×

สาธุ (2567) ซีรีส์กะเทาะวงการผ้าเหลืองว่าด้วยคนรุ่นใหม่ที่ค้นพบวิธีปั๊มเงินจากศรัทธาและความงมงายของผู้คน

09.04.2024
  • LOADING...
สาธุ (2567)

HIGHLIGHTS

5 MIN READ
  • ถ้าหากมีใครถามว่า ความรู้สึกหลังจากได้ดูซีรีส์ตีแผ่ด้านมืดของวงการพุทธศาสนาในประเทศไทยเรื่อง สาธุ เป็นอย่างไร ก็อาจต้องตอบแบบปริศนาธรรมทำนองว่า เหมือนเราถูกขังอยู่ในถ้ำที่บรรยากาศมืดสลัวเป็นเวลาช้านาน (หรือบางทีอาจต้องบอกว่าตลอดทั้งชีวิต) แล้วจู่ๆ ก็ถูกลากออกมารับความเจิดจ้าของแสงอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน 
  • ข้อน่าสังเกตเกี่ยวกับตัวละครหลักทั้งสามคนก็คือ ทั้งหมดไม่ได้แสดงออกว่าเลื่อมใสในพุทธศาสนาแต่อย่างใด ว่ากันตามจริง น่าสงสัยว่าพวกเขานับถือศาสนาหรือเปล่าด้วยซ้ำ (หรือบางทีศาสนาของพวกเขาก็คือเงินทองและความมั่งคั่งร่ำรวย)
  • ในส่วนของเส้นเรื่อง ทิศทางในการบอกเล่าก็อาจสรุปได้ว่ามันคือ Rise and Fall หรือความรุ่งโรจน์และการร่วงหล่นของตัวละคร และตัวแปรที่สร้างความเข้มข้นให้กับเรื่องที่ขึ้นและลงแบบรถไฟเหาะตีลังกาก็ได้แก่บรรดาปมขัดแย้งที่ผู้สร้างโยนใส่ตัวละคร

สาธุ (2567)

 

ถ้าหากมีใครถามว่า ความรู้สึกหลังจากได้ดูซีรีส์ตีแผ่ด้านมืดของวงการพุทธศาสนาในประเทศไทยเรื่อง สาธุ ผลงานกำกับของ วรรธนพงศ์ วงศ์วรรณ เป็นอย่างไร ก็อาจต้องตอบแบบปริศนาธรรมทำนองว่า เหมือนเราถูกขังอยู่ในถ้ำที่บรรยากาศมืดสลัวเป็นเวลาช้านาน (หรือบางทีอาจต้องบอกว่าตลอดทั้งชีวิต) แล้วจู่ๆ ก็ถูกลากออกมารับความเจิดจ้าของแสงอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน ผลลัพธ์ก็คือ รายละเอียดน้อยใหญ่ที่ผู้สร้างบอกเล่าอย่างโจ่งแจ้งและไม่ประนีประนอมก็ทิ่มแทงการมองเห็นและความรู้สึกรู้สมในแบบที่เกินเลยความคาดหมายไปเยอะทีเดียว

 

ที่ตลกก็คือ เพิ่งจะปีกลายนี่เองที่หนังเรื่อง หุ่นพยนต์ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้นำเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับวงการพุทธศาสนาสักเท่าไร กลับต้องพบเจอวิบากกรรมจากคณะกรรมการเซ็นเซอร์ที่สั่งให้ตัดหรือแก้ไขหลายฉากเพื่อให้หนังฉายได้ ด้วยเหตุผลที่สุดแสนไม่เข้าท่า (ตั้งแต่ชื่อวัดที่ไม่เหมาะสม ฉากเณรชกต่อยและด่าทอด้วยคำหยาบคาย ฉากเณรกอดผู้หญิง ซึ่งก็คือแม่ของเณรที่อยู่ในภาวะคุมสติไม่ได้) ซึ่งมันสะท้อนทัศนคติที่ทั้งผูกขาดและคับแคบอย่างไม่น่าเชื่อ

 

ตลกร้ายหนักขึ้นไปอีกก็ตรงที่อีกราวสามเดือนหลังจากนั้น ทุกสิ่งที่กองเซ็นเซอร์หวงห้ามหรือสั่งให้ตัดให้แก้ก็ได้รับการเผยแพร่ทางช่องสตรีมมิง (Prime Video) สำหรับคนดูทุกเพศทุกวัยอย่างชนิดที่ไม่ต้องกระมิดกระเมี้ยนอีกต่อไป เพราะอย่างที่รับรู้รับทราบว่าสตรีมมิงยี่ห้อต่างๆ อยู่นอกเขตการปกครองของหน่วยงานตรวจพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ และกลายเป็นสวนสนุกที่เปิดกว้าง อันส่งผลให้ ‘ความต่างศักย์’ ระหว่างหนังฉายโรงกับหนังและซีรีส์ที่เผยแพร่ทางช่องสตรีมมิงเรียกอย่างอื่นไม่ได้นอกจากความย้อนแย้งและลักลั่น

 

สาธุ (2567) สาธุ (2567)

 

ซีรีส์ความยาว 9 ตอนจบเรื่อง สาธุ ซึ่งสตรีมทาง Netflix ตอนนี้ ใช้ประโยชน์จากเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของผู้ชมได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยทีเดียว ข้อสำคัญ ผู้สร้างไม่ต้องตบหัวแล้วลูบหลัง หรือออกตัวเป็นพัลวันด้วยการขึ้นข้อความทำนองว่า นี่เป็นซีรีส์ที่สร้างเพื่อ ‘ชี้ให้เห็นเรื่องบาปบุญคุณโทษ และไม่ได้มีเจตนาลบหลู่พระพุทธศาสนา ผู้ชมโปรดใช้วิจารณญาณ’ ซึ่งเป็นฟอร์แมตที่น่ารำคาญ 

 

และจุดประสงค์ที่แท้จริงก็เป็นอย่างที่จั่วไว้ข้างต้น มันพาคนดูไปสำรวจวงการศาสนาในมิติของพุทธพาณิชย์ หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นธุรกิจที่ทำมาหากินกับความเชื่อและความศรัทธาของผู้คน ซึ่งยิ่งเวลาผ่านพ้นไป ประเด็นผิดชอบชั่วดีก็ไม่ใช่แก่นหรือสาระแต่อย่างใด รวมถึงไม่ใช่ข้อห่วงกังวลของบรรดาตัวละครหลักของเรื่อง เพราะจนแล้วจนรอด นี่เป็นเรื่องของอุปสงค์และอุปทาน วัดหรือศาสนสถานก็คือหน่วยธุรกิจที่ประมวลจากสิ่งที่ผู้สร้างนำเสนอ ถ้าหากบริหารจัดการให้ดีๆ มันสามารถเป็นแหล่งแสวงหารายได้ที่มีเม็ดเงินไหลเวียนมหาศาล ซึ่งก็แน่นอนว่านี่ไม่ใช่การพูดอย่างเพ้อฝันหรือเลื่อนลอย ทว่าอ้างอิงได้จากโลกความเป็นจริง แม้ว่าถึงที่สุดแล้วระยะเวลาเพียงแค่หกเดือนตามกรอบการเล่าเรื่องของซีรีส์เรื่อง สาธุ ออกจะเร็วเกินกว่าที่ใครจะสามารถดลบันดาลให้วัดโนเนมต่างจังหวัดโด่งดังติดตลาดขึ้นมา และผู้สร้างใช้สิ่งที่ Artistic License หรือข้อแก้ตัวในเชิงศิลปะอย่างค่อนข้างสิ้นเปลือง

 

 

ในแง่ของแนวเรื่อง สาธุ ก็จัดอยู่ในหมวดหมู่ฟิล์มนัวร์ เป็นเรื่องของตัวละครที่พาตัวเองถลำลึกลงไปในโลกของทุรชนและอาชญากรรมอย่างถอนตัวไม่ขึ้น และในตอนที่คนดูได้พบกับ วิน (เจมส์-ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ) หนึ่งในตัวเอกของเรื่อง เขากำลังถูกตำรวจที่รูปลักษณ์คล้ายโจร (ปราโมทย์ แสงศร) สอบสวนด้วยข้อกล่าวหายักยอกและฉ้อโกงเงินวัด และเนื้อหาหลังจากนี้ก็คือการอธิบายว่าเป็นมาอย่างไร วินและเพื่อนอีกสองคนอันได้แก่ เกม (พีช-พชร จิราธิวัฒน์) และ เดียร์ (แอลลี่-อชิรญา นิติพน) ซึ่งร่วมลงทุนธุรกิจสตาร์ทอัพเกมออนไลน์ด้วยกัน ถึงได้มาลงเอยในสภาพเหมือนหมาจนตรอกแบบนี้

 

หรือพูดให้หมดเปลือกก็ไม่มีอะไรซับซ้อน ต้นเหตุมาจากความอ่อนหัดและความเย่อหยิ่งจองหองของทั้งสามคนที่ทำให้พวกเขาเป็นหนี้เป็นสินเงินกู้นอกระบบจำนวนมหาศาล และกลายเป็นว่าวินคือคนที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยงวดแรกด้วยการถูกพวกอันธพาลลงไม้ลงมือสะบักสะบอม โดยปริยาย สถานการณ์บีบบังคับให้ทั้งหมดต้องมองหา ‘Business Model’ ที่จะทำให้พวกเขาหาเงินมาชดใช้หนี้สินรวมถึงดอกเบี้ยสุดโหดได้รวดเร็ว และเดิมพันครั้งมโหฬารก็คือการพัฒนาหรือ ‘รีแบรนดิ้ง’ วัดเล็กๆ ที่ดูซอมซ่อให้กลายเป็นโปรดักต์ที่เย้ายวน และสาธุชนเกิดความศรัทธาและอยากร่วมทำบุญ

 

 

ข้อน่าสังเกตเกี่ยวกับตัวละครหลักทั้งสามคนก็คือ ทั้งหมดไม่ได้แสดงออกว่าเลื่อมใสในพุทธศาสนาแต่อย่างใด ว่ากันตามจริง น่าสงสัยว่าพวกเขานับถือศาสนาหรือเปล่าด้วยซ้ำ (หรือบางทีศาสนาของพวกเขาก็คือเงินทองและความมั่งคั่งร่ำรวย) และความที่แต่ละคนไม่มีเรื่องของความรู้สึกผิดบาปในเชิงศีลธรรมมาเกี่ยวข้องดังที่เกริ่นข้างต้น ก็ทำให้กรอบคิดพื้นฐานของพวกเขาอธิบายได้ด้วยประโยคของ Michael Corleone จากหนังเรื่อง The Godfather นั่นคือทั้งหมดทั้งมวลที่ลงทุนลงแรงเป็นเรื่องของธุรกิจล้วนๆ และไม่มีอะไรเป็นเรื่องส่วนตัว

 

ดังจะเห็นได้จากเนื้อหา EP.2 และ 3 ที่ตัวละครชำแหละให้คนดูได้เห็นอย่างตรงไปตรงมาว่ามีช่องทาง ช่วงเวลา และเงื่อนไขปัจจัยอะไรบ้างที่วัดและพระจะสามารถกอบโกยรายได้ การเปรียบวัดในลักษณะที่ว่ามันคือธีมพาร์กทางจิตวิญญาณและมีอะไรให้ ‘เล่น’ ได้เยอะ ก็ปลดล็อกความศักดิ์สิทธิ์และสถานะที่สูงส่งซึ่งไม่อาจลบหลู่หรือจาบจ้วงลงได้อย่างน่าสนใจ ขณะที่รายละเอียดเล็กๆ ที่ตอกย้ำว่าพวกเขาไม่ยอมให้อะไรมากีดขวางความสำเร็จ และพวกเขาไม่มีแม้กระทั่งความเคารพหรือยำเกรงพระเจ้าตามแบบฉบับของชาวพุทธก็คือ ตอนที่หลวงพ่อกิ้ว (สุรสีห์ ผาธรรม) เจ้าอาวาส สั่งให้ทั้งหมดเลิกยุ่งเกี่ยวกับกิจการของวัด และเป็นเกมที่พูดลอยๆ กับหุ้นส่วนทั้งสองว่า “พวกเราจ้างหลวงพ่อกิ้วสึกดีไหม” 

 

สาธุ (2567)

สาธุ (2567)

 

หรือจริงๆ แล้วตัวละครฟากที่เป็นพระก็ถูกสร้างและพัฒนาได้น่าฉงนสนเท่ห์พอกัน เราพูดไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าหลวงพ่อกิ้ว ซึ่งบทบาทไม่เยอะ เพราะเขาเจ็บออดๆ แอดๆ ตลอดเรื่อง เป็นพระที่วัตรปฏิบัติสะอาดสะอ้าน และว่าไปแล้วรอยยิ้มของเขาดูมีเลศนัย แต่คนที่หยั่งตื้นลึกหนาบางได้ยากยิ่งกว่าก็คือ พระเอกชัย (เพชร-เผ่าเพชร เจริญสุข) เลขานุการเจ้าอาวาส ผู้ซึ่งในเชิงพฤตินัยเขาก็คือเจ้าอาวาสตัวจริงนั่นเอง และขณะที่บางครั้งเขาดูเป็นพระที่เคร่งครัดในกฎระเบียบและธรรมวินัย พฤติการณ์หลายครั้งกลับซุกซ่อนท่าทีชวนสงสัย ทำนองว่าเขามีศาสนาเป็นที่ตั้งหรือยึดโยงผลประโยชน์ส่วนตัวกันแน่ 

 

ในส่วนของเส้นเรื่อง ทิศทางในการบอกเล่าก็อาจสรุปได้ว่ามันคือ Rise and Fall หรือความรุ่งโรจน์และการร่วงหล่นของตัวละคร และตัวแปรที่สร้างความเข้มข้นให้กับเรื่องที่ขึ้นและลงแบบรถไฟเหาะตีลังกาก็ได้แก่บรรดาปมขัดแย้งที่ผู้สร้างโยนใส่ตัวละคร ตอนที่พีคสุดๆ น่าจะได้แก่ EP.4 ที่หลังจากทั้งสามและรวมถึง น้าแต๋ง (ชาญณรงค์ ขันทีท้าว ในบทที่ฉูดฉาดบาดตา) มัคนายก ช่วยกันเล่นแร่แปรธาตุจนวัดภุมรามติดตลาดในแง่ของความนิยม กระทั่งดึงนักการเมืองท้องถิ่นมาเป็นแนวร่วมได้ ผลสืบเนื่องก็คือ สงครามที่ไม่ต้องประกาศกับวัดของเจ้าคณะอำเภอ (ไมเคิล เชาวนาศัย) ก็เปิดฉากอย่างดุเด็ดเผ็ดมันด้วยลูกไม้สกปรกและการก่อกวนหลากรูปแบบ นั่นรวมถึงการที่ตัวเจ้าคณะอำเภอถูกขุดคุ้ยเรื่องเพศสภาพ และถูกกล่าวหาว่าชอบฉันบวบของลูกศิษย์วัด ซึ่งต้องพูดอีกครั้งว่า ถ้าไม่นับข่าวที่พบเห็นอยู่เรื่อยๆ ในโลกโซเชียล เราแทบไม่เคยเห็นสื่อบันเทิงคดีที่ไหนพูดถึงพระสงฆ์องค์เจ้าอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูแบบนี้

 

 

ข้อสำคัญ ความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นมาไม่ได้เป็นแค่การแลกหมัดระหว่างคู่ชกรุ่นเล็กปะทะรุ่นใหญ่ในวงการสงฆ์แล้วจบๆ กันไป ทว่าผลสืบเนื่องก็นำพาให้สถานการณ์บานปลาย มิหนำซ้ำ ‘เหตุการณ์บางอย่าง’ ช่วงท้าย EP.4 ก็ทำให้วิน​ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวละครที่คนดูเข้าไม่ถึง กลายเป็นคาแรกเตอร์ที่น่ากังขาว่าบางทีอาจทำอะไรที่เกินเลยกว่าการเป็นแค่นักฉวยโอกาสที่คาดหวังความมั่งคั่งร่ำรวย 

 

อย่างไรก็ตาม เนื้อหาส่วนที่ดึงอารมณ์ร่วมได้มากๆ เกี่ยวข้องกับโรแมนซ์ระหว่างเดียร์กับพระดล (ปั๊บ-พัฒน์ชัย ภักดีสู่สุข) ผู้ซึ่งได้รับการแนะนำว่าเป็นพระป่า เคร่งครัดในวัตรปฏิบัติมากกว่าวัดบ้าน และน้ำเสียงในการเทศน์ของเขาก็ชโลมความรู้สึกเหมือนสายน้ำเย็นในลำธาร อีกทั้งเนื้อหาที่เขาหยิบยกมาสั่งสอนชาวบ้านก็ฟังดูตกผลึกทางความคิด เป็นแบบฉบับของผู้บรรลุธรรมที่แท้จริง แต่ก็นั่นแหละ นิทานชาดกเรื่องพระดลก็สอนให้รู้ว่าพระก็เป็นคน สติปัญญาลุ่มลึกแค่ไหนก็อาจตายน้ำตื้นได้เหมือนกัน และถ้าหากมองว่าซีรีส์เรื่อง สาธุ พูดถึงโลกศาสนาที่ทั้งแอบแฝงความฉ้อฉลและเต็มไปด้วยเรื่องน่าผิดหวังนานัปการ ความเพลี่ยงพล้ำต่อแรงกระตุ้นเร้าทางโลกของพระดล ผู้ซึ่งแทบจะเป็นพระสงฆ์รูปเดียวในเรื่องที่คนดูฝากผีฝากไข้ได้ ก็เรียกได้ว่าเป็นความพ่ายแพ้ของฝ่ายธรรมะอย่างหมดรูป

 

สาธุ (2567)

 

ตามธรรมเนียมของซีรีส์หลายตอนจบ สาธุ สอดแทรกไว้ด้วยซับพล็อตเยอะพอสมควร กระนั้นก็ตาม พูดไม่ได้ว่ามันได้ผลทั้งหมด บางเรื่องก็ไม่ดึงดูดเท่าที่ควร (เช่น เรื่องแต่หนหลังของเดียร์กับวิน หรือเรื่องวินกับแม่ของเขา) บางเรื่องก็กินเวลาและดูไม่ค่อยจำเป็น (เช่น เรื่องพระเกาหลี) แต่รวมๆ แล้วก็ต้องบอกว่านี่เป็นซีรีส์ที่ชวนติดตาม ด้วยการเขียนบทที่นำพาเนื้อหาพุ่งทะลุฝ้าทะลุเพดาน ด้วยการกำกับที่ทำให้คนดูรู้สึกเกี่ยวข้องเชื่อมโยง ด้วยการถ่ายภาพที่หลายครั้งบอกเล่าในสิ่งที่สื่อความหมายเป็นคำพูดไม่ได้ ด้วยงานสร้างที่ทำให้คนดูเชื่ออย่างไม่มีข้อกังขาใน ‘โลก’ ที่ถูกจัดวางเบื้องหน้า และด้วยเพลงประกอบที่ยียวนกวนประสาทดีเหลือเกิน

 

ในฐานะคนดู เรามักจะพูดเหมารวมทำนองว่า หนังไทยหรือซีรีส์ไทยบอกเล่าเรื่องที่วนเวียนซ้ำซากและตัดขาดตัวเองจากโลกความเป็นจริง สาธุ เป็นซีรีส์ที่หลุดพ้นจากเช็กลิสต์ทั้งสองข้อด้วยประการทั้งปวง และคงต้องพูดซ้ำอีกครั้งว่า ความเด็ดเดี่ยวและกล้าหาญของผู้สร้างในการนำเสนอเนื้อหาที่ล่อแหลมเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นจริงๆ และสมควรได้รับการประดับช่อชัยพฤกษ์ในความสำเร็จครั้งนี้อย่างเต็มภาคภูมิ

 

สาธุ (2567)

กำกับ: วรรธนพงศ์ วงศ์วรรณ

ผู้แสดง: เจมส์-ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ, พีช-พชร จิราธิวัฒน์, แอลลี่-อชิรญา นิติพน, ปั๊บ-พัฒน์ชัย ภักดีสู่สุข, เพชร-เผ่าเพชร เจริญสุข ฯลฯ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X