หากมองอย่างผิวเผิน การรวมตัวกันของกลุ่ม LGBTQIA+ (ซึ่งในที่นี้ THE STANDARD ขอใช้คำว่า กะเทย เพื่อสื่อสารตามบริบทแหล่งข่าวที่ใช้คำนี้ในเหตุการณ์) ของเมื่อคืนวันที่ 4 มีนาคม 2567 ที่ซอยสุขุมวิท 11 กรุงเทพมหานคร อาจเป็นเพียงการรวมตัวของกลุ่มคนที่มีเรื่องบาดหมางกันมาก่อน จนต้องนัดมาปรับความเข้าใจ ซึ่งลุกลามไปถึงเหตุรุนแรงทำร้ายร่างกาย
แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปถึงแก่นของเรื่องนี้ การรวมตัวกันของกะเทยไทยครั้งนี้ไม่ใช่แค่การกอบกู้ศักดิ์ศรีจากการถูกรุมทำร้าย หรือการถูกเหยียดหยามผ่านสื่อสังคมออนไลน์เท่านั้น
แต่เหตุวิวาทนี้คือผลพวงจาก ‘การลักลอบทำงานของคนต่างชาติในไทย’ ที่หนักข้อขึ้นทุกวัน
เราได้เห็นอะไรบ้างจากปรากฏการณ์ #สุขุมวิท11 #กะเทยไทยใครอย่าหยาม #วันนี้เทยไทยทำถึงมาก #ฟิลิปปินส์vsไทยแลนด์ #4มีนาวันกะเทยแห่งชาติ
THE STANDARD ได้สรุปเรื่องราวมาดังนี้
ชนวนเหตุ
เมื่อเวลาประมาณ 05.00 น. ของวันที่ 4 มีนาคม 2567 กลุ่มกะเทยไทยไปนั่งรับประทานอาหารที่ร้านแห่งหนึ่งริมถนนสุขุมวิท ใกล้สถานีรถไฟฟ้า BTS นานา บังเอิญเจอกับกลุ่มกะเทยชาวฟิลิปปินส์ที่เคยมีเรื่องกันมาก่อน
จากนั้นทั้งสองฝ่ายเกิดมีปากเสียง และเริ่มลงไม้ลงมือกันที่ด้านนอกของร้านอาหารจนถึงขั้นรุมทำร้าย โดยฝ่ายกะเทยฟิลิปปินส์รวมตัวกันประมาณ 20 คน ขณะที่ฝ่ายกะเทยไทยรวมถึงหญิงชาวไทยมี 6 คน ทำให้ฝ่ายไทยได้รับบาดเจ็บและถูกชิงทรัพย์ไป จนฝั่งผู้เสียหายไปแจ้งความที่สถานีตำรวจนครบาล (สน.) ลุมพินี
ต่อมาภาพเหตุการณ์การรุมทำร้ายครั้งนี้ได้ถูกเผยแพร่ไปในสื่อสังคมออนไลน์ โดยฝ่ายฟิลิปปินส์โพสต์คลิปข้อความในเชิงดูถูกเหยียดหยามฝ่ายกะเทยไทย ทำให้กะเทยฝั่งไทยรู้สึกถึงการถูกเหยียดหยาม และนำไปสู่การรวมพลังกะเทย
วันนี้ (5 มีนาคม) มีการเปิดเผยถึงสาเหตุการบาดหมางเพิ่มเติมระหว่างกะเทยสองฝั่งว่าเกิดอะไรขึ้นก่อนหน้านี้ โดยกลุ่มเพื่อนผู้บาดเจ็บจากเหตุ 20 ต่อ 6 เล่าว่า กลุ่มกะเทยไทยทำงานบริเวณซอยสุขุมวิท 11 มาหลายปี ต่อมากะเทยฟิลิปปินส์เข้ามาเช่าโรงแรมตรงที่เกิดเหตุและมักจะรวมตัวกันที่หน้าโรงแรม ‘ทุกคนคงจะรู้และเข้าใจว่าเขายืนทำอะไรหน้าโรงแรม’
ทุกครั้งที่กลุ่มกะเทยไทยเดินผ่านก็จะถูกกลุ่มกะเทยฟิลิปปินส์กระทืบเท้า ยกเท้าใส่ ตะโกนด่าล้อเลียนและตะโกนไล่ให้ออกจากพื้นที่ เสมือนพื้นที่ดังกล่าวเป็นของตัวเอง ซึ่งที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายเคยไกล่เกลี่ยกันที่ สน.ปทุมวัน แล้ว
4 มีนาคม วันกะเทยผ่านศึก
ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำของวันที่ 4 มีนาคม (หลังเหตุรุมทำร้าย) มีการนัดหมายจากเครือข่ายกะเทยไทยผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เซเลบ และอินฟลูเอ็นเซอร์ ให้มารวมตัวกันที่ด้านหน้าโรงแรมที่พักของกะเทยฟิลิปปินส์ ที่ซอยสุขุมวิท 11/1 และ ที่หน้า สน.ลุมพินี
จึงเกิดภาพการรวมตัวกันของฝั่งกะเทยไทยจำนวนมากประมาณ 2,000 คน ซึ่งเดินทางมาจากพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ไกลสุดมาจากอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี รวมตัวกันอย่าง ‘ตรงเวลา’ 21.00 น.
จุดประสงค์หลักในการรวมตัว
- เพื่อสะสางปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อเวลา 05.00 น. ของวันเดียวกัน (4 มีนาคม) ซึ่งมีการรุมทำร้ายกัน เสมือนการหยามศักดิ์ศรีกะเทยไทย
- เพื่อทวงคืนศักดิ์ศรีจากการดูถูกเหยียดหยามกัน ซึ่งมีมาตั้งแต่ก่อนเหตุรุมทำร้าย
- เพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลเรื่องการทำงานของชาวต่างชาติในประเทศไทย โดยเฉพาะการแย่งพื้นที่อาชีพของคนไทย
- ส่วนการรวมตัวกันที่ สน.ลุมพินี เพื่อติดตามความคืบหน้าคดีรุมทำร้าย เนื่องจากตำรวจจับกุมผู้กระทำผิดได้เพียง 2 คน จากทั้งหมดที่มี 20 คน
การรวมตัวกันอย่างต่อเนื่องทำให้เจ้าหน้าที่จาก สน.ลุมพินี และพื้นที่ใกล้เคียงสนธิกำลังกว่า 20 นาย เพื่อมาดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกในการนำตัวชาวฟิลิปปินส์ไปสอบเหตุการณ์รุมทำร้าย แต่ด้วยฝั่งกะเทยไทยรวมตัวกันมาก ทำให้ฝั่งฟิลิปปินส์ไม่ยอมเดินทางลงมาจากห้องพักเนื่องจากกลัวถูกทำร้าย
สถานการณ์ยืดเยื้อจนในที่สุดล่ามและตำรวจต้องทยอยนำตัวชาวฟิลิปปินส์ลงมา และในจังหวะนั้นได้เกิดปรากฏการณ์ความอัศจรรย์ผ่านคำพูดศัพท์กะเทยเกิดขึ้น เช่น
- รวบผม, ฝากกระเป๋า: เตรียมพร้อม
- Samba: รองเท้ายี่ห้อ adidas รุ่น Samba อุปกรณ์ในการทำร้ายร่างกาย
- การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่: เชิญตำรวจกลับ สน. ตรงนี้เป็นหน้าที่ของประชาชน
- ถอย: เดินถอยออกมาสองก้าว แต่เดินหน้าสู้สี่ก้าว
- อยากเห็นคนไทยบินได้: การกระโดดลอยตัวกลางอากาศเพื่อเข้าหาฝั่งตรงข้าม
- หอแต๋วแตกภาค 11: พชร์ อานนท์ หรือ อภิรุจ มิ่งขวัญตา ผู้กำกับภาพยนตร์ มีแนวคิดเพิ่มฉากสุขุมวิท 11 ในภาพยนตร์ภาคต่อ ‘หอแต๋วแตก แหก…’
ศึกนี้ยังไม่จบ ตำรวจกำลังสะสาง
ข้อมูล ณ วันที่ 5 มีนาคม 2567 หลังเกิดเหตุความรุนแรงขึ้น ตำรวจได้ควบคุมตัวทั้งสองฝ่ายไปที่ สน.ลุมพินี เพื่อพิจารณาดำเนินคดีเหตุการณ์ทำร้ายร่างกาย ทั้งเหตุรุมทำร้ายและการรวมตัวกันที่ซอยสุขุมวิท 11
โดยทางตำรวจเร่งตรวจสอบพยานหลักฐานจากกล้องวงจรปิดและคลิปวิดีโอที่เผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ และ Body Camera ของเจ้าหน้าที่ว่ามีใครเข้าข่ายการกระทำความผิดบ้าง
พร้อมประสานทางตำรวจท่องเที่ยวและตำรวจตรวจคนเข้าเมืองตรวจสอบการกระทำความผิดของชาวฟิลิปปินส์ว่าได้เดินทางเข้าประเทศโดยถูกกฎหมายหรืออยู่เกินกว่าระยะเวลากำหนด รวมทั้งประเด็นที่เข้ามาประกอบอาชีพค้าบริการในประเทศไทย
ในเบื้องต้นทราบว่ากลุ่มฟิลิปปินส์กลุ่มนี้เข้ามาด้วยวีซ่านักท่องเที่ยว เข้ามาพักที่โรงแรมที่เกิดเหตุเป็นหลัก แต่จะกระจายพักที่อื่นด้วย และแต่ละคนทยอยเข้ามาในประเทศไทยเวลาไล่เลี่ยกัน
ศึกนี้สะท้อนถึงระบบช่องโหว่
ปัญหากระทบกระทั่งหรือสงครามระหว่างกะเทยไทยกับกะเทยฟิลิปปินส์ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในโลกออนไลน์ในช่วงการประกวดนางงามเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นในโลกความจริงด้วย หลังจากที่มีกะเทย หรือ LGBTQIA+ ชาวฟิลิปปินส์จำนวนไม่น้อยใช้ช่องโหว่จากการฟรีวีซ่าเข้ามาประกอบธุรกิจสีเทาในไทย โดยเฉพาะการขายบริการ รวมถึงการแย่งงานแย่งลูกค้า และการก่ออาชญากรรมในรูปแบบต่างๆ จนเป็นเหตุให้ทั้งสองฝ่ายปะทะคารมกันบ่อยครั้ง
วันที่ 4 มีนาคม 2567 นอกจากจะเป็นวันที่กะเทยไทยจำนวนมากมารวมตัวกันเพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรี LGBTQIA+ ของสยามประเทศแล้ว ในอีกมิติหนึ่งยังสะท้อนถึง ‘ช่องโหว่ของกฎหมายไทย’ ที่ไม่สามารถจัดการกับปัญหาแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย รวมถึงการผลักดันให้อาชีพพนักงานบริการ (Sex Worker) เป็นอาชีพที่ถูกกฎหมายและได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆ
หากทางการไทยยังไม่สามารถจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นี่อาจไม่ใช่สงครามกอบกู้ศักดิ์ศรีครั้งเดียวและครั้งสุดท้ายระหว่างกะเทยทั้งสองประเทศ อาจมีการทำสงครามในระดับที่เป็น ‘ปรากฏการณ์’ เช่นนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต
ไม่แน่ว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้อาจจะเป็นเหมือนหมุดที่ตอกย้ำให้ปัญหาระหว่างทั้งสองฝ่ายยิ่งฝังรากลึกลงไปอีก และอาจบานปลายกลายเป็น ‘วาระแห่งชาติ’ ที่ยึดโยงอยู่กับการใช้กำลังและความรุนแรงที่มากขึ้นอีกก็เป็นได้