×

ชิงเก้าอี้กรรมาธิการ สว. ไม่จบจนนาทีสุดท้าย ‘สีน้ำเงิน’ กินรวบได้จริงหรือไม่?

23.09.2024
  • LOADING...

การชิงเก้าอี้กรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภา ชุดที่ 13 ใกล้จะถึงที่สุดแล้ว ล่าสุดวันนี้ (23 กันยายน) ที่ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นชอบให้ตั้งกรรมาธิการสามัญทั้ง 21 คณะ ด้วยรายชื่อตามที่คณะกรรมาธิการสามัญเพื่อสรรหาสมาชิกให้ดำรงตำแหน่งกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาได้พิจารณามานำเสนอ

 

อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมมีเสียงทักท้วงจาก สว. เสียงข้างน้อย เนื่องจากมีข้อสังเกตว่า การสรรหา สว. มาดำรงตำแหน่งต่างๆ ในกรรมาธิการแต่ละคณะ อาจไม่ยึดโยงกับทั้ง 20 กลุ่มสาขาอาชีพของ สว. 

 

ยกตัวอย่างเช่น สว. จากกลุ่มเกษตรกร ควรมีความเหมาะสมได้รับการสรรหาเป็นกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ เพราะมีประสบการณ์และคุณสมบัติตรงตามหน้าที่ของกรรมาธิการ แต่ สว. จากกลุ่มอาชีพอื่นกลับได้รับการสรรหาเข้าไปแทน จนถูกมองว่า ‘ผิดฝาผิดตัว’

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

เลือกกันเอง คะแนนน้อยเขี่ยออก

 

หลังจากเริ่มปฏิบัติหน้าที่มาได้ระยะหนึ่งก็เห็นได้ชัดเจนว่าวุฒิสภาชุดนี้แบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน คือ ‘สว. สีน้ำเงิน’ หรือกลุ่มที่ยึดโยงกับพรรคการเมืองหนึ่ง ครองเสียงข้างมากเบ็ดเสร็จกว่า 150 คน ไม่ว่ามติใดก็อาศัย ‘ปริมาณ’ ของฝ่ายตนเอง ทำให้บรรลุไปได้เสมอ

 

ขณะเดียวกัน สว. ที่เป็นเสียงข้างน้อย ก็พลอยต้องผนึกกำลังเป็นอีกกลุ่มหนึ่งมาถ่วงดุลเพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน แม้จะโอกาสน้อย ประกอบไปด้วย ‘สว. อิสระ’ และกลุ่ม ‘สว. พันธุ์ใหม่’ รวมกันแล้วด้วยตัวเลขที่ยังไม่นิ่งอยู่ที่ 30-40 คน 

 

ปริมาณที่ต่างกันของ สว. แต่ละกลุ่ม ส่งผลชัดเจนตั้งแต่การเลือกประธานวุฒิสภาและรองประธาน ตลอดจนถึงการเลือกกรรมาธิการและประธานกรรมาธิการแต่ละคณะ ซึ่งใช้วิธีเปิดโอกาสให้ สว. แสดงเจตจำนงเข้ามาเป็นกรรมาธิการโดยสมัครใจ จนครบกรรมาธิการละ 18 คน ตามที่ข้อบังคับกำหนดไว้

 

อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวว่า การเลือกกรรมาธิการในแต่ละคณะมีการต่อรองกันจนจบด้วยดี ไม่มีข้อขัดแย้ง และได้วางตัวประธานกรรมาธิการในแต่ละคณะไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็น สว. จากสายสีน้ำเงินทั้งสิ้น

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

ทว่าเหลือเพียงกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ยังตกลงกันไม่ได้ และแข่งขันกันอย่างดุเดือดที่สุด เนื่องจากมีผู้สมัครเข้ามามากที่สุดถึง 23 คน มีการเกณฑ์คนจากสายเดียวกันมาสมัครเพื่อให้อีกฝ่ายแพ้คะแนน 

 

ผู้สมัครทั้ง 23 คนจึงต้องโหวตเลือกกันเองให้เหลือ 18 คน ผู้มีคะแนนน้อยก็จะถูกคัดออกก่อน เช่น นันทนา นันทวโรภาส สว. ที่หลุดจากการแข่งขันไปก่อน ทำให้ สว. ในกลุ่มเสียงข้างน้อย และ สว. สีน้ำเงิน เหลือจำนวน 9 คน เท่ากัน จึงไม่สามารถวางตัวประธานคณะกรรมาธิการได้ และต้องแข่งขันกันต่อในด่านสุดท้าย

 

“ดิฉันสื่อสารและทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาการเมืองมาโดยตลอด แต่ถูกโหวตออกจากคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ ได้คนที่ขายหมูเข้ามา” นันทนากล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน

 

แดง กองมา (ซ้าย) สว. ที่แนะนำตัวเองว่ามีอาชีพขายหมู เป็นหนึ่งในกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

แย่งชิงเก้าอี้ตั้งแต่นอกถึงในห้องประชุม

 

ในวันพุธ (24 กันยายน) จะไม่มีการประชุมวุฒิสภา เพื่อให้กรรมาธิการทั้ง 21 คณะเข้าประชุมนัดแรกโดยพร้อมเพรียงกัน ซึ่งตามปกติจะมีเพียงวาระเดียวคือ การแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ ในคณะกรรมาธิการ เช่น ประธานคณะกรรมาธิการ, รองประธาน, เลขานุการ, โฆษก และอื่นๆ

 

ขณะที่กรรมาธิการทั้ง 20 คณะ ซึ่งได้วางตัวบุคคลที่จะเป็นประธานไว้เรียบร้อยแล้ว และเป็น สว. สีน้ำเงิน ทั้งหมดนั้น ก็ไม่น่าจะมีอะไรพลิกโผผิดคาด เหลือเพียงการตกลงกันเพื่อแต่งตั้งตำแหน่งอื่นๆ 

 

แต่คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ ยังต้องขับเคี่ยวกันจนถึงที่สุด แม้ประตูห้องประชุมจะปิดลงแล้วก็ตาม เนื่องจากคะแนนเสียง 2 ฝ่ายที่เท่ากัน ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานจากแต่ละกลุ่มจึงยังต้องแข่งขันกันต่อ ได้แก่

 

  • นิฟาริด ระเด่นอาหมัด อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จากกลุ่ม สว. สีน้ำเงิน 
  • อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จากกลุ่ม สว. พันธุ์ใหม่

 

สำหรับการประชุมกรรมาธิการนัดแรกนั้น ตามข้อบังคับจะต้องให้ สว. ที่มีอายุมากที่สุดในที่ประชุมมาเป็นประธานชั่วคราว ซึ่งนิฟาริดเป็น สว. ที่อาวุโสที่สุด ด้วยอายุ 69 ปี ขณะที่อังคณาอายุ 68 ปี และหากในการลงคะแนนเลือกประธานนั้นมีการลงคะแนนเท่ากัน ประธานชั่วคราวมีสิทธิลงคะแนนได้อีกครั้งเพื่อเป็นเสียงชี้ขาด จึงต้องจับตาว่านิฟาริดจะลงคะแนนเลือกตัวเองหรือไม่

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

เปิดชื่อ สว. ผู้ได้รับการวางตัวเป็นประธานกรรมาธิการ

 

สำหรับรายชื่อ สว. ที่ได้รับการวางตัวเป็นประธานกรรมาธิการทั้ง 20 คณะ และอีก 1 คณะที่ยังต้องลุ้นกันต่อ ประกอบด้วย

 

  1. พล.อ. สวัสดิ์ ทัศนา สว. กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง ประธานคณะกรรมาธิการการทหารและความมั่นคงของรัฐ

 

  1. ธวัช สุระบาล สว. กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง ประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ 

 

  1. ชีวะภาพ ชีวะธรรม สว. กลุ่มสิ่งแวดล้อม ประธานคณะกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

  1. กมล รอดคล้าย สว. กลุ่มการศึกษา ประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

 

  1. พล.ต.ท. บุญจันทร์ นวลสาย สว. กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมายและการยุติธรรม

 

  1. กัมพล สุภาแพ่ง สว. กลุ่มอาชีพด้านการท่องเที่ยว ประธานคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง

 

  1. ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค ยังต้องรอเลือกระหว่าง นิฟาริด ระเด่นอาหมัด สว. กลุ่มการศึกษา และ อังคณา นีละไพจิตร สว. กลุ่มภาคประชาสังคม

 

  1. ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล สว. กลุ่มการสาธารณสุข ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข

 

  1. พรเพิ่ม ทองศรี สว. กลุ่มอาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประธานคณะกรรมาธิการพลังงาน 

 

  1. พล.ต.ท. ยุทธนา ไทยภักดี สว. กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง ประธานคณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน

 

  1. วิวรรธน์ ไกรพิสิทธิ์กุล สว. กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา ประธานคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม

 

  1. วุฒิชาติ กัลยาณมิตร สว. กลุ่มอาชีพด้านการท่องเที่ยว ประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม

 

  1. อภิชาติ งามกมล สว. กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง ประธานคณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น 

 

  1. วราภัสร์ ไพพรรณรัตน์ สว. กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส และความหลากหลายทางสังคม 
  2. พิศูจน์ รัตนวงศ์ สว. กลุ่มอาชีพด้านการท่องเที่ยว ประธานคณะกรรมาธิการท่องเที่ยวและกีฬา

    16. นิเวศ พันธ์เจริญวรกุล สว. กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น ประธานคณะกรรมาธิการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม

 

  1. นิรัตน์ อยู่ภักดี สว. กลุ่มอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศ

 

  1. เอมอร ศรีกงพาน สว. กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา ประธานคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม

 

  1. ชินโชติ แสงสังข์ สว. กลุ่มลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน

 

  1. พล.ต.ต. ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว. กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ประธานคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ การป้องกันและปราบปรามการทุจริต

 

  1. อลงกต วรกี สว. กลุ่มอื่นๆ ประธานคณะกรรมาธิการติดตามการบริหารงบประมาณ
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising