นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า วิกฤตโลกรวนซึ่งเป็นผลพวงจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลของมนุษย์นั้นเป็นสาเหตุที่ทำให้ฤดูร้อนร้อนผิดปกติ ขณะที่ฤดูหนาวก็มีปริมาณหิมะตกต่ำลงกว่าเดิมมาก ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวเร่งให้ธารน้ำแข็งในสวิตเซอร์แลนด์ละลายตัวเร็วขึ้นกว่าเดิม โดยปริมาณธารน้ำแข็งในสวิตเซอร์แลนด์นั้นลดลงถึง 10% ในเวลาเพียงแค่ 2 ปี
ผลการวิเคราะห์จากสถาบัน Swiss Academy of Sciences พบว่า ปี 2023 มีปริมาณธารน้ำแข็งในสวิตเซอร์แลนด์ที่ละลายตัวหายไปถึง 4% ซึ่งถือเป็นการลดลงต่อปีที่มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์ ส่วนปีที่ธารน้ำแข็งละลายตัวรุนแรงสุดนั้นคือปี 2022 ซึ่งปริมาณธารน้ำแข็งหายไป 6%
สิ่งที่น่ากังวลคือ ขณะนี้ผู้เชี่ยวชาญหยุดวัดปริมาณธารน้ำแข็งบางแห่งแล้ว เพราะ ‘ไม่เหลืออะไรจะให้วัด’ โดยสถาบัน Glacier Monitoring in Switzerland หรือ Glamos ซึ่งทำหน้าที่เฝ้าติดตามธารน้ำแข็ง 176 แห่ง เพิ่งยุติการตรวจวัดธารน้ำแข็ง St Annafirn เนื่องจากน้ำแข็งส่วนใหญ่ละลายแทบจะหมดแล้ว
แมทเธียส ฮัสส์ (Matthias Huss) หัวหน้าสถาบัน Glamos กล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทำให้เหตุการณ์สุดขั้วดังกล่าวมีแนวโน้มมากขึ้น หากสถานการณ์ดำเนินต่อไปในอัตรานี้…เราจะได้เห็นปีที่เลวร้ายแบบนี้ไปทุกๆ ปี”
ฮัสส์กล่าวว่า ธารน้ำแข็งขนาดเล็กกำลังจะหายไปหมดถ้าอัตราการละลายตัวยังดำเนินต่อไปในระดับนี้ และหากโลกต้องการหยุดยั้งไม่ให้สวิตเซอร์แลนด์สูญเสียธารน้ำแข็ง เราก็จำเป็นที่จะต้องหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ เขาเสริมว่าแม้ว่าโลกจะสามารถรักษาอุณหภูมิไม่ให้ทะลุเพดาน 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมได้ แต่ปริมาณธารน้ำแข็งในสวิตเซอร์แลนด์ก็คาดว่าจะเหลือแค่เพียง 1 ใน 3 เท่านั้น
ฮัสส์กล่าวต่อไปว่า ธารน้ำแข็งขนาดเล็กๆ ทั้งหมดจะหายไป และธารน้ำแข็งขนาดใหญ่ก็จะมีขนาดเล็กลงมาก แต่เขาย้ำว่าอย่างน้อย “ก็จะมีน้ำแข็งในบริเวณที่สูงที่สุดของเทือกเขาแอลป์ และธารน้ำแข็งบางแห่งที่ยังพอจะหลงเหลือให้เราสามารถแสดงให้ลูกหลานของเราดูได้”
แฟ้มภาพ: Peter Zay / Anadolu Agency via Getty Images
อ้างอิง: