เป็นที่ถกเถียงกันหลายแง่หลายมุมกับเรื่องราวของ ‘ครูกายแก้ว’ ที่กำลังพูดถึงกันในสังคมตอนนี้ ไม่ว่าจะเรื่องความงมงาย ไม่งมงาย เรื่องไสยศาสตร์สายดำ เรื่องความเป็นมา เรื่องมีจริงหรือไม่มีจริง ฯลฯ
ต่างคนต่างมีมุมมองความคิดความเห็นที่แตกต่างกันไปตามทัศนะของแต่ละคน ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนต้องบอกก่อนเลยว่า ในแต่ละความเห็นไม่ใช่เรื่องผิดหรือเรื่องถูกต้องอย่างใด แต่ความเห็นเหล่านั้นคือเสรีภาพในการแสดงความคิดความเห็นของแต่ละคน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้
ผู้เขียนอยากจะขอแสดงความเห็นส่วนตัวต่อความคิดเห็นที่เกิดขึ้นในสังคมเกี่ยวกับกรณีครูกายแก้วดูบ้าง
อย่างแรกต้องบอกก่อนเลยว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความหลากหลายในมิติทางความเชื่อ ศาสนาบ้านเราก็มีการผสมผสานกับความเชื่อต่างๆ ไว้มากมาย ไม่ว่าจะผสมกับผี กับพราหมณ์ กับความเชื่อต่างๆ อะไรต่อมิอะไรมากมาย พูดง่ายๆ คือคนไทยเราไหว้ทุกอย่าง
พุทธหรือผี ดีหรือชั่ว?
คำถามนี้น่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็นที่เยอะที่สุดบนโลกออนไลน์ เอาเข้าจริงๆ ทัศนคตินี้เกิดขึ้นจากชุดความคิดที่ถูกประกอบสร้างขึ้นจากอิทธิพลของพุทธศาสนา และอิทธิพลนี้ถูกตอกย้ำโดยอำนาจรัฐที่เป็นผู้กำหนดความคิดของเราให้เดินไปในทิศทางตามที่รัฐต้องการ ชุดความคิดของเราจึงมีศูนย์กลางความถูกต้องและความดีงาม บนพื้นฐานวิธีคิดทางพุทธศาสนาที่รัฐกำหนดเป็นหลัก
ทั้งที่เอาจริงๆ แล้วหากเรามองโดยการโยนกรอบความคิดถูก-ผิดทางพุทธศาสนาแบบรัฐทิ้งไป ครูกายแก้วก็เป็นเพียงอีกหนึ่งชุดความเชื่อหรือความศรัทธาหนึ่งในสังคมไทย ที่มีความหลากหลายทางความคิดและความเชื่อเพียงเท่านั้น
ไม่ได้ต่างจากความเชื่อในวิถีชีวิตของชาวบ้านที่เราต่างไหว้ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ที่มีลักษณะผิดธรรมชาติหรือมีอะไรที่พิเศษไปกว่าธรรมชาติของสิ่งเหล่านั้น เช่น วัวที่เกิดมามีสองหัว สัตว์ที่มีผิวเผือกต่างๆ ต้นไม้ใบหญ้าที่มีลักษณะพิเศษ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คือความเชื่อดั้งเดิมที่มาอยู่ก่อนแล้ว และยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน
หลายคนวิพากษ์วิจารณ์รูปลักษณ์ของรูปปั้นครูกายแก้วว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัว เป็นเหมือนปีศาจ เป็นสิ่งที่ชั่วร้าย สิ่งเหล่านี้แหละคือความคิดที่ถูกสร้างขึ้นจากศูนย์กลางความคิด ความดี ความงาม ความประเสริฐ แบบศาสนา ไม่ว่าจะพุทธศาสนาหรือศาสนาใดก็ตามที่รัฐกำหนดว่า ‘มันคือสิ่งดี’
เพราะฉะนั้นต้องย้ำว่า สิ่งนี้ไม่มีผิด ไม่มีถูก ไม่มีดี ไม่มีชั่ว ผิด-ถูก ดี-ชั่ว เกิดขึ้นจากกรอบความคิดที่มีศูนย์กลางความดีอยู่ก่อนแล้ว
ศรัทธาหรืองมงาย?
คำถามนี้ก็เป็นอีกหนึ่งคำถามใหญ่ที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์เหมือนกัน ซึ่ง ‘ความงมงาย’ หรือ ‘ไม่งมงาย’ ก็นับได้ว่าเป็นอีกชุดความคิดหนึ่งที่เกิดขึ้นจากศูนย์กลางความคิด ความไม่งมงายของแต่ละคนเช่นกัน ซึ่งเป็นศูนย์กลางความคิดที่มาจากองค์ความรู้แบบวิทยาศาสตร์ หรือแม้แต่ชุดความคิดแบบพุทธศาสนาดังที่กล่าวไปข้างต้น
แน่นอนว่าวิทยาศาสตร์ถือเป็นอีกองค์ความรู้หนึ่งที่มีอิทธิพลต่อความคิดความอ่านของคนในสังคมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น เด็กรุ่นใหม่ พวกเรามักจะมองปรากฏการณ์ทางความเชื่อทางศาสนาว่าเป็นเรื่องงมงาย ไม่ใช่เรื่องที่เป็นเหตุเป็นผลที่สามารถพิสูจน์ได้โดยหลักการทางวิทยาศาสตร์ และมีอีกหลายต่อหลายคนเลือกที่จะปฏิเสธชุดความเชื่อเหล่านี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศาสนา เรื่องผี หรือเรื่องอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับเรื่องความเชื่อทางศาสนา ซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องผิดอีกเช่นกัน มันเป็นเสรีภาพหนึ่งที่เราสามารถเลือกที่จะ ‘ไม่เชื่อ’ ได้
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า เมื่อเราเลือกที่จะไม่เชื่อหรือไม่ศรัทธาชุดความคิดใดความคิดหนึ่ง นั่นเท่ากับว่าเราก็กำลังเลือกที่จะเชื่อและศรัทธาอีกชุดความคิดหนึ่งเช่นกัน พูดง่ายๆ คือ เมื่อคุณไม่ศรัทธาความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับศาสนา คุณก็กำลังศรัทธาความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์อยู่เช่นกัน
ดังนั้นเราจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อเรามองเขาว่า ‘งมงาย’ ก็เท่ากับว่าเรามีศูนย์กลางความคิดที่ไม่งมงายอยู่ไม่ต่างกัน
มิติที่มากกว่าแค่ ‘งมงาย’
หลายครั้งที่ผมได้แสดงความเห็นต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ความเชื่ออื่นๆ ว่า ‘งมงาย’ ซึ่งผมมักจะพูดอยู่เสมอๆ ว่า หากมองปรากฏการณ์ความเชื่อเป็นเพียงแค่เรื่องงมงาย เราจะไม่เห็นปัญหาอะไรอีกมากมายที่ซุกซ่อนอยู่ภายใต้ความเชื่อในปรากฏการณ์นั้นๆ
ต้องบอกเลยว่าภายใต้ความเชื่อหรือศรัทธาต่อปรากฏการณ์ทางศาสนาหรือลัทธิความเชื่อใดความเชื่อหนึ่ง มันคือภาพสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างบางอย่างของสังคมอยู่ ยกตัวอย่างให้เห็นได้ชัดเช่น
- กรณีเรื่องโชคลางหรือเงินทอง มันก็สะท้อนให้เห็นว่า คนในสังคมกำลังเผชิญกับปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ และรัฐในฐานะผู้ที่จะต้องสร้างความกินดีอยู่ดีให้ประชาชน กลับไม่สามารถสร้างความมั่นคงในด้านนี้ให้กับผู้คนได้ นี่คือปัญหาศักยภาพของรัฐในทางเศรษฐกิจ
- ปัญหาในแง่ของความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมของคน เช่น เคสนักศึกษาครุศาสตร์คนหนึ่ง ผู้เขียนเคยคุยกับเขาว่า ทำไมถึงวิ่งไล่บนบานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลายที่ แล้วเขาบนบานเรื่องอะไร คำตอบที่ได้มาคือ เขาบอกว่าเขาสอบบรรจุข้าราชการครูติดอยู่ลำดับต้นๆ แต่เขากลับไม่ถูกเรียกเข้ารับราชการสักที เพราะเขาเชื่อว่าเขาเป็นเพียงแค่ลูกตาสีตาสาคนหนึ่ง ไม่ได้ร่ำรวย มีเงินมีทอง หรือมีเส้นมีสายเหมือนใครๆ เขาจึงเลือกที่จะมาบนบานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้เขาถูกเรียกตัว นี่ก็คือปัญหาหนึ่งที่มันถูกซุกซ่อนอยู่ภายใต้ความเชื่อที่หลายคนมองว่างมงาย
ดังนั้นมากกว่าเพียงแค่มองว่า ‘งมงาย’ แล้วตัดจบบทสนทนา เราควรมองปรากฏการณ์ทางความเชื่อเหล่านี้ในมิติที่ลึกขึ้นหรือไม่?
ไม่ใช่ความอัปมงคล แต่คือมงคลแห่งประชาธิปไตย
นอกจากดี-ชั่ว เท็จ-จริง ศรัทธา-งมงาย แล้ว ยังมีความเห็นอีกหลายความเห็นที่แสดงออกมาในทำนองที่ว่า ‘ครูกายแก้วเป็นความอัปมงคล’ ตัวรูปเคารพก็อัปมงคล ตัวคนบูชาก็บูชาสิ่งอัปมงคล และนี่คือความอัปมงคลของยุคสมัย โดยมักจะกล่าวถึงท่อนหนึ่งของ เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา ที่ว่า ‘ผีป่าจะวิ่งเข้ามาสิงเมือง ผีเมืองนั้นจะออกไปอยู่ป่า’ และหลายคนก็โยงเอาเนื้อความท่อนนี้มาเปรียบเทียบกับปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
แต่ในมุมมองของผู้เขียน ผมกำลังคิดว่าถ้าเราจะมองครูกายแก้วในมุมมองใหม่ว่า นี่ไม่ใช่สิ่งอัปมงคล แต่นี่คือมงคลแห่งประชาธิปไตยได้หรือไม่
เมื่อพูดแบบนี้ก็จะมีคำถามตามมาว่า ‘มันมงคลต่อประชาธิปไตยอย่างไร’ คำตอบของผมที่อยากจะชวนขบคิดมีอยู่ 3 ข้อหลักๆ คือ
- เราจะมองว่าการเชื่อหรือการศรัทธาต่อครูกายแก้วคือภาพความงดงามของเสรีภาพทางความเชื่อ ซึ่งเป็นเสรีภาพตามหลักประชาธิปไตยได้หรือไม่ ปรากฏการณ์ครูกายแก้วกำลังบอกพวกเราว่า เราทุกคนกำลังมีเสรีภาพในทางศาสนาที่เบ่งบานมากขึ้น
- เราจะมองได้หรือไม่ว่า ครูกายแก้วกำลัง Decentralize ชุดความเชื่อที่ถูกรวมศูนย์อยู่ที่ศาสนาของรัฐ ศาสนาที่แท้จริง ศาสนาที่บังคับให้ผู้คนเชื่อฟังและปฏิบัติตาม ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ได้มีแค่ครูกายแก้วเท่านั้นที่เราจะมองแบบนี้ได้ แต่ความเชื่อหรือลัทธิพิธีอื่นๆ ก็กำลังทำหน้าที่นี้อยู่เหมือนกัน
- เราจะมองได้หรือไม่ว่า ครูกายแก้วทำให้เกิดการถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งมันคือความสวยงามตามหลักการประชาธิปไตย เราสามารถวิพากษ์วิจารณ์ครูกายแก้วหรือผู้ศรัทธาครูกายแก้วได้ และผู้ที่เชื่อหรือศรัทธาก็มีเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็นต่อความเชื่อและศรัทธาของเขา ครูกายแก้วจึงไม่ใช่สิ่งที่ถูกที่สุดหรือดีที่สุดที่เราแตะต้องหรือพูดถึงไม่ได้ เหมือนชุดความเชื่อที่ถูกกำหนดโดยรัฐ
จากข้อคิดเห็น 3 ข้อที่ผมได้ยกขึ้นมา พอจะทำให้เรามองครูกายแก้วว่า นี่คือความมงคลแห่งเสรีภาพตามหลักการประชาธิปไตยได้หรือไม่