กลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มี 1 ข่าวที่เกิดขึ้นในหน้าสื่อของต่างประเทศ ที่เป็นข่าวใหญ่พอสมควรสำหรับนักลงทุนที่มีสถานะการลงทุนอยู่ในกองทุน หรือหุ้นที่เกี่ยวข้องกับออสเตรเลียและธุรกิจถ่านหิน ก็คือการที่ทางการจีนเดินหน้านำเข้าถ่านหินจากนานาประเทศทั่วโลกด้วยกฎเกณฑ์ที่ผ่อนคลายลง ยกเว้นประเทศเดียวในโลกก็คือ ‘ออสเตรเลีย’
ท่าทีดังกล่าวนั้นถูกมองโดยนักวิเคราะห์และโดยสำนักข่าวต่างประเทศเป็นจำนวนมากว่า เป็นมาตรการตอบโต้ออสเตรเลียเพิ่มเติม หลังจากที่ออสเตรเลียเดินหน้า ‘หาเรื่อง’ กับจีนอย่างต่อเนื่อง ทั้งในกรณีการแบนไม่ให้ Huawei และ ZTE 2 บริษัทเทคโนโลยีชื่อดังสัญชาติจีนเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงข่าย 5G ในออสเตรเลีย ด้วยความกังวลด้านความมั่นคงในช่วงปี 2018 ที่ผ่านมา และในกรณีที่ออสเตรเลียนั้นออกมาเรียกร้องให้จีนยินยอมให้คณะกรรมการอิสระเข้าไปตรวจสอบถึงสาเหตุเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่แท้จริง
แน่นอนว่าทั้งสองกรณีนั้นสร้างความขุ่นเคืองให้กับทางการจีนเป็นอย่างมาก ส่งผลให้จีนนั้นตอบโต้ทั้งในแง่ของแถลงการณ์ ที่ระบุว่าออสเตรเลียนั้นใช้โควิด-19 เพื่อหวังผลทางการเมืองระหว่างประเทศ และตอบโต้ด้วยการค้า ทั้งการระงับการนำเข้าเนื้อวัว เก็บภาษีนำเข้าข้าวบาร์เลย์ ไวน์ และล่าสุดก็คือก็คือการกีดกันการนำเข้าถ่านหินจากออสเตรเลีย ผ่านทางการสนับสนุนให้นำเข้าจากนานาประเทศแทนด้วยกฎเกณฑ์ที่ผ่อนคลายมากกว่า
ซึ่งเมื่อพิจารณาในแง่ของการค้าระหว่างประเทศแล้วจะพบว่า สงครามการค้าและความตึงเครียดระหว่างจีนกับออสเตรเลียนั้น ออสเตรเลียเสียเปรียบมากพอสมควร เพราะออสเตรเลียนั้นแม้จะเป็นประเทศที่เศรษฐกิจพึ่งพาการส่งออกไม่สูงมากเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ ด้วยสัดส่วนการส่งออกเทียบกับ GDP ที่ประมาณ 23% เท่านั้น แต่ถึงอย่างนั้นการส่งออกก็เป็นหนึ่งในเครื่องจักรทางเศรษฐกิจสำคัญที่สามารถสร้างผลกระทบลูกโซ่ต่อไปได้ทั้งระบบ
สัดส่วนการส่งออกของออสเตรเลียไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก
อ้างอิง: abs.gov.au As of 31/07/2020
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคู่ค้ารายใหญ่อย่างจีนที่มีส่วนแบ่งในมูลค่าการส่งออกของออสเตรเลียมากถึง 40% โดยมีสินค้าที่สำคัญคือแร่โลหะอย่างเหล็ก ทองแดง นิกเกิล ถ่านหิน การท่องเที่ยว ปิโตรเลียมดิบ ขนสัตว์ ผ้าฝ้าย อาหารแปรรูป และทองคำ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนรวมมากกว่า 75% ของการส่งออกทั้งหมด
สัดส่วนการส่งออกสินค้าที่พึ่งพาจีนมากที่สุดต่อมูลค่าการส่งออกของสินค้าชนิดนั้นๆ
อ้างอิง: Department of Foreign Affairs and Trade data. As of 2019
โดยมีจุดสำคัญอย่างยิ่งที่จีนนั้นได้เปรียบต่อออสเตรเลียอย่างมากก็คือ การที่สินค้าส่งออกหลากหลายรายการ อาทิ แร่นิกเกิล, ขนสัตว์, บาร์เลย์, อาหารแปรรูป, ฝ้าย และผลิตภัณฑ์ยานั้น พึ่งพาการส่งไปยังประเทศจีนมากกว่า 1 ใน 3 ขึ้นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของแร่นิกเกิลนันที่ส่งออกไปจีนมากที่สุดถึง 100% ของมูลค่าการส่งออกนิกเกิลทั้งหมด ซึ่งเมื่อคิดรวมเฉพาะ 10 ลำดับแรกของสินค้าส่งออกที่พึ่งพาจีนเป็นหลักนั้นจะพบว่าสินค้าส่งออกเหล่านั้นมีมูลค่ารวมถึง 84,560 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 35% ของการส่งออกสินค้าทั้งหมดของออสเตรเลียไปยังทั่วโลก
ทำให้มองไปยังเบื้องหน้าแล้ว ถือว่าไพ่ในมือของจีนด้านการค้าเหนือกว่าออสเตรเลียมากพอสมควร
ดังนั้นแล้วท่าทีต่อไปของออสเตรเลีย ซึ่งแม้จะมีความสัมพันธ์อันดีและใกล้ชิดกับมหาอำนาจอีกขั้วอย่างสหรัฐฯ และเศรษฐกิจที่ไม่ได้พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก แต่การส่งออกซึ่งสามารถส่งผลต่อเศรษฐกิจได้ในแบบลูกโซ่นั้นพึ่งพาจีนเป็นสำคัญจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเป็นอย่างยิ่ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใกล้จะถึงเวลาการทบทวนข้อตกลงเสรีการค้าระหว่างออสเตรเลียกับจีน (ChAFTA) ซึ่งครอบคลุมสินค้าส่งออกของออสเตรเลียกว่า 95% ในช่วงเดือนธันวาคม 2020 หลังจากได้ลงนามความร่วมมือกันในเดือนธันวาคม 2015 ด้วยกระบวนการเจรจาที่ยาวนานกว่า 10 ปี นับตั้งแต่การริเริ่มการเจรจาในครั้งแรกในช่วงปลายปี 2005 ท้ายที่สุดแล้วข้อตกลงทางการค้าที่กระบวนการเจรจายาวนานกว่าการบังคับใช้จะเป็นอย่างไร ไม่นานนี้เราคงได้รู้กัน
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- https://www.aspistrategist.org.au/australias-asymmetrical-trade-with-china-offers-little-room-to-move/
- https://oec.world/en/profile/country/aus
- https://www.scmp.com/economy/china-economy/article/3111162/china-australia-relations-termination-free-trade-deal-ahead
- https://www.abs.gov.au/articles/australias-trade-goods-china-2020