×

ฎีกายืน ‘โตโต้’ ปิยรัฐ พร้อมพวก คุก 4 เดือน ปรับ 4 พันบาท คดีบัตรออกเสียงประชามติฯ ปิยบุตร ให้กำลังใจ

โดย THE STANDARD TEAM
21.07.2020
  • LOADING...

วันนี้ (21 กรกฎาคม) ที่ศาลจังหวัดพระโขนง ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีฉีกบัตรออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ ปี 2560 คดีหมายเลขดำ 5952/2559 ที่พนักงานอัยการพระโขนงเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ปิยรัฐ จงเทพ หรือ โตโต้ อดีตผู้สมัคร ส.ส. เขต 1 จังหวัดกาฬสินธุ์ พรรคอนาคตใหม่ และอดีตนายกสมาคมเพื่อเพื่อน, จิรวัฒน์ เอกอัครนุวัฒน์ และ ทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ เป็นจำเลยที่ 1-3 ข้อหาทำลายเอกสารผู้อื่น ในประการที่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188, 358 และข้อหาทำลายบัตรออกเสียงตาม พ.ร.บ. ประชามติฯ มาตรา 59 รวมทั้งต่อมาได้แจ้งเพิ่มเติมในข้อหาก่อความวุ่นวายในหน่วยลงคะแนน ตามมาตรา 60 (9) ของ พ.ร.บ. ประชามติฯ 

 

จำเลยทั้งสามเดินทางมาศาล พร้อมด้วย ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ร่วมฟังคำพิพากษา นอกจากนี้ยังมีประชาชนผู้รักประชาธิปไตยมาร่วมให้กำลังใจด้วย

 

ปิยบุตรกล่าวว่า เดินทางมาให้กำลังใจทั้งสามคนซึ่งเป็นนักกิจกรรม ผู้รักประชาธิปไตยที่เห็นถึงความไม่ชอบธรรมของการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2560 และแสดงออกอย่างสันติ เป็นอารยะขัดขืน หรือที่เรียกว่าการดื้อแพ่งพลเมือง เพื่อประท้วงต่อกระบวนการและกฎหมายที่เป็นอยู่ พร้อมทั้งยอมถูกดำเนินการตามกฎหมาย 

 

“ผมเห็นว่าการทำประชามติครั้งนั้นไม่ได้มาตรฐาน เสรีภาพของฝ่ายที่ไม่อยากรับรัฐธรรมนูญรณรงค์ได้อย่างจำกัด ทุกวันนี้ยังมีคดีจำนวนมากค้างคาอยู่ในศาล ผมเห็นว่าในเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการออกเสียงประชามติและประกาศใช้แล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องคงคดีจากการประชามติเอาไว้ ตรงกับข้ามยิ่งเป็นสัญลักษณ์ให้เห็นว่าการประชามติมีปัญหา และแสดงถึงความไม่ชอบธรรมของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย” เลขาธิการคณะก้าวหน้ากล่าว 

 

คดีฉีกบัตรออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ ปี 2560 เกิดจากกรณีเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ปิยรัฐเดินทางไปยังคูหาลงคะแนนเสียงที่เขตบางนาและฉีกบัตรลงคะแนน พร้อมกับตะโกนถ้อยคำของ ครูครอง จันดาวงศ์ ว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” เพื่อแสดงออกว่าไม่ยอมรับการลงประชามติที่ปราศจากความชอบธรรม ภายใต้การใช้อำนาจควบคุมการแสดงออกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยทรงธรรมกับจิรวัฒน์เป็นผู้ถ่ายคลิปวิดีโอการฉีกบัตรดังกล่าว

 

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2560 พิพากษาลงโทษปิยรัฐ จำเลยที่ 1 ฐานทำลายบัตรออกเสียงและทำให้เสียทรัพย์ โดยเป็นการกระทำเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานทำให้เสียทรัพย์ จำคุก 4 เดือน ปรับ 4,000 บาท จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 2 เดือน ปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกรอลงอาญา 1 ปี ข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง และยกฟ้องจำเลยที่ 2 และ 3 ทุกข้อกล่าวหา

 

ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2561 พิพากษาแก้เป็นปิยรัฐ จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานทำลายบัตรออกเสียง และก่อความวุ่นวายในที่ออกเสียง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานก่อความวุ่นวาย ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนัก ส่วน จิรวัฒน์ จำเลยที่ 2 และ ทรงธรรม จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานก่อความวุ่นวาย ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 6 เดือน ปรับคนละ 6,000 บาท จำเลยทั้งสามให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 4 เดือน ปรับคนละ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี 

จำเลยทั้งสามยื่นฎีกาต่อศาลฎีกา 

 

ขณะที่วันนี้ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วที่จำเลยที่ 1 ฎีกาถึงการฉีกบัตรประชามติ กระทำขณะยังไม่ทำเครื่องหมายลงคะแนนนั้น ตาม พ.ร.บ. ประชามติฯ บัญญัติโทษทำลายบัตรให้ชำรุดเสียหาย โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท แค่เพียงทำลายก็ถือเป็นความผิดแล้ว

 

ส่วนกระทำความผิดฐานก่อความวุ่นวายหรือไม่ โจทก์มีกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเบิกความสอดคล้องกัน ตั้งแต่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อ ตำรวจเห็นจำเลยที่ 2-3 ถ่ายภาพ จึงเชิญจำเลยที่ 2-3 ออกไปจากหน่วย จากนั้นจำเลยที่ 1 รับบัตรแล้วเดินอ้อมคูหา ก่อนหยุดที่หน้าหีบบัตร และตะโกนว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ก่อนฉีกบัตรและขยำทิ้งลงพื้น โดยมีจำเลยที่ 2-3 บันทึกคลิปเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจสอบเฟซบุ๊กจำเลยที่ 2-3 พบว่า มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอดังกล่าว จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 2-3 ร่วมรู้เห็นด้วย ที่จำเลยที่ 2-3 นำสืบว่าไม่รู้เห็น ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง จึงเป็นความผิดฐานก่อความวุ่นวายฯ ตาม พ.ร.บ. ประชามติฯ

 

สำหรับที่จำเลยที่ 1-3 ฎีกาว่าเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตตามระบอบประชาธิปไตย ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนั้น สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่รับรอง ใช้ได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีและไม่ขัดกฎหมาย

 

ส่วนการขอให้ลงโทษสถานเบาหรือรอลงอาญานั้น พบว่าพวกจำเลยทำต่อหน้าสาธารณะและเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊ก เป็นการโน้มน้าวจูงใจให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่ชอบธรรม ก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ศาลอุทธรณ์พิพากษารอการลงโทษแล้ว ไม่มีเหตุให้ลงโทษเบาลงอีก พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้จำคุกจำเลยที่ 1-3 คนละ 4 เดือน ปรับคนละ 4,000 บาท ฐานก่อความวุ่นวาย ซึ่งโทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising