×

เลือดเก่า ‘นราพัฒน์’ – เลือดใหม่ ‘วทันยา’ ศึกชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 9

01.12.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ดีเดย์วันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม 2566 หากไม่มีอะไรผิดพลาด พรรคประชาธิปัตย์กำลังจะได้หัวหน้าพรรคคนใหม่ หลังไร้ผู้นำพรรคยาวนานกว่า 7 เดือน
  • 25 สส. ประชาธิปัตย์ จะเป็นผู้กำหนดว่า หัวหน้าพรรคคนที่ 9 จะเป็นใคร ระหว่าง ‘นราพัฒน์-วทันยา’
  • หนทางสู่หัวหน้าพรรคของเลือดใหม่อย่าง ‘วทันยา’ ไม่ง่าย ต้องผ่าน 3 ด่าน และการเห็นชอบจากองค์ประชุม

หากไม่มีอะไรผิดพลาดในสุดสัปดาห์หน้า ประชาธิปัตย์จะได้หัวหน้าพรรคคนใหม่ แทน ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์’ ที่ลาออกจากตำแหน่ง แสดงความรับผิดชอบผลการเลือกตั้งซึ่งไม่เป็นไปตามที่คาดหวังได้ สส. ต่ำกว่า 50 ที่นั่ง หลังไร้คนนำพรรคนานกว่า 7 เดือน

 

ผลการเลือกตั้งสร้างความบอบช้ำให้พรรคประชาธิปัตย์อย่างมาก พรรคได้ผู้แทนราษฎรเข้าไปนั่งในสภาอันทรงเกียรติเพียง 25 ที่นั่ง แบ่งเป็น สส. เขต 22 ที่นั่ง และ สส. บัญชีรายชื่อ 3 ที่นั่งเท่านั้น

 

ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคชุดเดิมกำหนดจัดประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ครั้งที่ 3 ในวันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม 2566 พร้อมเตรียมองค์ประชุมสำรองจำนวน 150 คน ป้องกันองค์ประชุมไม่ครบเหมือนที่ผ่านมา

 

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และ เฉลิมชัย ศรีอ่อน ระหว่างประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และ เฉลิมชัย ศรีอ่อน ระหว่างประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2566

ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

 

ตั้งแต่ 14 พฤษภาคม จวบจนถึงวันนี้ พรรคประชาธิปัตย์จัดการประชุมใหญ่วิสามัญพรรคเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่มาแล้วทั้งสิ้น 2 ครั้ง แต่ก็มีเหตุให้การประชุมล่มทั้ง 2 ครั้ง

 

ทุกคนต่างรู้อยู่เต็มอกว่า เป็นผลมาจากข้อบังคับพรรคตั้งเกณฑ์การเลือกหัวหน้าพรรค คิดเป็น 70-30 โดยให้น้ำหนักคะแนนกับ สส. ทั้ง 25 คน คิดเป็น 70% และอดีตกรรมการบริหารพรรค สมาชิกพรรคทั่วประเทศอีก 30%

 

แม้จะมีการเสนอให้ใช้ข้อบังคับพรรค ข้อที่ 137 เพื่อยกเว้นข้อบังคับกรณี สส. ปัจจุบัน 25 คน ที่มีน้ำหนักในการลงคะแนนถึง 70% เปลี่ยนมาเป็น 1 สิทธิ 1 เสียงเท่ากัน แต่สุดท้ายไม่สามารถขอยกเว้นข้อบังคับได้

 

ด้วยเกณฑ์ที่ให้น้ำหนัก สส. เลือกหัวหน้าพรรคถึง 70% ทำให้คาดเดาได้ไม่ยากว่า หากผู้สมัครหัวหน้าพรรคคนใดที่ได้รับการสนับสนุนจาก สส. เสียงส่วนใหญ่ จะเป็นบุคคลที่มีโอกาสเข้าใกล้เก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่มากที่สุด

 

ประชาธิปัตย์แตก 2 ขั้ว

 

ขณะเดียวกัน พรรคประชาธิปัตย์แตกออกเป็น 2 ขั้ว สส. เสียงข้างมากอยู่ในขั้ว ‘เฉลิมชัย ศรีอ่อน’ รักษาการเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย เดชอิศม์ ขาวทอง สส. สงขลา ผู้กุมบังเหียนดูแล สส. ภาคใต้ ต่างให้การสนับสนุน ‘นราพัฒน์ แก้วทอง’ รองหัวหน้าพรรคเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่

 

ส่วน สส. เสียงส่วนน้อยอยู่ในขั้ว สส. แบบบัญชีรายชื่อ นำโดยบรรดาอดีตหัวหน้าพรรค-ตระกูลดังคือ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, ชวน หลีกภัย, บัญญัติ บรรทัดฐาน และ สส. ภาคใต้ บ้านใหญ่ตระกูลดัง ที่ก่อนหน้านี้สนับสนุน ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรค ให้กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้ง

 

แต่ด้วยข้อบังคับ 70-30 นี้ เป็นเหตุให้ ‘อภิสิทธิ์’ เลือกที่จะไม่ลงสมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง เพราะรู้ว่าหาก สส. ส่วนใหญ่ไม่สนับสนุน ‘ลงสมัครไปก็มีแต่แพ้กับแพ้’ 

 

นราพัฒน์ เต็งหนึ่งหัวหน้าพรรคฯ คนที่ 9 

 

‘นราพัฒน์’ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้รับผิดชอบภาคเหนือ อดีต สส. พิจิตร ลูกชาย ไพฑูรย์ แก้วทอง นักการเมืองบ้านใหญ่เมืองชาละวัน อดีตรัฐมนตรีหลายรัฐบาล และอดีต สส. หลายสมัย เลือดเก่าที่อยู่กับพรรคมานานตั้งปี 2544 คือบุคคลที่เฉลิมชัยวางตัวให้เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่มาตั้งแต่การประชุมใหญ่ฯ ครั้งแรก 

 

เฉลิมชัย ศรีอ่อน พร้อมด้วย 21 สส. แถลงประณามการประชุมใหญ่ฯ ล่มครั้งที่ 2

ให้องค์ประชุมออกจากห้อง ไม่ลงชื่อเข้าประชุม ไปเที่ยวต่างประเทศ พฤติกรรมเหล่านี้เลวทราม” เฉลิมชัย ศรีอ่อน พร้อมด้วย 21 สส. แถลงประณามการประชุมใหญ่ฯ ล่มครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2566 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

เพราะ ‘นราพัฒน์’ เป็นคนที่สามารถเชื่อมระหว่างขั้วอำนาจเก่า-อำนาจใหม่ รื้อโครงสร้างข้อบังคับพรรคให้ทันสมัย ทั้งยังเห็นหนทางที่จะพาพรรคประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาลเพื่อไทย สืบเนื่องจากการโหวตนายกรัฐมนตรีรอบที่ 2 มี 16 สส. ประชาธิปัตย์แหกมติพรรค ลงคะแนนเสียง ‘เห็นชอบ’ ให้ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30

 

เดชอิศม์กล่าวอธิบายเรื่องดังกล่าวว่า ประเทศอยู่ในทางตัน ประชาชนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า ประเทศจะเกิดสุญญากาศนานไม่ได้ ที่ผ่านมาเรามองว่าพรรคเพื่อไทยรวมเสียงได้ 250 เสียง และยังเป็นรัฐบาลสมานฉันท์ 

 

“กปปส. เคยขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, เนวิน ชิดชอบ และกลุ่มเพื่อนเนวินก็เคยเป็นงูเห่าออกมาสนับสนุน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี พวกเขายังสมานฉันท์กันได้ เราเป็นประชาธิปัตย์ยุคใหม่ ไม่เคยสวมเสื้อเหลือง-เสื้อแดง เราไม่ควรรับมรดกความขัดแย้งจากรุ่นเก่า สส. เห็นว่าเราควรสนับสนุนให้พรรคเพื่อไทยซึ่งรวมเสียงข้างมากได้เป็นนายกรัฐมนตรี…” เดชอิศม์กล่าว

 

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, สาทิตย์ วงศ์หนองเตย และ นราพัฒน์ แก้วทอง ระหว่างร่วมประชุมใหญ่วิสามัญของพรรคประชาธิปัตย์ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2566 

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, สาทิตย์ วงศ์หนองเตย และ นราพัฒน์ แก้วทอง ระหว่างร่วมประชุมใหญ่วิสามัญของพรรคประชาธิปัตย์ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2566 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

ขณะที่ ‘นราพัฒน์’ ให้สัมภาษณ์กับ ‘หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์’ ถึงการร่วมรัฐบาลเพื่อไทยว่า “ทุกอย่างต้องเป็นไปตามข้อบังคับพรรคและตามกติกา หากมีเทียบเชิญมาก็ต้องไปถามกรรมการบริหารพรรค-สส. ว่าจะเอาอย่างไร หากเกิดมีมติไม่ให้เข้าร่วมรัฐบาล เราก็ตอบปฏิเสธไป หรือหากมีมติเข้าร่วมรัฐบาล เราก็ต้องมีเหตุผลว่าทำไมเราถึงเข้าร่วมรัฐบาล อยู่ในพรรคการเมืองเดียวกัน เลี้ยวขวา หรือเลี้ยวซ้าย ต้องไปด้วยกัน

 

“จะบอกว่าพรรคนี้กับพรรคนั้นร่วมกันไม่ได้ ผมขอถามว่าทำไมจะร่วมกันไม่ได้ เขาเป็นพรรคการเมือง พรรคเขามีคนเลวหมดเลยหรือ…แต่ถ้าถามผม ส่วนตัวผมก็บอกว่าผมร่วมได้กับทุกพรรค แต่ก็อยู่ที่เงื่อนไข” นราพัฒน์กล่าว

 

จากคำสัมภาษณ์ข้างต้นถือเป็นเครื่องยืนยันว่า พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่ปิดประตูเพื่อร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยที่เป็นคู่ขัดแย้งมาหลายทศวรรษไปเสียทีเดียว 

 

ขณะนี้ ครม. เศรษฐา มีรัฐมนตรีทั้งสิ้น 34 คน 35 ตำแหน่ง ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2560 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีมีรัฐมนตรีได้ไม่เกิน 35 คน ดังนั้นยังเหลือพื้นที่รัฐมนตรีในการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งต่อไป แม้โควตาดังกล่าวจะเป็นของพรรคพลังประชารัฐก็ตาม แต่การเมือง ‘ทุกอย่างย่อมเป็นไปได้’

 

มาดามเดียร์ ถือฤกษ์อธิบดี เปิดหน้าลงสมัครหัวหน้าฯ 

 

1 สัปดาห์ก่อนการเลือกหัวหน้าพรรค ‘มาดามเดียร์-วทันยา บุนนาค’ ได้ถือฤกษ์อธิบดี 29 พฤศจิกายน 2566 เวลา 09.09 น. (ฤกษ์อธิบดี คือฤกษ์วันที่จะเข้าปกครอง ควบคุมดูแลองค์กรหรือหมู่คณะต่างๆ) เปิดหน้าลงสมัครหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 9 โดยมี ‘ชวน หลีกภัย’ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคมาร่วมให้กำลังใจด้วย 

 

ชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรค ถาม วทันยา บุนนาค

“มาดามเดียร์มาเปิดตัว เรียบร้อยดีแล้วใช่ไหม” ชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรค 

 ถาม วทันยา บุนนาค หลังแถลงข่าวการลงสมัครเข้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ 

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

“อยากสื่อสารไปยังสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ประชาชนที่ยังคงรักพรรคประชาธิปัตย์ และประชาชนทั่วไป ถึงความตั้งใจในการเสนอตัวเป็นหนึ่งทางเลือกในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในวันที่ 9 ธันวาคมนี้ และยังเชื่อมั่นว่าพรรคประชาธิปัตย์มีความเป็นประชาธิปไตย เสรีภาพ และเป็นพรรคการเมืองที่ไม่มีเจ้าของอย่างแท้จริง

 

“เราจะเริ่มต้นด้วยการทำการเมืองใหม่ที่ซื่อตรงและจริงใจ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อฟื้นฟูอุดมการณ์พรรคประชาธิปัตย์ให้กลับมาได้รับความไว้วางใจ ให้กลับมาเป็นความหวัง เพื่อยืนยันในพลังประชาธิปไตยของพรรคประชาธิปัตย์” วทันยากล่าว

 

3 ด่านที่ ‘มาดามเดียร์’ ต้องฝ่า

 

แต่ขณะเดียวกัน ‘วทันยา’ คือเลือดใหม่แห่งพรรคประชาธิปัตย์ เธอเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ได้เพียง 1 ปี 2 เดือนเท่านั้น หากจะลงสมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ก็มีเงื่อนไขตามข้อบังคับพรรคที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

 

ข้อบังคับพรรคประชาธิปัตย์ ปี 2561 ข้อ 31 ระบุว่า สมาชิกพรรคที่ต้องการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการบริหารพรรคจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และจะต้องเป็นสมาชิกพรรคติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันเลือกตั้ง เว้นแต่สมาชิกที่มีคุณสมบัติ ดังนี้ 

 

  1. เป็นหรือเคยเป็นกรรมการบริหารพรรค
  2. เป็นหรือเคยเป็นคณะกรรมการสาขาพรรค
  3. เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในนามพรรค
  4. เป็นหรือเคยเป็นรัฐมนตรีในนามพรรค
  5. เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นที่พรรคส่งลงสมัครรับเลือกตั้ง 

 

ทั้งนี้ หากไม่มีคุณสมบัติข้างต้นทั้ง 5 ข้อ จะต้องขอให้สมาชิกในที่ประชุมใหญ่มีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ให้ลงสมัครรับเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคได้ก่อน 

 

นอกจากนี้ ในข้อบังคับที่ 32 ระบุอีกว่า ผู้ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งหัวหน้าพรรคจะต้องเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในนามพรรคด้วย หากไม่ได้เป็น ต้องขอให้ที่ประชุมใหญ่มีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ให้ลงสมัครรับเลือกตั้งหัวหน้าพรรค หาก ‘วทันยา’ ผ่านในส่วนนี้ได้จะเข้าสู่ด่านสุดท้ายในการชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนใหม่ด้วยเกณฑ์คะแนน 70-30 

 

วทันยา บุนนาค ร่วมงาน THE STANDARD DEBATE

วทันยา บุนนาค เป็นตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมงาน THE STANDARD DEBATE: เลือกตั้ง 66 ENDGAME เกมที่แพ้ไม่ได้ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร 

 

สำหรับ ‘วทันยา’ ขณะนี้อายุ 38 ปี เป็นภรรยาของ ‘ฉาย บุนนาค’ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Nation Group เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง กทม. พรรคประชาธิปัตย์ 

 

ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เธอลงสมัคร สส. บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 11 แต่ก็พลาดเก้าอี้ สส. ไป (พรรคประชาธิปัตย์ได้จำนวน สส. บัญชีรายชื่อจำนวน 3 ที่นั่ง) แต่ ‘วทันยา’ ยังเคยดำรงตำแหน่ง สส. แบบบัญชีรายชื่อในนามพรรคพลังประชารัฐ เมื่อครั้งการเลือกตั้งปี 2562 

 

รวมถึงเป็นอดีตผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติไทยรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ที่สามารถครองแชมป์ฟุตบอลในซีเกมส์ 2017 ที่ประเทศมาเลเซียได้ด้วย และได้แจ้งยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อครั้งลาออกจาก สส. มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 536 ล้านบาท 

 

เจ้าหน้าที่การเลือกตั้งกำลังเก็บอุปกรณ์ หลังการประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ 

เจ้าหน้าที่การเลือกตั้งกำลังเก็บอุปกรณ์ หลังการประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ 

เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ล่มเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2566 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

แต่ภารกิจหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องพาประชาธิปัตย์ออกจากยุคที่ถูกเรียกว่า ‘มืดมน’ รวมถึงเร่งกู้วิกฤตศรัทธาจากประชาชนกลับคืนมาให้ได้ เพราะตั้งแต่ปี 2544 เป็นเวลาเกือบ 22 ปีแล้วที่ประชาธิปัตย์ไม่ได้ลิ้มรสชัยชนะการเลือกตั้งเลยสักครั้ง 

 

โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ที่เดิมเคยเป็นพื้นที่ของประชาธิปัตย์อย่างเหนียวแน่นตลอดกาล แต่การเลือกตั้งหนนี้ได้ที่นั่งในสภาเพียง 17 ที่นั่ง จากจำนวนทั้งหมด 60 ที่นั่ง รวมถึงได้คะแนนเสียงจากประชาชนทั่วประเทศเพียง 920,000 เสียง นับเป็นปรากฏการณ์ต่ำกว่า 1 ล้านเสียงเป็นครั้งแรก

 

สุดท้ายแล้ว จะเป็นเลือดเก่าอย่าง ‘นราพัฒน์’ หรือเลือดใหม่อย่าง ‘วทันยา’ ที่จะฝ่าด่านสุดหิน จนได้มาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 9 พรรคการเมืองที่มีความเก่าแก่มากสุดในประเทศไทย ทราบผลพร้อมกันอีก 1 สัปดาห์ ในวันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม 2566 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising