×

‘เทคเลย์ออฟ’ ที่เกิดขึ้นมากว่าปีครึ่ง บอกอะไรกับธุรกิจและคนในวงการเทคโนโลยี?

18.01.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • เพียง 2 สัปดาห์ พนักงานสายเทคถูกปลดออกจากตำแหน่งไปแล้วกว่า 7,500 คน เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ความมั่นใจของพนักงานในอุตสาหกรรมเริ่มจะสั่นคลอน
  • ผู้บริหารในแวดวงเทคบางคนออกมายอมรับว่า “AI เป็นหนึ่งในเหตุผลหลักที่ทำให้พวกเราต้องคิดทบทวนเรื่องจำนวนคนใหม่” ซึ่งเกิดขึ้นไม่นานหลังธุรกิจโยกเงินไปลงทุนในปัญญาประดิษฐ์เพิ่มขึ้น
  • Dice Tech Sentiment Report 2023 พบว่า 60% ของพนักงานวงการเทคโนโลยีชาวอเมริกันระบุถึงความต้องการเปลี่ยนงานในปี 2024 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าปีก่อนหน้าที่ 52%
  • แม้ประเทศไทยจะไม่เจอกับการ ‘เลย์ออฟ’ ครั้งใหญ่อย่างที่เกิดขึ้นในฝั่งตะวันตก แต่การที่บริษัทใหญ่ดั้งเดิมจำนวนมากขึ้นเริ่มเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็น Tech Company สงครามการแย่งคนเก่งสายเทคโนโลยีก็มีแนวโน้มจะเข้มข้นมากขึ้นไปอีก

เดือนแรกของปี 2024 เพิ่งจะผ่านไปได้ครึ่งทาง แต่บรรยากาศความมั่นคงในงานของคนวงการเทคโนโลยียังคงมีกลิ่นอายที่คล้ายกับปี 2023 ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นปีแห่งการ ‘เลย์ออฟ’

 

ในเวลาเพียง 2 สัปดาห์ พนักงานสายเทคถูกปลดออกจากตำแหน่งไปแล้วกว่า 7,500 คน เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ความมั่นใจของพนักงานในอุตสาหกรรมเริ่มจะสั่นคลอน โดยเฉพาะกับเหล่าคนในบริษัทที่ตั้งอยู่ ณ ศูนย์กลางแห่งเทคโนโลยีโลกอย่างซิลิคอนวัลเลย์ ที่ซึ่งพนักงานผู้ถูกปลดเริ่มหันกลับมามองว่าพวกเขาจะยังเดินหน้าในสายอาชีพนี้อยู่หรือไม่ ท่ามกลาง ‘ความไม่รู้’ ถึงอนาคตที่นับวันมีแนวโน้มจะยิ่งไม่มั่นคงมากขึ้น

 

บอร์ดบริหารส่วนใหญ่ยอมรับ AI คือหนึ่งเหตุผลของการลดคน

 

การตัดสินใจปลดพนักงานโดยบริษัทบิ๊กเทคที่เกิดขึ้นในตลอดหลายเดือนของปี 2023 มาควบคู่กับการที่บริษัทเหล่านั้นทุ่มเงินลงทุนจำนวนมหาศาลเพื่อเดินหน้าลงทุนพัฒนา AI ในวาระที่ธุรกิจต้องการเพิ่มประสิทธิภาพและจัดเรียงโครงสร้างกันใหม่ ทำให้ผู้บริหารในแวดวงเทคบางคนออกมายอมรับว่า “AI เป็นหนึ่งในเหตุผลหลักที่ทำให้พวกเราต้องคิดทบทวนเรื่องจำนวนคนใหม่”

 

Google และ Amazon เป็นสองบริษัทที่นำร่องการปลดพนักงานจำนวนหลายร้อยชีวิตจากหลายแผนกในครึ่งแรกของเดือนมกราคมปีนี้ ซึ่งจุดที่น่าสังเกตนั้นคือ การลดพนักงานเกิดขึ้นหลังจากที่บริษัททั้งสองประกาศถึงการลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐในสตาร์ทอัพ Anthropic

 

บริษัทอย่าง Discord ตัดสินใจปลดคน 17% ออก และยังมี Unity Software ผู้สร้างซอฟต์แวร์หลักของเกม Pokémon GO รวมถึง Duolingo ก็ทำเช่นเดียวกัน โดยลดไป 25% และ 10% ตามลำดับ โดยต่างให้เหตุผลว่าต้องการจัดสรรทรัพยากรใหม่เพื่อลงทุนในด้าน AI

 

แซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด ผู้ที่มีประสบการณ์คลุกคลีกับธุรกิจด้านเทคโนโลยี กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH เกี่ยวกับเหตุการณ์ปลดพนักงานที่เกิดขึ้นนี้ว่า ‘เป็นเรื่องที่ปกติ’ เพราะองค์กรจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายส่วนเกินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ โดยตำแหน่งหรือประเภทงานที่ AI สามารถทดแทนได้ เช่น งานซ้ำซ้อนหลังบ้านต่างๆ ก็มีการนำเครื่องมือจาก OpenAI หรือ RPA (Robotic Process Automation) มาใช้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายเหล่านั้นและเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่ง AI สามารถเข้ามาเติมเต็มส่วนนี้ได้เป็นอย่างดี

 

นอกเหนือจากปัจจัยด้าน AI การระบาดของโควิดที่เคยเป็นสาเหตุให้ดีมานด์ต่อสินค้าและบริการบนช่องทางออนไลน์พุ่งสูงขึ้น จนนำมาสู่การเดินหน้าจ้างงานบริษัทเทคโนโลยีอย่างเต็มสูบเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด ก็ค่อยๆ แปรเปลี่ยนมาให้ความสำคัญการ ‘ลดต้นทุน’ แทน ท่ามกลางภาวะต้นทุนทางการเงินสูง บวกกับดีมานด์ที่ลดลง เนื่องจากวิถีชีวิตของผู้คนในตอนนี้ไม่จำเป็นต้องทำงาน สังสรรค์ และใช้ชีวิตภายในที่อยู่อาศัยของตนเองเป็นหลักแล้ว 

 

การหาช่องทางใหม่เพื่อทวงคืนสิทธิและความมั่นคงของคนสายเทค

 

“ในขณะที่นักลงทุนและธุรกิจมองหาหลุมหลบภัย พนักงานก็ทำแบบนั้นเหมือนกัน” Jeff Spector ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทจัดหางาน ได้กล่าวกับ CNBC

 

สถานะเดิมที่เชื่อว่าซิลิคอนวัลเลย์เป็นแหล่งสำหรับผู้ที่สนใจจะเริ่มต้นและเติบโตไปกับเส้นทางอาชีพสายเทคโนโลยีในระยะยาวกำลังเปลี่ยนไป เพราะความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจที่ส่งผลให้เกิดการปลดพนักงานจำนวนมากเกิดขึ้น โดยเริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 2022 และยังดำเนินต่อไป 

 

ในผลสำรวจ Dice Tech Sentiment Report 2023 พบว่า 60% ของพนักงานวงการเทคโนโลยีชาวอเมริกันระบุถึงความต้องการเปลี่ยนงานในปี 2024 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าปีก่อนหน้าที่ 52%

 

แนวโน้มดังกล่าวจึงเป็นโอกาสให้กับบริษัทประเภท Non-Tech อื่นๆ สามารถดึงตัวคนเก่งจากวงการเทคไปได้ ซึ่งบริษัทเหล่านี้ก็ได้คนจากวงการไปแล้วประมาณ 60% เนื่องจากพวกเขามีความมั่นคงที่ดีกว่ามอบให้กับพนักงานได้ และไม่ได้เจอกับวิกฤตที่นำมาสู่การปลดคนมากเท่ากับบริษัทเทคโนโลยี

 

แต่ทั้งนี้ กลุ่มบริษัท Non-Tech จำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจธรรมชาติของคนสายเทคที่ต้องการความยืดหยุ่นและบรรยากาศที่เอื้อต่อความคิดสร้างสรรค์ เพื่อรักษาพวกเขาให้อยู่กับองค์กรให้ได้อย่างยาวนาน

 

ดังนั้น เทรนด์ทำงานของคนสายเทคโนโลยีในสหรัฐฯ ที่กำลังเกิดขึ้นคือ การเปลี่ยนมุมมองเดิมที่เคยให้คุณค่ากับการได้ร่วมงานกับบริษัทชื่อดังที่เติบโตเร็วและมีชื่อเสียง กลายเป็นการมองหาอะไรที่ให้ ‘ความมั่นคง’ ได้มากกว่า

 

‘เทคเลย์ออฟ’ ยังไม่ใช่ปัญหาของไทย แต่ AI นั้นไม่แน่

 

สำหรับสถานการณ์การปลดคนที่เกิดขึ้นในฝั่งตะวันตก ต้องบอกว่าบ้านเราคงไม่ได้เห็นแบบนั้นในอุตสาหกรรมเทคไทย โดย ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ นายกสมาคม Thai Startup ได้ให้ความเห็นถึงประเด็นความท้าทายของประเทศไทยไว้ดังนี้

 

“ปัญหาที่เรากำลังเจอและเจอมาสักพักใหญ่ๆ แล้วคือการขาดแคลนคนเก่งในวงการเทคโนโลยี สมาคมโปรแกรมเมอร์ไทยเคยออกมาเปิดเผยตัวเลขว่า ความต้องการบุคลากรสาย IT ในประเทศมีจำนวนมากถึง 1 ล้านคน แต่เรากลับมีคนที่ใช้งานได้อยู่ในตลาดเพียงประมาณ 5 หมื่นคน และที่ยิ่งไปกว่านั้นคือ คนที่จบการศึกษาในด้านนี้และสามารถทำงานได้จริงก็มีแค่ 2 พันคนต่อปีเท่านั้น” 

 

มากไปกว่านั้น บริษัทใหญ่ที่เป็นธุรกิจแบบดั้งเดิมจำนวนมากขึ้นก็เริ่มที่จะเปลี่ยนและเรียกตัวเองว่าเป็น ‘Tech Company’ ทำให้สงครามการแย่งคนเก่งสายเทคโนโลยีมีแนวโน้มจะเข้มข้นมากขึ้นไปอีก

 

ทีนี้จุดเชื่อมโยงมันอยู่ที่นวัตกรรม AI เพราะถึงแม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่มีการปลดคนออกในสเกลที่ใหญ่จากการถูกแทนที่ แต่ AI ก็จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้คนในวงการเทคโนโลยีที่เคยเรียกค่าตัวได้สูง อาจจำเป็นต้องถูกประเมินใหม่ เพราะเมื่อ AI เข้ามาเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของการทำธุรกิจ บทบาทของคนก็จะไม่เหมือนเดิม

 

ยุทธนาทิ้งท้ายว่า เทรนด์ความท้าทายที่จะเกิดขึ้นกับแรงงานไทยในอนาคต ท่ามกลางเทคโนโลยีนี้ที่ฉลาดขึ้นเรื่อยๆ คือการตั้งคำถามของผู้ประกอบการว่า “ถ้าเราสามารถใช้ AI ที่ช่วยให้งานเสร็จได้เร็วกว่าในคุณภาพที่ไม่ต่างกันมาก การจ้างคนจะยังสำคัญแค่ไหน?” ซึ่งประเด็นนี้ก็เป็นโจทย์ให้กับคนทำงานทุกคนที่ต้องเร่งหาจุดแข็งและจุดแตกต่าง เพื่อให้ตนทำงานในโลกยุคต่อไปได้โดยไม่ถูกแทนที่

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising