หากเอ่ยชื่อของ ‘The Crazy Gang’ แล้ว สำหรับคนรุ่นใหม่อาจจะทำหน้าฉงนด้วยความสงสัยว่ากำลังพูดถึงแก๊งอะไรหรือเปล่า
แต่สำหรับแฟนฟุตบอลรุ่นเก่าที่พอจะเก๋าหน่อยน่าจะยังพอจำกันได้ถึงทีมฟุตบอลสุดระห่ำที่เคยเป็นปรากฏการณ์ของวงการฟุตบอลอังกฤษในยุค 80-90 ด้วยสไตล์การเล่นที่ดุดันเข้าขั้นโหดเหี้ยม ฟุตบอลแบบไดเร็กต์ที่ไม่ต้องเน้นความสวยงามใดๆ ที่ทำให้พวกเขาล้มมหาอำนาจในยุคสมัยนั้นอย่าง ‘หงส์แดง’ ลิเวอร์พูล และคว้าแชมป์เอฟเอคัพมาครองได้ในปี 1988
ความบ้าคลั่งของพวกเขาทำให้ได้รับสมญา The Crazy Gang ที่นำมาโดย ‘ไอ้ศอกบิน’ จอห์น ฟาชานู, ลอว์รี ซานเชซ, เทอร์รี ฟีแลน และกัปตันทีมสุดไซโคอย่าง ‘ไอ้โรคจิต’ วินนี โจนส์ นักเตะสุดเพี้ยนที่กลายเป็นหนึ่งในไอคอนของยุคสมัย (ในทางที่ไม่ดีนัก)
อย่างไรก็ดี วิมเบิลดันทีมนั้นได้ล้มหายตายจากไปนานแล้ว โดยหลังจากตกชั้นไปจากพรีเมียร์ลีกในปี 2000 พวกเขาก็กลายเป็น ‘ทีมไร้บ้าน’
โดยจากที่เคยแชร์กันใช้สนามเซลเฮิร์สต์พาร์กกับทีมคริสตัล พาเลซ ก็มีการย้ายสนามไปเรื่อย และไปไกลขึ้นเรื่อยๆ ถึงคาร์ดิฟฟ์ในเวลส์ เลยทะลุไปถึงดับลินในไอร์แลนด์! ตามวิธีการหาทางรอดของ แซม แฮมแมม ประธานสโมสร โดยที่ไม่ได้สนใจความรู้สึกของแฟนๆ
สุดท้ายสมาคมฟุตบอลเข้ามาแทรกแซงด้วยการให้วิมเบิลดันย้ายไปอยู่มิลตัน คีนส์ ทางตอนเหนือของบ้านหลังเดิมในระยะถึง 60 ไมล์ในปี 2002 และได้ทำการเปลี่ยนชื่อสโมสรใหม่กลายเป็น มิลตัน คีนส์ ดอนส์ จนถึงปัจจุบัน
แล้วแฟนบอลที่เคยตามเชียร์มาตลอดทำอย่างไร
The Wombles (ชื่อกลุ่มแฟนบอลของวิมเบิลดัน) ไม่ยอมให้จิตวิญญาณของ ‘The Dons’ (สมญาของทีม) ตายไปด้วย
พวกเขาร่วมกันก่อตั้งสโมสรฟุตบอลแห่งใหม่ที่ชื่อ เอเอฟซี วิมเบิลดัน (AFC Wimbledon) เพื่อเป็นตัวแทนจิตวิญญาณของสโมสรที่พวกเขารัก ซึ่งแม้จะต้องเริ่มต้นในลีกฟุตบอลระดับชั้นที่ 9 ในพีระมิดของวงการฟุตบอลอังกฤษก็ไม่เป็นไร
อย่างน้อยพวกเขาก็รักษาและสืบทอดจิตวิญญาณของสโมสรเอาไว้ได้ “ทีมนี้มีดีเอ็นเอของวิมเบิลดันอยู่” อิวอร์ เฮลเลอร์ แฟนเดนตายของวิมเบิลดันซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสโมสร และปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการฝ่ายคอมเมอร์เชียลของสโมสรกล่าว
“ผมรู้จักตัวตนของสโมสรแห่งนี้ดีตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้มาดูเกมที่สนามในช่วงต้นทศวรรษที่ 1970 ทีมของเราเป็นทีมที่จะไม่ยอมแพ้ จะไม่ยอมหยุด ยากแค่ไหนเราก็จะหาทางกลับมาได้เสมอ”
เพราะเหตุนี้เมื่อประธานสโมสรอย่างแฮมแมมตัดสินใจจะพาทีมออกจากวิมเบิลดัน การปฏิวัติของแฟนฟุตบอลจึงเริ่มต้นขึ้น
เพราะวิมเบิลดันไม่ใช่สถานที่ แต่เป็นผู้คน
แต่ถึงจะเป็นสโมสรที่ก่อตั้งโดยแฟนฟุตบอล ก็ไม่ได้แปลว่าเอเอฟซี วิมเบิลดัน จะเป็นสโมสรสมัครเล่นที่บริหารกันไม่เป็น
ในทางตรงกันข้าม พวกเขาคือสโมสรฟุตบอลในรูปแบบที่มีแฟนฟุตบอลร่วมกันเป็นเจ้าของสโมสรที่บริหารกันได้ดีที่สุด เป็นเรื่องเป็นราวมากที่สุด และเติบโตได้อย่างน่าสนใจมากที่สุด
เรียกได้ว่าสามารถนำมาถอดบทเรียนใช้เป็นกรณีศึกษาได้เลยสำหรับแฟนบอลที่เบื่อการเห็นสโมสรเปลี่ยนไปในทางที่ไม่ชอบ และอยากจะตั้งสโมสรใหม่ที่เป็นตัวแทนของความคิดถึงสโมสรเก่าที่เคยรัก
“เมื่อตอนที่เราเริ่มต้นสร้างสโมสร เราบอกว่าสโมสรแห่งนี้จะเป็นสโมสรที่บริหารกันโดยแฟนๆ ก็มีคนบอกว่าเราบ้า แต่เราก็พิสูจน์ให้พวกเขาเห็นแล้วว่าพวกเขาคิดผิด” เฮลเลอร์เล่าต่อ
พอเราบอกว่าเราจะกลับสู่ฟุตบอลลีก (ลีกฟุตบอลอาชีพที่อยู่รองจากพรีเมียร์ลีก โดยอยู่ในระดับที่ 2-4 ปัจจุบันใช้ชื่อเดอะแชมเปียนชิพ, ลีกวัน และลีกทู ตามลำดับ) ภายในเวลา 10 ปี ทุกคนก็บอกอีกว่าพวกเราบ้า มันไม่มีทางเป็นไปได้ เพี้ยน แต่เราก็ทำได้ในเวลา 9 ปี”
อย่างไรก็ดี การกลับสู่ลีกฟุตบอลอาชีพให้ได้ไม่ใช่เป้าหมายเดียวของพวกเขา
สำหรับ The Wombles ทุกคน ความฝันสูงสุดของพวกเขาคือการพาทีมกลับไปยังที่ที่พวกเขาเคยอยู่ให้ได้อีกครั้ง
ที่แห่งนั้นคือสนามฟุตบอลเก่าแก่ที่ชื่อว่าเพลาเลน (Plough Lane) รังเหย้าเก่าแก่ของสโมสรที่เคยอยู่มาตั้งแต่ปี 1912 ก่อนที่จะไปขอแชร์สนามกับคริสตัล พาเลซ ด้วยความจำเป็น เนื่องจากสนามเหย้าของพวกเขาไม่ผ่านเกณฑ์ความปลอดภัยของสนามฟุตบอลในระดับลีกสูงสุดตามรายงาน The Taylor Report ที่ให้มีการปรับปรุงสนามฟุตบอลทุกแห่งให้เป็นที่นั่งทั้งหมด หลังเกิดเหตุโศกนาฏกรรมที่สนามฮิลส์โบโรเมื่อปี 1989 เป็นเหตุให้มีแฟนบอลลิเวอร์พูลเสียชีวิตถึง 96 คน
สำหรับแฟนบอลวิมเบิลดันแล้ว ไม่เคยมีสักวันที่พวกเขารู้สึกว่าเซลเฮิร์สต์พาร์กคือบ้านเลย ต่อให้เพลาเลนเดิมจะเล็ก สกปรก หรือเปียกแฉะขนาดไหนก็ตาม ที่นั่นต่างหากที่เป็นของพวกเขาตลอดมา
ดังนั้นความฝันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับแฟนบอลวิมเบิลดันคือการที่จะได้กลับมายังบ้านของพวกเขา และนำไปสู่บทเพลงที่ขับขานในสนามเป็นระยะเวลาเกือบ 3 ทศวรรษว่า ‘The Wombles had a dream’ บทเพลงที่สื่อถึงความฝันที่จะได้กลับบ้านของพวกเขา
เรื่องที่น่ายินดีแทนคือวันนี้ความฝันของพวกเขากำลังจะสำเร็จแล้ว หลัง 29 ปีที่จากไป วิมเบิลดัน – ในนามเอเอฟซี วิมเบิลดัน – กำลังจะได้กลับสู่บ้านของพวกเขาที่เพลาเลนอีกครั้ง
ถึงแม้ว่าสนามแห่งนี้จะไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นที่เดิมเป๊ะๆ แต่ก็อยู่ห่างจากสนามเก่าๆ เน่าๆ ของพวกเขาแค่ 200 เมตร โดยเพลาเลนที่เหมือนตายแล้วเกิดใหม่ แต่ใช้หัวใจดวงเดิมเช่นเดียวกับสโมสรที่มีแฟนบอลเป็นเจ้าของเป็นสนามใหม่ที่ใช้เงินก่อสร้าง 32 ล้านปอนด์
เงินที่ได้มาจากการขายสนามเชอร์รี เรด เรคคอร์ดส ให้กับเชลซีในปี 2015 ด้วยราคา 7.5 ล้านปอนด์
การลงทุน 2.5 ล้านปอนด์ของ นิค โรบินสัน นักธุรกิจท้องถิ่น แลกกับการได้สิทธิ์หุ้น 10% ของสโมสร
และที่สำคัญที่สุดคือมันเป็นสนามที่ได้จากการร่วมลงขันของแฟนฟุตบอลทุกคน!
เพลาเลนโฉมใหม่มีความจุ 9,300 คน ใกล้เคียงกับสนามเดิม แต่มีแผนจะขอใบอนุญาตเพื่อขยายความจุเป็น 20,000 ที่นั่ง โดยจะมีผับข้างสนามที่เปิดให้บริการทุกวัน และมีพิพิธภัณฑ์ที่มีทั้งเรื่องราวความหลังครั้งเก่าและตำนานการคืนชีพของเดอะดอนส์
“ทุกครั้งที่ผมไปที่นั่น ผมจะสั่นไปทั้งตัว” วิลล์ ไนติงเกล นักเตะของทีมชุดปัจจุบันที่อยู่กับสโมสรมาตั้งแต่ 8 ขวบจนตอนนี้กลายเป็นหนุ่มวัยเบญจเพสกล่าว “ไม่เพียงแต่มันจะดูสวยงามเท่านั้น แต่มันมีความหมายยิ่งใหญ่อยู่ด้วย ครอบครัวของผมเป็นแฟนของวิมเบิลดันทุกคน และการได้เป็นส่วนหนึ่งของยุคสมัยที่จะได้กลับคืนสู่เหย้าอีกครั้งมันเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับผม”
“ตอนที่เราบอกว่าจะกลับไปที่วิมเบิลดันอีกครั้ง ทุกคนบอกว่าเราเสียสติไปแล้ว ไม่มีทางที่สโมสรที่บริหารโดยแฟนบอลจะหาเงินได้มากขนาดนั้นจนถึงขนาดจะทำให้เรื่องนี้เป็นจริงได้ แต่ก็เป็นอีกครั้งที่เราแสดงให้เห็นว่าเราทำได้” เฮลเลอร์กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ
หลังจากเกมสุดท้ายของฟุตบอลดิวิชัน 1 (ตามระบบเดิม) ในฤดูกาล 1990-91 ซึ่งวิมเบิลดันพ่ายแพ้ต่อคริสตัล พาเลซ 0-3 ด้วยการทำแฮตทริกของ เอียน ไรต์ – ดอนคาสเตอร์ โรเวอร์ส จะเป็นทีมแรกที่ได้รับเกียรติให้ลงเล่นที่เพลาเลนที่กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้งในเกมลีกวันคืนนี้
เข็มนาฬิกาที่เคยหยุดนิ่งไป 29 ปีกำลังจะกลับมาเดินอีกครั้ง
และไม่มีใครจะมีความสุขไปมากกว่าพวกเขาเหล่าแก๊งคนเพี้ยน แม้ว่าจะยังไม่มีใครได้เข้าสนามแม้แต่คนเดียวก็ตาม
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- https://www.thetimes.co.uk/edition/sport/29-years-later-wimbledon-return-home-to-plough-lane-8n9c7dx7z
- https://www.thetimes.co.uk/edition/sport/29-years-later-wimbledon-return-home-to-plough-lane-8n9c7dx7z
- จากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ยังไม่มีการอนุญาตให้แฟนฟุตบอลเข้าสนามได้ ซึ่งแม้จะน่าเศร้าในวันประวัติศาสตร์ แต่เอเอฟซี วิมเบิลดัน ก็ทำแคมเปญ #BackToPloughLane โดยการโหลดแอปพลิเคชัน MyApplause ที่จะได้ช่วยกันส่งเสียงเชียร์ ร้องเพลง หรือปรบมือให้กับนักฟุตบอลของทีมในสนาม
- นอกจากจะลงขันกันแล้ว เอเอฟซี วิมเบิลดัน ยังเป็นสโมสรที่มีแฟนบอลขอเป็นอาสาสมัครช่วยงานกันอย่างมากมาย ซึ่งซีอีโอของสโมสร โจ พาลเมอร์ เชื่อว่าเมื่อถึงเวลาที่แฟนบอลกลับมาได้จะมี ‘ปาร์ตี้’ ใหญ่อย่างแน่นอน