โควิดจู่โจมโลกและสังคมไทยมาร่วม 2 ปี จนวันนี้ไทยมีผู้ติดเชื้อสะสมทะลุ 1 ล้านคน แต่ในตัวเลขผู้ติดเชื้อกว่าล้านคนแฝงไปด้วยตัวเลขของความสูญเสียอื่นๆ อีกมากมาย สำหรับประเทศไทยเริ่มมีมาตรการตรวจคัดกรองชาวต่างชาติที่สนามบินสุวรรณภูมิ ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2563 ผลจากมาตรการวันนั้นทำให้ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิดรายแรกของประเทศ และเป็นรายแรกที่ตรวจพบนอกประเทศจีนในวันที่ 12 มกราคม 2563 ซึ่งเป็นหญิงวัย 61 ปี จากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน
31 มกราคม 2563 เราพบคนไทยคนแรกที่ติดเชื้อโควิด เป็นชายไทยอายุ 50 ปี อาชีพขับแท็กซี่ มีประวัติรับผู้โดยสารจากเมืองอู่ฮั่นที่มีอาการป่วยไปโรงพยาบาล และวันที่ 1 มีนาคม 2563 ชายไทยอายุ 35 ปี เสียชีวิตจากโควิดรายแรกในประเทศไทย
3 เมษายน 2563 พล.อ. ประยุทธ์ แถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ประกาศเคอร์ฟิว ห้ามออกจากเคหสถานเวลา 00.00-04.00 น. ทั่วประเทศ ผลจากการใช้ต้นทุนทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลทำให้ไทยกดตัวเลขผู้ติดเชื้อเหลือศูนย์มาได้เกือบข้ามปีก็เกิดการระบาดระลอกใหม่ขึ้น โดยพบผู้ติดเชื้อระลอกใหม่รายแรกวันที่ 17 ธันวาคม 2563 ที่ตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร ก่อนจะตรวจพบกลุ่มแรงงานข้ามชาติ และกระจายผู้ติดเชื้อไปทั่วประเทศ
สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ปี 2563 ไทยติดลบ 6.1% ส่วน GDP ในปี 2564 Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ คาดว่า GDP จะขยายตัวเพียง 0.9% และคาดว่าจะต้องใช้เวลาถึงช่วงสิ้นเดือนพฤศจิกายน ที่จำนวนผู้ติดเชื้อจะปรับลดลงตำ่กว่า 100 รายต่อวัน ซึ่งใช้เวลากว่า 8 เดือน ตั้งแต่มีการระบาดในเดือนเมษายน (คาดการณ์เดิมใช้เวลาแค่ 4 เดือนในการควบคุมโรค) โดยมีแนวโน้มสร้างความเสียหายต่อการบริโภคภาคเอกชนกว่า 7.7 แสนล้านบาท (ราว 4.8% ของ GDP)
ส่วนคนว่างงานเฉพาะในระบบปี 2563 สูงถึง 6.5 แสนคน เพิ่มขึ้น 74.4% สูงสุดในรอบ 11 ปี ส่วนผู้เสมือนว่างงานหรือผู้ที่มีชั่วโมงการทำงานน้อย 0-24 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในไตรมาส 4 ปี 2563 มีสูงถึง 2.35 ล้านคน ขณะที่ไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 มีผู้เสมือนว่างงานกว่า 4.4 ล้านคน โดยมากกว่าครึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ
ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า จำนวนผู้ป่วยล้นเตียงโรงพยาบาลมากกว่า 4-5 เท่า โดยสะท้อนจากตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ในกรุงเทพฯ ที่ยังเฉลี่ย 4,000-5,000 รายต่อวัน ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตตามสถิติยังไม่นับผู้เสียชีวิตทางอ้อมที่เกี่ยวข้องกับโควิด เช่น ป่วยด้วยโรคเรื้อรังอื่นแต่เข้าโรงพยาบาลไม่ได้ หรือการฆ่าตัวตายจากภาวะวิกฤต โดยคณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า ไทยมีผู้เสียชีวิตทางอ้อมจากอาการโรคแทรกซ้อนหรือการฆ่าตัวตายจากผลกระทบทางจิตใจและปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งดัชนีหนึ่งที่วัดการเสียชีวิตรวมได้คือ ‘อัตราการตายส่วนเกิน’ (Excess Mortality) ซึ่งอัตราการตายของคนไทยในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2564 เพิ่มสูงขึ้นประมาณร้อยละ 12 และ 17.5 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยประชากรกลุ่มผู้มีอายุ 65-74 ปี และอายุ 85 ปีขึ้นไป มีอัตราการตายส่วนเกินสูงถึงร้อยละ 22 และ 26 ตามลำดับ ในเดือนมิถุนายน
ส่วนฝั่งรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้เงินกู้ฉุกเฉินและ พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน จำนวน 4 ฉบับ รวม 2.4 ล้านล้านบาท ซึ่งฉบับล่าสุดคือการกู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท และยังมีการเสนอล่าสุดจากธนาคารแห่งประเทศไทยให้กู้เงินอีก 1 ล้านล้านบาทเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ