ประเด็นสำคัญในคดีฆาตกรรมครั้งนี้คือ กลุ่มเด็กชาย 5 คน อายุ 14-16 ปี ก่อเหตุทำร้ายร่างกายหญิงเร่ร่อนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา จนเป็นเหตุให้ถึงแก่ชีวิต
ถ้าเส้นเรื่องของคดีมีเพียงเท่านี้ เหตุสูญเสียที่เกิดขึ้นอาจเป็นภาพสะท้อนของสังคมเรื่องความรุนแรงในเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ, ความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อผู้หญิง และความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับบุคคลเร่ร่อน
แต่ในเรื่องนี้ที่มีทั้ง ‘ลูกตำรวจ’ และ ‘แพะ’ เข้ามาเป็นเงื่อนงำ จึงทำให้คดีฆาตกรรมเพิ่มความซับซ้อนเข้าไปอีกระดับ
▪ ป้าบัวผันคือใคร เกิดอะไรกับป้าบัวผัน
ป้าบัวผัน หรือป้ากบ ชื่อจริงคือ บัวผัน เป็นหญิงวัยกลางคนอายุ 47 ปี ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านในพื้นที่ ป้าบัวผันเป็นคนเร่ร่อน ชอบดื่มแอลกอฮอล์ (เข้าขั้นติดสุราเรื้อรัง) มีบัตรผู้พิการประเภทที่ 5 คือ พิการทางสติปัญญา
▪ พฤติการณ์ในคดีตามพยานหลักฐาน สามารถลำดับได้ดังต่อไปนี้
- เวลาประมาณ 22.00 น. ของวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา ถึงเวลาประมาณ 01.00 น. ของวันที่ 11 มกราคม กลุ่มเยาวชนผู้ก่อเหตุ 5 คนนั่งรวมกลุ่มที่ริมขอบสระภายในเทศบาลเมืองอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว
- เยาวชน 2 คนเข้าไปยั่วยุป้าบัวผัน ซึ่งนั่งอยู่บริเวณหน้าร้านสะดวกซื้อ ป้าบัวผันโวยวายและปาขวดใส่เยาวชน 2 คน
- เวลาประมาณ 02.00 น. ของวันที่ 11 มกราคม กลุ่มเยาวชนขับรถมาพบป้าบัวผันที่ย้ายมานั่งหน้าร้านสะดวกซื้อห่างจากจุดเดิมประมาณ 800 เมตร พยายามให้ป้าบัวผันเดินไปหา แต่ป้าบัวผันไม่ยอมเดินไป กระทั่งเยาวชน 1 คนเข้าไปเตะที่บริเวณใบหน้าของป้าบัวผัน
- กลุ่มเยาวชนพยายามอุ้มป้าบัวผันขึ้นรถจักรยานยนต์ แต่ป้าบัวผันขัดขืนจนตกจากรถ กลุ่มเยาวชนจึงขับรถออกไปและวนกลับมาบังคับอุ้มป้าบัวผันอีกครั้งจนสำเร็จ
- ทั้งหมดมุ่งหน้าไปทางโรงเรียนแห่งหนึ่ง (เจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่าใช้เก้าอี้ฟาดไปตามร่างกายป้าบัวผันและทิ้งร่างลงในบ่อน้ำ เป็นเหตุให้ถึงแก่ชีวิต)
- เวลาประมาณ 02.40 น. ปรากฏภาพกลุ่มเยาวชนที่ร้านล้างรถหยอดเหรียญ จนถึงเวลาประมาณ 03.00 น. กลุ่มเยาวชนเข้าไปซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อสาขาอรัญประเทศ
▪ โผล่วงจรปิดไขปริศนา จุดกำเนิดแพะ
พ.ต.อ. พิเชษฐ์ ศรีจันทร์ตรา ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธร (สภ.) อรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ได้ชี้แจงในที่ประชุมชุดทำคดีที่มี พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) เดินทางมาสังเกตการณ์ด้วยตัวเองเมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา โดยลำดับเหตุการณ์หลังป้าบัวผันเสียชีวิตดังต่อไปนี้
- ช่วงบ่ายของวันที่ 12 มกราคม ตำรวจนำโดยผู้กำกับฯ ลงพื้นที่ทำคดี สอบถามชาวบ้านในที่เกิดเหตุ จนทราบข้อมูลของผู้เสียชีวิต (ป้าบัวผัน) จากนั้นจึงถามว่าปกติแล้วป้าบัวผันมีข้อขัดแย้งกับใครหรือไม่
- มีชาวบ้านให้ข้อมูลว่า “ป้าบัวผันเป็นคนเร่ร่อน ปกติแล้วจะอยู่กับลุงเปี๊ยก (ปัญญา) บ่อยครั้งที่เห็นทะเลาะกับลุงเปี๊ยก ชายที่เร่ร่อนด้วยกัน เรื่องเงินซื้อเหล้า มีบางครั้งพอเมาทั้งคู่ก็มาทะเลาะกัน”
- ในที่เกิดเหตุระหว่างตำรวจรวบรวมพยานหลักฐานก็ได้พบกับลุงเปี๊ยก จึงได้เชิญตัวมาที่ สภ.อรัญประเทศ เพื่อถามข้อมูลเพิ่มเติม ขณะนั้นยังไม่มีการใส่เครื่องพันธนาการ เป็นเพียงการเชิญตัวมาพูดคุยที่ด้านหน้า สภ.
- พ.ต.อ. พิเชษฐ์ ระบุว่า วันแรกของการเชิญตัวมา ลุงเปี๊ยกยังคงอยู่ในอาการเมาสุรา แต่สามารถเล่าเหตุการณ์ที่เกิดได้ ซึ่งบอกว่า “ได้ก่อเหตุกับป้าบัวผันจริง” ตำรวจจึงต้องคุมตัวเพื่อสอบปากคำอีกครั้งตอนที่ลุงเปี๊ยกสร่างเมา
- ระหว่างนั้นชุดสืบสวนออกไปรวบรวมหลักฐานตาม ‘คำบอกเล่าของลุงเปี๊ยก’ และ ‘ผลตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันช่วงเวลาเสียชีวิต 8-12 ชั่วโมงที่ผ่านมา’
- ผลที่ได้จากการรวบรวมข้อมูลหลักฐานคือ ภาพวงจรปิดตามสถานที่และเส้นทางตามคำบอกเล่า ซึ่งเมื่อชุดสืบสวนค้นหาตามกรอบเวลา 8-12 ชั่วโมงที่ผ่านมา กลับไม่พบสิ่งผิดปกติหรือแม้แต่ตัวลุงเปี๊ยกเอง
- วันที่ 13 มกราคม ตำรวจพูดคุยกับลุงเปี๊ยกอีกครั้งพร้อมทนายความ หลังจากให้นอนพักที่ สภ. มา 1 คืน เพื่อให้หายจากอาการมึนเมา ปรากฏว่าลุงเปี๊ยกยังคงยืนยันคำสารภาพเดิม และเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานตรวจพบคราบเลือดมนุษย์ที่กางเกงของลุงเปี๊ยก
- หลังทำแผนประกอบคำรับสารภาพ เวลาประมาณ 12.18 น. ลุงเปี๊ยกถูกนำตัวขอฝากขังที่ศาลจังหวัดสระแก้ว เจ้าหน้าที่กลับมารวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม โดยขยายกรอบเวลาและสถานที่ค้นหา จนกระทั่งพบ ‘ภาพวงจรปิดเยาวชน 5 คนลงมือก่อเหตุกับป้าบัวผัน’
- เวลาประมาณ 12.41 น. ตำรวจพิสูจน์ทราบตัวผู้ก่อเหตุจนได้ข้อมูลที่แน่ชัด จึงไปขอปล่อยตัวลุงเปี๊ยกในเวลา 14.00 น.
▪ ลูกชายนายตำรวจน้ำดี
นอกจากการไล่ลำดับเหตุการณ์แล้ว พ.ต.อ. พิเชษฐ์ ได้ระบุถึงนายตำรวจที่เป็นพ่อของหนึ่งในเยาวชนที่ก่อเหตุครั้งนี้ โดยระบุว่า
- วันที่ 13 มกราคม นายตำรวจรายนี้ซึ่งเป็นรองสารวัตรสืบสวนของ สภ.อรัญประเทศ ได้เห็นภาพวงจรปิดจากในกลุ่มไลน์ของชุดสืบฯ จึงได้ยืนยันกับลูกชายว่าเป็นผู้ก่อเหตุหรือไม่ ซึ่งขณะนั้นทั้งครอบครัวอยู่ระหว่างไปพักผ่อนที่จังหวัดนครราชสีมา ทางบุตรชายรับสารภาพ
- วันที่ 14 มกราคม จึงพาลูกชายเข้ามอบตัว พร้อมช่วยติดต่อเยาวชนในกลุ่มอีก 4 คน
- วันที่ 15 มกราคม มีคำสั่งจากส่วนกลางให้ย้ายนายตำรวจรายนี้ไปช่วยราชการที่ ศปก.ของจังหวัดสระแก้ว เพื่อไม่ให้เป็นที่ครหาของสังคมว่าช่วยเหลือคนในครอบครัว
พ.ต.อ. พิเชษฐ์ ยังกล่าวยืนยันด้วยว่า นายตำรวจรายดังกล่าวไม่มีการยุ่งในคดีแน่นอน และที่ผ่านมาก็เป็นตำรวจน้ำดี
ทั้งนี้ มีข้อมูลว่า ใน 5 เยาวชนที่ก่อเหตุ มี 1 คนเป็นลูกของรองสารวัตรสืบสวน สภ.อรัญประเทศ ส่วนอีก 1 คนเป็นลูกของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง
▪ ลุงเปี๊ยก…แพะแบบ (ไม่) ตั้งใจ
ลุงเปี๊ยก หรือปัญญา เป็นที่รู้จักของชาวบ้านละแวกนั้นว่าคือสามีของป้าบัวผัน มีอาการติดเหล้า จากคำบอกเล่าของชาวบ้าน ลุงเปี๊ยกเป็นคนเดียวที่มีปากเสียงกับป้าบัวผัน เพราะเรื่องเหล้า
โดยก่อนที่วงจรปิดเยาวชน 5 คนจะปรากฏต่อสังคม ลุงเปี๊ยกเป็นผู้ต้องหาเพียงคนเดียวในคดีฆาตกรรมนี้ เพราะพยานแวดล้อมต่างชี้มาที่ลุง เพราะว่าลุงเคยมีปากเสียงกับผู้เสียชีวิต ประกอบกับที่ตัวลุงเองบอกเล่าวิธีการ ขั้นตอน และการก่อเหตุ รวมทั้งทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ได้อย่างถูกต้องด้วย
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังมีภาพวงจรปิดปรากฏออกมา เปรียบเหมือนการล้มกระดานใหม่ทั้งหมด ลุงเปี๊ยกไม่ปรากฏว่าเกี่ยวข้องในเหตุการณ์นี้ในช่วงใดเลย และตัวของลุงเองก็ระบุเพียงว่า “ลุงเมา เห็นอะไรก็แต่งเป็นเรื่อง เพราะอยากให้เรื่องนี้จบ ชาวบ้านก็พูดกันว่าลุงทำ ลุงเลยรับว่าทำให้มันจบๆ ไป”
ทำให้สังคมเกิดคำถามว่า
- ถ้าลุงไม่ได้ทำ ทำไมเล่าเหตุการณ์ได้เป็นฉากๆ
- ถ้าลุงไม่ได้ทำ ทำไมต้องสารภาพว่าทำ
- ลุงโดนข่มขู่ มีคนเขียนบทให้หรือไม่
- ลุงถูกถุงดำคลุมหัว บีบให้สารภาพหรือไม่
ซึ่งวันนี้ (18 มกราคม) ในรายการ โหนกระแส พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ได้ให้สัมภาษณ์ภายหลังจากที่เดินทางไปสอบถามลุงเปี๊ยกที่ศูนย์พักพิงคนไร้ที่พึ่งอีกครั้ง ถึงที่มาและสาเหตุการรับสารภาพ จนนำมาสู่ความกระจ่างต่อทุกคำถามของสังคม เพราะลุงเปี๊ยกยอมรับแล้วว่า ‘ถูกตำรวจคลุมถุงดำ ข่มขู่ให้รับผิด’
▪ กลุ่มตังค์ไม่ออก แก๊งเด็กถิ่นอรัญประเทศ
มีการเปิดเผยว่า 5 เยาวชนที่ก่อเหตุในคดีนี้ทั้งหมดเป็นสมาชิกในกลุ่มวัยรุ่นที่อาศัยอยู่ในอำเภออรัญประเทศ โดยตั้งชื่อว่า ‘ตังค์ไม่ออก’ มีที่มาจากการรวมกลุ่มกันเพื่อดื่มน้ำกระท่อม สูบกัญชา แต่มีบางคนในกลุ่มไม่ออกเงินซื้อของ
สำหรับสมาชิกในกลุ่มมี 20 คน อายุตั้งแต่ 13-17 ปี บางคนออกจากระบบการศึกษาแล้ว และมีรายงานว่าเมื่อปี 2565 สมาชิกในกลุ่มได้ก่อเหตุทะเลาะวิวาทถึงขั้นฝ่ายตรงข้ามเสียชีวิต
ซึ่งหลังจากวันนี้ (18 มกราคม) ตำรวจจะเรียกตัวสมาชิกในกลุ่มมาสอบปากคำเพิ่มเติม พร้อมปราบปรามไม่ให้ไปก่อเหตุอาชญากรรมใดๆ ได้อีก
คดีป้าบัวผันเป็นหนึ่งในเหตุอาชญากรรมที่เกิดจากกลุ่มเยาวชนกลุ่มหนึ่งที่ต้องไปพิสูจน์ทราบกันต่อในขั้นตอนของกฎหมาย ว่าการก่อเหตุนั้นรู้ผิดชอบชั่วดีมากน้อยแค่ไหน ถึงได้ลงมือกับบุคคลที่อยู่ในสภาวะไร้ทางสู้ได้
ขณะเดียวกันคดีป้าบัวผันก็เป็นหนึ่งในหลายคดีที่สะท้อนให้เห็นแล้วว่า แม้บ้านเมืองจะมีกฎหมาย มีผู้รักษากฎหมาย แต่สุดท้ายก็ยังมีเรื่องของความโหดเหี้ยมและอยุติธรรมแฝงตัวอยู่เสมอ ยังไม่นับรวมถึงเรื่อง ‘ลูกตำรวจ’ และ ‘แพะ’ ที่จะต้องหาคำตอบกันต่อไปว่าเป็นจริงตามที่สังคมตั้งข้อครหาไว้หรือไม่