×

โทษประหารชีวิต: จากบทเรียนความสำเร็จของยุโรปถึงช่องโหว่ในระบบยุติธรรมไทย

โดย THE STANDARD TEAM
30.09.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ประวัติศาสตร์ของยุโรปมีช่วงเวลาที่ยากลำบาก เราเผชิญหน้ากับสงครามโลกถึงสองครั้ง คร่าชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมาก เรารู้ดีว่าความรุนแรงสามารถทำอะไรได้บ้าง เมื่อเราทราบบทเรียน เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ผู้คนจึงเริ่มหันมาให้คุณค่ากับสิทธิมนุษยชนเพิ่มมากขึ้น ประเทศต่างๆ ในยุโรปจึงค่อยๆ ทยอยปรับเปลี่ยนจุดยืนและยกเลิกโทษประหารลงในท้ายที่สุด
  • เราไม่ได้ล้มเหลวเพราะบทลงโทษเบาเกินไป แต่กระบวนการยุติธรรมของไทยมีช่องโหว่ นี่คือความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมที่ทำให้อาชญากรรมไม่เคยลดลง แม้เราจะมีโทษประหารชีวิตมากมายแค่ไหนก็ตาม
  • สิ่งที่เราทุกคนต้องการคือสังคมที่ปลอดภัย สังคมไม่ได้ต้องการให้มีคนตายหรือต้องตายตามกันไป ไม่มีใครต้องการให้มีเหยื่อตาย คนทำผิดก็ต้องตายตาม สังคมต้องการความปลอดภัยไร้อาชญากรรม เป็นสังคมที่ปราบปรามอาชญากรรมได้อย่างตรงไปตรงมาและจริงจัง จุดนี้จะเป็นตัวยับยั้งอาชญากรรมได้ ไม่ใช่โทษประหารชีวิต

โลกในยุคปัจจุบันเป็นโลกที่กำลังเคลื่อนตัวไปข้างหน้า พร้อมๆ การให้คุณค่ากับแนวคิดและประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนเพิ่มมากขึ้นเพื่อขับเคลื่อนไปสู่การสร้างสังคมที่เท่าเทียม เคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของกันและกัน รวมถึงโอบรับความหลากหลาย ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา

 

หนึ่งในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนที่มีการพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเป็นอย่างมากคือเรื่อง ‘โทษประหารชีวิต’ (Death Penalty) บทลงโทษของรัฐที่จะพรากชีวิตของผู้ที่ได้รับการตัดสินว่าเป็นผู้กระทำผิดร้ายแรง บทลงโทษที่นักเคลื่อนไหวและองค์กรที่สนับสนุนสิทธิมนุษยชนมองว่าเป็นบทลงโทษที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ (Right to Life) ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร อายุเท่าไร หรือต้องโทษคดีอะไรก็ตาม 

 

หลายๆ ประเทศจึงเริ่มทยอยทบทวนจุดยืนเกี่ยวกับโทษประหารชีวิต และจากรายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตในปี 2019 โดยแอมเนสตี้สากลระบุว่าปัจจุบันมีประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติแล้ว 142 ประเทศ หรือคิดเป็นกว่า 2 ใน 3 ของประเทศที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติทั้งหมด 193 ประเทศทั่วโลก ในปี 2019 ที่ผ่านมามีเพียง 20 ประเทศเท่านั้นที่มีการลงโทษประหารชีวิต โดยตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ยุโรปถือเป็นภูมิภาคที่ขับเคลื่อนในประเด็นนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

THE STANDARD มีโอกาสพูดคุยกับ เปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เกี่ยวกับประเด็นโทษประหารชีวิตและปัจจัยที่ทำให้ประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปยกเลิกโทษประหารชีวิตได้สำเร็จ รวมถึงมีโอกาสพูดคุยกับ ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัดผู้มากประสบการณ์การทำงานในกระบวนการยุติธรรมของไทยเกี่ยวกับวิธีการลดปัญหาอาชญากรรม โทษประหารชีวิตในสังคมไทย และสิ่งที่อยากจะให้เกิดขึ้นในสังคมนี้

 

เปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย

 

เสียงสะท้อนในประชาคมโลก: ยุโรปในฐานะภูมิภาคที่ขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นพลวัต

ท่านทูตเปียร์ก้าเริ่มต้นบทสนทนาด้วยการชี้ให้เห็นถึงข้อสังเกตบางประการระหว่างโทษประหารชีวิตกับอัตราการเกิดอาชญากรรม รวมถึงช่องโหว่ของการบังคับใช้โทษประหารชีวิต 

 

“ในบางสังคมที่ยังมีโทษประหารชีวิต อัตราการเกิดปัญหาอาชญากรรมไม่ได้ลดลงเลย ในขณะที่ในบางสังคม โดยเฉพาะในยุโรปที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้ว อัตราการเกิดปัญหาอาชญากรรมก็อยู่ในระดับต่ำกว่าภูมิภาคอื่นๆ”

 

 

จากการเก็บและสำรวจข้อมูลอาชญากรรมในยุโรปของ Eurostat พบว่าในช่วงปี 2008-2018 ที่ผ่านมา อัตราการเกิดอาชญากรรมในยุโรป โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปมีแนวโน้มลดลงจาก 6,433 คดีในปี 2008 เหลือ 4,747 คดีในช่วง 10 ปีต่อมา ไซปรัส ลักเซมเบิร์ก มอลตา และสโลวีเนีย ถือเป็นกลุ่มประเทศสมาชิกที่มีการเกิดปัญหาอาชญากรรมอยู่ในระดับต่ำมาก ดังนั้นโทษประหารชีวิตอาจไม่ได้ส่งผลให้ปัญหาอาชญากรรมลดลงได้อย่างเด่นชัดมากขนาดนั้น

 

ขณะที่ช่องโหว่ของการบังคับใช้โทษดังกล่าวคือโทษประหารชีวิตเป็นบทลงโทษมนุษย์ที่โหดร้ายมากที่สุด หากมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมจนเป็นเหตุให้ต้องประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์ ก็ไม่มีหนทางไหนที่จะทำให้เขาฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาได้ คนที่ได้รับโทษประหารส่วนใหญ่มักจะเป็นคนยากไร้ คนที่ไม่มีสิทธิ์มีเสียงในสังคม หรือคนชายขอบ เพราะเขาเหล่านี้แทบจะไม่มีโอกาสเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเต็มที่เช่นประชากรกลุ่มอื่นๆ

 

 

ท่านทูตยังชี้ให้เห็นถึงเหตุผลสำคัญที่ทำให้ยุโรปกลายเป็นภูมิภาคที่ขับเคลื่อนเรื่องโทษประหารชีวิต รวมถึงประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

 

“จริงๆ แล้วประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปฝั่งตะวันตกหลายประเทศยังคงมีการใช้โทษประหารชีวิตจนถึงปลายยุค 70 ในขณะที่ประเทศสมาชิกฝั่งตะวันออกก็ยังมีการประหารชีวิตจนกระทั่งต้นยุค 90 เท่ากับว่าการยกเลิกโทษประหารชีวิตในยุโรปโดยรวมนั้นเพิ่งจะเกิดขึ้นได้ไม่นานนัก สิ่งที่ทำให้เราต่างเห็นพ้องต้องกันว่าจำเป็นต้องยุติโทษประหารก็คือความตระหนักในคุณค่าของสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนสากล พอถึงจุดหนึ่งผู้นำของแต่ละประเทศก็ต่างรู้สึกว่าบทลงโทษนี้เป็นสิ่งผิดที่เราไม่ควรยอมรับ เพราะเป็นบทลงโทษที่โหดร้ายทารุณและไร้ซึ่งมนุษยธรรม

 

“อีกทั้งในยุโรปยังมีการรับรองสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ว่าด้วยประเด็นนี้และครอบคลุมระดับภูมิภาค 2 ฉบับ ไม่ว่าจะเป็น ‘พิธีสารฉบับที่ 6 ของอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปว่าด้วยการยกเลิกโทษประหารชีวิต (1983)’ กำหนดให้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิตในช่วงสงคราม และ ‘พิธีสารฉบับที่ 13 ของอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปว่าด้วยการยกเลิกโทษประหารชีวิตในทุกพฤติการณ์ (2002)’ โดยได้รับการรับรองจากสภายุโรป ซึ่งเบลารุสเป็นเพียงประเทศเดียวในยุโรปขณะนี้ที่ยังคงใช้โทษประหารชีวิตอยู่ 

 

“ประวัติศาสตร์ของยุโรปมีช่วงเวลาที่ยากลำบาก เราเผชิญหน้ากับสงครามโลกถึงสองครั้ง คร่าชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมาก มีผู้เสียชีวิตกว่า 10 ล้านคน พวกเรารู้ดีว่าความรุนแรงสามารถทำอะไรได้บ้าง พอเราทราบบทเรียน เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ผู้คนจึงเริ่มหันมาให้คุณค่ากับสิทธิมนุษยชนเพิ่มมากขึ้น ประเทศต่างๆ ในยุโรปจึงค่อยๆ ทยอยปรับเปลี่ยนจุดยืนและยกเลิกโทษประหารลงในท้ายที่สุด เราจำเป็นที่จะต้องพูดคุยกันถึงประเด็นนี้ โดยคำนึงถึงสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ของกันและกัน”

 

 

ก่อนที่ท่านทูตเปียร์ก้าจะปิดท้ายด้วยการแสดงความคิดเห็นว่าการยกเลิกโทษประหารชีวิตของบรรดาประเทศในภูมิภาคยุโรปคือการสร้างโอกาสครั้งสำคัญที่จะให้แต่ละสังคมหันมาปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของตนให้ดียิ่งขึ้น โดยเชื่อว่าโลกที่ปราศจากโทษประหารชีวิตจะเป็นโลกที่ปลอดภัยมากขึ้น

 

“ผมคิดว่าในทุกสังคมล้วนมีความท้าทาย ผมไม่คิดว่าการยกเลิกโทษประหารชีวิตจะสร้างปัญหาใหม่ให้แก่สังคมด้วยการทำให้การก่ออาชญากรรมเพิ่มขึ้น ผมกลับคิดว่านี่เป็นการสร้างโอกาสให้เราหันมาปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเพื่อให้มุ่งเน้นไปที่การเยียวยาผู้กระทำผิดให้กลับตัวกลับใจและสามารถคืนสู่สังคมได้ ไม่ใช่แค่ลงโทษเขา คุมขังเขาในสถานที่ที่เต็มไปด้วยสภาพอันเลวร้าย เพราะนั่นอาจทำให้เขาหวนกลับมาทำผิดซ้ำอีกเมื่อออกจากคุก

 

“ผมเชื่อในพลังของการพูดคุยกัน สร้างความเข้าใจระหว่างกันอย่างตรงไปตรงมา ผมเชื่อว่าโลกที่ปราศจากโทษประหารชีวิตจะเป็นโลกที่ปลอดภัยมากขึ้น มีความรุนแรงน้อยลง เป็นโลกที่เคารพสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เพิ่มมากขึ้น 

 

เวลาที่ผมเห็นระบบยุติธรรมใดก็ตามประกอบไปด้วยบทบัญญัติที่นำไปสู่การทำลายชีวิตผู้ใดผู้หนึ่ง ไม่ว่าคนผู้นั้นจะเลวร้ายสักแค่ไหน ผมจะไม่สามารถเข้าใจได้เลยว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เพราะสำหรับผมแล้ว ระบบยุติธรรมควรที่จะสะท้อนคุณค่าบางสิ่งบางอย่างที่เรายึดถือ

 

ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัดคดีศาลแขวงจังหวัดสุพรรณบุรี

 

มายาคติและช่องโหว่ในกระบวนการยุติธรรมไทย

ขณะที่ ดร.น้ำแท้ เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการเล่าประสบการณ์การทำงานในระบบยุติธรรมไทย รวมถึงพูดคุยเรื่องมายาคติเกี่ยวกับโทษประหารชีวิต และช่องโหว่สำคัญที่เอื้อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมเรื้อรังในสังคมไทย

 

“ผมถามนักโทษที่กระทำความผิดซ้ำๆ ว่าจะกลับมาค้ายาหรือกระทำความผิดอีกไหม ซึ่งคดีเกี่ยวกับยาเสพติดมีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิตอยู่แล้ว ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าจะทำอีก เพราะว่ามันคุ้ม ยังมีช่องโหว่ไม่ให้ถูกจับหรือซื้อคดีได้ 

 

“ผมจึงเปลี่ยนคำถามว่าถ้าทุกคนทำผิด ติดคุก และถูกดำเนินคดีตามกฎหมายแน่นอน ไม่มีทางรอดไปได้ ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์กลับตอบว่าไม่ทำ ตรงนี้ชี้ให้เห็นว่าโทษจำคุกก็สามารถยับยั้งอาชญากรรมได้แล้ว ถ้าเขาเชื่อว่าเขาไม่มีทางรอดจากเงื้อมมือของกฎหมายได้ ผมไม่เชื่อว่าโทษประหารชีวิตจะยับยั้งการเกิดอาชญากรรมได้ เรามีโทษประหารชีวิตจากราว 60 ฐานความผิด แต่อาชญากรรมในสังคมไทยก็ยังเพิ่มขึ้น 

 

“มายาคติที่สำคัญคือเราไม่ได้ล้มเหลวเพราะบทลงโทษเบาเกินไป แต่กระบวนการยุติธรรมของไทยมีช่องโหว่ เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐทำลายหลักฐานได้ตามอำเภอใจ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐบางรายรับส่วย เก็บส่วย บางท้องที่ที่เงินส่วยสะพัดก็จำเป็นต้องลงทุนซื้อตำแหน่งเข้ามาทำหน้าที่ คนชั่วก็จะได้ตำแหน่งเพราะเป็นนักวิ่งเต้นคดี โจรในเครื่องแบบเหล่านี้ก็จะเก็บส่วย ถอนทุนคืน พอเกิดอาชญากรรมก็ต้องบิดเบือนคดีโดยการทำลายพยานหลักฐานช่วยอาชญากร ไม่มีใครอยากทุบหม้อข้าวของตัวเอง เกิดเป็นงูกินหาง นี่คือความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมที่เจ้าหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ ปล่อยปละละเว้นทำให้อาชญากรรมไม่เคยลดลง แม้เราจะมีโทษประหารชีวิตมากมายแค่ไหนก็ตาม ในระบบกระบวนการยุติธรรมที่เจ้าหน้าที่รัฐสามารถบิดเบือนความจริงได้เช่นนี้ เป็นเรื่องง่ายที่จะยัดข้อหา ยัดยาเสพติดประชาชนเพื่อเรียกผลประโยชน์ ทำให้คนบริสุทธิ์ถูกดำเนินคดีบางรายถูกประหารชีวิต เป็นความผิดพลาดที่ไม่อาจจะแก้ไขเยียวยาได้เลย”

 

 

อีกทั้ง ดร.น้ำแท้ ยังชี้ให้เห็นว่าอาจถึงเวลาแล้วที่กระบวนการยุติธรรมของไทยจะต้องปฏิรูป เพิ่มขั้นตอนในการตรวจสอบ ส่วนประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงบทลงโทษจำเป็นต้องพูดคุยกันและได้รับการยอมรับจากมหาชน

 

“ผมพูดในฐานะคนทำงานคดีที่อยู่ภาคสนามและเจอคดีทุกวัน เราต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐทำลายพยานหลักฐาน ทำความจริงให้ปรากฏอย่างตรงไปตรงมา กระบวนการยุติธรรมก็จะราคาไม่แพง ไม่เข้าถึงยาก วาทกรรมที่พูดว่ากระบวนการยุติธรรมราคาแพง เป็นเพราะระบบความจริงถูกทำลาย ออกกฎหมายเยอะแยะไปหมด แต่ไม่เคยออกระบบตรวจสอบให้เจ้าหน้าที่ทำงานตรงไปตรงมาเลย ในต่างประเทศเขาใช้ระบบเจ้าหน้าที่หลายๆ หน่วยมารู้เห็นพยานหลักฐานด้วยกัน เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานสามารถเข้าถึงพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุได้ พยานหลักฐานจะไม่ได้อยู่ในเงื้อมมือใครคนใดคนหนึ่ง จะกระจายออก ความจริงจะยังคงถูกรักษาไว้ได้ ไม่ถูกทำลาย 

 

“ส่วนประเด็นเรื่องโทษประหารชีวิตยังจำเป็นมากน้อยแค่ไหนในสังคมไทย ผมอยากจะเริ่มต้นอธิบายแบบนี้ ในสังคมต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาเขายังคงบังคับใช้โทษประหารชีวิต โดยจะต้องเป็นการใช้ชีวิตต่อชีวิตเท่านั้น แต่ในขณะที่บ้านเรายาเสพติดก็มีโทษประหารชีวิต จารกรรมข้อมูลก็มีโทษประหารชีวิต วางเพลิงเผาทรัพย์ก็มีโทษประหารชีวิต ยังมีอีกหลายฐานความผิดที่ไม่ใช่ชีวิตต่อชีวิต การที่เราจะปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือขับเคลื่อนเรื่องโทษประหารชีวิตในบ้านเรา เราอาจจะเริ่มต้นจากการลดจำนวนฐานความผิดลงให้เหลือเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับชีวิตจริงๆ ก่อน เวลาเราพูดถึงเรื่องโทษ เราต้องมองบริบทของสังคม วิวัฒนาการ การที่เราจะเปลี่ยนแปลงเรื่องโทษ เราต้องได้รับการยอมรับจากมติมหาชน ต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องว่าปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเพราะว่าโทษเราเบาเกินไป หากเรายกเลิกโทษประหารชีวิตโดยสังคมขาดความเข้าใจที่แท้จริง สักวันอาจจะมีการเรียกร้องให้นำโทษประหารชีวิตกลับมาใช้อีกก็ได้”

 

 

โดยสิ่งที่ ดร.น้ำแท้ ทิ้งท้ายถึงประเด็นที่ว่าอยากจะเห็นสังคมไทยและสังคมโลกเป็นแบบไหน สอดคล้องกับคำตอบของท่านทูตเปียร์ก้าที่ต่างก็อยากจะเห็นสังคมที่ปลอดภัย กระบวนการยุติธรรมเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา ได้มาตรฐานสากล 

 

“ผมเชื่อว่าเราสามารถป้องกันอาชญากรรมได้ด้วยวิธีอื่น แม้ไม่มีโทษประหารชีวิต โดยการทำให้กระบวนการยุติธรรมตรงไปตรงมา ผู้กระทำความผิดไม่รอดจากเงื้อมมือของกฎหมาย ต้องถูกดำเนินคดีอย่างแน่นอน ผมเชื่อว่าสิ่งนี้จะมาทดแทนและยับยั้งอาชญากรรมได้ดียิ่งกว่าโทษประหารชีวิตเสียอีก เพราะสิ่งที่เราทุกคนต้องการคือสังคมที่ปลอดภัย สังคมไม่ได้ต้องการให้มีคนตายหรือต้องตายตามกันไป ไม่มีใครต้องการให้มีเหยื่อตาย คนทำผิดก็ต้องตายตาม สังคมต้องการความปลอดภัยไร้อาชญากรรม เป็นสังคมที่ปราบปรามอาชญากรรมได้อย่างตรงไปตรงมาและจริงจัง จุดนี้จะเป็นตัวยับยั้งอาชญากรรมได้ ไม่ใช่โทษประหารชีวิต”

 

จะเห็นได้ว่าทั้งท่านทูตเปียร์ก้า ดร.นำ้แท้ รวมถึงเราทุกคนในสังคม ต่างมีจุดยืนร่วมกันคือการแสวงหาสังคมที่ทุกคนปลอดภัยไร้อาชญากรรม มีกระบวนการยุติธรรมที่เข้มแข็ง โปร่งใส ตรวจสอบได้ ทุกคนต่างเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของกันและกัน พร้อมทั้งช่วยกันขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้าท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ที่ไหลเชี่ยว 

 

โดยคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ร่วมกับสมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ และ Documentary Club จัดงานฉายภาพยนตร์สารคดีและเสวนาเนื่องในวันยุติโทษประหารชีวิตสากลและยุโรป ร่วมสัมผัสประสบการณ์ของ อิวาโอะ ฮากามาดะ อดีตนักโทษญี่ปุ่นและเจ้าของสถิติโลกในฐานะผู้ถูกจองจำในแดนประหารเป็นเวลายาวนานที่สุด ในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ‘ฮากามาดะ’ และตามด้วยการเสวนาในหัวข้อ ‘โทษประหาร: ยุติธรรมหรือความผิดพลาด’ ในวันเสาร์ที่ 10 ตุลาคม 2563 ณ หอประชุมชั้น 3 สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ เวลา 13.30-16.30 น.

ดาวน์โหลดกำหนดการ https://engage.eu/dp2020/agendaTHAI.pdf
ลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่: https://engage.eu/dp2020/  

 

ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

FYI

ประเทศไทยเคยเกือบได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ยกเลิกการใช้โทษประหารชีวิตแล้วในทางปฏิบัติ หากไม่มีการประหารชีวิตใครเลยในช่วงระยะเวลา 10 ปีจะถือว่า ยกเลิกการประหารชีวิตไปโดยปริยาย แต่ในปี 2018 ทางการไทยสั่งประหารชีวิตนักโทษด้วยการฉีดยาพิษอีกครั้ง หลังจากไม่มีการประหารชีวิตมานานถึง 9 ปี จึงทำให้กระบวนการยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติในไทยยุติลงไปโดยปริยาย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising