The Boyfriend คือหนึ่งในรายการเรียลิตี้โชว์ที่ถูกพูดถึงในวงกว้าง เพราะนี่คือรายการเรียลิตี้โชว์ที่ว่าด้วยความรักระหว่างเพศเดียวกันรายการแรกของญี่ปุ่น อย่างที่ทราบกันว่าในสังคมญี่ปุ่น กลุ่ม LGBTQIA+ เหมือนไร้ตัวตน การมาถึงของ The Boyfriend จึงเหมือนเป็นการเปิดทัศนคติใหม่ๆ ในเรื่องความหลากหลายสู่ประเทศอนุรักษนิยมเข้มข้นอยู่เหมือนกัน
ปัจจุบันญี่ปุ่นยังไม่ได้ออกกฎหมายรับรองสถานะคู่ชีวิต มีเพียงในโตเกียวที่จดทะเบียนรับรองสถานะ ‘คู่ชีวิต’ แต่ก็ยังไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมาย แม้ว่าประชาชน 72% จะสนับสนุนแนวคิดนี้ก็ตาม ส่วนในวงการบันเทิงญี่ปุ่น มีดาราเพียงไม่กี่คนที่ออกมาเปิดเผยตัวตนว่าเป็นเกย์ เพราะการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องรักร่วมเพศในที่สาธารณะไม่ใช่เรื่องปกติ อย่างไรก็ตาม เมื่อปีที่แล้ว ชินจิโร่ อาตาเอะ ไอดอล J-Pop จากวง AAA ได้เผยว่าเขาเป็นเกย์และยังได้รับการสนับสนุนเหมือนเดิม นั่นอาจจะเป็นสัญญาณว่ากระแสสังคมญี่ปุ่นเริ่มเปลี่ยนไปแล้ว
สำหรับรายการ The Boyfriendเป็นผลงานของ ได โอตะ โปรดิวเซอร์รายการยอดนิยมอย่าง Terrace House โดยเขาตั้งใจฉีกภาพจำในสังคมญี่ปุ่นว่านักแสดงที่เปิดเผยตัวว่าเป็นเกย์หรือข้ามเพศจะต้องตลกหรือแสดงออกอย่างโฉ่งฉ่าง ทำให้รายการนี้เน้นการถ่ายทอดความสัมพันธ์ของเพศเดียวกันให้ออกมาสมจริง เป็นธรรมชาติ เป็นเรื่องรักของคนธรรมดาไม่ต่างจากคู่รักชายหญิง
The Boyfriendคือการติดตามชีวิตของผู้ชาย 8 คนที่ต้องมาอยู่ร่วมกันในบ้านริมชายหาดนอกโตเกียวเป็นเวลาหนึ่งเดือน โดยเป้าหมายคือการได้พบกับคู่รักในอนาคตหรืออาจจะจบลงแค่ความเป็นเพื่อนก็ได้ โจทย์หลักของรายการคือทั้ง 8 คนจะได้รับค่าใช้จ่ายร่วมกันเพียง 200,000 เยนภายในหนึ่งเดือน และเรียนรู้นิสัยใจคอกันผ่านการทำกิจการ Food Truck ร้านกาแฟ ซึ่งผู้อยู่ในเกมจะมีโอกาสเลือกคนที่รู้สึกถูกใจทั้งในแง่ความเป็นเพื่อนหรือมากกว่านั้นเพื่อไปขายกาแฟด้วยกัน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมชวนจิ้นชวนฟินโดยแทบไม่ได้แตะเนื้อต้องตัวกันเลยด้วยซ้ำ แต่สร้างอารมณ์ร่วมให้คนดูจนเหมือนได้ตกหลุมรักใครสักคน
ผู้ร่วมรายการทั้ง 8 คนมีอายุตั้งแต่ 22-36 ปี ผ่านการคัดเลือกจากผู้สมัครมากกว่า 50 คน โดยเลือกจากความเป็นธรรมชาติและภูมิหลังหลากหลาย รวมทั้งเชื้อชาติ เพราะ 3 คนจากทั้งหมดก็มาจากชาติอื่นๆ เช่น เกาหลีใต้, ไต้หวัน และลูกครึ่งญี่ปุ่น-บราซิล-อิตาลี โดยแต่ละคนมีบุคลิกที่แตกต่างกัน
ชุน ศิลปินหนุ่มหน้าตาดีวัย 23 ปี ผู้เหมือนมีปมในใจ, แทฮอน ดีไซเนอร์วัย 34 ปี จากเกาหลีใต้ ผู้มาพร้อมกับทัศนคติเชิงบวก, ยาซาคุ นักเต้นอะโกโก้วัย 36 ปี, อิโกะ นักจัดเลี้ยงวัย 23 ปี, เก็นเซย์ ช่างทำผมและช่างแต่งหน้าวัย 34 ปี จากไต้หวัน, ได นักศึกษาผู้ร่าเริงวัย 23 ปี, อลัน พนักงานไอทีวัย 29 ปี ลูกเสี้ยวญี่ปุ่นจากบราซิล, คาซูโตะ เชฟร้านอิซากายะอารมณ์ละมุนวัย 27 ปี, เรียวตะ นายแบบและบาริสต้าวัย 28 ปี ที่ไม่มีนิยามวิถีทางเพศของตัวเอง
สิ่งที่สัมผัสได้ใน 3 ตอนแรกคือแรงบันดาลใจแรงๆ จากผลงานเก่าของโปรดิวเซอร์คือ Terrace House โดยเฉพาะความพิถีพิถันในเรื่องการสร้างบรรยากาศ ทั้งการเลือกโทนสีและอุปกรณ์ประกอบฉากให้มีความอบอุ่น ผนวกเข้ากับบุคลิกของผู้ชายญี่ปุ่นที่ภายนอกมักจะดูสุภาพ เก็บงำความรู้สึก ยิ่งทำให้รายการนี้เหมือนเป็นการดูซีรีส์วายใสๆ สักเรื่อง ซึ่งความขัดแย้งที่ดูเป็นเรื่องใหญ่มีแค่เพียงการใช้เงินไปซื้ออกไก่ให้ผู้ร่วมแข่งขัน
สิ่งที่จุดประกายความสัมพันธ์เริ่มขึ้นในไม่กี่นาทีของอีพีแรก เมื่อผู้ร่วมรายการต้องเขียนจดหมายไปให้กับคนที่พวกเขาประทับใจโดยไม่ต้องลงชื่อ แน่นอนว่าต้องมีทั้งคนที่มีคนสนใจมากมายและมีคนที่ไม่ได้สร้างความประทับใจให้ใครเลย ซึ่งจุดนี้ก็ทำให้คนดูได้เห็นทัศนคติของแต่ละคน และเส้นเรื่องโรแมนติกที่มีทั้งคนที่สมหวังและผิดหวัง
อย่างที่บอกไปว่า The Boyfriendตั้งใจให้เรื่องรักระหว่างเพศเดียวกันเป็นเรื่องธรรมดาที่สุด เรื่องราวในรายการจึงมีทุกสถานการณ์ความรักที่พอจะนึกออก ทั้งการแอบรัก ความรักแบบผิดฝาผิดตัว พ่อแง่แม่งอน ซึ่งทุกอย่างดำเนินไปด้วยการยับยั้งชั่งใจสงวนท่าทีในสไตล์ญี่ปุ่น จึงทำให้อารมณ์เหมือนความรักที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติให้คนดูได้ร่วมลุ้นไปกับผู้ร่วมรายการ
ความสัมพันธ์ที่ดูเหมือนจะเดินไปข้างหน้ามากที่สุดในช่วงแรกคือเรื่องราวระหว่างไดกับชุน ซึ่งไดพิสูจน์แล้วว่าหน้าตาอาจจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่การเป็นคนเปิดเผยต่างหากที่สร้างเสน่ห์ ในขณะที่ชุนคือคนที่จมอยู่ในโลกของตัวเอง และมีปมบางอย่างที่ทำให้เขาปล่อยพลังลบออกมาอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะกับตัวเองหรือคนที่เขากำลังสานสัมพันธ์ด้วยจนออกจะดูน่ารำคาญ ในขณะเดียวกันก็มีมุมน่าสงสาร เมื่อรู้ว่าทำไมเขาถึงเป็นคนแบบนี้
ส่วนอีกเส้นเรื่องคือเรื่องราวแอบรักที่ไม่อาจข้าม Friend Zone ของเรียวตะ และการสื่อสารที่ดูคลุมเครือจนทำให้เก็นเซย์เข้าใจผิดจนกลายเป็นเรื่องรักสามเส้าเบาๆ ขณะที่ผู้ร่วมรายการอีกคนที่ดูมีเสน่ห์แสนดีคือคาซูโตะ จนเหมือนถอดมาจากภาพฝันของทั้งสาวๆ และหนุ่มๆ คือชอบทำกับข้าว ดูแลเอาใจใส่ และหน้าตาก็น่ารัก แต่กลับบอกว่าตัวเองไม่เคยมีเรื่องโรแมนติก ก็น่าสงสัยว่าเมื่อเรื่องดำเนินไปเราจะได้เห็นมุมอื่นๆ ของเขาหรือไม่
สรุปแล้ว The Boyfriend เป็นเรียลิตี้โชว์ที่น่าติดตาม แม้จะไม่มีดราม่าร้อนฉ่าหรือเลิฟซีนที่ดุดัน แต่ขายอารมณ์ละมุนแบบสมจริงจากนักแสดงที่มีเสน่ห์ มีพ่อแง่แม่งอนให้ลุ้นเบาๆ และได้เห็นอีกด้านที่ไม่ค่อยได้เห็นผู้ชายญี่ปุ่น (แม้จะเป็นเกย์ก็ตาม) คือการทำครัว ดูแลบ้าน รักษาความสะอาด ซึ่งน่าจะเรียกคะแนนนิยมให้สาวๆ ทั้งไทย ญี่ปุ่น เข้ากรุ๊ปสาววายได้ไม่ยาก
สามารถชมเรียลิตี้โชว์ The Boyfriend ได้แล้วทาง Netflix