วานนี้ (27 พฤศจิกายน) เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นำกำลังพร้อมหมายศาลเข้าตรวจค้นบริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) หรือชื่อเดิมคือ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) เพื่อหาหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคดีหมูเถื่อน 161 ตู้ หลังพบความเชื่อมโยงว่ามีเนื้อหมูเถื่อนถูกลักลอบเข้ามายังบริษัทดังกล่าว และถูกจำหน่ายไปยังผู้บริโภค
ภายหลังการตรวจค้นประมาณ 1 ชั่วโมง ศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการสื่อสารองค์กร ได้ชี้แจงว่า ทางบริษัทยินดีให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดีในการเข้าตรวจโกดังเก็บสินค้าที่จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้ขอตรวจค้นและขอเอกสารการซื้อ-ขายเนื้อหมูกับบริษัท เว้ลท์ซี่ แอนด์ เฮ็ลธ์ซี ฟูดส์ จำกัด และบริษัท เดอะ กู๊ด ช็อป จำกัด เนื่องจากก่อนหน้านี้กรรมการบริษัทตกเป็นผู้ต้องหาในคดีหมูเถื่อนที่ดีเอสไอกำลังดำเนินการ
ศิริพรกล่าวต่อว่า บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่าเคยซื้อ-ขายกับบริษัทดังกล่าวจริง ซึ่งขณะนั้นทางบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ประสบปัญหาเครื่องในหมูไม่เพียงพอ จึงต้องประสานไปยังบริษัทดังกล่าวเพื่อให้หาเครื่องในหมู (ตับหมู) มาทดแทน เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของผู้บริโภค โดยบริษัทดังกล่าวนำตับหมูมาขายให้กับบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) พร้อมเอกสารการนำเข้าจากกรมปศุสัตว์มาแสดง
ทั้งนี้ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ทำสัญญาซื้อ-ขายกับบริษัทดังกล่าวหลายปี โดยมีทั้งการซื้อสินค้าประเภทปลาและสินค้าแช่แข็งหลายๆ อย่าง ซึ่งทุกอย่างยืนยันได้ว่ามีเอกสารถูกต้องตามกฎหมายทุกล็อตการผลิตที่ออกโดยกรมปศุสัตว์
จนกระทั่งปี 2565 ทางบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ได้ยกเลิกซื้อเนื้อหมูกับทางบริษัทดังกล่าว เนื่องจากตรวจสอบพบว่าเนื้อหมูไม่ได้มาตรฐาน อีกทั้งต่อมาบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ตรวจพบตับหมูไม่ได้คุณภาพ เมื่อช่วงต้นปี 2566 ทางบริษัทจึงยกเลิกซื้อ-ขายกับบริษัทดังกล่าวทุกสินค้า
ด้าน พ.ต.ต. สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ขออำนาจหมายศาลเข้าตรวจค้นบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) และขอเอกสารการซื้อ-ขายกับบริษัทดังกล่าว เพื่อหาหลักฐานนำมาประกอบสำนวนและเร่งติดตามจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีหมูเถื่อน
ซึ่งบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการแสดงเอกสารที่เกี่ยวข้อง แต่ทั้งนี้ ทางบริษัทต้องใช้ระยะเวลาในการรวบรวมเอกสารเนื่องจากเอกสารอยู่กับทางบริษัทย่อยที่กระจายอยู่หลายจังหวัด และบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ได้มีการซื้อ-ขายกับบริษัทดังกล่าวมาเป็นเวลากว่า 10 ปี มูลค่าการซื้อ-ขายอยู่ที่ประมาณ 390 ล้านบาท
หลังจากนี้พนักงานสอบสวนจะต้องนำเอกสารดังกล่าวไปพิสูจน์ให้ได้ว่าเป็นเอกสารเท็จหรือจริง เพื่อพิสูจน์ให้ได้ว่าบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยอยู่ในขณะนี้มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับขบวนการค้าหมูเถื่อนหรือไม่
พ.ต.ต. สุริยา กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้พนักงานสอบสวนได้พบเอกสารการสำแดงเท็จส่วนหนึ่งจากกรมปศุสัตว์ กรมประมง และกรมศุลกากร ซึ่งได้นำหลักฐานส่วนนี้เข้ามาประกอบสำนวนและจะพิสูจน์ทราบต่อไปว่า บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ตกเป็นผู้เสียหาย หรือเป็นผู้เข้าร่วมขบวนการหมูเถื่อน
มีรายงานว่า การตรวจค้นในครั้งนี้สืบเนื่องจากกรณีเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษได้สอบสวน 2 ผู้ต้องหาซึ่งพบว่าเกี่ยวข้องกับการนำเข้าหมูในขบวนการดังกล่าว โดยทั้ง 2 ผู้ต้องหาให้การยอมรับว่าขายหมูเถื่อนให้ศูนย์กระจายสินค้าแบบขายส่งขนาดใหญ่ของประเทศรายหนึ่ง โดยเริ่มนำเข้าหมูเถื่อนตั้งแต่ปี 2564