×

ศาลในเครื่องแบบ ภาพสะท้อนคดี ‘น้องเมย’

โดย THE STANDARD TEAM
23.07.2025
  • LOADING...
คดี น้องเมย

การจากไปของ ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือ ‘น้องเมย’ นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 จากเหตุการณ์ธำรงวินัยโดยรุ่นพี่ทหาร 2 นาย ยังคงเป็นบาดแผลและคำถามใหญ่ในสังคมไทยถึงความยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อบทบาทของศาลทหาร ที่ถูกตั้งข้อสังเกตจากสังคม ถึงผลลัพธ์ของคำพิพากษา 

 

หลังการต่อสู้ยาวนานกว่า 8 ปี นับแต่เกิดเรื่องและดำเนินมาจนถึงชั้นฎีกาของศาลทหาร ล่าสุดมีคำพิพากษาในชั้นฎีกาให้จำคุกจำเลย 4 เดือน 16 วัน ปรับ 15,000 บาท และให้รอลงอาญา 2 ปี 

 

คำพิพากษาดังกล่าวสร้างความเจ็บปวด ประหนึ่งการซ้ำเติมให้กับครอบครัวผู้สูญเสีย 

 

ขณะเดียวกันยังจุดกระแสคำถามจากสาธารณชนอีกครั้งว่า ประชาชนจะสามารถคาดหวังความยุติธรรมได้หรือไม่อย่างไร เมื่อผู้เสียชีวิตไม่มีโอกาสได้แก้ต่าง แต่ผู้กระทำผิดกลับมีโอกาสได้ใช้ชีวิตในเครื่องแบบต่อไป

 

โครงสร้างศาลทหาร ภายใต้เครื่องแบบ

ศาลทหารมีระบบการพิจารณาคดีที่แตกต่างจากศาลยุติธรรมทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในประเด็นองค์คณะตุลาการ ซึ่งส่วนใหญ่ขาดพื้นฐานความรู้ทางกฎหมาย เพราะบางส่วนไม่ต้องจบด้านนิติศาสตร์ หรือจบเนติบัณฑิตไทย แต่อย่างใด 

 

ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร องค์ประกอบของคณะตุลาการในแต่ละชั้นศาลมีดังนี้

 

ศาลทหารชั้นต้น ตุลาการ 3 นาย ประกอบด้วย นายทหารสัญญาบัตร 2 นาย และตุลาการพระธรรมนูญ 1 นาย

 

ศาลทหารกลาง ตุลาการ 5 นาย ประกอบด้วย นายทหารชั้นนายพล 1-2 นาย, นายทหารชั้นนายพัน นายนาวา หรือนายนาวาอากาศขึ้นไป 1-2 นาย และตุลาการพระธรรมนูญ 2 นาย

 

ศาลทหารสูงสุด ตุลาการ 5 นาย ประกอบด้วย นายทหารชั้นนายพล 2 นาย และตุลาการพระธรรมนูญ 3 นาย

 

จากองค์ประกอบดังกล่าว มีเพียง ‘ตุลาการพระธรรมนูญ’ เท่านั้นที่สำเร็จการศึกษานิติศาสตร์ ส่วนที่เหลือคือนายทหารทั่วไปที่อาจไม่มีความรู้ด้านกฎหมายเพียงพอ 

 

ขณะที่นายทหารที่มิใช่ ‘ตุลาการพระธรรมนูญ’ ไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานทางกฎหมายโดยตรง และอาจไม่ได้รับการฝึกอบรมทางกฎหมายแบบเดียวกับผู้พิพากษาศาลยุติธรรม

 

จุดนี้เป็น ข้อวิจารณ์หลักจากนักกฎหมายและนักสิทธิมนุษยชน ว่า ศาลทหารอาจ ขาดความเป็นอิสระ และ ความเที่ยงธรรม โดยเฉพาะในกรณีที่พลเรือนถูกนำขึ้นพิจารณาคดีในศาลทหาร (เช่น ในช่วงประกาศกฎอัยการศึกหรือภาวะฉุกเฉิน) แถมยังมีระบบบังคับบัญชากำกับอยู่ด้วย 

 

คดีดังในศาลทหาร บทเรียนแห่งความผิดหวัง

คดีของน้องเมยไม่ใช่กรณีแรกที่สังคมตั้งคำถามถึงการทำหน้าที่ของศาลทหาร แต่ยังมีอีกหลายคดีที่ผลคำพิพากษาได้สร้างความผิดหวังให้กับสาธารณชน

 

คดีพลทหารวิเชียร เผือกสม (ปี 2554) เสียชีวิตจากการถูกเจ้าหน้าที่ทหาร 9 นาย รุมซ้อมทรมานที่ค่ายทหารปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาส คดีนี้ใช้เวลานานถึง 12 ปี กว่าจะมีคำพิพากษา

 

คดีหมวดแบงค์ (ปี 2559) ทำร้ายอดีตภรรยาจนร่างกายบาดเจ็บสาหัส ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลนาน 3 เดือน ศาลทหารพิพากษาว่าไม่มีเจตนาฆ่า แต่เป็นการทำร้ายร่างกายโดยบันดาลโทสะ ให้จำคุกเพียง 1 ปี 6 เดือน ปรับ 12,500 บาท และรอลงอาญา 2 ปี

 

คดีพลทหารเมธิน (ปี 2565) ถูกกล่าวหาว่าพาดพิงสถาบันฯ ในคดี ม.112 และถูกธำรงวินัยร่วมเดือน ก่อนที่ศาลทหารจะพิพากษาจำคุก 5 ปี

 

ความแตกต่างของศาลที่บาดใจ 

กรณีการเสียชีวิตของพลทหารวรปรัชญ์ พัดมาสกุล ที่ค่ายนวมินทร์ จังหวัดชลบุรี ซึ่งถูกซ้อมโดยครูฝึกและรุ่นพี่ ถูกพิจารณาโดย ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ผลคือจำเลยทั้ง 13 คน ถูกพิพากษาว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 โดยจำเลยที่ 1 ถูกจำคุก 20 ปี, จำเลยที่ 2 จำคุก 15 ปี, และจำเลยที่ 3-13 จำคุก 10 ปี

 

เมื่อเปรียบเทียบคำพิพากษาของศาลทหารกับศาลอาญาคดีทุจริตฯ คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ประชาชนจะตั้งคำถามถึงความเที่ยงธรรมและความโปร่งใสในกระบวนการยุติธรรมของศาลทหาร ว่าบทลงโทษในแต่ละคดีมีความถูกต้องและเหมาะสมกับความรุนแรงของอาชญากรรมจริงหรือไม่

 

เสียงจากสังคม ความผิดหวังและการเรียกร้องปฏิรูปศาลทหาร

พล.ต.นพ. เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ แสดงความรู้สึกสลดใจต่อกรณีของน้องเมย และเคยคาดหวังว่าความยุติธรรมจะมีอยู่จริงในสังคม โดยเฉพาะสังคมทหารที่มีระบบเกียรติศักดิ์และความเด็ดขาด แต่เมื่อคำพิพากษาของศาลทหารออกมา กลับทำให้รู้สึกผิดหวัง และได้ให้กำลังใจพ่อแม่ของน้องเมยที่ทำหน้าที่เรียกร้องความยุติธรรมให้กับลูกที่จากไปอย่างไม่ได้รับความเป็นธรรม

 

ด้านวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ จากพรรคประชาชน ชี้ว่าการทำร้ายกันในค่ายทหารหลายกรณีไม่ใช่การธำรงวินัยอย่างที่เคยถูกกล่าวอ้าง แต่เกิดจากนายทหารบางนายที่ไม่ยอมสยบยอมต่อกระบวนการทุจริตหรือการประพฤติมิชอบของทหารระดับผู้บังคับบัญชา เมื่อฝืนระบบก็จะถูกกลั่นแกล้งจนถึงแก่ชีวิตหรือบาดเจ็บ ซึ่งเข้าข่ายการกระทำความผิดฐานทารุณกรรมและซ้อมทรมาน

 

วิโรจน์ ย้ำว่าศาลทหารเป็นกระบวนการยุติธรรมที่ลักลั่น และเป็นวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด พร้อมยืนยันว่าควรมีการปฏิรูปกองทัพ แก้ไข พ.ร.บ. ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498, พ.ร.บ. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และ พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 โดยแก้ไขให้ทหารที่กระทำทุจริตในทุกกรณี ขึ้นศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

 

นอกจากนี้ วิโรจน์ยังเสนอให้รัฐบาลลงนามและให้สัตยาบันในพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (OPCAT) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่มุ่งป้องกันการทรมานและการปฏิบัติ การลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี โดยจะทำให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสามารถสุ่มตรวจค่ายทหารได้โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า และสามารถดำเนินมาตรการป้องปรามได้อย่างทันท่วงที

 

กรณีของน้องเมยจึงเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนของความบิดเบี้ยวในระบบยุติธรรมที่ยังคงดำรงอยู่ในโครงสร้างอำนาจเก่า ซึ่งถึงเวลาแล้วที่ต้องได้รับการแก้ไข เพื่อสร้างความยุติธรรมที่ไม่เลือกปฏิบัติตามเครื่องแบบให้กับทุกคนในสังคม

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising