×

วิเคราะห์ปัญหา ‘หนี้ครัวเรือน’ เรียนรู้เศรษฐศาสตร์ผ่านหนังดังเรื่อง ‘อ้าย..คนหล่อลวง’

16.05.2021
  • LOADING...
หนี้ครัวเรือน

สำหรับบทความนี้ผมจะขอหยิบแง่มุมที่น่าสนใจจากภาพยนตร์เรื่อง อ้าย..คนหล่อลวง ออกมา ซึ่งพระเอก ทาวเวอร์ (ณเดชน์ คูกิมิยะ) เป็น 18 มงกุฎ มาร่วมมือกับนางเอก อินา (ใบเฟิร์น-พิมพ์ชนก ลือวิเศษไพบูลย์) เพื่อหาทางเอาเงินคืนจาก เพชร (แบงค์-ธิติ มหาโยธารักษ์) แฟนเก่าของอินา ที่หลอกเอาเงินของอินาไป 5 แสนบาท ทำให้อินาติดหนี้ติดสินก้อนโต โดยมีฉากหนึ่งที่น่าสนใจคือ ตอนที่ทาวเวอร์ต้องการเงินสดด่วน เพื่อนำไปใช้ในแผนหลอกเงินจากเพชร จึงต้องนำรถยนต์สปอร์ตสุดหรู Mercedes Benz E-Class Cabriolet ของตนไปขอสินเชื่อ โดยใช้ทะเบียนรถเป็นหลักประกัน ซึ่งทำให้ได้เงินสด 1 ล้านบาท มาใช้ในแผนการที่วางไว้ได้สำเร็จ

 

ธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ

ผมได้นำข้อความแนะนำสินเชื่อทะเบียนรถจากบนหน้าเว็บไซต์ของบริษัทเงินติดล้อมาดังนี้ ‘บริษัทสินเชื่อ บมจ.เงินติดล้อ พร้อมส่งต่อ ‘โอกาส’ ให้ชีวิตของทุกคนหมุนต่อได้ด้วยบริการสินเชื่อทะเบียนรถเก๋ง-กระบะ สินเชื่อที่ให้วงเงินสูง ได้เงินเร็ว อนุมัติไวแบบไม่ต้องมีคนค้ำประกัน ด้วยดอกเบี้ยที่เป็นธรรม’ ซึ่งผมได้หาข้อมูลเพิ่มเติมและพบว่า อัตราดอกเบี้ย (ที่เป็นธรรม) อยู่ที่ร้อยละ 21 ต่อปีสำหรับสินเชื่อที่มีหลักประกันเป็นทะเบียนรถ!

 

เรามาลองคิดง่ายๆ ว่า ถ้าทาวเวอร์เกิดไม่สามารถคืนเงินต้น 1 ล้านบาทที่กู้ยืมไป กับอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 21 จะทำให้ภาระหนี้สินเพิ่มเป็น 2 เท่า (2 ล้านบาท) ในระยะเวลาเพียง 3 ปี นอกจากนั้นถ้าไปดูราคาตลาดของรถสปอร์ต Mercedes Benz E-Class Cabriolet ที่นำมาเป็นหลักประกันแล้ว ไม่น่าจะต่ำกว่า 2 ล้านบาท แต่พระเอกของเราได้เงินสดไปเพียงแค่ 1 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าราคาตลาดมาก และในกรณีหากพระเอกไม่มีความสามารถในการผ่อนได้ รถถูกยึด การโดนบังคับขายรถอาจจะได้เงินไม่เพียงพอกับการล้างหนี้ทั้งหมดด้วยซ้ำ

 

เมื่อเงินติดล้อ (TIDLOR) เข้าตลาดหลักทรัพย์

ถึงตรงนี้เราคงมองเห็นแล้วว่าธุรกิจนี้เป็นธุรกิจการปล่อยสินเชื่อที่มีหลักประกันที่ได้ผลตอบแทนดอกเบี้ยที่สูงมากและความเสี่ยงต่อหนี้เสียต่ำ และจากการโปรโมตโรดโชว์ผ่านช่องทางออนไลน์ที่ทันสมัยและให้โอกาสผู้ถือหุ้นรายย่อยได้มีสิทธิ์จอง IPO ด้วย (แต่ตัวผู้เขียนไม่ได้รับการจัดสรรมาเลย) จึงทำให้มีดีมานด์สูงมากสำหรับหุ้น TIDLOR นี้ ทำให้ราคาหุ้นที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ในวันแรก ซึ่งคือวันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา กระโดดขึ้นไปถึง 55.50 บาท จากราคาจอง 36.50 บาท ส่งผลให้มูลค่าของบริษัทเกินกว่า 1 แสนล้านบาท จากยอดการปล่อยสินเชื่อเพียงประมาณ 5.1 หมื่นล้านบาทเท่านั้น

 

เมื่อเทียบกับกลุ่มธนาคาร ผมขอยกตัวอย่าง ในวันเดียวกันนั้นมูลค่าตามราคาตลาดของธนาคารไทยพาณิชย์ (ที่มี Market Cap มากที่สุดในกลุ่มธนาคาร) อยู่ที่ 3 แสนล้านบาท ถึงแม้ว่าจะมีการให้สินเชื่อกว่า 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่าสินเชื่อของเงินติดล้อกว่า 40 เท่า สะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนในตลาดหุ้นประเมินว่ากลุ่มธุรกิจอย่างเงินติดล้อมีความสามารถและประสิทธิภาพในการทำกำไรมากกว่ากลุ่มธนาคารหลายเท่ามาก

 

 

หนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 4 ปี 2563 สูงเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ร้อยละ 89.3 ของ GDP

การที่ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยมีกว่า 14.2 ล้านล้านบาท และตลาดหลักทรัพย์ยังคงมองว่าหนี้ครัวเรือนจะเติบโตต่อเนื่องอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในหมวดบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 40 ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด โดยในหมวดสินเชื่อนี้อัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิตอยู่ที่ร้อยละ 16 และของสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ร้อยละ 25 การที่ดอกเบี้ยสูงมากนี้จะส่งผลให้เกิด Debt Trap หรือกับดักหนี้ ที่ผู้กู้ไม่สามารถหลุดออกจากการเป็นหนี้ได้ เพราะการขยายตัวของหนี้สินมากกว่าความสามารถในการชำระหนี้ เสมือนเป็นระเบิดเวลาของเศรษฐกิจ หากเราไม่ได้แก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังและรวดเร็ว

 

ยิ่งในยุคโควิด-19 ดังเช่นปัจจุบันนี้ ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น คนที่ตกงาน คนที่ถูกลดชั่วโมงทำงาน ธุรกิจที่ค้าขายไม่ได้ ธุรกิจที่ถูกปิดกิจการชั่วคราว ต่างก็มีค่าใช้จ่ายมากมายเป็นประจำทั้งสิ้น ไหนจะค่าใช้จ่ายในบ้าน ค่าใช้จ่ายลูก ค่าใช้จ่ายเงินเดือนคนงาน ค่าเช่า ค่าดอก ค่าของ เมื่อรายได้ไม่มา หนี้ก็พอกพูน ยิ่งโควิด-19 ยืดเยื้อ หนี้ก็ยิ่งมาก

 

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาที่มีระดับหนี้ครัวเรือนเทียบกับ GDP ที่สูงมากในเอเชีย และเมื่อเทียบประเทศไทยกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ไทยมีระดับหนี้ครัวเรือนเทียบกับ GDP น้อยกว่าเพียงแค่สหราชอาณาจักร (96.6%) และเกาหลีใต้ (106.6%) แต่มากกว่าระดับของสหรัฐอเมริกา (69.5%) และสิงคโปร์ (67.9%) และยิ่งไปกว่านั้นสินเชื่อบ้านที่จัดว่าเป็นสินทรัพย์ที่ดีและดอกเบี้ยต่ำนั้น ของไทยเราในปัจจุบันมีเพียงร้อยละ 34 ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าทั้งสิงคโปร์ (74%) และอังกฤษ (84%) มาก

 

การที่ไทยมีหนี้ครัวเรือนระดับสูงจะเป็นการฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทย เพราะในปี 2563 การบริโภคภาคเอกชนคิดเป็นถึงร้อยละ 53 ของ GDP และอีกข้อมูลหนึ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ ประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนที่ 14.2 ล้านล้านบาท ซึ่งสูงกว่าหนี้ธุรกิจที่ 9.5 ล้านล้านบาท สะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจว่าเม็ดเงินการลงทุนจากภาคเอกชนต่ำมานาน เมื่อการอุปโภคบริโภคมากกว่าการลงทุนของภาคเอกชน จะส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลงเรื่อยๆ

 

 

ทำไมหนี้ครัวเรือนของไทยถึงสูงขึ้นอย่างมาก

ในปี 2549 หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่เพียงร้อยละ 44.4 ของ GDP แต่ในปัจจุบันใกล้ร้อยละ 90 (เพิ่มขึ้น 2 เท่า) โดยจากการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย “ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คนไทยเป็นหนี้ในวงกว้างขึ้น และมีค่ากลางมูลหนี้เพิ่มจาก 70,000 บาทต่อราย เป็น 1.28 แสนบาทต่อราย และพบว่า คนไทยยังเป็นหนี้เร็วคือเป็นหนี้ตั้งแต่อายุน้อย โดยร้อยละ 60 ของกลุ่มคนอายุ 29-30 ปีจะเป็นหนี้ โดยกลุ่มคนอายุน้อยจะมีหนี้เสียถึง 1 ใน 4 และคนไทยยังเป็นหนี้นาน แม้หลังเกษียณแล้ว” ซึ่งหนึ่งในปัจจัยสำคัญคือการดำเนินนโยบายภาครัฐที่กระตุ้นให้เกิดการกู้ยืม “ในส่วนของคนเมืองคือนโยบายรถคันแรกที่ทำให้คนที่ยังไม่พร้อมต้องมาก่อหนี้ ก่อให้เกิดหนี้เสีย และสำหรับชาวชนบทคือนโยบายพักชำระหนี้เกษตรกร ที่ทำให้เกษตรกรที่เข้าโครงการพักหนี้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2559 มีหนี้สะสมมากขึ้น และกลายเป็นหนี้เสีย มากกว่าเกษตรกรที่ไม่ได้เข้าโครงการ”

 

นอกจากนั้นการที่ทางผู้ประกอบธุรกิจ SMEs บางส่วนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงินได้ จึงต้องยอมใช้เงินกู้ผ่านบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลมาบรรเทาปัญหา ถึงแม้ว่าดอกเบี้ยจะสูงกว่ากันมาก และยังมีคนไทยอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความจำเป็นต้องก่อหนี้เพื่อนำมาใช้ในการประกอบอาชีพ เช่น คนขับรถแท็กซี่ และคนส่งอาหาร

 

 

การขาดความรู้ ความเข้าใจ ด้านการเงิน

นอกจากนั้นการที่คนไทยส่วนใหญ่ขาดความเข้าใจและทักษะทางการเงิน จึงทำให้หนี้สินเพิ่มขึ้นมากอย่างรวดเร็วแบบไม่รู้ตัว ซึ่งข้อมูลจากเครดิตบูโรชี้ให้เห็นว่า คนไทยมีจำนวนบัญชีบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลประมาณ 50 ล้านบัญชี (คนหนึ่งอาจจะมีมากกว่าหนึ่งบัญชี) นอกจากนั้นเราคงเคยเห็นโฆษณาเงินกู้ในที่ต่างๆ เช่น ร้อยละ 1 แต่เป็นการคิดดอกเบี้ยต่อเดือนไม่ใช่ต่อปี ข้อมูลจากทางเว็บไซต์บริษัทให้สินเชื่อทะเบียนรถแห่งหนึ่งระบุ คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.03 ต่อเดือน แต่เทียบเท่าอัตราที่แท้จริงคือร้อยละ 22.50 ต่อปี ซึ่งข้อมูลตรงนี้ไม่มีความโปร่งใสว่าคำนวณมาได้อย่างไร และในบางกรณีผู้บริโภคก็โดนหลอกให้ทำประกันชีวิต โดยสถาบันการเงินบางแห่งให้ข้อมูลว่าเป็นการฝากเงิน หรือโดนบังคับให้ทำประกันเพื่อจะให้เงินกู้ได้รับการอนุมัติ เป็นต้น

 

ผมขอยกอีกตัวอย่างหนึ่งไว้เพื่อเป็นการเตือนถึงอันตรายที่อาจพบได้ หากใช้บัตรเครดิตแล้วขาดความเข้าใจ สมมติว่าเราเป็นหนี้บัตรเครดิต 10,000 บาท แต่เราเลือกที่จ่ายเพียงยอดขั้นต่ำที่อยู่ที่ร้อยละ 5 ของยอดคงค้างทุกเดือน และเราใช้อัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตในปัจจุบันที่ร้อยละ 16 เชื่อหรือไม่ครับว่าต้องใช้เวลากว่า 12 ปี กว่าจะผ่อนชำระหนี้ก้อนนี้หมด และคิดเป็นเงินค่าดอกเบี้ยทั้งหมด 3,295 บาท ซึ่งตรงนี้ผมเชื่อว่าหลายคนอาจจะไม่ได้ตระหนักถึงภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นมาอย่างหนัก

 

 

แนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน

ล่าสุดผมเพิ่งได้ทราบข่าว ซึ่งนับว่าเป็นข่าวดีมากๆ ว่าทางธนาคารออมสินจะเข้ามาแข่งขันในธุรกิจจำนำทะเบียนรถ โดยเสนอดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ 14.99% ต่อปี หรือ 0.69% ต่อเดือน ซึ่งเป็นการเพิ่มการแข่งขันในตลาดนี้ และจะทำให้ภาระดอกเบี้ยสำหรับผู้มีรายได้น้อยปรับลดลง จะเป็นการลดค่าใช้จ่ายลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งผมก็หวังว่ากลไกตลาดจะทำให้เกิดความโปร่งใสและอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตไปได้ด้วยความมั่นคงและยั่งยืน

 

ปัญหาหนี้ครัวเรือนก็ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเพียงแห่งเดียว มีตัวอย่างจากต่างประเทศ เช่น ในสหราชอาณาจักรมีคนประมาณ 2 ล้านคนที่กำลังประสบปัญหาหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt) ก่อให้เกิดปัญหาต่อทั้งสุขภาพจิตและสุขภาพร่างกายกับคนจำนวนมาก หน่วยงานของรัฐบาลอังกฤษ FCA (Financial Conduct Authority) ได้ออกกฎเกณฑ์ให้สถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อบัตรเครดิต ต้องติดต่อกับกลุ่มคนที่มีหนี้เรื้อรัง (บุคคลที่จ่ายแต่ยอดขั้นต่ำมาแล้ว 18 เดือน หรือจ่ายดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมเท่ากับยอดเงินต้นที่กู้มาในตอนแรก) โดยทาง FCA บังคับให้สถาบันการเงินต้องติดต่อหาทางออกร่วมกับลูกหนี้ที่ประสบปัญหา โดยการให้ความรู้ ปรับโครงสร้างหนี้ ลดดอกเบี้ย หรือยกหนี้ให้เลย

 

ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ผมยังไม่ได้นำหนี้นอกระบบมารวม ซึ่งหนี้นอกระบบนี่ต้องถือเป็นมะเร็งร้ายที่กัดกร่อนโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างหนัก อัตราดอกเบี้ยของหนี้นอกระบบนี้อาจจะอยู่ที่ร้อยละ 3 ต่อวัน หรือมากกว่า 1,000 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ผมขอคัดข้อความจากกระทรวงยุติธรรมดังต่อไปนี้ 

 

กลุ่มอาชีพที่มีปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 

 

  1. พ่อค้าแม่ค้า เนื่องจากเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก ทำให้ต้องพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ 
  2. พนักงานรัฐวิสาหกิจ ไม่น่าเชื่อว่ากลุ่มนี้จะตกเป็นหนี้นอกระบบเช่นกัน
  3. ข้าราชการ โดยเฉพาะข้าราชการในต่างจังหวัด อย่างข้าราชการครู มีปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบ
  4. เกษตรกร มีปัญหาเรื่องเงินกู้นอกระบบอย่างรุนแรง เพราะนายทุนในพื้นที่ได้ทุกอย่าง ทั้งเครื่องมือการเกษตร อุปกรณ์การเกษตร มีสินค้าให้กู้ยืม และการทำสัญญาขายฝาก เพียงแค่เซ็นแล้วนำโฉนดที่ดินมาวางไว้เท่านั้น

 

จึงสะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาหนี้นอกระบบได้ส่งผลต่อประชาชนในวงกว้าง มีผลลบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก

 

อันที่จริงธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถมาช่วยลดปัญหาสินเชื่อนอกระบบได้ระดับหนึ่ง เพราะมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่ามาก แต่อาจจะตอบโจทย์เฉพาะกลุ่มคนที่มีหลักประกัน เช่น รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ เป็นต้น แต่สำหรับประชาชนกลุ่มอื่นอาจจะไม่มีทางเลือกมากนัก จึงเป็นอีกโจทย์หนึ่งที่สำคัญว่าจะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้เข้าถึงสินเชื่อในระบบในอนาคตอันใกล้นี้ เราจะเห็นบริษัท Fintech หลายแห่งที่จะเข้ามาแก้ Pain Point ตรงนี้ โดยเฉพาะจากกลุ่ม Crowd Funding และ P2P Lending ผมคิดว่าเราน่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

 

หากหน่วยงานของรัฐมากำกับดูแลให้เกิดความโปร่งใสและมีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาหนี้ทั้งในและนอกระบบอย่างจริงจัง ยิ่งเราสามารถนำตัวอย่างแนวทางแก้ไขจากประเทศอื่นๆ ที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกับเรามาปรับให้เข้ากับบริบทของประเทศ ผมมองว่าเราจะสามารถแก้ปัญหาได้ และถือเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยโดยไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณ ดังเช่นนโยบายเยียวยาของรัฐในหลายมาตรการที่ผ่านมา

 

ท้ายที่สุดผมขอฝากไว้ว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เปรียบเสมือนระเบิดเวลา ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วน และหากทำได้สำเร็จจะเป็นการทำให้คนไทยหลายสิบล้านคนมีความหวังขึ้นมาอีกครั้งอย่างแน่นอน

 

หมายเหตุ: บทความนี้เผยแพร่ในเพจ Bnomics

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X