×

เกมรักทรยศ รีเมกซีรีส์ต่างประเทศมาหลายครั้ง ช่อง 3 ถึงเวลาปังสักที

12.09.2023
  • LOADING...
แอน ทองประสม รับบทเป็น หมอเจน ใน เกมรักทรยศ

HIGHLIGHTS

3 MIN READ
  • ความยากของการทำ เกมรักทรยศ คือคนไทยค่อนประเทศน่าจะรู้เนื้อหาในเรื่องกันบ้างแล้ว เพราะ Doctor Foster เวอร์ชันเกาหลีในชื่อ The World of the Married คือซีรีส์ยอดฮิตในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่เกมรักทรยศก็สอดแทรกบริบทสังคมไทย และการทำให้คาแรกเตอร์ของหมอเจนและหมอจีมีความแตกต่าง สร้างรสชาติละครแบบถูกใจคนไทยได้ดีทีเดียว 
  • อย่างแรกที่ชื่นชมคือการแคสต์นักแสดง แอน ทองประสม ที่มีฝีไม้ลายมือเทียบเคียงคิมฮีแอในเวอร์ชันเกาหลี และ Suranne Jones ในเวอร์ชันออริจินัล และสามารถถ่ายทอดหลายฉากหลายซีนใหญ่ๆ ในที่มีในทุกเวอร์ชันออกมาได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ตอนแรกที่ดูเคารพต้นฉบับอยู่มากทีเดียว

หากย้อนดูไม่กี่ปีที่ผ่านมา สถานีโทรทัศน์ไทยหลายๆ ช่องพยายามสร้างความแปลกใหม่ด้วยการนำซีรีส์ต่างประเทศมารีเมกในเวอร์ชันไทย หนึ่งในนั้นคือช่อง 3 แต่ดูเหมือนผลงานที่ผ่านมาจะไม่ค่อยเข้าตาสักเท่าไร ทั้ง ลิขิตรักข้ามดวงดาว ที่รีเมกซีรีส์เกาหลีใต้ My Love from the Star หรือ บาปอยุติธรรม รีเมกจากซีรีส์ตุรกีเรื่อง Ölene Kadar จนกระทั่งประกาศสร้าง เกมรักทรยศ ที่ซื้อลิขสิทธิ์จาก Doctor Foster ซีรีส์ดังอังกฤษมาทำใหม่ ก็ถึงคราวที่ช่อง 3 จะปังสักที 

 

เกมรักทรยศ คือเรื่องราวของ หมอเจน (แอน ทองประสม) จิตแพทย์ชื่อดังแห่งเกาะภูเก็ต เธอมีครอบครัวที่สมบูรณ์แบบกับ อธิน (อนันดา เอเวอริงแฮม) เจ้าของบูติกรีสอร์ต แต่แล้ววันหนึ่งหมอเจนก็ได้เจอกับเส้นผมปริศนา ทำให้เธอต้องออกตามล่าหาความจริง จนพบว่าสามีที่แสนดีแอบคบชู้กับ เคท (แพทริเซีย กู๊ด) ลูกสาวของ ท่านบุญณ์ญาณ์ (ศักราช ฤกษ์ธำรงค์) และ คุณหญิงมินตรา (เพ็ญพักตร์ ศิริกุล) ที่เจ็บปวดกว่านั้นคือคนรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนสนิทอย่าง หมอโรส (ต้นหอม-ศกุนตลา เทียนไพโรจน์) และเพื่อนบ้านอย่าง อันนา (จอย-รินลณี ศรีเพ็ญ) และ ชัช (ชาย-ชาตโยดม หิรัณยัษฐิติ) ก็รู้เห็นเป็นใจกับความสัมพันธ์ผิดศีลธรรมนี้ด้วย หมอเจนเริ่มเปลี่ยนมุมมองต่อสามีและได้พบว่าเขากำลังประสบปัญหาเรื่องเงินอย่างหนัก เมื่อผนวกการนอกใจทำให้หมอเจนวางแผนที่จะหย่าและเอาคืนผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างสาสม แต่ทุกอย่างไม่ได้ง่ายอย่างนั้น นำมาสู่ความเจ็บปวดที่ส่งผลกระทบกับลูกทั้ง พัชร์ (ณัฐพัชร์ นิมจิรวัฒน์) และ พลอย (มาชิดา สุทธิกุลพานิช) รวมทั้งสงครามปั่นประสาทที่ทำให้ทุกคนพุ่งสู่หายนะ 

 

 

ความยากของการทำ เกมรักทรยศ คือคนไทยค่อนประเทศน่าจะรู้เนื้อหาในเรื่องกันบ้างแล้ว เพราะ Doctor Foster เวอร์ชันเกาหลีในชื่อ The World of the Married คือซีรีส์ยอดฮิตในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่เกมรักทรยศก็สอดแทรกบริบทสังคมไทย และการทำให้คาแรกเตอร์ของหมอเจนและหมอจีมีความแตกต่าง สร้างรสชาติละครแบบถูกใจคนไทยได้ดีทีเดียว 

 

อย่างแรกที่ชื่นชมคือการแคสต์นักแสดง แอน ทองประสม ที่มีฝีไม้ลายมือเทียบเคียงคิมฮีแอในเวอร์ชันเกาหลี และ Suranne Jones ในเวอร์ชันออริจินัล และสามารถถ่ายทอดหลายฉากหลายซีนใหญ่ๆ ในที่มีในทุกเวอร์ชันออกมาได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ตอนแรกที่ดูเคารพต้นฉบับอยู่มากทีเดียว แต่ก็สร้างความแตกต่างด้วยการสอดแทรกประเด็นต่างๆ เข้ามาในเส้นเรื่อง ทั้งในเรื่องจิตวิทยา เช่น เรื่องของโรคซึมเศร้า ความรุนแรงที่เกิดจากความไม่มั่นคงทางใจ หรือความเชื่อเรื่องการแก้ปัญหาทางใจด้วยการเข้าวัด รวมทั้งรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของตัวละคร เช่น การเปลี่ยนตัวละครบางตัวให้เป็นตัวแทนของกลุ่ม LGBTQIA+ ก็เหมือนการบอกนัยๆ ว่าปัญหาเรื่องรักๆ ใคร่ๆ เกิดขึ้นได้กับความรักทุกรูปแบบ ให้สมกับพล็อตเรื่องที่มีความเป็นสากลจนสร้างมาแล้วกว่า 8 เวอร์ชันทั่วโลก

 

 

ในส่วนต่อมาคือการสอดแทรกแนวคิดแบบไทยๆ เข้าไปในบทสนทนาต่างๆ ทั้งในบทสนทนาระหว่างหมอโรสกับหมอเจนที่ว่า “ยังไงเธอก็เป็นเมียหลวง” หรือแนวคิดของสร้อยสน (นีรนุช เมฆใหญ่) แม่ของอธิน ที่ว่าผู้หญิงต้องอดทนและต้องประคองชีวิตครอบครัวแม้ว่าจะไม่ใช่คนผิดก็ตาม ซึ่งในเวอร์ชันของเกาหลีใต้ก็ใส่ประเด็นนี้เข้าไป แต่ท่าทีการตอบสนองของหมอเจนและหมอจีกลับแตกต่างกัน 

 

ถ้าเทียบกันหมัดต่อหมัดหมอ เจนใน เกมรักทรยศ ดูจะมีความดุดันและแสดงออกอย่างชัดเจนกว่าหมอจีใน The World of the Married ที่เน้นความนิ่งสงบสยบความเคลื่อนไหว ทำให้ Mood & Tone ของทั้งเรื่องดูแตกต่างออกในแง่ความกดดันของเนื้อหา ที่อาจจะพร่องไปบ้างเรื่องจิตวิทยา แต่ก็ได้ความสะใจเข้าใจง่ายแบบละครไทยเข้ามาแทนที่ รวมทั้งใส่โทนสีเทาๆ ให้กับหมอเจนมากกว่าเป็นแค่ผู้ถูกกระทำ แต่เป็นฝ่ายรุกผ่านหลายๆ เหตุการณ์ในละคร

 

 

ในขณะที่บุคลิกของอธินกับอีแทโอก็ค่อนข้างแตกต่างกัน โดยในเวอร์ชันเกาหลีใต้อีแทโอดูเป็นผู้ชายมีเสน่ห์ แสนดี จนแทบเป็นไปไม่ได้ว่าจะนอกใจเมีย ส่วนอธินกลับมีภาพลักษณ์เจ้าสำราญ มีความเป็นตัวของตัวเอง แต่ก็ซ่อนความอ่อนไหวเอาไว้ โดยสะท้อนออกมาจากบทพูด เช่น “คุณคิดว่าลูกๆ จะภูมิใจในตัวผมไหม” และแสดงออกถึงความดิ้นรนเรียกความมั่นใจในความเป็นชาย เมื่อภรรยาก้าวหน้าในหน้าที่การงานมากกว่าตัวเอง 

 

นอกจากการแสดงออกผ่านการกระทำและบทสนทนา ฉากเลิฟซีนในเรื่องก็แฝงนัยบางอย่างเอาไว้ด้วยเหมือนกัน อย่างในฉากเปิดเรื่องของทั้งสองเวอร์ชันก็จะเห็นได้ว่าทั้งหมอเจนและหมอจีดูจะเป็นผู้คุมเกมรัก รวมทั้งในฉากที่ต้องไปเล่นชู้กับชัชก็มีลักษณะของผู้คุมเกมอยู่ ซึ่งแตกต่างจากเลิฟซีนของอธินและเคทที่ออกจะละมุนละไมกว่า ในส่วนนี้เป็นรายละเอียดที่น่าสนใจ จนแทบอดใจไม่ไหวที่จะดูเลิฟซีนสำคัญอีกครั้งในตอนที่ทั้งคู่หย่ากันไปแล้วว่าจะขับเคี่ยวกันขนาดไหน (ฮา) 

 

 

ทางด้านของแพทริเซียที่มารับบทเคท แม้จะถูกครหาว่าไม่เหมาะสมในตอนแรก แต่ก็ถือว่าทำหน้าที่ได้ดี ทำให้เคทไม่ใช่แค่เมียน้อยบุคลิกแบนๆ แต่คือคุณหนูเอาแต่ใจที่ไม่ได้เลวร้ายมาตั้งแต่ต้น แต่เพราะเคยได้ทุกอย่างที่ต้องการมาตลอด 

 

ซึ่งถ้าหากพูดถึงคุณภาพการแสดง ผู้เขียนกลับคิดว่า ต้นหอม ศกุนตลา มีบางฉากที่ยังห่างจากแอน และยิ่งในเวอร์ชันไทยพยายามใส่ความคอเมดี้ให้กับตัวละครหมอโรสแล้วตัดความเป็น Frenemy (เพื่อนที่มีการแข่งขันกันไปด้วย) ก็ยิ่งทำให้บางฉากดูไปคนละทิศละทาง 

 

ส่วนอีกอย่างที่ค่อนข้างขัดใจคือการจัดแสงฉากในบ้านที่ดูทึมเทาเกินไปในจังหวะที่ครอบครัวยังอบอุ่นอยู่ น่าเสียดายที่จุดนี้น่าจะช่วยเรื่องการสื่อสารในเรื่องได้ดีกว่านี้ รวมถึงการใส่บทสนทนาบางประโยคที่ดูละครเกินไปจนขาดความเป็นธรรมชาติอยู่เหมือนกัน

 

อย่างไรก็ตาม เกมรักทรยศ 6 ตอนแรกถือว่าสอบผ่าน โดยเฉพาะใน 2 อีพีท้ายที่ดูเหมือนจะเป็นทางแยกให้เวอร์ชันไทยแตกต่างออกจาก 2 เวอร์ชันก่อนหน้าออกไปได้อีก ก็ต้องดูว่าในอีก 9 อีพีที่เหลือจะเป็นอย่างไร และจะขยายความต่อจากเวอร์ชันออริจินัลที่มีเพียง 10 อีพีไปได้ไกลแค่ไหน จะออกจากเกาะภูเก็ตสู่ทะเลอันดามันหรือไม่ ต้องรอติดตาม

 

รับชมเกมรักทรยศย้อนหลังได้ที่แอปพลิเคชัน CH3Plus และ Viu

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising