ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (6 ส.ค.) มีมติเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 จำนวน 3,200,000 ล้านบาท แบ่งเป็น
- รายจ่ายประจำ จำนวน 2,393,120.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2562 จำนวน 120,463.8 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.3% และคิดเป็นสัดส่วน 74.7% ของวงเงินงบประมาณรวม ลดลงจากปีงบประมาณ 2562 ซึ่งมีสัดส่วน 75.8%
- รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 62,709.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2562 ซึ่งไม่มีการเสนอตั้งงบประมาณ หรือเพิ่มขึ้น 100% และคิดเป็นสัดส่วน 2% ของวงเงินงบประมาณรวม
- รายจ่ายลงทุน จำนวน 655,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2562 จำนวน 5,861.8 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.9% และคิดเป็นสัดส่วน 20.5% ของวงเงินงบประมาณรวม ลดลงจากปีงบประมาณ 2562 ซึ่งมีสัดส่วน 21.6%
- รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 89,170.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2562 จำนวน 10,964.9 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 14% และคิดเป็นสัดส่วน 2.8% ของวงเงินงบประมาณรวม เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2562 ซึ่งมีสัดส่วน 2.6%
ทั้งนี้กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายดังกล่าวเป็นงบประมาณขาดดุล จำนวน 469,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2562 จำนวน 19,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.2% และคิดเป็นสัดส่วน 2.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเท่ากับปีงบประมาณ 2562
อย่างไรก็ตาม ปีงบประมาณ 2563 คาดว่ารัฐบาลจะจัดเก็บรายได้ได้สุทธิ จำนวน 2,731,000 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการรายได้สุทธิปีงบประมาณ 2562 ซึ่งอยู่ที่จำนวน 2,550,000 ล้านบาท เป็นจำนวน 181,000 ล้านบาท หรือ 7.1%
ด้าน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี กรณีร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ว่าการตั้งงบประมาณไม่ใช่ว่าจะเอาวงเงินขาดดุลงบประมาณทุกปีมารวมกัน แล้วสรุปท้ายสุดว่าเราเป็นหนี้อยู่เท่าใดมาหารแบ่งกันแล้วใช้หนี้กันกี่ปี เพราะนี่คือการบริหารในภาพรวม มีการใช้หนี้สาธารณะ ระยะสั้น ระยะยาว มีการชำระดอกเบี้ย ชำระเงินต้น ตามกรอบวงเงินบริหารจัดการงบประมาณ ซึ่งกรอบวงเงินงบประมาณของปีที่ผ่านมาครอบคลุมทุกอย่าง เช่น รายจ่ายการลงทุนไม่ต่ำกว่า 20% งบประจำปีประมาณ 60% ขึ้นไป ต้องดูว่าจะลดงบประมาณเหล่านี้เพื่อนำเงินมาใช้ส่วนอื่นได้อย่างไร
อย่างไรก็ตาม งบประมาณปี 2563 ในส่วนของแต่ละกระทรวงจะตั้งให้ใกล้เคียงของปีที่ผ่านมา แม้จะมีการกำหนดวงเงินงบประมาณให้เพิ่มกี่เปอร์เซ็นต์ก็ตาม ขอว่าอย่าดูเฉพาะโครงการ ต้องไปดูวงเงินรวมของแต่ละกระทรวงว่าได้เท่าใด เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร เพราะมันมีรายละเอียดจำนวนมาก
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์