องค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือ ILO เปิดเผยรายงานผลวิจัยล่าสุด ชี้ผลกระทบจากการล่มสลายของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิดทั่วโลก ส่งผลให้ 5 ประเทศในเอเชีย ได้แก่ ไทย, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, บรูไนและมองโกเลีย ต้องสูญเสียการจ้างงานในภาคธุรกิจท่องเที่ยว เฉพาะในปี 2020 มากถึง 1.6 ล้านตำแหน่ง
โดยข้อมูลจากทั้ง 5 ประเทศ ยังพบว่าจำนวนคนตกงานในธุรกิจท่องเที่ยวช่วงปี 2020 นั้นสูงกว่าภาคธุรกิจอื่นๆ ถึง 4 เท่า ซึ่งกลุ่มแรงงานผู้หญิงนั้นได้รับผลกระทบหนักกว่าผู้ชาย ขณะที่มีตำแหน่งงานจำนวนมากที่มีความเกี่ยวข้องทางอ้อมกับธุรกิจท่องเที่ยว ทำให้คาดว่าตัวเลขประมาณการที่แท้จริงของผลกระทบจากวิกฤตโควิดต่อธุรกิจท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชีย น่าจะมีจำนวนสูงกว่านี้มาก
ขณะที่ ชิโฮโกะ อาซาดะ มิยากาวา ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ และผู้อำนวยการองค์การแรงงานระหว่างประเทศประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ชี้ว่าผลกระทบจากวิกฤตโควิดที่มีต่อธุรกิจท่องเที่ยวในเอเชียและแปซิฟิกนั้นไม่ต่างอะไรจากหายนะ
“ถึงแม้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคจะให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนอย่างมาก และออกแบบยุทธศาสตร์ต่างๆ เพื่อค่อยๆ เปิดพรมแดนได้อีกครั้ง แต่ตำแหน่งงานและชั่วโมงการทำงานในภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวสำหรับประเทศแถบเอเชียแปซิฟิกในปีหน้า ยังมีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าตัวเลขในช่วงก่อนเกิดวิกฤต” อาซาดะ มิยากาวา กล่าว
รายงานของ ILO ระบุว่า ผลกระทบของวิกฤตโควิดต่อการจ้างงานในภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยนั้นลดลง แต่ยังมีการหดตัวของค่าแรงและชั่วโมงการทำงาน รวมถึงตำแหน่งงานในภาคธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งค่าแรงโดยเฉลี่ยในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวลดลงประมาณ 9.5%
บรูไนเป็นประเทศที่มีการจ้างงานลดลงมากที่สุดกว่า 40% และมีชั่วโมงทำงานลดลงเฉลี่ยกว่า 21% ส่วนฟิลิปปินส์ พบว่า อัตราการจ้างงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวลดลง 28% ในขณะที่ชั่วโมงการทำงานลดลงเฉลี่ย 38%
ส่วนในเวียดนาม ค่าแรงในภาคธุรกิจท่องเที่ยวโดยรวมลดลงเฉลี่ย 18% และสำหรับแรงงานผู้หญิงมีค่าแรงลดลงกว่า 28% ขณะที่มองโกเลีย มีอัตราการจ้างงานและชั่วโมงทำงานในธุรกิจท่องเที่ยวลดลงเฉลี่ย 17% และ 13% ตามลำดับ
ทั้งนี้ ข้อมูลของ Capital Economics พบว่า จำนวนผู้เดินทางไปยังประเทศเอเชียส่วนใหญ่ลดลงกว่า 99% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด ซึ่งในปี 2019 มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกราว 291 ล้านคน และสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจสูงถึง 875 พันล้านดอลลาร์
ขณะที่ ซารา เอลเดอร์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ ILO และผู้เขียนรายงานฉบับนี้ ระบุว่า วิกฤตและแนวโน้มการฟื้นตัวที่ช้าในระยะเวลาอันใกล้นี้ จะส่งผลให้ประเทศที่ต้องพึ่งพาการท่องเที่ยว ต้องพิจารณาวิธีอื่นๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจของตน
“การฟื้นตัวจะใช้เวลา แรงงานและผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบ จะยังคงต้องการความช่วยเหลือเพื่อทดแทนรายได้ที่สูญเสียไปและรักษาทรัพย์สินไว้” เอลเดอร์กล่าว พร้อมทั้งชี้ว่า “รัฐบาลของประเทศต่างๆ ควรดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุน ในขณะที่พยายามเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนทุกกลุ่มรวมถึงแรงงานต่างด้าว”
ภาพ: Photo by Phobthum Yingpaiboonsuk/SOPA Images/LightRocket via Getty Images
อ้างอิง: