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์และความแค้น ซึ่งมีตัวละครสำคัญ 3 คนด้วยกัน คือ ชอนแฮอุง (โจจินอุง) ผู้ลงสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภา ซึ่งไต่เต้ามาจากจุดต่ำสุดของเส้นทางการเมือง, ซุนแท (อีซองมิน) ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นที่ต้องการขัดขวางแฮอุงทุกหนทาง และตัวละครสำคัญคนสุดท้ายคือ พิลโด (คิมมูบอล) หัวหน้าแก๊งเงินกู้นอกระบบที่มีผลประโยชน์ร่วมกันที่ยื่นมือมาช่วยเหลือแฮอุงซึ่งกำลังสิ้นหวัง แต่ได้ ‘ไม้ตาย’ ที่สามารถพลิกกระดานได้อย่างเอกสารลับบางอย่าง ที่จะสามารถใช้ต่อสู้กับคู่ต่อกรที่ทรงอำนาจอย่างซุนแทได้

 

จากเรื่องย่อและตัวอย่างภาพยนตร์ ผู้กำกับอย่างอีวอนแทได้พาเราย้อนเวลาไปสู่สมรภูมิการเลือกตั้งของเกาหลีใต้ในปี 1992 หรือเมื่อ 31 ปีที่แล้ว ภาพการหาเสียงต่อหน้าประชาชนของผู้ลงรับสมัครในที่แจ้งกับภาพการเจรจาอย่างลับๆ ในเงามืดของเหล่านักการเมืองและผู้มีอำนาจที่อยู่เบื้องหลัง ต่อด้วยเงินเป็นฟ่อนที่หวังใช้เพื่อซื้อเสียงจากประชาชน ความรุนแรงที่อยู่เบื้องหลัง การข่มขู่ การกัดฟัน การตัดสินใจลุกขึ้นสู้ และแน่นอน ความละโมบของมนุษย์

 

สิ่งเหล่านี้คือเหตุการณ์สมมติที่อีวอนแทพยายามสะท้อนให้สังคมในยุคปัจจุบันได้เห็นถึงเกมการเมืองในอดีต และเปลือยตัวตนของนักการเมือง ไม่ว่าเขาจะสวมหน้ากากและสวมเสื้อผ้าอาภรณ์แบบใดให้เราทุกคนได้เห็น

 

 

Reply 1992: จุดเปลี่ยนประเทศเกาหลีใต้

 

สิ่งที่น่าสนใจจาก The Devil’s Deal คือฉากหลังของเรื่องที่เกิดขึ้นในปี 1992

 

ทำไมถึงต้องเป็นปีนี้?

 

คำตอบนั้นเป็นเพราะในปี 1992 คือปีที่มีทั้งการเลือกตั้งใหญ่ระดับประเทศและการเลือกตั้งท้องถิ่นของชาวเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากก่อนหน้านั้นเกาหลีใต้อยู่ใต้การปกครองของทหารมาเป็นระยะยาวนาน

 

จุดเริ่มต้นจากการรัฐประหารครั้งแรกในปี 1960 เมื่อ ชิงมันรี ผู้เคยเป็นวีรบุรุษร่วมต่อต้านญี่ปุ่นที่ยึดครองประเทศในช่วงปี 1910-1945 ซึ่งแม้จะเคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีถึง 2 สมัย แต่ก็ได้มีการฉีกรัฐธรรมนูญเดิมทิ้ง พร้อมร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะทำให้ได้รับตำแหน่งตลอดกาล เป็นเหตุให้เกิดการยึดอำนาจขึ้น 

 

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็เกิดการช่วงชิงอำนาจกันภายในเกาหลีใต้ เกิดการต่อสู้ที่สร้างความสูญเสียมหาศาลจากรัฐบาลที่ใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามประชาชน มีการจับกุม อุ้มฆ่าผู้ที่ไม่เห็นด้วยอย่างหนัก ไปจนถึงค่ายกักกันที่เจ้าหน้าที่พร้อมส่งใครก็ได้เข้าไป (เพราะได้ส่วนแบ่งจากยอดคนที่ถูกส่งเข้าไปในค่าย) 

 

ช่วงเวลานั้นแม้ผู้คนทั่วโลกรวมถึงชาวไทยจะได้เห็นภาพสะท้อนชีวิตในวันวานของชาวเกาหลีใต้ที่น่ารักและน่าคิดถึงผ่านซีรีส์ฟีลกู๊ดอย่าง Reply และอีกหลายเรื่อง แต่ในความเป็นจริงแล้วมันเป็นช่วงเวลาที่น่าหดหู่และแสนเศร้า

 

รอยเลือดและคราบน้ำตามีอยู่ทุกที่ในเกาหลีใต้ในยุคสมัยที่ทหารปกครองประเทศ ไม่ว่าจะเป็นยุคของนายพลพัคชุงฮี (ปี 1962-1979) จอมเผด็จการที่ไม่มีใครโค่นล้มได้ จนต้องถูกลอบสังหารจากลูกน้องคนสนิท ก่อนที่นายพลชุนดูฮวานผู้โหดร้าย จะก้าวขึ้นมาครองอำนาจแทน (ปี 1981-1987) และต่อด้วยนายพลโนแทอู (ปี 1988-1991) แต่เพราะการต่อสู้อย่างไม่ยอมท้อถอยของชาวเกาหลีใต้ ทำให้อำนาจที่ถูกสืบทอดมาอย่างยาวนานของกองทัพเกาหลีใต้ถึงคราวสิ้นสุดลง

 

โดยเฉพาะหลังการเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลทหารในปี 1986 จากประชาชนทั่วประเทศ การต่อสู้แบบไม่ลดละต่ออำนาจเผด็จการนำไปสู่วันสำคัญในการปฏิรูปการเมืองในวันที่ 29 มิถุนายน 1987 วันที่ถูกเรียกว่า ‘June 29 Declaration 1987’ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการปรองดอง การปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่ถูกคุมขังอย่างไม่ยุติธรรม

 

ก่อนจะนำไปสู่การเลือกตั้งใหญ่ในปี 1992 คือการขีดเส้นตายแยกทหารจากการเมือง ทหารจำกัดสถานภาพของตนเองในการทำเฉพาะหน้าที่ของตัวเองคือ การปกป้องประเทศ ส่วนด้านการบ้านการเมืองปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพลเรือนในการดูแลและขับเคลื่อนประเทศด้วยตัวเอง

 

เกาหลีใต้จึงกลายเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยที่แท้จริงนับจากนั้น

 

 

แคปซูลกาลเวลาเมื่อ 31 ปีที่แล้ว

 

แล้วการเลือกตั้งในปี 1992 นั้นเป็นการต่อสู้ที่เข้มข้นในระดับเดียวกับที่ปรากฏใน The Devil’s Deal หรือไม่?

 

ตามบันทึกการเลือกตั้งประธานาธิบดีของเกาหลีใต้เมื่อ 31 ปีที่แล้ว มีผู้ลงสมัครแข่งขันเพียงแค่ 3 คนเท่านั้น คนแรกคือ คิมแดจอง หัวหน้าพรรคเพื่อสันติภาพและประชาธิปไตย (Party for Peace and Democracy หรือ PPD)

 

คนต่อมาคือ คิมยองแซม หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยรวมประเทศ (Reunification Democratic Party หรือ RDP) ที่ปกติเป็นฝ่ายค้านมาตลอด ก่อนจะมีการรวมเข้ากับพรรคประชาธิปไตยยุติธรรม (Democratic Justice Party หรือ DJP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของประธานาธิบดีโนแทอู และเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคประชาธิปไตยเสรี (Democratic Liberal Party หรือ DLP)

 

ผู้สมัครคนสุดท้ายคือ ชองจูยอง นักธุรกิจมหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งฮุนได (Hyundai) ที่ลงสมัครในนามพรรครวมประเทศแห่งชาติ (National Unification Party) 

 

บรรยากาศในการหาเสียงการเลือกตั้งประธานาธิบดีในครั้งนั้นเป็นไปอย่างเผ็ดร้อน ผู้ลงสมัครทั้ง 3 คนต่างเปิดศึกวิพากษ์วิจารณ์กันและกันอย่างดุเดือด และการโจมตีกันนั้นเป็น ‘เรื่องส่วนตัว’ ล้วนๆ แทบจะไม่มีการพูดถึงเรื่องของนโยบายเลยทีเดียว

 

สิ่งเหล่านี้พอจะชวนจินตนาการต่อได้ว่า ‘หลังฉาก’ ของการเลือกตั้งครั้งนั้นจะยิ่งดุเดือดเลือดพล่านแค่ไหน และสิ่งที่อีวอนแทนำเสนอผ่าน The Devil’s Deal นั้นก็อาจได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง หรือใกล้เคียงความจริงที่เกิดขึ้น

 

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าหลังฉากจะเป็นอย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งครั้งนั้น ซึ่งพรรค DLP ของคิมยองแซม ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย โดยได้คะแนนเสียงถึง 42% จากชาวเกาหลีใต้ ก็ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของเกาหลีใต้ ประเทศที่ถูกขับเคลื่อนโดยประชาชนในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ซึ่งแม้ว่าจะต้องใช้เวลาในการสร้างความแข็งแกร่ง เรียนรู้จากบทเรียนที่เจ็บปวด และไม่อาจปฏิเสธความจริงได้ว่านักการเมืองชั่วมีอยู่ทุกที่และทุกยุคสมัย 

 

แต่อย่างน้อยที่สุดมันก็นำไปสู่การเดินหน้าของเกาหลีใต้อย่างมั่นคง และไม่เคยคิดจะหันหลังกลับไปมองการเมืองแบบเก่าที่เจ็บปวดอีกเลย

 

ภาพ: Mongkol Cinema  

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising