×

‘ตลาดทุน’ เดินหน้าค้านเก็บ ‘ภาษีขายหุ้น’ ชี้ทำลายโอกาสประเทศ ทำนักลงทุนต่างชาติเลิกลงทุนหุ้นไทย ธุรกิจไทยหนีไประดมทุนนอก

23.12.2022
  • LOADING...
ภาษีขายหุ้น

‘ตลาดทุน’ ค้านเก็บ Transaction Tax เสนอข้อเสียต่อเนื่องทั้งรัฐบาลปัจจุบันและรัฐบาลใหม่ที่จะมาทำงานปีหน้า ชี้นำนักลงทุนต่างชาติหนีแน่ ฉุดวอลุ่มตลาดหุ้นให้ถอยหลังไปเท่ากับ 20 ปีที่แล้ว เสี่ยงเหลือ 1 หมื่นล้านบาทต่อวัน กระทบต่อเนื่องธุรกิจระดมทุน IPO ยากขึ้น ฟาก TDRI แนะทางออกให้เก็บภาษีที่ดินฯ รายได้นิติบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพแทน คาดช่วยเพิ่มรายได้ภาษีอีก 2 แสนล้านบาท

 

ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ และนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน กล่าวว่า ยังคงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับกรณีที่รัฐบาลจะมีการจัดภาษีจากธุรกรรมการขายหุ้น (Transaction Tax) โดยจะเริ่มทยอยจัดเก็บในปี 2566 และจัดเก็บแบบเต็มอัตราในปี 2567 อีกทั้งจะเดินหน้านำเสนอข้อมูลถึงผลกระทบที่จะเกิดต่อตลาดทุนและเศรษฐกิจ ทั้งต่อรัฐบาลชุดปัจจุบัน รวมถึงรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาทำงานที่จะมาจากการเลือกตั้งในปีหน้า ให้พิจารณาอีกครั้งถึงข้อเสียและผลกระทบที่จะตามมา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


เนื่องจากการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะมีผลกระทบอย่างมากต่อการแข่งขันของตลาดทุนไทยที่กำลังอยู่ในช่วงของการพัฒนา โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนต่างชาติที่ปัจจุบันมีสัดส่วนในตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ประมาณ 50% ของมูลค่าการซื้อขายรวม ซึ่งหลังจากที่รัฐบาลประกาศว่าจะจัดเก็บภาษี Transaction Tax ได้มีการถามความเห็นสำรวจไปยังนักลงทุนต่างประเทศที่ลงทุนในตลาดหุ้นไทย พบว่ามีสัดส่วนสูงถึง 80-90% ของผู้ตอบว่าจะไม่ลงทุนในตลาดหุ้นไทยอีกต่อไป เพราะอัตราภาษีที่จัดเก็บที่ 0.11% ถือว่าส่งผลให้ต้นทุนซื้อขายเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 200% 

 

ดังนั้นประเมินว่าจะมีผลกระทบทำให้มูลค่าซื้อขายของตลาดไทยลดลงทันทีจากตัวเลขการซื้อขายเฉลี่ยในปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาทต่อวัน จึงทำให้สภาพคล่องที่เคยเป็นเสน่ห์หรือจุดเด่นเดียวของตลาดหุ้นที่เป็นตลาดหุ้นที่มีสภาพคล่องที่สูงสุดในตลาดหุ้นอาเซียนในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาหายไปทันที

 

“การเก็บภาษี Transaction Tax เหมือนการทำให้ตลาดหุ้นต้องถอยหลังไปเหมือน 10-20 ปีที่แล้ว ที่มีวอลุ่มเทรดเพียง 1 หมื่นล้านบาทต่อวัน เพราะตอนนี้แค่ยังไม่มีการเก็บภาษีส่วนนี้ วอลุ่มตอนนี้ก็ลดลงไปเหลือแค่ 3-4 หมื่นล้านบาทต่อวันแล้ว หากเก็บภาษีนี้อีกวอลุ่มมีความเสี่ยงที่จะหายไปได้อีกครึ่งหนึ่ง หรืออาจเหลือ 1 หมื่นล้านบาทต่อวัน และเมื่อสภาพคล่องหดไปแล้วเป็นเรื่องยากมากที่จะทำให้กลับมาเหมือนเดิม ดังนั้นรายได้ที่รัฐบาลคิดว่าจะเก็บได้จาก Transaction Tax ได้ 1.6 หมื่นล้านบาทต่อปี คงไม่ถึงแน่นอนเพราะเป็นการคำนวณบนวอลุ่มซื้อขายของปีที่แล้วที่ยังสูงอยู่ที่ราว 1 แสนล้านบาทต่อวัน”

 

ทั้งนี้ ด้วยสภาพคล่องที่หายไปดังกล่าว จะมีผลกระทบต่อเนื่องให้การระดมทุนขนาดใหญ่ของภาคธุรกิจเอกชนทำได้ยากขึ้นผ่านการทำ IPO อย่างที่เคยทำได้มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท เช่น บมจ.ปตท. หรือ PTT, บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR), กลุ่มเซ็นทรัล ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงที่จะเห็นธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยจะออกไประดมทุนในต่างประเทศแทน เพราะสามารถระดมทุนหรือขายหุ้น IPO ได้ในราคาที่สูงกว่า เนื่องจากเป็นตลาดหุ้นที่มีสภาพคล่องที่ดีกว่าตลาดหุ้นไทย อีกทั้งสูญเสียโอกาสที่จะเป็นศูนย์กลางตลาดเงินในอาเซียน

 

นอกจากนี้ เห็นว่ารัฐบาลไม่ควรนำตลาดหุ้นไทยที่อยู่ในช่วงของการพัฒนาไปทำการเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นฮ่องกงหรือฝรั่งเศสที่มีการจัดเก็บ Transaction Tax เพราะทั้ง 2 ประเทศเป็นตลาดหุ้นที่พัฒนาแล้ว แต่ควรเปรียบเทียบคู่แข่งในอาเซียนคือ ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ที่แม้ปัจจุบันเป็นตลาดหุ้นที่พัฒนาแล้ว แต่ไม่ได้มีการจัดเก็บภาษีในส่วนนี้ เพราะต้องการสร้างความสามารถในการแข่งขันดึงดูดนักลงทุนให้มาลงทุนในตลาดต่อไป

 

ด้าน นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษี Transaction Tax โดยมองว่าหากรัฐบาลต้องการจัดเก็บรายได้จากภาษีเพิ่มเติม ควรพิจารณาเลือกวิธีการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นส่วนที่มีความเหลื่อมล้ำสูงสุดในไทย 

 

เนื่องจากปัจจุบันมีกลุ่มประชากรของไทยสัดส่วนเพียง 5% ที่ถือครองที่ดินสัดส่วนประมาณ 80% ของประเทศไทย และมีประชากรจำนวนอีก 20% ที่ถือครองที่ดินส่วนที่เหลืออีกสัดส่วน 20% ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีฐานะร่ำรวย ดังนั้นทำให้ประชากรส่วนที่เหลือส่วนใหญ่ของประเทศอีก 75% ไม่มีที่ดินครอบครอง

 

ทั้งนี้ รัฐบาลควรมีมาตรการจัดเก็บภาษีส่วนนี้ที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงยกเลิกมาตรการเงื่อนไขผ่อนปรนต่างๆ ที่ให้กับกลุ่มคนที่มีฐานะร่ำรวย ซึ่งหากทำได้รัฐบาลมีโอกาสจัดเก็บภาษีในส่วนนี้ได้ถึง 3-4 หมื่นล้านบาทต่อปี อีกทั้งหากเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บได้ดีขึ้นอีก ก็มีโอกาสจัดเก็บภาษีในส่วนนี้ได้สูงถึงได้ระดับ 1 แสนล้านบาทต่อปี

 

นอกจากนี้ ควรเพิ่มประสิทธิภาพในการดึงกลุ่มนิติบุคคลและบุคคลที่มีรายได้สูงที่อยู่นอกระบบที่พยายามหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีให้กลับเข้ามาอยู่ในระบบเสียภาษี เพราะปัจจุบันบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่เสียภาษีอย่างถูกต้องมีเพียง 800 ราย ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จากจำนวนนิติบุคคลทั้งประเทศที่มีจำนวนมากถึง 2 ล้านราย อีกทั้งมีการตรวจสอบเข้าไปดึงกลุ่มบุคคลที่มีอาชีพใหม่แต่มีรายได้สูง เช่น อาชีพแม่ค้าออนไลน์ไลฟ์สดขายสินค้า หรืออาชีพอื่นๆ โดยประมาณว่ารัฐบาลจะมีรายได้จากภาษีในส่วนนี้เพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี

 

อีกทั้งมีความเห็นว่าตลาดทุนไม่ได้เป็นตลาดของคนรวยเท่านั้น แต่เป็นช่องทางโอกาสการออมของคนรุ่นใหม่ เนื่องจากในปัจจุบันคนรุ่นใหม่มีโอกาสประสบความสำเร็จได้ยากในการทำธุรกิจหรือการทำงาน โดยเฉพาะยุคปัจจุบันเทคโนโลยีที่จะเข้ามาใช้ทดแทนการใช้แรงงานคน โดยการลงทุนในตลาดทุนถือว่าเป็นโอกาสเดียวของคนรุ่นใหม่ที่จะช่วยยกระดับฐานะให้ดีขึ้น หรือมีโอกาสในการออมเพื่อวางแผนเกษียณในอนาคต

 

ด้าน กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า FETCO จะยังคงเดินหน้าหารือและให้ข้อมูลถึงผลกระทบของ Transaction Tax ทั้งหน่วยงานภาครัฐที่มีความเกี่ยวข้อง รวมถึงให้ข้อมูลกับสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นประเด็นที่จะมีผลกระทบตามมามากกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากเป็นการทำลายโอกาสของประเทศไทยในหลายเรื่อง ทั้งในส่วนของแหล่งการออม รวมถึงแหล่งการระดมทุนของธุรกิจ และมีผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจของประเทศ

 

ขณะที่ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนแนวเน้นคุณค่า (VI) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษี Transaction Tax แต่ถือเป็นความเสี่ยงประเมินได้ยากว่าจะมีผลกระทบมากถึงระดับใด แต่หากมีผลกระทบให้มูลค่าการซื้อขายโดยรวมหดตัวลง สุดท้ายจะทำให้ทั้งนักลงทุนทั่วไปและนักลงทุนต่างชาติหนีไปลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศที่มีสภาพคล่องที่ดีกว่าแทน อีกทั้งจะมีผลกระทบต่อการระดมทุนผ่าน IPO จะทำได้ยากขึ้น และที่ผ่านมามาตรการจัดเก็บภาษีในตลาดหุ้นไทยอยู่ในระดับที่ต่ำ ถือว่าช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของตลาดหุ้นไทยให้ดีกว่าตลาดหุ้นที่เป็นคู่แข่งในภูมิภาค

 

ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาได้มีการส่งเสริมตลาดทุนในด้านต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และนำหน้าตลาดหุ้นอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียน โดยหากรัฐบาลสามารถเข้าใช้ตลาดทุนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือใช้ประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ให้มีโอกาสพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศได้อีกมาก โดยไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เงินทุนของภาครัฐ

 

อีกทั้งเมื่อมองโอกาสในระยะยาว สามารถนำองค์กรรัฐวิสาหกิจต่างๆ เข้ามาใช้ ประโยชน์ระดมทุน และยังสามารถใช้เป็นแหล่งเงินทุนให้กับการพัฒนาโครงการต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เป็นช่องทางเพิ่มเติมจากที่ดำเนินกิจการในรูปแบบเดิมๆ ส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเป็นไปได้ค่อนข้างช้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising