พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนตุลาคม 2563 ลดลง 0.50% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมองว่าปรับตัวดีขึ้นจากเดือนกันยายน 2563 ที่ลดลง 0.70% เพราะราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดที่ปรับสูงขึ้น จากความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศยังมีต่อเนื่อง โดยเนื้อสัตว์และผลผลิตพืชผักเจอผลกระทบจากอุทกภัยหลายพื้นที่ ขณะที่ราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานยังหดตัวต่อเนื่อง แต่มีทิศทางหดตัวน้อยลงบ้าง
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2563 ที่ติดลบ 0.7-1.5% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ -1.1% จากการคาดหวังว่าอัตราเงินเฟ้อเดือนพฤศจิกายน 2563 จะมีแนวโน้มหดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนหน้า จากความต้องการอุปโภคบริโภคภายในประเทศที่น่าจะปรับตัวสูงขึ้น เพราะมีผลมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ มาเพิ่มกำลังซื้อและกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงที่เหลือของปี
ขณะที่เงินเฟ้อจะปรับตัวดีขึ้น (หดตัวน้อยลง) จากราคาอาหารสดบางชนิด เช่น เนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้สด ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน จากปริมาณการผลิตที่ลดลง และความต้องการตลาดที่สูงขึ้น รวมถึงฐานราคาในปีก่อนอยู่ในระดับต่ำ
ขณะที่ช่วงที่เหลือนี้ ต้องติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานที่ยังอยู่ระดับต่ำ ซึ่งอาจกดดันต่อเงินเฟ้อ
ขณะที่เดือนตุลาคม 2563 จะเห็นว่า ราคาสินค้าในหมวดข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ไข่ และผลิตภัณฑ์นม, หมวดเคหสถาน, หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ปรับตัวลดลง โดยส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน (เงินเฟ้อทั่วไปที่หักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว) สูงขึ้น 0.19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
“เงินเฟ้อในเดือนนี้ (ตุลาคม) ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดด้านอุปสงค์และอุปทานในประเทศ โดยด้านอุปสงค์สะท้อนจากรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ตามราคาสินค้าเกษตรสำคัญ โดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน ผักสด สุกร และยางพารา ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในประเทศยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง ส่งผลให้ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มโดยรวมกลับมาเป็นบวกอีกครั้งในรอบ 3 เดือน” พิมพ์ชนกกล่าว
ด้านดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนตุลาคม 2563 ยังลดลง 0.9% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า และเมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2563 (ลดลง 1.3%) ถือว่าดีขึ้นเล็กน้อย มาจากราคาสินค้าในหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และผลิตภัณฑ์จากเหมือง ขณะที่หมวดผลผลิตเกษตรกรรมยังคงขยายตัวได้ดี โดยดัชนีราคาผู้ผลิตเฉลี่ย 10 เดือน (มกราคม-ตุลาคม) ลดลง 1.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ด้านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนตุลาคม 2563 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 44.6 จากระดับ 45.1 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการปรับตัวลดลงทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต
ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวลดลงจากระดับ 37.2 มาอยู่ที่ระดับ 36.4 คาดว่ามาจากความกังวลต่อการระบาดของโควิด-19 รอบ 2, การเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่, การสิ้นสุดของมาตรการพักชำระหนี้ และสถานการณ์ทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตยังอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง (สูงกว่าระดับ 50) ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทั้งโดยรวม ปัจจุบัน และอนาคตในเดือนนี้ สอดคล้องและมีทิศทางเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล