การประชุมร่วมระหว่างสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กับสโมสรฟุตบอล เพื่อหารือในเรื่องของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลลีก ประจำฤดูกาล 2023/24 จบลงด้วยเครื่องหมายคำถามขนาดใหญ่
อนาคตของวงการฟุตบอลไทยจะเป็นอย่างไรหลังจากนี้?
คำถามนี้เกิดจากการที่มีการเปิดเผยว่า ในข้อเสนอที่ได้รับมีบริษัทยื่นประมูลลิขสิทธิ์ฟุตบอลไทยแบบครบวงจรในมูลค่าเพียงแค่ 50 ล้านบาท ซึ่งไม่เป็นไปตามเป้าที่ตั้งเอาไว้
ตัวเลขนี้น้อยกว่ามูลค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลไทยที่เคยพุ่งไปถึงระดับ ‘พันล้าน’ มาก และส่งผลกระทบร้ายแรงทั้งต่อบรรดาทีมที่เข้าร่วมการประชุม และต่อทีมในระดับลีกรองลงไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สิ่งที่มีการหารือกันในที่ประชุมคือการปรับเปลี่ยนแนวทางใหม่ โดย 16 ทีมในไทยลีกจะขอแยกตัวออกมาตั้งบริษัทใหม่ เพื่อดูแลสิทธิประโยชน์ด้วยตัวเอง คล้ายกับที่พรีเมียร์ลีกเคยทำเมื่อปี 1992
แต่จริงๆ แล้วเกิดอะไรขึ้นในการแยกตัวของสโมสรฟุตบอลเพื่อก่อตั้งพรีเมียร์ลีกเมื่อ 31 ปีที่แล้วกันแน่? และมีอะไรที่ฟุตบอลไทยควรจะถอดบทเรียนจากเรื่องนี้บ้าง?
การแยกตัวของบรรดาสโมสรในพรีเมียร์ลีกนั้นต้องย้อนกลับไปถึงช่วงยุคทศวรรษที่ 80 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เปรียบได้เหมือน ‘ยุคมืด’ ของวงการฟุตบอลอังกฤษ
ปัญหาฮูลิแกนหรืออันธพาลลูกหนังที่ก่อปัญหาไปทั่ว คือมะเร็งร้ายที่กัดกร่อนวงการฟุตบอลเมืองผู้ดีอย่างร้ายแรง อีกทั้งยังเกิดเหตุโศกนาฏกรรมที่น่าเศร้าถึง 3 ครั้งในช่วงเวลาห่างกันแค่ 4 ปี
- เหตุโศกนาฏกรรมที่สนามวัลลีย์พาเหรดของทีมแบรดฟอร์ด ที่เกิดเพลิงไหม้จนทำให้มีแฟนบอลเสียชีวิตมากถึง 56 คน เมื่อปี 1985
- เหตุโศกนาฏกรรมที่สนามเฮย์เซลสเตเดียม ในเกมนัดชิงชนะเลิศ ฟุตบอลยูโรเปียนคัพระหว่างลิเวอร์พูลและยูเวนตุส ที่มีแฟนบอลเสียชีวิต 39 คน
- เหตุโศกนาฏกรรมที่สนามฮิลส์โบโรห์ ที่แฟนบอลลิเวอร์พูลเสียชีวิตรวม 97 คนในปัจจุบัน
ในขณะเดียวกันฟากของสโมสรฟุตบอลเองก็เริ่มมีปัญหา เมื่อสโมสรฟุตบอลในระดับชั้นนำของประเทศมีการรวมตัวกัน เพื่อเรียกร้องเงินส่วนแบ่งจากค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดและสปอนเซอร์เพิ่มขึ้นจากทีมในระดับลีกรอง
โดยในปี 1986 มีการตกลงที่สโมสรในระดับลีกสูงสุด หรือดิวิชัน 1 จะได้เงินส่วนแบ่ง 50 เปอร์เซ็นต์จากเงินรายได้ทั้งหมด และส่วนที่เหลือฟุตบอลลีก ในฐานะองค์กรผู้มีหน้าที่กำกับดูแลจัดการแข่งขันลีกฟุตบอลอาชีพในอังกฤษ จะจัดสรรให้แก่ลีกในระดับรองลงไปคือ ดิวิชัน 2, 3 และ 4
อย่างไรก็ดี เงินส่วนแบ่งดังกล่าวแม้จะมากขึ้น แต่ก็ยังไม่มากพอสำหรับสโมสรในระดับชั้นนำที่มีความรู้สึกว่าพวกเขาเป็นทีมระดับแม่เหล็ก แต่กลับต้องเกลี่ยส่วนแบ่งให้ทีมอื่นๆ มากเกินไป
ความคิดดังกล่าวถือเป็นหนึ่งใน ‘สารตั้งต้น’ ที่ทำให้เกิดความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงวงการฟุตบอลอังกฤษครั้งใหญ่ในระดับที่เรียกว่าเป็นการ ‘ปฏิวัติ’ ด้วยการแยกตัวออกไปก่อตั้งลีกใหม่ ซึ่งในขณะนั้นเรียกกันเล่นๆ ว่า ‘ซูเปอร์ลีก’ (คุ้นไหม?)
การตั้งลีกใหม่นั้นมีเป้าหมายหลักเพื่อจัดการดูแลสิทธิประโยชน์กันเองในบรรดาลีกระดับสูงสุดที่ต้องการสัดส่วนของผลประโยชน์ที่มากขึ้น
สำหรับทีม ‘กบฏ’ ชุดแรกที่เป็นผู้นำขบวนการ คือ 5 สโมสรใหญ่ที่เรียกกันในเวลานั้นว่า ‘Big Five’ ซึ่งประกอบไปด้วย อาร์เซนอล, เอฟเวอร์ตัน, ลิเวอร์พูล, ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ได้มีการเจรจากับทาง เกร็ก ไดค์ ในฐานะผู้อำนวยการของสถานีโทรทัศน์ London Weekend Television (LWT)
ในจุดเริ่มต้นนั้น Big Five ต้องการจะขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดของ 5 สโมสรนี้ให้กับ ITV โดยตรง แต่หลังจากที่มีการเจรจากันต่อเนื่อง ได้นำไปสู่แนวทางใหม่ในการก่อตั้งลีกใหม่ โดยหลังจบฤดูกาล 1990/91 ทุกสโมสรทั้ง 22 ทีมได้รับเอกสารในการก่อตั้งลีกใหม่ที่ใช้ชื่อว่า ‘เอฟเอ พรีเมียร์ลีก’ (FA Premier Leauge)
โดยจุดสำคัญคือการที่สมาคมฟุตบอล (FA) ให้การสนับสนุนด้วย และจะมีส่วนร่วมในฐานะผู้ถือหุ้นรายหนึ่งของพรีเมียร์ลีก แต่มีเสียงที่ใหญ่กว่าสโมสรที่เป็นสมาชิก (หรือผู้ถือหุ้นในฤดูกาลนั้น) และยังมีอีก 2 คนที่มีส่วนสำคัญมากคือ เดวิด ดีน รองประธานสโมสรอาร์เซนอลในเวลานั้น ที่เป็นผู้ผลักดันอยู่เงียบๆ และ ริค แพร์รี ซึ่งถูกจ้างมาเพื่อเป็นซีอีโอของพรีเมียร์ลีก ที่มีส่วนในการทำให้ BSkyB เป็นผู้ที่คว้าชัยชนะได้แบบสุดดราม่า
เพียงแต่ผู้ที่ได้รับลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดไปกลับไม่ใช่ ITV ซึ่งเป็นฟรีทีวี แต่เป็น BSKyB ซึ่งเป็นธุรกิจเพย์ทีวี หรือโทรทัศน์ระบบตอบรับสมาชิก ของเจ้าพ่อวงการสื่อ รูเพิร์ต เมอร์ด็อก ซึ่งขณะนั้นประสบปัญหาหนี้สินมหาศาล แต่มองเห็นโอกาสที่จะกอบกู้บริษัทได้ผ่านเกมกีฬา ทำให้เข้าร่วมในการประมูลด้วย และคว้าชัยชนะได้แบบสุดดราม่าระดับตำนานของวงการฟุตบอลอังกฤษในเวลานั้น
เรื่องที่เล่ากันคือ ในวันสุดท้ายก่อนเคาะหาผู้ชนะลิขสิทธิ์ ซึ่งตอนนั้นบนโต๊ะมีแค่ข้อเสนอจาก Sky เจ้าเดียว แต่ปรากฏว่า ITV นำโดย เทรเวอร์ อีสต์ ซึ่งขณะนั้นเป็นมือขวาของช่องรองจากไดค์ ได้เดินทางมายังโรงแรมรอยัลแลงคาสเตอร์ พร้อมกับจดหมายฉบับหนึ่งที่หนีบมาด้วย
ข้อเสนอจาก ITV ในเวลานั้นคือการจ่ายเงิน 262 ล้านปอนด์สำหรับการถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีกเป็นเวลา 5 ปี โดยจะถ่ายทอดสดฤดูกาลละ 30 นัด ซึ่งทางอีสต์เชื่อว่าข้อเสนอนี้ดีพอ และจะทำให้พวกเขาได้รับชัยชนะอย่างแน่นอน
ปรากฏว่าแพร์รีซึ่งได้ยินเรื่องดังกล่าวและโทรหา แซม คริสโฮล์ม อดีตผู้บริหารของ Sky เพื่อให้โทรบอก รูเพิร์ต เมอร์ด็อก ซึ่งขณะนั้นเดินทางไปที่นิวยอร์กและกำลังหลับอยู่ ให้รีบกลับมาพร้อมกับข้อเสนอใหม่ที่ต้องมากกว่าทาง ITV
ริค แพร์รี
แต่แพร์รีไม่ได้เป็นคนเดียวที่รีบ อีกคนคือ อลัน ชูการ์ ที่เพิ่งเข้ามาซื้อทีมสเปอร์สในเวลานั้น ซึ่งบริษัทของเขารับผลิตจานดาวเทียมให้กับ BSkyB ด้วย เมื่อทราบข้อเสนอจาก ITV ก็รีบลงมาหาคริสโฮล์มที่ล็อบบี้ของโรงแรมก่อนจะบอกให้รีบจัดการ ซึ่งคริสโฮล์มก็ตะโกนใส่โทรศัพท์ว่า “ยื่นข้อเสนอใหม่ถล่มพวกมันให้ราบ!”
แพร์รียังจำเหตุการณ์ในตอนนั้นได้ และเล่าว่า ไดค์ในฐานะบอสของ ITV ได้ยินเข้าก็ถามว่า “นั่นคุยกับใครน่ะ” ก่อนที่คริสโฮล์มจะตอบว่า “คุยกับภรรยาผมอยู่!” แล้วรีบตัดบทวางสาย
การโทรศัพท์ของคริสโฮล์มนำไปสู่การยื่นข้อเสนอใหม่อีกครั้งของ BSkyB ซึ่งการันตีจ่ายมากกว่า 42 ล้านปอนด์ในสัญญาระยะเวลา 5 ปี และถ่ายทอดสดจำนวนเกมมากกว่าเป็นเท่าตัวถึง 60 นัด อีกทั้งยังการันตีการกลับมาของรายการยอดฮิต Match of the Day ที่จะออกอากาศทาง BBC
ข้อเสนอนี้ได้รับการโหวตเห็นชอบจำนวน 14 ต่อ 6 หรือคิดเป็น 2 ใน 3 ซึ่งตามระเบียบการของพรีเมียร์ลีกถือว่าชอบด้วยกฎ และทำให้ BSkyB คว้าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดของพรีเมียร์ลีกสมัยแรกไปครอง ก่อนจะผูกขาดยาวมาอีกหลายปีกว่าที่ศาลจะมีคำสั่งให้ยกเลิกการผูกขาด โดยต้องมีเจ้าของลิขสิทธิ์มากกว่า 1 คนขึ้นไป
ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกจึงเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการในฤดูกาล 1992/93 โดยวันแรกอย่างเป็นทางการ ริชาร์ด คีย์ส เป็นพิธีกรดำเนินรายการในคู่น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ พบกับลิเวอร์พูล วันที่ 16 สิงหาคม 1992
และนี่คือประวัติศาสตร์แบบย่นย่อของการแยกตัวของบรรดาสโมสรฟุตบอลในลีกสูงสุดของอังกฤษ มาก่อตั้งลีกใหม่ที่ชื่อว่าพรีเมียร์ลีก
สิ่งที่จะแตกต่างจากลีกของไทยคือ ในครั้งนั้นสโมสรฟุตบอลแยกตัวออกมาจากองค์กรที่มีหน้าที่ดูแลการแข่งขันฟุตบอลอาชีพอย่างฟุตบอลลีก ซึ่งเป็นอิสระจากฟุตบอลอังกฤษ แต่ทำงานร่วมกัน โดยสมาคมฟุตบอลเป็นผู้ที่ดูแล ‘ภาพใหญ่’ ในการพัฒนาวงการฟุตบอลของประเทศและดูแลทีมชาติเป็นหลักเท่านั้น
ขณะที่ของไทยจะเป็นการแยกตัวจากสมาคมฟุตบอลแทน
แน่นอนว่ายังมีคำถามที่สำคัญตามมาอีกมากว่า จะกำกับดูแลกันอย่างไร ใครเป็นเจ้าภาพ ทำงานร่วมกับสมาคมฟุตบอลอย่างไร จะดูแลลีกในระดับรองลงไปซึ่งถือเป็น ‘ฐานราก’ อย่างไร และจะดูแลกันอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่? (ที่อังกฤษทุกสโมสรมี 1 เสียงเท่ากัน)
ยังไม่พูดถึงเรื่องของผลประโยชน์และภาระผูกพันระหว่างผู้ที่มีหน้าที่ดูแลสิทธิประโยชน์เดิมอย่าง Plan B ด้วย
เรื่องทั้งหมดคาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในการประชุมวันที่ 3 กรกฎาคมที่จะถึงนี้
ไม่ว่าการประชุมจะออกมาอย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือ ‘วงการฟุตบอลไทยจะไม่เหมือนเดิม’
อ้างอิง:
- https://www.theguardian.com/football/2017/jul/23/deceit-determination-murdochs-millions-how-premier-league-was-born
- https://en.wikipedia.org/wiki/Foundation_of_the_Premier_League
- https://frontofficesports.com/super-league-origins-epls-breakaway-gambit-and-30-year-reign/
- https://www.forbes.com/sites/steveprice/2018/11/05/why-a-breakaway-league-already-exists-in-the-english-premier-league/?sh=5fe425f17952
- https://thestandard.co/thai-league-1-management-model/